โครงงาน

INDUCTION HEATING 24 VDC 500 W

สันติสุข ผลอินทร์

Toto.electric.group@gmail.com

 

 

หากพูดว่า INDUCTION HEATING หลายท่านอาจจะมองไม่เห็นภาพว่าคืออะไร แต่ถ้าบอกว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าก็คงจะเริ่มคุ้นๆ และถามต่อไปว่ามันมีวิธีการทำงานอย่างไร เราสามารถสร้างเองได้หรือไม่ โครงงานนี้มีคำตอบครับ

 

          สำหรับโครงงานนี้จะเป็นการให้ความร้อนด้วยการเหนี่ยวนำ ซึ่งเป็นการให้ความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การถ่ายเทพลังงานผ่านสนามแม่เหล็กทำให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าและเกิดความร้อนขึ้นในโลหะ ความร้อนที่เกิดขึ้นในชิ้นโลหะเกิดจากการเสียดสีของโมเลกุล เนื่องจากความต้านทานสนามแม่เหล็กของชิ้นโลหะและเกิดกระแสไฟฟ้าไหลวนจากการเหนี่ยวนำของของสนามแม่เหล็กในชิ้นโลหะ

 

          โครงงานนี้ใช้แหล่งจ่ายไฟเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ป้อนให้กับวงจรเพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับตามความถี่ที่เราต้องการเพื่อป้อนเข้าขดลวดเหนี่ยวนำ ซึ่งการใช้งานของ INDUCTION HEATING จะถูกแบ่งออกไปตามลักษณะการใช้งานและความถี่ที่ใช้งาน อาทิเช่น การชุบแข็งที่ผิวชิ้นงาน หากต้องการความลึกที่ผิวต่ำจึงต้องใช้ความถี่สูง ส่วนงานประเภทให้ความร้อนสำหรับการทุบขึ้นรูปจะต้องการความลึกที่ผิวค่อนข้างสูง ความถี่ในการใช้งานจึงต่ำ เป็นต้น ยกตัวอย่างความถี่ที่เหมาะสมในการใช้งานได้ดังนี้คือ

 

          1. ระบบที่ใช้ความถี่ 50-60 Hz มีความถี่ค่อนข้างต่ำทำให้ค่าความลึกผิวในการให้ความร้อนมีค่ามาก โดยค่าความลึกจะอยู่ที่ประมาณ 10-100 มิลลิเมตร นิยมใช้ในงานหลอมโลหะ

          2. ใช้ความถี่สูงประมาณ 500 Hz – 10 KHz ทำให้ได้ความลึกที่ผิวตั้งแต่ 1-10 มิลลิเมตร ใช้ในงานเตาหลอมโลหะ

          3. ใช้ความถี่ตั้งแต่ 500 Hz - 50 KHz ใช้ในงานที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น งานหลอมโลหะ งานทุบขึ้นรูปโลหะ งานชุบแข็งผิว และแบบสุดท้าย คือ แบบที่เราจะสร้างกันในโครงงานนี้

          4. ความถี่ตั้งแต่ 500 KHz – 10 MHz สามารถใช้พวกมอสเฟตกำลัง (แบบเดียวกับโครงงานนี้) ค่าความลึกที่ผิวมีค่าประมาณ 0.1-2 มิลลิเมตรเหมาะสำหรับงานเชื่อมประสานและงานชุบแข็งผิว

 

          สำหรับขดลวดเหนี่ยวนำจะทำด้วยตัวนำไฟฟ้า เช่น ทองแดง เมื่อมีกระแสไหลผ่านตัวมันจะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้น และทำให้เกิดการเหนี่ยวนำในชิ้นงานโลหะ สุดท้านก็จะกลายเป็นพลังงานความร้อน ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งการเกิดความร้อนเหนี่ยวนำจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ เกิดความร้อนจากกระแสไหลวนในชิ้นโลหะ และเกิดความร้อนจากความต้านทานของสนามแม่เหล็ก จะเกิดเฉพาะโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นสารเท่านั้น

 

 

รูปที่ 1 การเกิดสนามแม่เหล็ก

 

 

รูปที่ 2 วงจรสมบูรณ์

 

หลักการทำงานและการสร้าง

 

          วงจรของ INDUCTION HEATING จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานโดยวงจรนี้จะใช้มอสเฟตเป็นตัวสวิตช์เพื่อให้เกิดความถี่ขึ้นในขดลวดเหนี่ยวนำ ตามรูปวงจร รูปที่ 2 ซึ่งจะเห็นว่าวงจรมีอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น ดังนั้นผู้เขียนจึงขออธิบายหลักการทำงานและการสร้างไปพร้อมๆ กันเลย

 

          อีกส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหลักสำหรับวงจรนี้เลย คือ ตัวเหนี่ยวนำ ซึ่งในวงจรจะมีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ L1, L2 และ L3 โดย L1 กับ L2 จะมีค่าความเหนี่ยวนำเท่ากันประมาณ 3 mH และสามารถรับกระแสได้ประมาณ 10 A ส่วน L3 จะมีค่าความเหนี่ยวนำประมาณ 15 uH ซึ่งค่าความเหนี่ยวนำที่กล่าวมาอาจจะหายาก ดังนั้นเราจึงต้องทำตัวเหนี่ยวนำขึ้นมาเอง มาเริ่มจากการสร้างตัวเหนี่ยวนำ L1 และ L2 กันก่อน ขั้นแรกให้นำแกนเทอรอยส์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรู 2 ซม.และหนาประมาณ 1 ซม.จากนั้นนำสายไฟเบอร์ 1 SQmm มาพันรอบแกนเทอร์รอยจำนวน 15 รอบสองแกน (พัน 15 รอบ 2 ครั้ง) ตามรูปที่ 3 ก็จะได้ตัวเหนี่ยวนำ L1 และ L2

 

 

รูปที่ 3 ลักษณะและการสร้าง L1 และ L2

 

 

รูปที่ 4 ลักษณะและการสร้าง L3

 

 

          ส่วนตัวเหนี่ยวนำตัวที่ 3 หรือ L3 นั้น ในโครงงานนี้ จะใช้สายไฟ THW ขนาด 6 SQmm หรือจะใช้ท่อทองแดงขนาด 3/16 ก็ได้ นำสายไฟ THW ขนาด 6 SQmm มาขดเป็นเกลียวทรงกระบอกตามรูปที่ 4 ขนาดเส้นผ่าศูนย์ประมาณ 2 นิ้ว พันเป็นเกลียวจำนวน 10 รอบ ก็จะได้ค่าความเหนี่ยวนำประมาณ 15 uH หรือใช้ท่อทองแดงพันในลักษณะเดียวกันแต่ให้เพิ่มจำนวนรอบมากกกว่า 5-10 รอบก็จะได้ค่าความเหนี่ยวนำใกล้เคียงกัน

 

          จากวงจรจะเห็นว่า L3 จะมีตัวเก็บประจุต่อขนานอยู่ ซึ่งค่าความจุที่ใช้เท่ากับ 4 uF 275 V แต่เนื่องจากวงจรนี้เป็นวงจรที่ใช้ความถี่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากใช้ตัวเก็บประจุตัวเดียวขนาด 4 uF เลยจะส่งผลให้ตัวเก็บประจุร้อนจัด แนวทางการแก้ไขทำได้โดยนำตัวเก็บประจุที่มีค่าน้อยๆ เช่น นำตัวเก็บประจุที่มีค่า 1 uF จำนวน 4 ตัว มาขนานกันเพื่อให้ได้ค่าความจุ 4 uF ตามรูปที่ 5 เพื่อจะได้ระบายความร้อนที่ดีขึ้นและชนิดของตัวเก็บประจุแนะนำให้ใช้แบบ MKP เพราะจะตอบสนองความถี่สูงได้ดี

 

 

รูปที่ 5 การต่อขนานตัวเก็บประจุ 4 ตัวเพื่อให้ได้ค่า 4 uF

 

          อุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไดโอดที่อยู่ในวงจร อยางกล่าวมาข้างต้น วงจรนี้เป็นวงจรที่ใช้ความถี่สูงไดโอดก็ต้องใช้ชนิดที่ตอบสนองความถี่สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะต้องใช้เป็นชนิด Fast Diod หรือ Ultra Fast Diod ก็ได้ และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกันก็คือฟิวส์ป้องกันในวงจร ซึ่งในวงจรนี้ใช้ฟิวส์ 20-25 A

 

 

รูปที่ 6 การทดสอบกับแท่งเหล็ก

 

การทดสอบ

 

          การใช้งานมอสเฟตจะเกิดความร้อน ดังนั้นจะต้องติดแผ่นระบายความร้อนด้วย เพื่อป้องกันความเสียหาย ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มการทดลองเลยดีกว่า เริ่มจากการจ่ายไฟเข้าวงจรในสภาวะที่ไม่มีโหลด (ไม่มีโลหะอยู่ในขดลวดเหนี่ยวนำ L3)ที่ถูกต้องวงจรจะใช้กระแสประมาณ 3-4 A แต่ถ้ามีโหลดกระแสจะมากขึ้น โดยกระแสจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะและขนาดของโลหะที่อยู่ในขดลวดเหนี่ยวนำ L3

 

          เมื่อเริ่มจ่ายไฟและใส่แท่งเหล็กลงไปในตัวเหนี่ยวนำ L3 ไม่กี่วินาทีแท่งเหล็กก็จะมีความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อผ่านไปประมาณ 30 วินาที แท่งเหล็กที่อยู่ในขดลวดเหนี่ยวนำก็จะเริ่มมีสีแดงออกส้ม อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 700 องศาเซลเซียสและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังแสดงในรูปที่ 6

 

          เนื่องจากวงจรในโครงงานนี้ใช้ไฟฟ้าแรงดันต่ำ 24 VDC จึงมีความปลอดภัยในการทดลอง แต่ก็มีข้อควรระวังในโครงงานนี้ คือ ความร้อน เนื่องจาก INDUCTION HEATING จะให้ความร้อนแก่โลหะที่นำมาทดลองเร็วมากไม่กี่วินาทีอุณหภูมิของโลหะก็จะมากกว่า 200 องศาเซลเซียส จึงต้องให้ความระมัดระวังในการทดลอง ในการใช้งานจริง วงจรนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งรูปแบบของขดลวดเหนี่ยวนำ L3 ไม่จำเป็นต้องเป็นทรงกระบอกเสมอไป อาจจะเป็นรูปแบบอื่นเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานก็ได้ ตามรูปที่ 7

 

 

รูปที่ 7 ลักษณะต่างๆ ของ L3 ที่สามารถใช้งานได้

 

ตารางที่ 1 แสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของการให้ความร้อนโดยการเหนี่ยวนำ

 

 

 

โครงงานนี้เหมาะสำหรับการใช้งานขนาดเล็ก เพื่อการศึกษาหลักการทำงานของ INDUCTION HEATING เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้งานต่างๆ ที่ต้องการให้ความร้อนโดยการเหนี่ยวนำใช้ระยะเวลาสั้นและมีประสิทธิภาพในการถ่ายเทพลังงานร้อยละ 55 – 85 ซึ่งสูงกว่าการให้ความร้อนโดยเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพการถ่ายเทพลังงานประมาณร้อยละ 15-25 เท่านั้น

 

รายการอุปกรณ์

ตัวต้านทาน
          R1, R2 470 2W 2 ตัว
          R3, R4 10 k 2 ตัว

ตัวเก็บประจุ
          C1-C4 1uF 275V (MKP) 4 ตัว

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
          ZD1, ZD2 ซีเนอไดโอด 12V 1W 2 ตัว
          D1, D2 1N4937 (Fast Diod) 2 ตัว
          Q1, Q2 IRFP250N 2 ตัว

อื่นๆ
          L1, L2 ตัวเหนี่ยวนำ 3mH. 2 ตัว
          L3 ตัวเหนี่ยวนำ 15uH. 1 ตัว

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด