เรื่องทั่วไป

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดงาน Life Is On Innovation Summit 2016 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พลิกโฉมนวัตกรรม สู่โลกของพลังงานใหม่

เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์

sedthakarn@se-ed.com

 

 

พลังงาน นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะเกี่ยวข้องและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่มาจากรูปแบบใดก็ตาม ยิ่งในยุคปัจจุบันแล้ว ความต้องการทางพลังงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความต้องการในการใช้พลังงาน กลับสวนทางกับปริมาณของพลังงานที่เริ่มจะลดน้อยลง อีกทั้งยังมีอยู่อย่างจำกัดเต็มที ดังนั้น การประหยัดพลังงาน และการรู้จักใช้อย่างรู้คุณค่า จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนและทุกหน่วยงานในสังคม จำเป็นต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พลังงานทั้งหลาย มีใช้อย่างเพียงพอต่อไปในอนาคต

 

 

 

 

 

          สำหรับผู้ประกอบการอย่าง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านระบบการบริหารจัดการพลังงานและระบบออโตเมชั่น ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวตลอดมา นโยบายและความมุ่งมั่นดังกล่าว จึงถูกพัฒนากลายเป็นโซลูชั่นและนวัตกรรมอันทันสมัย ส่งมอบสู่ผู้บริโภคทั่วโลกผ่านผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการใช้งานจริงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด บนพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของชไนเดอร์ อิเล็คทริค นั่นก็คือ เพื่อให้ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถเข้าถึงสิทธิ์ในการใช้พลังงานที่มีความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้ ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความสมดุลให้กับโลกด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กัน

 

          ล่าสุด ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้มีการจัดงาน Life Is On Innovation Summit 2016 ขึ้น เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยงานใหญ่ระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ เป็นการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมทางด้านพลังงาน โดยภายในงานได้นำเสนอโซลูชั่นและนวัตกรรมการประหยัดพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานและอุตสาหกรรม รวมทั้งหัวข้อสัมมนาเพื่อให้ความรู้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และจากผู้ทรงคุณวุฒิของทางบริษัทฯ ให้กับทางลูกค้า และคู่ค้าของชไนเดอร์ อิเล็คทริค รวมถึงสื่อ และนักวิเคราะห์ ได้เข้ามาร่วมค้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมที่จะช่วยเปลี่ยนสังคมไปสู่โฉมหน้าของโลกพลังงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งงานนี้ผู้เขียนได้รับเกียรติจากทางชไนเดอร์ อิเล็คทริคให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ภายในงานด้วย จึงขออนุญาตนำข้อมูลเรื่องราวที่เป็นประโยชน์มาบอกกล่าวให้กับผู้อ่านได้ทราบกันครับ

 

          โดยภายในงานเราได้รับเกียรติจาก ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานและซีอีโอ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำเข้าสู่งาน พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับนวัตกรรมของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่จะช่วยเปลี่ยนสังคมไปสู่โฉมหน้าของโลกพลังงานใหม่ นั่นก็คือ สนับสนุนให้มีการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การมีแหล่งกำเนิดพลังงานมากขึ้น และการเข้าถึงความเป็นดิจิตอล ด้วยกลยุทธ์ Life Is On ที่สร้างความมั่นใจให้กับทุกคน ว่าในทุกกิจกรรมของชีวิตจะสามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน หรือในช่วงเวลาใดก็ตาม

 

 

ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานและซีอีโอ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวต้อนรับและแนะนำเข้าสู่งาน Life Is On Innovation Summit 2016

 

 

ภาพบรรยากาศภายในงาน

 

 

ภาพบรรยากาศภายในงาน

 

ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น
นำมาซึ่งโซลูชั่นและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์

  

 

          จากข้อมูลของทางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินกันว่า ปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 1,300 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานไฟฟ้า และอีกประมาณ 1,000 ล้านคน มีไฟฟ้าใช้แต่ไม่เสถียร และจากข้อมูลแหล่งเดียวกัน ได้คาดการณ์กันว่าภายในอีก 40 ปีข้างหน้า โลกมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่จะบรรลุเป้าวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ได้ เราจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นเป็น 3 เท่าจากปัจจุบัน ซึ่งจากสมการความขัดแย้งดังกล่าว เป็นโจทย์ที่สร้างความท้าทายให้กับทุกภาคส่วน

 

          และจากข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานและซีอีโอ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งได้กล่าวว่า “ความต้องการใช้พลังงานในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยการขับเคลื่อนมาจาก 3 เมกะเทรนด์หลักด้วยกัน นั่นคือ 1. การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 จะมีประชากรโลกอาศัยอยู่ภายในเมืองมากกว่า 2,500 ล้านคน[1] 2. การเติบโตทางด้านดิจิตอล (Digitization) สำหรับประเด็นนี้ ได้ถูกประเมินกันว่าการเชื่อมต่อกันของอุปกรณ์ในทุกสรรพสิ่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านเครื่องในปี 2020 [2] และ 3. การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม (Industrialization) โดยคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 ความต้องการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์[3]

 

          “จากความต้องการทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลดังกล่าว นับเป็นโจทย์ที่สร้างความท้าทายอย่างสูงให้กับทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค ด้วยเช่นกัน ในการที่จะคิดค้นโซลูชั่นและนวัตกรรมทางด้านพลังงานที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการ ทั้งในเรื่องของความสามารถในการเชื่อมต่อ ความยั่งยืน ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลให้กับโลกด้วยการลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยกันดูแลสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน” ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ กล่าวเสริม

 

[1] United Nations Department of Economic and Social Affairs
[2] Cisco
[3] International Energy Agency (IEA)

 

 

 

 

 

Life Is On ส่งมอบนวัตกรรมทางด้านพลังงาน
สู่ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

 

          สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในปีนี้ ยังคงมุ่งมั่นสู่การปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ เพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ในรูปแบบของการบูรณาการด้วยระบบอัตโนมัติ และซอฟต์แวร์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ทุกกิจกรรมชีวิตของผู้คนสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนไหน หรือในช่วงเวลาใดก็ตาม สำหรับชไนเดอร์ อิเล็คทริค เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “Life is On”

 

 

          “ผลิตภัณฑ์หลักของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังคงครองความเป็นผู้นำทางด้านระบบการบริหารจัดการพลังงานและระบบออโตเมชั่น ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านซอฟต์แวร์และการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ทางด้านระบบออโตเมชั่นและพลังงาน สำหรับในปีนี้เรายังคงมุ่งให้ความสำคัญกับลูกค้าใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักคือ อาคารและสำนักงาน, ดาต้าเซ็นเตอร์, อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ในการที่จะเข้าไปช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากศักยภาพของพลังงานที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเพื่อเทียบกับศักยภาพที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ศักยภาพของพลังงานที่ถูกนำมาใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 42% ในขณะที่ภาคของโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็น 21% ส่วนศักยภาพของพลังงานในภาคของอาคารและสำนักงานรวมทั้งในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ถูกใช้ไปเพียงแค่ 18% เท่านั้น ซึ่งศักยภาพที่เหลืออยู่และยังไม่ถูกนำมาใช้อีก 58%, 79% และ 82% ตามลำดับ นับเป็นความท้าทายและโอกาสที่เราจะต้องเข้าไปช่วยดูแล” ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ให้ข้อมูล

 

 

          สอดคล้องกับข้อมูลของทาง BNEF ที่ได้มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2040 สัดส่วนการใช้พลังงานจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพลังงานที่ได้จากแหล่งกำเนิดฟอสซิลและนิวเคลียร์จะมีสัดส่วนที่ลดน้อยลง ในขณะที่พลังงานจากทางเลือกอื่น ๆ กลับมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 70% อาทิเช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานจากลม เนื่องจากพลังงานเหล่านี้ในอนาคตจะมีต้นทุนที่ถูกลงอย่างมาก ดังนั้นแหล่งกำเนิดพลังงานในอนาคตจะไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดเดียวที่เป็นจุดศูนย์กลางอย่างเช่นปัจจุบัน แต่จะเกิดจากแหล่งกำเนิดหลาย ๆ แหล่งมารวมกัน ทำให้การเข้าถึงแหล่งพลังงานเหล่านี้มีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งโซลูชั่นและนวัตกรรมของชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานในแต่ละรูปแบบได้อย่างเหมาะสม

 

 

ผลประกอบการที่เติบโตทุกปี
ช่วยเร่งขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมเพิ่มเป็น 3 เท่า

 

         สำหรับรายได้รวมของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทั่วโลกในปีงบประมาณ 2015 ที่ผ่านมา เติบโตอยู่ที่ 26.6 พันล้านเหรียญยูโร เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 25% ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชียแปซิฟิกครองส่วนแบ่งรายได้สูงสุดเท่ากันที่ 28% ส่วนผลประกอบการจากกลุ่มประเทศที่เหลือมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 19% โดยรายได้จากผลประกอบการดังกล่าวมาจากธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และเน็ตเวิร์ก 14%, อาคารและสำนักงาน 34%, โครงสร้างพื้นฐาน 25% และอุตสาหกรรม 27% ปัจจุบัน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีพนักงานมากกว่า 160,000 คนไว้คอยให้บริการลูกค้าในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการพลังงานและกระบวนการทำงานได้อย่างปลอดภัย มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ

 

 

          เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้วางงบประมาณประจำปีในส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ไว้ที่ 5% ของตัวเลขรายได้ทั้งหมด ซึ่งจากผลประกอบการที่เติบโตขึ้นทุกปีนี้เอง ทำให้ปัจจุบันงบประมาณการลงทุนทางด้านนวัตกรรมของบริษัทเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวเลขสูงถึง 1,400 ล้านยูโรในปี 2015 ส่งผลให้ปัจจุบัน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกประมาณ 20,000 สิทธิบัตร มีวิศวกรในหน่วยงานวิจัยและพัฒนา และโซลูชั่นรวมกันมากกว่า 20,000 คน

 

          “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาทางด้านนวัตกรรมที่ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นตอนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับบริษัทเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสำคัญ ว่าลูกค้าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ได้ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างศักยภาพอันไม่จำกัดขีดการใช้งานของลูกค้าอีกต่อไป ซึ่งนโยบายทางด้านวิจัยและพัฒนากลายเป็นดีเอ็นเอที่อยู่กับชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาช้านาน และเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง”

 

 

 

Green Premium Products
ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมรักษ์โลก

 

          ผลพวงจากการวิจัยและพัฒนาด้วยนวัตกรรมที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้เอง ทำให้ปัจจุบันชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีนพรีเมียมถึง 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้มีสัดส่วนถึง 75% และความมุ่งมั่นนี้ยังเป็นหนึ่งในปณิธาน 10 ประการที่ได้ให้ไว้กับ COP21 หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นก็คือการออกแบบโดยใช้ Schneider Electric eCoDesign WayTM ซึ่งนั่นจะทำให้ 75% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก Green PremiumTM

 

 

          สินค้ากรีนพรีเมียม ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น การออกแบบที่ลดการใช้วัตถุดิบ ลดการใช้พลังงาน การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดของเสีย ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า กรีนพรีเมียม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่กันเลยทีเดียว

 

          ฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานและซีอีโอ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า “ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เราตระหนักและเชื่อว่าสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้นนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้น และด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีปัจจุบัน ช่วยให้เราคิดวิธีการรับมือกับเรื่องของพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม เราเชื่อว่าการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่สามารถแยกขาดจากประเด็นในเรื่องการพัฒนา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบที่แข็งแกร่งในการตีค่าคาร์บอนเพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมแรงร่วมใจ พร้อมดำเนินการควบคู่กันไปในการดูแลสภาพภูมิอากาศ”

 

 

 

ประเด็นสำคัญจากห้องสัมมนา
ในงาน Life Is On Innovation Summit 2016

 

          จากที่เกริ่นไว้ตอนต้นแล้วครับว่าภายในงาน Life Is On Innovation Summit 2016 นอกจากจะจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมทางด้านพลังงานแล้ว ยังได้มีการจัดหัวข้อสัมมนาเพื่อให้ความรู้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และจากผู้ทรงคุณวุฒิของทางบริษัทฯ ไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายหลายหัวข้อด้วยกัน เลยขออนุญาตสรุปเนื้อหาสาระสำคัญตามหัวข้อไว้ดังนี้ครับ

 

          • Efficient Buildings for a Cooler Planet:  หัวข้อนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ ซึ่งจากข้อมูลทางตัวเลขของการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารทั่วโลกระบุว่า มีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้นถึง 53% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์กันว่า ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% และมากกว่าครึ่งถูกใช้ไปกับระบบปรับอากาศภายในอาคาร (HVAC) นอกจากนั้นก็ถูกใช้ไปกับระบบแสงสว่าง, ระบบทำความร้อน, ลิฟต์, ระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งในอดีตการบริหารจัดการพลังงานระบบเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีความซับซ้อนมาก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในอาคารมีความทันสมัยมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันกับระบบบริหารจัดการอาคารแบบอัจฉริยะ และระบบซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาให้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน มีความยืดหยุ่น และปลอดภัย ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้จัดการอาคารสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ สะดวกง่ายดาย และทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยั่งยืน

 

          • The New Energy World in 3Ds: เป็นเรื่องของระบบพลังงานในโลกยุคใหม่ครับ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยมีแนวโน้มสำคัญ 3 ประการ คือ Decarbonized โดยพลังงานที่ผลิตขึ้นใหม่บนโลก 50% จะเป็นพลังงานที่ผลิตจากพลังงานทดแทนเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่คุ้มค่ามากที่สุด ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก, Digitized อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ Decentralized โลกของการผลิตพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะมีแหล่งผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ กระจายตามที่ต่าง ๆ มากขึ้น เราจะเห็นไมโครกริด หรือโครงข่ายไฟฟ้าขนาดย่อยเกิดขึ้นมากมายในอนาคต

 

          • Intuitive Industries: เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่โลกอุตสาหกรรมในอนาคตครับ ความท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องของผลิตภาพ ประสิทธิภาพ ความยั่งยืนและความปลอดภัย อนาคตของอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องของความอัจฉริยะของระบบออโตเมชั่นในการปฏิบัติงานภายในโรงงาน ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำงานได้อย่างอัจฉริยะ เช่น สมาร์ทเซนเซอร์ และสมาร์ทไดรฟ์ สมาร์ทแมชชีน ฯลฯ ที่สามารถเชื่อมต่อและทำงานได้ทุกที่ สามารถวิเคราะห์ ติดตามผลและคาดการณ์ รวมทั่งบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่มี แนวโน้มสำคัญก็คือการเข้าสู่การนำเอา Internet of Things (IoT) เข้ามาผนวกใช้งานกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ริเริ่มพัฒนาระบบพีแอลซีให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่ปี 1997 เรื่อยมาจนถึงระบบสกาด้า เช่น ซอฟต์แวร์ Wonderware ที่มีแพลตฟอร์มบนคลาวด์เบส ที่สามารถเรียกดูข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์จากข้อมูลที่มี รวมทั้งระบบความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่มีทุกคนต้องให้ความสำคัญในอนาคต

 

          • Power Distribution Redefined: เป็นนิยามใหม่ของระบบส่งจ่ายไฟฟ้า โดยความต้องการพื้นฐานของระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าก็คือ ความมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ความยั่งยืนและความปลอดภัยครับ ดังนั้นการจะสร้างระบบส่งไฟฟ้าในนิยามใหม่ เราจำเป็นต้องสร้างระบบให้สามารถเรียกดูข้อมูลระบบทั้งหมดได้ในแบบเรียลไทม์ และต้องเป็นระบบเปิด ที่สามารถเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเฉพาะแต่ของชไนเดอร์ อิเล็คทริคเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ และมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการจัดการระบบไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าจะในอาคารสำนักงาน โรงแรม หรือสถานที่ต่าง ๆ

 

          • Data Center in the Cloud, At the Edge: ดาต้าเซ็นเตอร์ยุคใหม่ที่ก้าวสู่ยุคของการทำงานร่วมกันระหว่างพับลิกคลาวด์, ไพรเวทคลาวด์และอินเทอร์เน็ต เราจะได้เห็นระบบไฮบริดคลาวด์คอมพิวติ้ง การมีดาต้าเซ็นเตอร์หลายแห่ง และการบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ชวล ในขณะเดียวกันก็สามารถรองรับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ เช่น เรื่องของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือเทคโนโลยีที่ต้องใช้ร่วมกัน ความต้องการของรัฐบาลที่เข้มงวดในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูล ดังนั้นสถาปัตยกรรมของดาต้าเซ็นเตอร์จึงต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วและให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว

 

 

 

IoT อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง
วิวัฒนาการสำหรับงานอุตสาหกรรม

 

           มาถึงหัวข้อสำคัญสำหรับนักอุตสาหกรรมกันบ้างครับ ซึ่ง ณ วินาทีนี้หากไม่กล่าวถึงโซลูชั่น Internet of Things (IoT) ก็ดูจะล้าสมัยเต็มที โดยในงานนี้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังคงชูแนวคิดความเป็นอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ที่จะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจให้เข้าสู่ยุคของความเป็นดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ โดยประเมินว่า IoT จะส่งมอบคุณค่าและศักยภาพอย่างไม่มีขีดจำกัดให้กับนวัตกรรมใน 4 เสาหลักด้วยกันคือ 1.สร้างประสิทธิภาพสูงสุดทางด้านพลังงานและมีความยั่งยืน ด้วยระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ในแบบเรียลไทม์ หรือการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล 2.การใช้ประโยชน์ในสินทรัพย์อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนายและการบำรุงรักษาแบบเชิงรุก 3.ความอัจฉริยะ, การเพิ่มผลผลิต, การปฏิบัติงานที่ได้ผลกำไร ด้วยการลดความสูญเปล่าและลดระยะเวลาในการขัดข้อง และ 4.การเข้าถึงด้วยโมบายล์และการจัดการกับความเสี่ยงแบบเชิงรุก ด้วยการจำลองสถานการณ์ การตระหนักรู้ในสถานการณ์ และแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอล

 

 

          ยืนยันจากแบบสำรวจรายงานธุรกิจ IoT 2020 ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดทำขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจในกลุ่มผู้นำธุรกิจมากกว่า 2,500 รายใน 12 ประเทศ รวมถึงเสียงสะท้อนจากลูกค้าและคู่ค้า ได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ IoT จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางธุรกิจอย่างจริงจังภายในปี 2020 ครับ

               

          กลับมาที่ภาคอุตสาหกรรมกันต่อครับ การนำเอา IoT มาใช้ประโยชน์กับงานอุตสาหกรรม เราให้นิยามไว้ว่า IIoT (Industrial Internet of Things) หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งสำหรับอุตสาหกรรม โดย IoT จะเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น Smart Manufacturing หรือยุคที่เราเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Industry 4.0) โดยอาศัยการเชื่อมต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่าง เครื่องจักร มนุษย์และข้อมูล ด้วยข้อมูลจากเซนเซอร์เป็นตัวตรวจวัดอุปกรณ์และสภาพแวดล้อม จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ แล้วนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งนอกจากการข้ามขีดจำกัดในเรื่องของเวลาแล้ว ระบบควบคุมหรือระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาจไม่ได้อยู่ในที่เดียวกับเครื่องจักร แต่สามารถควบคุมสั่งการได้โดยไร้ขีดจำกัดในเรื่องของสถานที่อีกด้วย ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ นำมาซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพในการกระบวนการผลิตให้ได้ผลกำไรที่ดียิ่งขึ้น ทำให้ระบบการบริหารจัดการดีขึ้น มีนวัตกรรมที่ทันสมัย มีความปลอดภัย และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

               

          เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อน IIoT ก็คือระบบอิเล็กทรอนิกส์และความชาญฉลาดที่ฝังมากับอุปกรณ์ทั้งหลาย (Things) ที่ใช้งาน ความสามารถในการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีระบบไร้สาย อีเธอร์เน็ตและอินเทอร์เน็ต ความก้าวหน้าด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ในเรื่องของบิ๊กดาต้า ระบบวิเคราะห์และจำลองสถานการณ์ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทั้งในผลิตภัณฑ์ โปรโตคอลอุตสาหกรรม บนไซเบอร์ หรือครอบคลุมไปจนถึงบนระบบคลาวด์อีกด้วย

               

          ภาคอุตสาหกรรมมองเรื่องของ IIoT เป็น ‘วิวัฒนาการ’ (Evolution)’ ไม่ใช่ ‘การปฏิวัติ (Revolution)’ ซึ่งชไนเดอร์ อิเล็คทริคเอง เป็นผู้ริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมทางด้าน IIoT มาตั้งแต่ปลายปี 1990 โดยมีการติดตั้งอีเธอร์เน็ตและเว็บเซิร์ฟเวอร์ไว้บนอุปกรณ์ระบบควบคุมและออโตเมชั่นด้วยระบบการผลิตที่โปร่งใส (Transparent Factory) และ Transparent Ready อาทิเช่น Modicon M580 ซึ่งเป็นคอนโทรลเลอร์ตัวแรกที่มีการฝังอีเธอร์เน็ตไว้บน Back Plane เป็นต้น และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ผลิตภัณฑ์ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค มากกว่า 95% ถูกออกแบบและผลิตมาให้รองรับการใช้งานผ่าน IoT หมดแล้วครับ

 

 

 

 

          สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค 2 ท่านด้วยกันคือ มร.มาร์ค เพลิทิเยร์ (Marc Pelletier) Country President of Schneider Electric Thailand และ มร.ไซริล เพอร์ดูแคท (Cyril Perducat) Executive Vice President Digital Services & IoT of Schneider Electric Global ถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าของการนำเอา IoT มาใช้ประโยชน์กับงานอุตสาหกรรม โดยมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้ครับ

  

 

มร.มาร์ค เพลิทิเยร์

Country President of Schneider Electric Thailand

  

          มร.มาร์ค เพลิทิเยร์ ได้กล่าวว่า “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีแนวคิดในการนำเอา IoT มาผนวกใช้กับอุตสาหกรรมตั้งแต่ ค.ศ.1997 ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า Transparent Ready โดยมีคอนเซ็ปต์คือการนำเอาพีแอลซี, ไดรฟ์, อุปกรณ์ออโตเมชั่น มาสื่อสารกับอินเทอร์เน็ต ผ่านมาเกือบ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีได้วิวัฒนาการไปอย่างมาก จากเดิมที่สินค้าสื่อสารเฉพาะกับอินเทอร์เน็ต แต่ตอนนี้กลายเป็นเครื่องจักรสื่อสารกับอินเทอร์เน็ต, เครื่องจักรสื่อสารกับเครื่องจักร หรือคนสื่อสารกับเครื่องจักร ด้วยความก้าวหน้าเหล่านี้ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่นตัวอย่างของ บริษัท อีสต์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในบ้านเราและเป็นลูกค้าของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้มีการนำเอาโซลูชั่นทางด้าน IoT เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ โดยสามารถบริหารจัดการได้จากส่วนกลางและสามารถควบคุมได้หลาย ๆ ไซต์งานในเวลาเดียวกัน ทั้งในเรื่องของการตรวจสอบระบบน้ำของตนเอง การจ่ายน้ำสะอาดให้กับลูกค้า ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ ซึ่งประโยชน์ของ IoT ทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย”

 

          สำหรับการตื่นตัวของภาคอุตสาหกรรมในบ้านเราเกี่ยวกับประเด็นของ IoT นั้น มร.มาร์ค เพลิทิเยร์ ได้ให้ข้อมูลว่า  “ภาคอุตสาหกรรมในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ทำการผลิตและขายสินค้าภายในเมืองไทยเท่านั้น อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทเหล่านี้ตระหนักรู้อย่างตลอดเวลา ว่าต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและช่วยในการลดต้นทุนลง ดังนั้นหน้าที่ของทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค คือการเข้าไปช่วยดูแล นำเสนอโซลูชั่นที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมให้กับลูกค้า ซึ่งข้อดีของโซลูชั่นที่เรามีก็คือ สามารถใช้ได้กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และด้วยเทคโนโลยีของเราซึ่งเป็นระบบเปิด ดังนั้นจึงสามารถที่จะเชื่อมต่อกับสินค้าของใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะแต่กับชไนเดอร์ อิเล็คทริคเท่านั้น ในอดีตเทคโนโลยีจะเป็นของใครของมัน ไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยหัวใจหลักของเทคโนโลยีของเราก็คือการนำเอา IT+OT (Information Technology + Operation Technology) ที่สามารถจะจับทุกอย่างมารวมกันแล้วบริหารจัดการได้จากส่วนกลาง ทำการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของข้อมูล แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการได้อย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนลดลง ผลกำไรสูงขึ้น เหล่านี้จะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดและสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ”

 

 

มร.ไซริล เพอร์ดูแคท

Executive Vice President Digital Services & IoT of Schneider Electric Global

 

          ส่วนทางด้าน มร.ไซริล เพอร์ดูแคท ได้ให้มุมมองว่า “แนวคิดของ IoT ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากชไนเดอร์ อิเล็คทริคทำเรื่องนี้มานานมากแล้ว แต่ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดการนำ IoT เข้ามาใช้ก็คือ พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเรื่องที่สองคือ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้มีปัจจัยสนับสนุน 2 ข้อด้วยกันคือ 1.ความต้องการระบบการทำงานที่มีความสมบูรณ์แบบ คือจะทำอย่างไรให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถผลิตได้มากที่สุดแต่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ทรัพยากรในที่นี้หมายรวมถึงวัตถุดิบ, คน, เชื้อเพลิง, พลังงาน ฯลฯ หรือแม้แต่ความกดดันในเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ต้องไม่สร้าง CO2 ให้กับโลก จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เหล่านี้เป็นปัจจัยให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว 2.ความต้องการผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นหนทางที่จะแก้ปัญหามีอยู่ 2 ทางคือ การให้ข้อมูลกับลูกค้ามากขึ้นและทำอย่างไรให้มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นจุดหลักที่ทำให้ IoT ถูกนำเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพราะจะทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น มองอีกมุมหนึ่ง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ก็เปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลลูกค้าด้วยโซลูชั่นและเทคโนโลยีที่เรามี สามารถทำงานแทนได้ คอยบริการ เฝ้าระวัง หากเครื่องจักรเสียก็ส่งคนเข้าไปซ่อม โดยที่ลูกค้าไม่ต้องคอยเป็นกังวล ไม่ต้องลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เอง เหล่านี้ก็จะช่วยให้ลูกค้าลดความกดดันในเรื่องต่าง ๆ ลงไปได้”

               

          “IoT เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีลูกค้าใช้งานมานานมากแล้ว พัฒนาการต่อไปคงเป็นเรื่องของ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูงมาก และพัฒนาไปรวดเร็วมาก มองว่าเทรนด์นี้จะยังคงอยู่ในความสนใจมากกว่า 5 ปีต่อจากนี้ อีกเรื่องคือ การบริการ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับลูกค้า แต่สิ่งที่ใหม่กว่าคือว่าจะทำอย่างไรที่จะนำเอาแอพพลิเคชั่นของ IoT มาใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะกังวลในสองเรื่องด้วยกันคือ เรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลและความสามารถของบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินการ การจัดการกับข้อกังวลดังกล่าวเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับลูกค้า” มร.ไซริล เพอร์ดูแคท กล่าวทิ้งท้าย       

               

          ในขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Industry 4.0) กำลังคืบคลานเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับผู้อ่านที่เป็นนักอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อมรับมือจึงไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมทางด้านความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งครับ

 

ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจภายในงาน

 

          มาดูผลิตภัณฑ์กันบ้างครับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคได้นำมาจัดแสดง ซึ่งนวัตกรรมและโซลูชั่นทั้งหมด มีแนวคิดที่สอดคล้องกันนั่นก็คือ การมุ่งให้ผู้ใช้งานได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นจากกระบวนการทำงานในอุตสาหกรรม การบริหารจัดการภายในอาคารบ้านเรือน ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือแม้แต่ในระบบสาธาณูปโภคพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

 

          • Modicon M580 ePAC (Ethernet Programmable Automation Controller)

 

 

          นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของชุดควบคุมอัตโนมัติที่ใช้อีเธอร์เน็ตเป็นพื้นฐานของการทำงาน สามารถนำไปใช้งานกับระบบสื่อสารได้ทุกรูปแบบ ทำให้การสื่อสารภายในอุปกรณ์และระหว่างโมดูล สามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งค่าใด ๆ เพิ่มเติม หรือหากจะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโมดูลหรือตั้งค่าแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในขณะทำงานก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องหยุดสายการผลิต สามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจสอบวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาได้ทันที เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ทำให้ตัดสินใจได้ทันเวลา มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงาน ลดระยะเวลาในการเกิดดาวน์ไทม์จากรายละเอียดของข้อมูลที่มีให้และการแจ้งเตือนด้วยไดนามิคคิวอาร์โค้ดที่แสดงผลจากตัวเครื่อง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ช่วยยกระดับให้การทำงานของคุณ ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์

 

          • PowerTag® อุปกรณ์สำหรับตรวจจับการใช้พลังงาน

 

 

 

          ปัญหาหลักของการบริหารจัดการพลังงานคือ ผู้คนไม่รู้ว่าพลังงานถูกใช้ไปมากน้อยแค่ไหน เพราะมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ดังนั้นการจะทำให้ผู้คนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการประหยัดพลังงาน จึงจำเป็นต้องทำให้พลังงานถูกมองเห็นได้ (Energy Visible) PowerTag® อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้นำเสนอภายในงานนี้ เป็นไวเลสเพาเวอร์มิเตอร์ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถติดตามการใช้พลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารด้วยการติดตั้งเข้าไว้กับเซอร์กิตเบรกเกอร์ ที่ต่อเข้ากับระบบบริหารจัดการอาคาร (Building Management System: BMS) โดยเซนเซอร์พลังงานจะทำหน้าที่ตรวจจับและวัดผลการใช้พลังงาน, กระแสไฟฟ้า, แรงดัน, เพาเวอร์ และเพาเวอร์แฟกเตอร์ โดยข้อมูลที่ได้สามารถที่จะส่งผ่านด้วยไวเลสให้กับศูนย์ข้อมูลผ่านทางหน้าจอเว็บเพจหรือ BMS นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้ยังสามารถส่งเตือนไปยังอีเมล์ของผู้ดูแลอาคาร  ได้อีกด้วย

 

          PowerTag® เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำมองเห็นการใช้พลังงานและทำให้การบริหารจัดการพลังงานเป็นเรื่องง่ายขึ้น สำหรับในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน PowerTag® ได้ถูกบรรจุเป็นข้อบังคับทางกฎหมายให้ต้องมีการติดตั้งไว้ในอาคารบ้านเรือนครับ

 

          • Altivar® Process อุปกรณ์ควบคุมความเร็วมอเตอร์หรือไดรฟ์

  

 

          เป็นไดรฟ์ที่มาพร้อมกับการติดตั้งบริการอัจฉริยะ (Embedded Intelligent Services) ที่ช่วยให้การทำงานและดูแลอุปกรณ์ทำได้ง่ายและรวดเร็วด้วยตัวเอง ด้วยคุณสมบัติที่สามารถมอนิเตอร์พลังงานไฟฟ้าเบื้องต้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขหรือบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแบบทันท่วงที ช่วยลดเวลาดาวน์ไทม์ได้ถึง 20% ด้วยฟังก์ชั่นที่ช่วยในเรื่องการบำรุงรักษาตามระยะเวลา (Predictive Maintenance) และการใช้คิวอาร์โค้ด ที่ทำให้คุณสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดบนหน้าจอของไดรฟ์ ซึ่งจะลิงก์ไปยังเว็บที่มีข้อมูล ก็จะทราบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ Altivar® Process ยังมาพร้อมกับพอร์ตที่สื่อสารแบบอีเธอร์เน็ตและเว็บเซิร์ฟเวอร์ ที่จะทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลสำคัญในแบบเรียลไทม์ได้เท่าที่ต้องการ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม อีกทั้งยังสามารถบันทึกข้อมูลที่จำเป็นเก็บไว้ในตัวเครื่องได้อีกด้วย

 

          Altivar® Process ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานกับระบบมอเตอร์หรือปั๊มขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 0.75 kW-1.5 MW และทนต่อสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน ทนอุณหภูมิได้สูง ป้องกันฝุ่นและความชื้น และที่สำคัญเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็น Green Premium ครับ ซึ่งชิ้นส่วนของอุปกรณ์ประมาณ 70% สามารถนำไปรีเคิลได้ ดังนั้น Altivar® Process จึงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่นอกจากต้องการประสิทธิภาพจากการทำงานแล้ว ยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยครับ

 

 

บทสรุป

  

          พลังงานนับเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วโลก และเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกมีการพัฒนาและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ครับ ด้วยความต้องการทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลานี้เอง จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ในฐานะที่เป็นผู้ใช้พลังงานร่วมกัน จะได้ขบคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้เรามีพลังงานใช้ไปได้อย่างยั่งยืน มีวิธีการใดที่ทำให้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกัน จะทำอย่างไรให้ตลอดวงจรชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานจะไม่สร้างมลพิษต่อสภาพแวดล้อมโลกครับ

 

โจทย์สำคัญจากความท้าทายดังกล่าวนี้เอง ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการอย่าง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทางด้านระบบการบริหารจัดการพลังงานและระบบออโตเมชั่น จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวนับเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ดังนั้นการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมและสามารถนำนวัตกรรมนั้นมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุดครับ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด