โครงงาน

เพาเวอร์แอมป์ RX-150

คมสันต์  ปักกะโต

 

 

วงจรเพาเวอร์แอมป์ที่ดี นอกจากจะออกแบบมาเพื่อน้ำเสียงที่ดีแล้ว ในทางปฏิบัติต้องออกแบบมาให้สร้างง่ายด้วย ยิ่งถ้าวัตต์สูงด้วยและสร้างง่ายด้วยก็ยิ่งชวนให้น่าติดตามมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติดังกล่าวอยู่ในโครงงานนี้แล้ว เชิญอ่านได้เลยครับ

 

          ปัญหาอย่างหนึ่งของนัก DIY โครงงานเครื่องเสียงวัตต์สูงก็คือ มักพบกับความลำบากในการสร้างจากการวัดหาคู่แมทชทรานซิสเตอร์จุดสำคัญๆ การเชื่อมโยงอุณหภูมิในภาคดิฟเฟอเรนเชียลแอมป์ สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจกันพอสมควร ถ้าจัดการได้ไม่ดีพออาจทำให้เกิดความผิดพลาดต่างๆ ตามมา บางครั้งกว่าจะสำเร็จเล่นเอาเหงื่อตกได้เหมือนกัน แต่ปัญหาเหล่านั้นจะน้อยลงเมื่อเราเลือกใช้ออปแอมป์ มาทำหน้าที่เป็นดิฟเฟอเรนชียลแอมป์ เช่นในเพาเวอร์แอมป์อย่าง RX-150 คงมีไม่มากนักที่นัก DIY เครื่องเสียงจะยินยอมใช้ออปแอมป์ในการสร้างวงจรขยายภาคหน้า เนื่องจากกระแสนิยมส่วนใหญ่เบนไปทางวงจร Discrete หรือวงจรทรานซิสเตอร์ล้วนๆ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าวงจรรวมอย่างออปแอมป์ ทั่วไปมันถูกออกแบบมาให้มีสมรรถนะที่สูงอยู่แล้ว และยังมีหลายเบอร์ให้เลือกใช้ เพียงแต่มันถูกจำกัดในย่านแรงดันใช้งานที่ต่ำ ลำพังตัวมันเองจึงไม่มีความสามารถในการขยายแรงดันที่เพียงพอต่อการสร้างเป็นเพาเวอร์แอมป์วัตต์สูง

 

          เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ RX-150 เนื่องจากจะใช้ไอซีออปแอมป์ทำหน้าที่เป็นวงจรดิฟเฟอเรนเชียลแอมป์ในภาคอินพุตเท่านั้น ในส่วนของวงจรขยายแรงดันและกระแสยังคงใช้ทรานซิสเตอร์ เพื่อให้เพาเวอร์แอมป์สามารถทำงานได้กำลังสูงตามที่ต้องการ ข้อดีคือในส่วนของวงจรป้อนกลับและชดเชยจะเป็นการใช้สมรรถนะด้านต่างๆ ที่ยอดเยี่ยมของออปแอมป์ ทำให้วงจรมีเอาต์พุตออฟเซ็ตที่ต่ำ, สัญญาณรบกวนต่ำ, ความเพี้ยนต่ำ, ตอบสนองความถี่และตอบสนองทางเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม เฉกเช่นคุณสมบัติที่ดีของออปแอมป์ สำหรับโครงงานนี้ได้เลือกใช้ออปแอมป์เบอร์ NJM5534D แน่นอนว่าท่านสามารถเลือกหาออปแอมป์เบอร์อื่นๆ ที่มีตำแหน่งขาตรงกัน คุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทดลองเปลี่ยนเล่นได้ นี่คือข้อดีอีกอย่างของการใช้ไอซีเป็นภาคหน้า

 

          คุณสมบัติของ RX-150

• แรงดันไฟเลี้ยงสูงสุด(Voltage power supply max) ............................+/-90Vdc
• แรงดันไฟเลี้ยงใช้งาน (Normal power supply)..................................+/-60Vdc
• กำลังเอาต์พุต (Power Output)..........................150Wrms @ 8 Ohm (+/-60V)
• กำลังเอาต์พุต (Power Output)..........................280Wrms @ 4 Ohm (+/-60V)
• การตอบสนองความถี่(Frequency Response) ..............................20Hz – 20kHz
• อัตราการขยายของวงจร (Amplifier Gain)......................................26 dB/32dB
• อินพุตอิมพีแดนซ์ (Input Impedance).......................................22 kilo-Ohms
• เอาต์พุตออฟเซ็ต (Output DC Offset)............................................<+/-5mV
• ขนาด PCB(Size)..............................................................147mmx77mm

 

 

รูปที่ 1 วงจรสมบูรณ์เพาเวอร์แอมป์ RX-150

 

การทำงานของวงจร

 

          จากรูปที่1 สัญญาณเสียงถูกจ่ายเข้ามาทางอินพุต C2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นคัปปลิ้งคาปาซิเตอร์ป้องกันไฟตรงเข้ามาทางอินพุตของออปแอมป์ R2 และ C9 ทำหน้าที่เป็นวงจรกรองความถี่ต่ำผ่าน ไม่ให้ความถี่สูงที่เกินกว่าย่านความถี่เสียงที่อาจเป็นอันตรายเข้ามาในวงจรขยายได้ และ R3 ทำหน้าที่กำหนดค่าอินพุตอิมพีแดนซ์ของวงจรขยาย

 

          ออปแอมป์จะใช้ไฟเลี้ยง +/-15Vdc เร็กกูเลตด้วยซีเนอร์ไดโอด วงจรเรกูเลเตอร์ประกอบไปด้วย R13, R14, ZD1, ZD2, C6 และ C5 โดยมี R6 และ R7 ทำงานร่วมกับ C7 และ C11 เป็นดีคัปปลิ้ง หรือบายพาสคาปาซิเตอร์ ช่วยกดอิมพีแดนซ์ของแหล่งจ่ายไฟในย่านความถี่สูงก่อนที่แรงดันไฟเลี้ยงจะจ่ายให้กับไอซี ซึ่งเป็นพื้นฐานในเรื่องการจัดการแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงสำหรับไอซีให้ทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ

 

          C8 ทำหน้าที่ลดแบนด์วิดธ์ที่สูงเกินขอบเขตการทำงานในย่านเสียงของออปแอมป์ สัญญาณเสียงจะส่งผ่าน R8 เข้าไปสู่วงจรไบอัส คือ R9, R12, R10, R11, R16, R17, R18, Q1 และ C14 จำเป็นอย่างมากที่ต้องติด Q1 กับฮีตซิงค์เพื่อรับอุณหภูมิมาปรับชดเชยการไบอัสค่ากระแสสงบเพื่อไม่ให้เอาต์พุตทรานซิสเตอร์เกิดเหตุการณ์วิ่งหนีอุณหภูมิจนได้รับความเสียหาย

Q2, Q3 และ Q4 คือภาคขยายแรงดันที่ต่อเป็นวงจรแบบคาสโคด โดยมี Q2 (MJE340) และ Q5 (MJE350) ทำหน้าที่รักษาแรงดันคงที่ให้กับ Q3 และ Q4 ประมาณ 15V ซึ่งเป็นวิธีการทำให้วงจรภาคขยายแรงดันทำงานได้อย่างเป็นเชิงเส้นและให้ความเพี้ยนต่ำ ในส่วนของ C12 และ C13 ทำหน้าที่ลดแบนด์วิดธ์ของภาคขยายแรงดันไม่ให้สูงเกินไป เป็นการป้องกันการเกิดออสซิลเลทนั่นเอง

 

          กระแสสงบของภาคขยายแรงดันถูกตั้งค่าไว้ประมาณ 5mA สัญญาณจะส่งออกทางขาคอลเล็กเตอร์ของ Q2 และ Q5 โดยมี R20 และ R22 ค่า 220 โอห์มต่อเป็นโหลดและส่งเข้าสู่ภาคขยายกำลังประกอบไปด้วย Q6 และ Q7 ต่อในลักษณะดาร์ลิงตันกับเอาต์พุตทรานซิสเตอร์ Q8, Q9, Q10 และ Q11 โดยจัดวงจรให้เอาต์พุตออกทางขาคอลเล็กเตอร์หรือคอมมอนอีมิเตอร์

 

          R25 และ R26 ทำหน้าที่เป็นโหลดของ Q6 และ Q7 ส่วน R27, R28, R30 และ R31 ทำหน้าที่เป็น RE ให้กับเอาต์พุตทรานซิสเตอร์ช่วยเฉลี่ยการทำงานของทรานซิสเตอร์ที่ขนานกันเพื่อแชร์กระแสให้ใกล้เคียงกัน สำหรับ D1 และ D2 ทำหน้าที่เป็นแดมปิ้งไดโอด ช่วยกำจัดแรงดันไหลย้อนกลับจากการขยับตัวของวอยซ์คอยล์ลำโพง สัญญาณเสียงที่ถูกขยายก่อนออกไปสู่ลำโพงจะผ่านวงจรโซเบลเน็ทเวิร์คเพื่อปรับปรุงอิมพีแดนซ์เอาต์พุตในย่านความถี่สูง ป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอกเข้ามารบกวนกรณีที่เดินสายลำโพงยาวๆ ประกอบไปด้วย C18, R29, R32 และ L1

 

          วงจรขยาย RX-150 มีการป้อนกลับ 2 จุด ส่วนแรกคือ การป้อนกลับภาคเอาต์พุตประกอบไปด้วย C17 และ R24 ซึ่งจะป้อนกลับเฉพาะย่านความถี่สูงลดแบนด์วิดธ์ในย่านความถี่สูงของภาคเอาต์พุต ส่วนที่สองคือการป้อนกลับแบบลบเพื่อกำหนดอัตราขยายโดยรวมของระบบ ประกอบด้วย R4, R5, C3, C4 และ C10 โดยอัตราส่วนของ R5/R4=32dB หากต้องการลดอัตราขยายสามารถทำได้โดยลดค่า R4 ลงมาเป็น 1K จะทำให้วงจรมีอัตราขยายประมาณ 26dB เทคนิคอีกอย่างที่ทำให้ RX-150 มีระดับสัญญาณรบกวนที่ต่ำคือ เรื่องการจัดการระบบกราวด์ โดยแยกกราวด์ในส่วนของสัญญาณและในส่วนของกำลังออกจากกันโดยใช้อุปกรณ์ Ground Break คือ R1 และ C1 ช่วยป้องกันกราวด์ลูปในการเดินสายไฟในขั้นตอนการประกอบเป็นเครื่อง

 

 

รูปที่ 2 ลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าแบบ

 

 

รูปที่ 3 ตำแหน่งการลงอุปกรณ์ด้านบน

 

 

รูปที่ 4 แนวทางการเดินสายไฟภายในแท่น

 

การสร้าง

 

          อย่างที่บอกตั้งแต่ตอนต้นว่าโครงงานนี้ออกแบบมาให้สร้างง่าย ขอเพียงท่านลงอุปกรณ์ให้ถูกต้องตามรูปที่ 3 และอาศัยฝีมือบัดกรีของผู้สร้างอีกนิดหน่อยก็เพียงพอที่จะสร้างโครงงานนี้ให้สำเร็จได้ อาจจะบอกว่าง่ายไปไหมแค่ลงอุปกรณ์ให้ถูก ใช่แล้วครับมีแค่นั้นจริงๆ การลงอุปกรณ์ให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก แล้วไม่ทำให้วงจรเกิดความผิดพลาดเสียหายขณะทดสอบ จะทำให้ท่านไม่ต้องเสียเวลาตรวจซ่อมจากความผิดพลาด ซึ่งการตรวจซ่อมจะกินเวลามากกว่าการประกอบวงจร ดังนั้นควรตรวจทานอุปกรณ์ในบอร์ดว่าลงถูกต้องไม่สลับขั้ว รวมถึงจุดบัดกรีทุกจุดให้เรียบร้อยดีก่อนที่ท่านจะจ่ายไฟเข้าวงจร

 

          โครงงานนี้ PCB ถูกออกแบบมาด้วยขนาด 5.75x3 นิ้ว ตามรูปที่ 2 ท่านสามารถนำลายวงจรพิมพ์ไปใช้สร้างแผ่น PCB สำหรับโครงงานนี้ด้วยตนเองได้ตามแบบได้เลย เมื่อลงอุปกรณ์ต่างๆใน PCB ครบแล้ว ควรยึดเอาต์พุตทรานซิสเตอร์ และทรานซิสเตอร์ตัวอื่นๆ ที่เหลือกับฮีตซิงค์ให้แน่นหนาแข็งแรงและควรรองเอาต์พุตทรานซิสเตอร์ด้วยฉนวนไมก้าทาซิลิโคนหรือแผ่นซาร์ค่อน (แผ่นซิลิโคน) ให้เรียบร้อย เมื่อขันสกรูเสร็จควรใช้โอห์มมิเตอร์ตรวจเช็คการลัดวงจรของทรานซิสเตอร์ทุกตัวที่ยึดบนฮีตซิงค์ (Heat sink) จะต้องไม่มีตัวใดลัดวงจรลงฮีตซิงค์

 

          หม้อแปลงที่ใช้ในโครงงานนี้ หากท่านเน้นการใช้งานที่โหลด 8 โอห์มเป็นหลัก สามารถเลือกใช้ขนาด 300VA หรือใกล้เคียงก็ได้ แต่หากอยากให้มีกำลังสำรองมากขึ้น หรือเพื่อรองรับการเล่นโหลดต่ำระดับ 4 โอห์ม สามารถเพิ่มขนาดหม้อแปลงได้ ถึง 500VA หรือมากกว่าตามต้องการ

 

          สำหรับแนวทางการเดินสายไฟโครงงานนี้แสดงในรูปที่ 4 จะเป็นรูปแบบสำหรับเครื่องสเตอริโอเพาเวอร์แอมป์ ออกแบบมาเพื่อลดสัญญาณรบกวนเท่าที่จะทำได้ สายไฟจุดที่มีกระแสไหลปริมาณมากเช่น สายลำโพงและแหล่งจ่ายไฟหลัก ควรมีขนาดเส้นทองแดงเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1mm และแยกสีของสายไฟให้สามารถทำงานง่ายไม่สับสน ไม่ควรใช้สายไฟสีเดียวกันทั้งเครื่อง

 

          สายสัญญาณควรใช้สายชิลด์ และไม่ควรมัดรวมกันหรือเดินขนานตีคู่ไปกับสายไฟที่มีกระแสไหลปริมาณมาก แนวทางการเดินสายไฟแท่นนี้ จะไม่ลงกราวด์ที่แท่นตรงๆ แต่จะลงแท่นผ่านอุปกรณ์ Ground Break คือ ตัวต้านทาน 10โอห์ม และ Capacitor 0.1uf/400V ที่ต่อขนานกัน เพื่อป้องกันกราวด์ลูจากกรณีที่ปลั๊กไฟที่ใช้งานในระบบเสียงมีสายดินที่ต่อถึงกัน

 

การทดสอบและปรับแต่ง

 

          การทดสอบเพาเวอร์แอมป์ควรทำการทดสอบทีละข้างโดยถอดหางปลาแหล่งจ่ายไฟที่จ่ายเข้าบอร์ดเพาเวอร์แอมป์ออกทั้ง 3 เส้นของข้างใดข้างหนึ่งออกก่อน อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบได่แก่ มัลติมิเตอร์, ปากคีบ, หลอดไฟแบบใส้ 100 วัตต์ที่ต่อสายปากคีบไว้ ผู้สร้างโครงงานควรทดสอบการทำงานภาคจ่ายไฟให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำมาต่อกับเพาเวอร์แอมป์ โดยการเปิดสวิตช์ทดสอบเฉพาะภาคจ่ายไฟวัดแรงดัน DC ให้ได้ค่าที่ถูกต้อง เมื่อแหล่งจ่ายไฟพร้อมแล้วก็ปิดสวิตช์และนำหลอดไฟมาคายประจุของภาคจ่ายไฟให้หมดก่อนที่จะเสียบหางปลาจ่ายไฟให้กับบอร์ดเพาเวอร์แอมป์ และทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

  1. ก่อนจ่ายไฟเข้าเครื่องหมุน POT ปรับกระแสสงบ(IDLE Adj.) ทวนเข็มนาฬิกาจนสุด
  2. นำมิเตอร์จับแรงดัน DC ที่ขั้วเอาต์พุต หรือขั้วลำโพง
  3. เปิดสวิตช์ แล้วอ่านมิเตอร์ที่วัดแรงดันขั้วลำโพงต้องเป็น 0 โวลต์
  4. ปรับกระแสสงบโดยย้ายมิเตอร์มาวัดแรงดันตกคร่อมขา B-E ขั้นตอนนี้อาจใช้ปากคีบช่วยก็ได้ ของเอาต์พุตทรานซิสเตอร์ 2SC5200 ตัวใดก็ได้
  5. ใช้ไขควงหมุน IDLE Adj. อ่านแรงดัน VBE ให้ได้ 0.5Vdc เป็นอันใช้ได้ (วิธีนี้เป็นการปรับกระแสแบบง่ายๆ)
  6. ทดลองนำลำโพงมาต่อที่ขั้วลำโพง และจ่ายสัญญาณเสียงจากปรีแอมป์เพื่อฟังเสียง
  7. เมื่อทดสอบเสร็จแล้ว 1 ข้างปิดสวิตช์ นำหลอดไฟแบบใส้ 100 วัตต์ คายประจุของภาคจ่ายไฟหลักออกให้หมด จากนั้นเสียบหางปลาของเพาเวอร์แอมป์อีกข้าง ทำการทดสอบตามข้อที่ 1 จนถึงข้อ 6

 

การนำไปใช้งาน

 

          แน่นอนว่าเพาเวอร์แอมป์ RX-150 ตัวนี้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานภายในบ้านแต่หากเมื่อนำไปใช้งานกลางแจ้งหรือเปิดดังๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องระบายความร้อนให้ทัน ซึ่งอาจต้องมีฮีตซิงค์ที่ขนาดใหญ่ขึ้นรวมถึงพัดลมระบายอากาศหากจำเป็น แต่ถ้าหากท่านนำไปใช้งานในบ้านเพื่อฟังเพลงในระดับความดังปกติ เพาเวอร์แอมป์ตัวนี้จะมีเฮดรูมหรือกำลังสำรองที่ค่อนข้างมาก ด้วยกำลังระดับ 150 วัตต์/ข้าง ถือว่ากำลังไม่น้อยสำหรับใช้เป็นเพาเวอร์แอมป์ในบ้าน

 

