Products Showcase

OceanOne หุ่นยนต์นักล่าขุมทรัพย์ใต้สมุทร

 

          ทีมนักวิจัยของ Standford University ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่เลียนแบบร่างกายมนุษย์ (anthropomorphic bot) สำหรับภาระกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่มนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ หุ่นยนต์ตัวที่ว่านี้มีชื่อว่า OceanOne โดยภารกิจแรกของ OceanOne คือการดำสำรวจ La Lune เรือเดินสมุทรโบราณอายุ 350 ปี ที่อัปปางอยู่ทางตอนใต้ของผรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1664 โดยการสำรวจในครั้งนี้ ทำให้ทีมนักวิจัยค้นพบสิ่งของมีค่าและข้าวของเครื่องใช้โบราณในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ถูกบรรทุกมาในเรือโบราณลำนี้ด้วย

 

          OceanOne ถูกพัฒนาขึ้นที่ห้องวิจัยของ ศจ. เอาซามา คาทีบ (Prof. Oussama Khatib) ใน Standford University โดยโครงสร้างของ OceanOne ประกอบด้วยส่วนแขนสองข้าง และส่วนหางใบพัดซึ่งขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และจอยสติกเป็นส่วนควบคุมการทำงาน หุ่นยนต์จะส่งภาพวิดีโอฟุตเทจ (video footage) จากกล้องถ่ายวิดีโอแบบ stereoscopic cameras และมีระบบโต้ตอบการสัมผัส (Haptic feedback) ที่ช่วยส่งแรงตอบสนองต่างๆ จากการสัมผัสกลับมายังผู้ขับหุ่นยนต์ จึงทำให้ผู้ขับสามารถรับรู้การสัมผัสที่เกิดขึ้นอย่างคร่าวๆ ได้ และช่วยให้ผู้ขับรู้สึกเหมือนกับได้ดำลงไปอยู่ในเหตุการณ์ตรงจุดที่ปฏิบัติภารกิจอยู่จริงๆ

 

 

          การทำงานของ OceanOne เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ ในการระหว่างภารกิจ หุ่นยนต์จะเคลื่อนไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้บนแผนที่ โดยจะควบคุมตัวมันเองให้คงตำแหน่งจากการจับทิศทางของกระแสน้ำแล้วควบคุมการขับเคลื่อนที่ผ่านทางใบพัดหางเพื่อเป็นการชดเชย และสามารถจะหลบหลีกสิ่งกีดขวางใต้น้ำได้อย่างอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันผู้ขับหุ่นยนต์ก็สามารถเข้าควบคุมการทำงานทั้งหมดด้วยมือแทนได้ในทันทีที่ต้องการเช่นกัน

 

          รูปแบบของการทำงานร่วมกันของมนุษย์และหุ่นยนต์ในลักษณะที่ว่านี้ มีประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับภารกิจสำคัญๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ทำงานด้วยตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การซ่อมนิวเคลียร์รีแอคเตอร์ (nuclear reactor) ที่ได้รับความเสียหายในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น ในการแข่งขัน (contest) ที่จัดขึ้นโดย DARPA เมื่อปีก่อน ภายใต้สถานการณ์จำลองในรูปแบบต่างๆ ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการยากเพียงไร ในการต้องปฏิบัติภารกิจที่มีความซับซ้อนจากระยะไกล โดยเฉพาะอย่างๆ ยิ่งในสภาพที่การช่องทางสื่อสารที่มีอย่างจำกัด ซึ่งสภาพการทำงานใต้น้ำก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ต่างกัน

 

          OceanOne สามารถทนต่อสภาพแรงกดดันใต้น้ำในระดับที่มนุษย์ไม่สามารถจะทนได้ และสามารถช่วยให้ภารกิจที่มีอันตรายทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น นั่นทำให้ในอนาคตยังมีงานอีกมากที่ OceanOne สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การซ่อมแซมท่อขุดเจาะน้ำมัน การซ่อมแซมสายเคเบิ้ลใต้น้ำ เป็นต้น

 

 

จำนวนสถานีชาร์จฯ EV ในญี่ปุ่นทะลุ 40,000 สถานีแล้ว

 

          จากรายงานของ Nissan Motor Co. ที่ได้สำรวจออกมาล่าสุด พบว่าปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนสถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า หรือ EV เพิ่มมากขึ้น จนแซงหน้าสถานีบริการน้ำมันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสถานีชาร์จที่ว่านี้ก็มีทั้งแบบที่เป็นสถานี fast-charger และสถานีขนาดเล็กของส่วนบุคคล โดยมีจำนวนรวมกันทั้งหมดถึง 40,000 สถานี ในขณะที่สถานีบริการน้ำมันมีอยู่ทั้งหมด 34,000 สถานี ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV นี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาร่วมๆ สิบปีเท่านั้น ในขณะที่สหรัฐฯ ปัจจุบันยังมีคงสถานีชาร์จไฟอยู่เพียง 9,000 สถานี และมีสถานีบริการน้ำมันอยู่มากถึง 114,500 สถานี ส่วนประเทศอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ EV ที่ยังช้ากว่านี้มาก

ทำไมประเด็นที่ว่านี้น่าสนใจอย่างไร? Nissan Leaf (รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดย Nissan) สามารถใช้เดินทางได้ 172 กม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง นั่นทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าแบตเตอรี่อาจหมดระหว่างทางก่อนจะไปถึงสถานีชาร์จซึ่งก่อนหน้านี้มีอยู่ไม่กี่แห่ง ความกังวลข้อนี้เองกดดันการตัดสินใจของผู้บริโภคมาโดยตลอด แต่เมื่อจำนวนของสถานีชาร์จมีเพิ่มขึ้น บวกกับเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่ดีขึ้นมาก ทั้งหมดจะมาช่วยปลดล็อกความกังวลดังกล่าว และเป็นปัจจัยที่เสริมให้ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าสามารถจะเติบโตต่อไปได้

 

 

          นอกจากนั้นเมื่อสถานีชาร์จมีความแพร่หลาย สิ่งที่เกิดตามมาในขณะนี้ก็คือ บริการรูปแบบใหม่ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานรถยนต์ EV ซึ่งเริ่มทยอยตามมา เช่น Open Charge Map ซึ่งเป็นบริการค้นหาตำแหน่งของสถานีชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด รวมทั้งเทรนด์ของบริการแบบ sharing economy (เช่น บริการของ Airbnb ที่เจ้าของบ้านสามารถสมัครร่วมเป็นเครือข่ายของ Airbnb เพื่อแบ่งห้องว่างเพื่อให้นักเดินทางเข้าพักได้ แบบคิดค่าบริการ) ก็จะช่วยให้ในอนาคตอันใกล้สถานีชาร์จส่วนบุคคลต่างๆ ทั่วประเทศ จะเป็นตัวเลือกให้กับผู้ใช้งานรถยนต์ EV สามารถเข้าใช้บริการได้ด้วย เป็นต้น

 

 

แขนกลที่ควบคุมได้จากความคิด งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ DARPA

 

          กองทัพสหรัฐฯ ได้สนับสนุนงานวิจัยในการสร้างแขนกลที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวโดยผ่านทางความคิด (mind-controlled prosthetic arm) ซึ่งใช้การผ่าตัดเพื่อติดตั้งเข้ากับร่างกายของมนุษย์

 

          "นี่เป็นเทคโนโลยีของแขนกลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก” จอห์นนี่ แมเทนี (Johnny Matheny) ผู้ที่สูญเสียแขนซ้ายส่วนล่างของเขาจากโรคมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2008 และเข้าเป็นผู้ร่วมทดลองในโครงการแขนกลของ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต่างๆ ของกองทัพสหรัฐฯ กล่าว "เจ้าแขนกลนี้สามารถทำทุกๆ ได้อย่างที่แขนของคุณทำได้ ยกเว้นก็แต่การทำสัญลักษณ์ Valcan V ซึ่งถ้าผมไม่ต้องพบกับชาววัลแคน (Vulcan) เรื่องนี้ก็คงไม่จำเป็นสำหรับผมหรอก (สำหรับแฟน Startrek น่าจะยิ้มออกกับมุกตลกที่ว่านี้)"

 

          คุณแมเทนีได้ร่วมอยู่ในงานแสดงโชว์ผลงานวิจัยของ DARPA ในงานวัน DARPA Demo Day ซึ่งจัดขึ้นที่ Pentagon เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แขนกลนี้เป็นงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นโดย Johns Hopkins Applied Physics Laboratory โดยตัวแขนกลจะถูกติดตั้งเข้ากับชิ้นส่วนโลหะที่ถูกผ่าตัดฝังเข้ากับกระดูกส่วนต้นแขนของผู้ใช้งาน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า osseointegration ซึ่งคุณแมเทนีเป็นคนแรกในสหรัฐฯ ที่ได้ทำอะไรแบบที่ว่านี้ ผู้ใช้สามารถจะควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ของแขนกลผ่านทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อของส่วนต้นแขน โดยที่เนื้อเยื่อจะส่งผ่านสัญญาณไปยังแขนกล ซึ่งมันสามารถจะตอบสนองการควบคุมต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับแขนของมนุษย์จริงๆ

 

          “โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ กายอุปกรณ์ (Prosthetics) ซึ่งเป็นความพยายามของเราในการสร้างอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อช่วยเหล่าทหารที่ต้องพิการจากภารกิจในการป้องกันประเทศ” ดร.จัสติน แซนเชซ (Justin C. Sanchez) ผู้อำนวยการ Biological Technologies Office หน่วยงานหนึ่งของ DARPA กล่าว

 

          ดร.แซนเชซ ได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันทีมนักวิจัยยังคงพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งสามารถจะให้ผลลัพธ์ในการควบคุมกายอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก โดยใช้การเชื่อมต่อกับระบบประสาทโดยตรง วิธีการนี้จะทำได้ด้วยการผ่าตัดและติตตั้งอุปกรณ์บางอย่างฝังลงในสมอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถจะควบคุมกายอุปกรณ์โดยรู้สึกถึงเป็นธรรมชาติได้มากขึ้นไปอีกนั่นเอง

 

 

Sora Raku บริการโดรนเพื่อนนักกอล์ฟ

 

          Rakuten จับมือกับพาร์ทเนอร์ คือ Autonomous Control Systems Laboratory (ACSL) ห้องวิจัยที่เพิ่งแยกตัวจาก Chiba University เพื่อเปิดตัวบริการส่งของด้วยหุ่นยนต์โดรนที่มีชื่อโครงการว่า Sora Raku โดยในช่วงแรกจะเป็นโครงการทดลองใช้ระยะช่วงเวลา 1 เดือน ที่กอล์ฟคอร์สแห่งหนึ่งในจังหวัดจิบะ (Chiba) ประเทศญี่ปุ่น โดยได้เริ่มทดลองไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

 

          "เราอยากให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการชอปปิ้ง ด้วยการส่งของทางโดรนที่ทำงานแบบอัตโนมัติ" คุณฮิโรชิ มิคิทะนิ (Hiroshi Mikitani) ซีอีโอของ Rakuten กล่าวระหว่างที่พรีเซนต์บริการรูปแบบใหม่นี้ "บริการรูปแบบใหม่นี้เป็นเพียงก้าวแรกในการนำโดรนมาใช้ในธุรกิจบริการ และศักยภาพในการนำโดรนไปใช้งานนั้นยังสามารถทำได้อีกมาก"

 

 

          ระหว่างการพรีเซนต์ หุ่นยนต์โดรนที่พัฒนาขึ้นจากการร่วมมือกันของ Rakuten และ ACSL ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Tenku สามารถจะบินอย่างอัตโนมัติ ผ่านบริเวณแท่นตั้งที (teeing ground) ของหลุมที่ 15 ตรงไปยังบนผืนผ้าใบที่มีอักษร R ที่เป็นโลโก้ของ Rakuten และวางกล่องพัสดุสีชมพูลงที่จุดดังกล่าว ก่อนที่จะบินจากไป

 

          Tenku หุ่นยนต์โดรนที่ ACSL ได้พัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วย 6 โรเตอร์ ถูกออกแบบมาให้สามารถบินผ่านกระแสลมแรง บินทำความเร็วได้ที่ 8 เมตรต่อวินาที มีระบบการนำร่องอัตโนมัติ และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุดราวๆ 2 กิโลกรัม มากพอสำหรับการส่งแฮมเบอร์เกอร์จากคลับเฮาส์ได้อย่างสบายๆ โดยวิศวกรผู้ออกแบบได้พัฒนาระบบรู้จำภาพขึ้นเอง ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์สามารถรู้ได้เองว่าพื้นที่ลงจอดอยู่ที่จุดใด และด้วยการใช้แอพฯ Sora Raku จากสมาร์ตโฟน นักกอล์ฟจึงสามารถจะสั่งซื้ออาหาร เครื่องดื่มๆ รวมทั้งอุปกรณ์ เช่น ลูกกอล์ฟ, ทีกอล์ฟ โดยเพียงแต่ล๊อคอินด้วย Rakuten ID ผ่านทางแอพฯ พร้อมกับระบุตำแหน่งของกอล์ฟคอร์สที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยการชำระเงินสามารถใช้บัตรเครดิต รวมทั้งสามารถใช้ Rakuten Super Points (แต้มสะสมในระบบของ Rakuten) ได้เช่นกัน การส่งสินค้า หุ่นยนต์โดรนจะถูกส่งออกมาจากคลับเฮาส์ตรงไปยังจุดที่กำหนดภายในไม่กี่นาที โดยหลังจากส่งสัมภาระยังที่หมาย หุ่นยนต์ก็จะบินกลับมายังคลับเฮาส์เองอย่างอัตโนมัติ

 

 

          “บริการนี้เป็นก้าวแรกในการปฏิวัติฟากฟ้า" ศจ.เคนโซ โนะนะมิ (Kenzo Nonami) จาก Chiba University และผู้ก่อตั้ง ACSL ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหุ่นยนต์โดรนรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นกล่าว "ในท้ายที่สุด บริการขนส่งสินค้าทางอากาศจะเข้ามาแทนที่การขนส่งทางบกแบบเดิมๆ" ซึ่งเรามีเป้าหมายจะเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมนี้

ปัจจุบัน ACSL ผลิตโดรนภายใต้แบรนด์ Mini Surveyor โดยมีรุ่น MS-06LA สำหรับใช้งานในระดับอุตสาหกรรม และยังได้พัฒนาโดรนแบบ delta wing-shaped ที่สามารถบินขึ้นและลงจอดได้ในแนวดิ่ง สำหรับใช้ในการเดินทางระยะทางไกล ปัจจุบันบริษัทมีฐานตั้งอยู่ในจังหวัดจิบะ โดยบริษัทมีแผนการที่จะเปิดให้บริการส่งของบนอาคารสูงในย่านมิคุฮะริ (Makuhari) ของจังหวัดจิบะในไม่ช้านี้

 

          "กฎเกณฑ์และทัศนคติเกี่ยวกับหุ่นยนต์โดรนในจังหวัดจิบะ สร้างให้เกิดเงื่อนไขที่ดีมากๆ สำหรับเราในการทดสอบใช้งานหุ่ยนต์โดรนในชีวิตจริง ซึ่งเราเชื่อว่าท้ายที่สุดจะเป็นทางเลือกสำหรับธุรกิจลอจิสติคส์" คุณฮิเดะอะคิ มุคะอิ (Hideaki Mukai) หัวหน้าผู้ดูแลโครงการ Sora Raku กล่าว