การมีเพาเวอร์แอมป์วัตต์สูงเปิดเพลงในระดับความดังปกติ คือ การที่เรามีเฮดรูมที่เหลือเฟือ เพียงพอต่อสัญญาณฉับพลันของเสียงดนตรี ซึ่งโดยรวมแล้วทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นมาจากเรื่องนี้เป็นหลัก ท่านที่เคยฟังเสียงเพาเวอร์แอมป์กำลัง 20-30 วัตต์ แล้วลองมาฟังเพาเวอร์แอมป์ระดับ 100 วัตต์ขึ้นไปแล้ว จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ขอให้ทุกท่านสนุกกับโครงงานนี้ครับ

 

          รายการอุปกรณ์ (สำหรับ 1ข้าง)

ตัวต้านทาน ¼ วัตต์ +/-5% (ยกเว้นที่ระบุ)
          R1 10 (1/2 วัตต์) 1 ตัว
          R2, R4, R10, R11, R15, R19 510 6 ตัว
          R3 22k 1 ตัว
          R6, R7 22k (1/2 วัตต์) 2 ตัว
          R8 10 1 ตัว
          R9, R12 4.7k 2 ตัว
          R13, R14 2k (2 วัตต์) 2 ตัว
          R16 1.5k 1 ตัว
          R17 560 1 ตัว
          R18 ตัวต่านทานปรับค่าได้ 500 1 ตัว
          R20, R22 220 2 ตัว
          R21, R23 47 2 ตัว
          R24 4.7 (1/2 วัตต์) 1 ตัว
          R25, R26 22 (1/2 วัตต์) 2 ตัว
          R27, R28, R30, R31 0.22 (2 วัตต์) 4 ตัว
          R29 10 (2 วัตต์) 1 ตัว
          R32 3.3 (3 วัตต์) 1 ตัว

ตัวเก็บประจุ
          C1 0.1uF 400V โพลีเอสเตอร์ 1 ตัว
          C2 10uF 25V (NP) อิเล็กทรอไลต์ 1 ตัว
          C3 220uF 16V อิเล็กทรอไลต์ 1 ตัว
          C4, C19, C20 0.1uF 100V โพลีเอสเตอร์ 3 ตัว
          C5, C6 220uF 25V อิเล็กทรอไลต์ 2 ตัว
          C7, C11 0.1uF 50V เซรามิก 2 ตัว
          C8 100pF 50V เซรามิก 1 ตัว
          C9 220pF 50V เซรามิก 1 ตัว
          C10 56pF 500V เซรามิก 1 ตัว
          C12, C13 47pF 500V เซรามิก 2 ตัว
          C14 10nF 100V โพลีเอสเตอร์ 1 ตัว
          C15, C16 1nF 100V โพลีเอสเตอร์ 2 ตัว
          C17 22nF 100V โพลีเอสเตอร์ 1 ตัว
          C18 0.1uF 100V โพลีเอสเตอร์ 1 ตัว

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
          IC1 NE5534 (NJM5534D) 1 ตัว
          ZD1, ZD2 1N4744A (15V 1W) 2 ตัว
          D1, D2 1N4004 2 ตัว
          Q1, Q2 MJE340 2 ตัว
          Q3 2N3904 1 ตัว
          Q4 2N3906 1 ตัว
          Q5 MJE350 1 ตัว
          Q6 2SA1837 1 ตัว
          Q7 2SC4793 1 ตัว
          Q8, Q10 2SC5200 2 ตัว
          Q9, Q11 2SA1943 2 ตัว

อื่นๆ
          L1 ลวดเบอร์ 16 พัน 12 รอบ 1 ตัว
          แผ่นระบายความร้อนขนาด TO220 2 ตัว
          หางปลาตัวผู้แบบลงปริ๊นซ์ 4 ตัว
          ตาไก่ 2 ตัว

หมายเหตุ สำหรับท่านที่ต้องการความสะดวก เรามีชุดลง PCB ของโครงงาน RX-150 และอุปกรณ์อื่นๆ
สามารถสั่งซื้อ และสอบถามได้ที่เว็บไซต์ www.evensaudio.com

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด