ไพโรจน์ ไววานิชกิจ
พัฒนาการของเทคโนโลยีอีก 2 แขนง อันประกอบไปด้วยเทคโนโลยี IoT สำหรับการคมนาคมขนส่ง โดยจะเน้นไปที่เรื่องของ Connected Car 9ต่อด้วยสำหรับการใช้งานภาคอุตสาหกรรม และปิดท้ายด้วยแผนทางธุรกิจของการสร้างมูลค่าจากเทคโนโลยี IoT
พัฒนาการของเทคโนโลยี IoT ในแขนงของ Smart Home และ Wearable Device ที่ปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สินค้าและโซลูชั่นประเภท Embedded Clothing ซึ่งได้กล่าวไปในบทความตอนที่แล้ว ถือเป็นการผลักดันให้ทั้งเทคโนโลยีและธุรกิจ IoT มีการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้น บทความในตอนนี้จะได้กล่าวต่อไปถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีอีก 2 แขนง อันประกอบไปด้วยเทคโนโลยี IoT สำหรับการคมนาคมขนส่ง โดยจะเน้นไปที่เรื่องของ Connected Car 9ต่อด้วยสำหรับการใช้งานภาคอุตสาหกรรม และปิดท้ายด้วยแผนทางธุรกิจของการสร้างมูลค่าจากเทคโนโลยี IoT
อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง สิ่งที่น่าใจก็คือนอกเหนือจากเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายและซ่อมบำรุงรถยนต์แล้ว มูลค่าทางธุรกิจที่เกิดจากการจำหน่ายอุปกรณ์ประดับยนต์ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ก็คือเรื่องของระบบเครื่องเสียงและความบันเทิงทางรถยนต์ เทคโนโลยี IoT กำลังมีบทบาทในการเชื่อมต่อให้รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับเครืออินเตอร์เน็ตโดยตรงและจะนำไปสู่การสร้างโซลูชั่นที่เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ในการขับขี่รถยนต์อย่างชัดเจน แม้ในปัจจุบันจะได้พบเห็นการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone แต่บทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องเสียงรถยนต์และ Smart Phone ก็ยังคงเป็นเพียงการเชื่อมต่อ Hand Free เพื่อการพูดคุยสนทนา ตามมาด้วยการ Streaming เพลงจากโทรศัพท์ Smart Phone ไปยังเครื่องเสียงเท่านั้น ซึ่งแม้เพียงเท่านี้ก็มีผลทำให้การออกแบบเครื่องเสียงติดรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ แทบจะตัดฟังก์ชั่นความสามารถในการใส่แผ่น CD หรือ DVD ออกไป ยิ่งเครื่องเสียงที่แต่เดิมต้องมีการติดตั้ง CD/DVD Bay ที่เป็นกล่องสำหรับใส่แผ่นจำนวนหลาย ๆ แผ่นไว้เลือกฟัง ก็กลายเป็นเทคโนโลยีที่สูญพันธ์ไปโดยปริยาย อย่างมากเครื่องเสียงติดรถยนต์ในปัจจุบันก็จะมีเพียงซ็อกเก็ต USB สำหรับผู้ใช้งานที่บันทึกเพลงในรูปแบบ MP3 ไว้เสียบรับฟังเท่านั้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในแวดวงของยานยนต์ก็คือเทคโนโลยี Connected Car ซึ่งโดยนิยามก็หมายถึงการเชื่อมต่อการสื่อสารของรถยนต์เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีผลทำให้รถยนต์สามารถส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าสถานการณ์ทำงานของตัวรถยนต์ เช่น ความเร็ว ระดับน้ำมัน ความเร็วรอบ ระยะห่างระหว่างกับรถคันอื่น ๆ ฯลฯ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จากภายนอก เช่น สภาพการจราจร จุดสนใจหรือจุดแวะ (Point of Interest หรือ POI) ข้อมูลคำแนะนำต่าง ๆ จากศูนย์ควบคุมจราจร ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเดินทางและขับขี่ของผู้บริโภค รูปที่ 1 แสดงถึงเทคโนโลยีและฟังก์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับโซลูชั่น Connected Car ประกอบไปด้วยการให้ความบันเทิงแก่ผู้ขับขี่ ซึ่งดังได้กล่าวไปแล้วว่าปัจจุบันมีการพัฒนาไปสู่การเชื่อมต่อกับเครือข่าย Cloud Computing พร้อมกับการออกแบบการเชื่อมต่อกับผู้ขับขี่ (Driver User Interface) ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าจอบน Smart Phone หรือการออกแบบให้มีหน้าจอบนคอนโซลของรถยนต์ เพื่อให้เลือกและสั่งเล่นเพลงแบบ Streaming เทคโนโลยีที่ตามมาก็คือระบบนำทาง (Navigator) ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีผู้ใช้อุปกรณ์ GPS (Global Position System) แบบที่ขายแยก ทำหน้าที่อ่านสัญญาณจากชิปเซ็ต GPS ที่อยู่ภายในตัวและรายงานผล เพราะเกะกะและวุ่นวายที่จะต้องหาที่ยึดติดตั้งกับคอนโซลหรือกระจกหน้ารถยนต์ เครื่องเสียงรถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มีหน้าจอแสดงผลต่างก็มีการติดตั้งชิปเซ็ตและเครื่องรับสัญญาณ GPS ไว้ในตัวแล้ว แต่การทำงานก็ยังคงเป็นแบบ Offline กล่าวคือเป็นการอ่านค่าตำแหน่งจากดาวเทียม และนำมาเทียบกับแผนที่ซึ่งถูกโหลดติดตั้งไว้ในเครื่องเสียงไม่มีช่องทางในการปรับเปลี่ยน (Update) ให้เป็นไปตามจริง เทคโนโลยี Connected Car ทำให้ผู้ออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย Cloud Computing แบบ Online เพื่อทำการปรับเปลี่ยนแผนที่ให้เป็นไปตามปัจจุบัน พร้อมกับยังสามารถแสดงข้อมูลตามเวลาจริงต่าง ๆ เช่น สภาพการจราจร การหาเส้นทางเดินทางตามสภาพการจราจร ฯลฯ โดยมีการทำงานเช่นเดียวกับการใช้งานแอปพลิเคชั่น Google Map บน Smart Phone ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใช้งานในปัจจุบัน
รูปที่ 1 ฟังก์ชั่นการทำงานและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ Connected Car
เทคโนโลยีอันดับต่อไปที่มีความบทบาทสำคัญสำหรับโซลูชั่น Connected Car ก็คือการพัฒนาขีดความสามารถของแอปพลิเคชั่นเพื่อเสริมกับการใช้ประโยชน์จากการอ่านค่าสภาพการทำงานของรถยนต์ผ่านทางพอร์ต OBD-II (On Board Diagnostic) ซึ่งเป็นพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานที่มีการติดตั้งในรถยนต์ทุกรุ่นที่ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา พอร์ตดังกล่าวได้รับการใช้งานโดยศูนย์ซ่อมรถยนต์และนักปรับแต่งเครื่องรถยนต์มาเป็นเวลานานแล้ว จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์พอร์ต OBD-II รุ่นใหม่ ๆ สร้างเครื่องอ่านค่า OBD-II ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์รับส่ง Bluetooth เพื่อให้สะดวกต่อการส่งค่าและรับคำสั่งต่าง ๆ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone ได้โดยตรง การใช้ประโยชน์จากพอร์ต OBD-II จึงได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ และช่องทางการเชื่อมต่อนี้เองที่ได้กลายเป็นประตูในการดึงข้อมูลสภาพการทำงานของรถยนต์เพื่อส่งไปใช้ประมวลผล เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของโซลูชั่น Connected Car สิ่งที่ควรทราบในทางเทคนิคก็คือมาตรฐาน OBD-II เป็นหนึ่งในมาตรฐานการเชื่อมต่อเพื่ออ่านค่าการทำงานของรถยนต์ มาตรฐานอื่น ๆ ก็ได้แก่ ALDL (Assembly Line Diagnostic Link), M-OBD (Multiplex OBD), OBD-I, OBD-1.5 EOBD (European On Board Diagnostic), EOBD2, JOBD (Japan OBD) และ ADR (Australian OBD) โดยที่ OBD-II เป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในโลกเลือกใช้งาน
เทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องเสียงรถยนต์ ซึ่งกำลังจะได้รับการยกระดับและบทบาทเป็นมันสมองสำหรับการแสดงผลและบริหารข้อมูลเพื่อสนับสนุนการขับขี่ด้วยเทคโนโลยี Connected Car ก็คือการเชื่อมต่อมาตรฐาน Bluetooth แนวทางในการพัฒนาของเทคโนโลยี Connected Car ก็น่าจะใช้ยังคงใช้ Bluetooth เป็นช่องทางในการเชื่อมอุปกรณ์ควบคุมหรือคอนโซลรถยนต์ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone ให้เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นรูปแบบการใช้งานที่สะดวกที่สุดในทางปฏิบัติ ไม่ต้องฝังเครื่องรับส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอุปกรณ์คอนโซลรถยนต์ เพราะจะกลายเป็นภาระในการต้องมีค่าใช้จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Air Time Fee) กับ SIM ที่ต้องหาเพิ่มเติมมา นอกจากนั้นในปัจจุบันการแสดงตัวตนของผู้ใช้งานไม่ว่าจะเป็นโลกของการใช้งานแอปพลิเคชั่น หรือการใช้งานฮาร์ดแวร์แบบ Wearable Device ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาประสานกับแอปพลิเคชั่นที่ใช้งาน ก็ยังคงใช้ Login Account ของผู้ใช้บริการ ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ Smart Phone ของใครเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อ ระบบก็มิได้สนใจหรือต้องยุ่งเกี่ยวว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นของใคร หากแต่การ Login เข้าใช้งานด้วยแอ็คเคานท์ของผู้ใช้งาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักนิยมใช้ Facebook ID ของผู้คนกลับเป็นการแสดงตัวตนของผู้ขับขี่นั่นเอง เราจึงจะยังคงได้เห็นการใช้ Smart Phone ทำหน้าที่เป็นช่องทาง (Connection Pipe) ผ่านทางการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth เพื่อให้รถยนต์สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ต่อไป
รูปที่ 2 อุปกรณ์เชื่อมต่อพอร์ตแบบ OBD-II และแอปพลิเคชั่นอ่านค่าผ่านทาง Smart Phone
เมื่อรวมเทคโนโลยีทั้ง 4 ประการเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการทำงานตามแนวคิด Connected Car โดยทั้งรถยนต์ ทั้ง Smart Phone ที่เชื่อมต่อกับรถยนต์ และทั้งเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่มีการติดตั้งตามท้องถนนก็จะมีการทำงานร่วมกันเกิดเป็นเครือข่าย IoT สำหรับการบริหารจัดการยานพาหนะและระบบขนส่งขึ้น สิ่งที่เป็นความคาดหวังของการให้บริการ Connected Car ในปัจจุบันประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นการทำงานหลัก 4 ประการดังนี้
รูปที่ 3 รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตนเอง Google Car ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาทดลองให้บริการในประเทศสิงคโปร์
เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจของโซลูชั่น Connected Car ก็คือ Advanced Driver Assistance System หรือ ADAS ซึ่งเป็นกลการทำงานวิเคราะห์สภาพการจราจรและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ รอบคันรถ แล้วนำข้อมูลมาใช้งาน ทั้งในแง่ของการให้คำแนะนำในการขับขี่ต่อผู้ขับขี่ การดำเนินการเบรกหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับขี่โดยอัตโนมัติหากผลจากการประมวลผลแสดงให้เห็นว่าจะต้องเกิดอุบัติเหตุอย่างแน่นอน ดังที่ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่ายเริ่มนำเทคโนโลยี ADAS บางระดับมาใช้กับรถยนต์ของตน เช่น การเบรกอย่างอัตโนมัติหากมีรถคันหน้าหยุดจอดอย่างกระทันหัน ซึ่งในกรณีของโซลูชั่น Connected Car หากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับการพัฒนาไปจนถึงจุดที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองแล้ว การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ADAS จะกลายเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทาง รูปที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์หลาย ๆ ประเภทมาประกอบรวมกันเป็นเทคโนโลยี ADAS ที่สมบูรณ์แบบ รถยนต์บางรุ่นอาจมีการติดตั้งเซ็นเซอร์เฉพาะประเภทเพื่อทำให้ต้นทุนของรถไม่สูงมากนัก การทำงานของ ADAS สำหรับรถยนต์รุ่นนั้น ๆ ก็จะมีข้อจำกัดลงไป
รูปที่ 4 การรวมความสามารถของเซ็นเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างการทำงานแบบ ADAS
เทคโนโลยีประเภทแรกที่ใช้สำหรับ ADAS ก็คือการใช้คลื่นความถี่วิทยุในการสะท้อนวัตถุข้างหน้ารถยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับเรดาห์ (Radar) ที่ใช้ในกิจการการบินหรือการตรวจสอบความเร็วรถยนต์ที่ตำรวจใช้งาน การใช้เทคโนโลยีเรดาห์ระยะไกล (long-rand Radar) ทำให้รถยนต์ของผู้ขับขี่สามารถประเมินความเร็ว ตำแหน่ง และการเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ หรือวัตถุใด ๆ ที่อยู่ด้านหน้าของรถยนต์ได้ มีผลให้สามารถประมวลผลและปรับเปลี่ยนอัตราเร็วในการขับเคลื่อนรถยนต์ที่ติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว (Automatic Cruise Control) เทคโนโลยีประกอบต่อมาก็คือ LIDAR ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเหมือนกับเรดาห์ เพียงแต่เปลี่ยนไปใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวส่งสัญญาณเพื่อให้ไปกระทบกับวัตถุที่อยู่ด้านหน้า ผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านค่าและประมวลผลข้อมูลจะใช้สำหรับการตัดสินใจเบรกรถกะทันหัน ตรวจจับคนข้ามถนน รวมถึงการเลี้ยวหลบไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับขี่โดยอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการชน (Collision Avoidance)
รูปที่ 5 การแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่และการประเมินสถานการณ์การขับขี่ด้วยเทคโนโลยี ADAS
เทคโนโลยีกล้องขับภาพมุมกว้าง (Wide Angle Camera) ซึ่งหากมีการติดตั้งใช้งานเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นการติดตั้งทั้งด้านหน้า ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง และด้านหลังของรถยนต์ดังแสดงในรูปที่ 4 ก็มีประโยชน์ต่อการนำภาพไปประมวลผลเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนเลนของรถยนต์ข้างเคียงและสัญญาณแสงไฟจราจร (จากกล้องหน้า) ประเมินผลการเคลื่อนไหวของรถยนต์รอบข้าง (กล้องซ้ายและขวา) ระยะห่างของรถที่อยู่ข้างหลัง รวมถึงช่วยประมวลผลเพื่อการจอดรถ (กล้องด้านหลัง) เทคโนโลยีประการที่สี่ก็คือการใช้เรดาห์เพื่อส่งสัญญาณตรวจสอบไปในระยะใกล้ (Short Range Radar) เป็นการติดตั้งรอบรถ ทั้งขอบหน้าซ้ายและขวา ด้านหลัง และขอบหลังซ้ายและขวา เพื่อแจ้งเตือนหากมีคนหรือรถยนต์มาประชิดในระยะใกล้ โดยเฉพาะเรดาห์ระยะใกล้ที่ติดตั้งด้านหลังซ้ายและขวา มีประโยชน์มากในการแจ้งเตือนการแซงหรือประชิดของรถยนต์ในมุมบอดที่ปกติผู้ขับขี่จะมองไม่เห็น สำหรับเทคโนโลยีประเภทสุดท้ายที่ใช้กับ ADAS ก็คือการใช้เซ็นเซอร์ที่ปล่อยคลื่นความถี่เหนือเสียงหรืออัลตร้าโซนิค (Ultrasonic) ที่ผู้ขับขี่นิยมติดตั้งเพื่อตรวจสอบระยะห่างของรถกับกำแพงทั้งด้านหน้าและหลัง เป็นประโยชน์ต่อการจอดรถทั้งเดินหน้าและถอยหลัง เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ทั้ง 5 ประการนั้นมีประโยชน์ช่วยให้ความแม่นยำให้กับระบบ ADAS อันเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่
รูปที่ 6 พัฒนาการของอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ยุค Connected Car
พัฒนาการของระบบคอนโซลติดรถยนต์ที่ค่อย ๆ ได้รับการเพิ่มฟังก์ชั่นทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์รายงานผลและสนับสนุนข้อมูลการขับขี่ มีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เมื่อวิทยุติดรถยนต์ทั้งที่เป็นชุดติดตั้งสำเร็จจากโรงงาน (Built-In Unit) และที่เป็นชุดจำหน่ายปลีกเพื่อติดตั้งเองจากผู้ผลิตจำนวนมากได้รับการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยมีการใช้ระบบปฏิบัติการมาตรฐานอย่าง Android และ Windows Embedded ไปจนถึงระบบปฏิบัติที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษอย่าง BlackBerry QNX ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Quantum Software และต่อมาถูกซื้อกิจการโดยบริษัท BlackBerry ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบขนส่ง โดยทำงานได้กับซีพียูในตระกูล ARM, StrongARM และ XScale รวมถึงระบบปฏิบัติการจากกลุ่มอุตสาหกรรมแบบไม่หวังผลกำไรอย่าง GENIVI Alliance ซึ่งคิดค้นระบบมาตรฐานระบบปฏิบัติการเปิดสำหรับใช้ในยานยนต์ เพื่อช่วยบริหารการขับขี่และตอบสนองการเสพความบันเทิงในขณะขับขี่ โดยผู้ขับขี่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชั่นสำหรับใช้งานเพื่อสนับสนุนการขับขี่ หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อความบันเทิงเช่นการชมภาพยนตร์หรือฟังเพลงลงไปในคอนโซลได้โดยตรง
อุปกรณ์คอนโซลรถยนต์ได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นเมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อ (Pair หรือ Sync) กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone ออกมาจำหน่ายมากขึ้น การเชื่อมต่อที่ว่านี้มิได้เป็นเพียงการใช้เทคโนโลยี Bluetooth ทำการเชื่อมเพื่อให้ Smart Phone ทำหน้าที่เป็นเพียงเล่นเพลงผ่านทางระบบคอนโซลรถยนต์ หรือให้คอนโซลรถยนต์ทำหน้าที่เป็นเพียงอุปกรณ์ Hands-free สำหรับการโทรศัพท์เท่านั้น หากแต่อุปกรณ์คอนโซลยังได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานเพื่อเป็นส่วนเชื่อมต่อ (User Interface หรือ UI) กับแอปพลิเคชั่นบน Smart Phone ได้โดยผู้ใช้ขับขี่รู้สึกเสมือนว่ากำลังโต้ตอบกับอุปกรณ์ Smart Phone ของตน หากแต่ผ่านทางหน้าจอของอุปกรณ์คอนโซลรถยนต์ การพัฒนาเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เมื่อบริษัท General Motor หรือ GM และบริษัท Ford พัฒนาทั้งอุปกรณ์คอนโซลรถยนต์และระบบบริหารจัดการบนเครือข่าย Cloud Computing ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นบริหารจัดการติดตั้งอยู่ที่ทั้งสองฝั่ง เพื่อเชื่อมต่อรถยนต์กับเครือข่ายบริหารจัดการส่วนกลาง ทั้งสำหรับเก็บข้อมูล ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ และการขับขี่ รวมถึงป้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขับขี่และเดินทางให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ ทั้งนี้โดยผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย ซึ่งผู้ขับขี่เพียงทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์คอนโซลรถยนต์เข้ากับ Smart Phone ผ่านทางการเชื่อมต่อ Bluetooth ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีการใช้ประโยชน์จากการอ่านข้อมูลผ่านทางพอร์ต OBD-II นอกจากนั้นในแง่ของการทำตลาดอุปกรณ์อ่านข้อมูลสภาพเครื่องยนต์และการขับขี่จากพอร์ต OBD-II นั้น ยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากสร้างและทำตลาดผลิตภัณฑ์อะแดปเตอร์เชื่อมต่อพอร์ตพร้อมกับแอปพลิเคชั่นใช้งานสารพัดรูปแบบและหลากหลายความสามารถ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจที่จะออกแบบระบบบริหารจัดการข้อมูลภายในรถยนต์ในแบบ D.I.Y. (Do It Yourselves) มากขึ้น
รูปที่ 7 บรรดานักพัฒนา IoT สำหรับโซลูชั่น Connected Car
การเติบโตของธุรกิจ Connected Car มีมูลค่าทางธุรกิจในอนาคตอย่างมหาศาล ไม่ใช่เฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะได้รับการติดตั้งขีดความสามารถนี้จากโรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาอุปกรณ์เสริม (Accessory) ประเภทคอนโซลหรือวิทยุติดรถยนต์อัจฉริยะที่จะมีผู้ผลิตจำนวนมากสร้างขึ้นและสามารถนำไปติดตั้งกับรถยนต์ที่มีการใช้งานอยู่ทั่วโลก อีกทั้งยังครอบคลุมถึงบรรดาเซ็นเซอร์ กล้อง ระบบเรดาห์ และระบบบริหารจัดการแบบ ADAS ที่จะกลายเป็นอีกสินค้าสำเร็จรูปวางจำหน่ายในตลาดรถยนต์ทั่วโลก ระบบติดตามตำแหน่ง (Tracking System) การติดตั้งเซ็นเซอร์บนท้องถนน การทำโซลูชั่นการติดต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์บนท้องถนนเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลแสดงสภาพการจราจร ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบให้ข้อมูลกับรถยนต์ที่ติดตั้งโซลูชั่น Connected Car เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด หรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุด้วยการจำกัดความเร็วและคุมรูปแบบการขับขี่ของผู้บริโภค ต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีนักวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก ทั้งจากองค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงบรรดาผู้ประกอบการ Startup และนักพัฒนาสมัครทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและหน่วยงานจำนวนมากเกิดขึ้นเพื่อวงข้อกำหนดและชุดพัฒนาทองซอฟท์แวร์เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตของธุรกิจ รูปที่ 7 เป็นตัวอย่างของบริษัทและองค์กรที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้าน Connected Car
สิ่งที่ปรากฏชัดต่อมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะมีจำนวนมหาศาลก็คือฟังก์ชั่นการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Connected Car รูปที่ 8 แจกแจงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการให้บริการใหม่ ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นมากับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่จะได้รับการเปิดตัวสู่ตลาดใน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ซึ่งบรรดารถยนต์รุ่นเก่า ๆ ก็จะกลายเป็นตลาดสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมเพิ่มเพื่อให้สามารถใช้งานได้กับขีดความสามารถเหล่านี้ ลองนึกถึงโลกของอุตสาหกรรมประดับยนต์ในปัจจุบันที่มีมูลค่ามหาศาล และกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบจากสินค้าประดับเพื่อความบันเทิงและความสุขสบายในการขับขี่ กลายเป็นประดับยนต์ไฮเทคที่ทำให้รถยนต์รุ่นเก่า ๆ สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตและมีขีดความสามารถในการทำงานเทียบเท่ากับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี Connected Car ทั้งเพื่อสร้างความสะดวกและความปลอดภัยในการขับขี่ ขีดความสามารถใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจ Connected Car ประกอบไปด้วย การผลิตและจำหน่ายแอปพลิเคชั่นและการให้บริการต่าง ๆ การสร้างและให้บริการแพล็ตฟอร์มกลางเพื่อบริหารการขับขี่และการจราจร โดยประสานเทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data เข้าด้วยกัน ระบบบริหารจัดการติดตามและกำหนดเส้นทางการเดินทาง (Fleet Management) ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานกันมากในบริษัทขนส่ง (Logistic) ต่าง ๆ ระบบนำทาง (Navigator) ที่ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมการใช้งานแบบ Online มากขึ้นเรื่อย ๆ และในอนาคตผู้ให้บริการระบบนำทางออนไลน์ยังสามารถเชื่อมต่อการให้บริการไปยังธุรกิจโฆษณา เช่น นำเสนอร้านอาหารที่อยู่ระหว่างทาง โปรโมชั่นพิเศษ ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดก็คือการนำข้อมูลทั้งจากเซ็นเซอร์ภายในรถยนต์มารวมกับข้อมูลการจราจรต่าง ๆ เพื่อสั่งการให้รถยนต์เคลื่อนที่ด้วยตนเอง ให้สัมพันธ์กับสภาพการจราจรและเส้นทางที่กำหนด
รูปที่ 8 มูลค่าธุรกิจ Connected Car ในอนาคตจะมาจากซอฟท์แวร์
ขีดความสามารถทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อาศัยการทำงานของระบบซอฟท์แวร์ ร่วมกับเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย เทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data ซึ่งเปิดประตูให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งไม่เคยมีบทบาทใด ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์เข้ามาตัดตวงรายได้และผลกำไรจากตลาดที่จะต้องมีการเติบโตอย่างมหาศาล ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ในอดีตจะลดบทบาทลงโดยยังคงเป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เท่านั้น เท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรายได้ในสายธุรกิจ (Business Chain) กับอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้แตกต่างจาความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีไอทีและดิจิตอลเข้ามาสร้างบริการใหม่ ๆ และเบี่ยงเส้นทางรายได้ใหม่ ๆ ให้ไปยังผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับการพูดถึงว่ามีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ จากรูปที่ 8 จะเห็นแต่เพียงยักษ์ใหญ่ทางด้านไอทีและดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและสร้างรายได้จากธุรกิจ Connected Car ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Google, UBER หรือกระทั่ง Baidu จากประเทศจีน มีเพียงผู้ผลิตรถยนต์สายพันธุ์ใหม่อย่างค่าย Tesla และค่าย Bosch กับผู้ผลิตระบบนำทางอย่าง Tomtom เท่านั้นที่ยังพอมีส่วนร่วมในธุรกิจดังกล่าว
นี่จึงเป็นการสะท้อนภาพในอนาคตถึงประตูที่เปิดกว้างของนักพัฒนาซอฟท์แวร์และโซลูชั่นกับการสร้างรายได้ในธุรกิจ Connected Car และยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ให้ตระหนักถึงการเร่งปรับเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพของตนเอง ทั้งในแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาซอฟท์แวร์ การเข้าถึงระบบนิเวศน์ของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Computing การประสานพันธมิตรรวมถึงการสร้างความเชี่ยวชาญในการจัดการเทคโนโลยี Big Data และควรตระหนักว่าปัจจุบัน ค่ายน้องใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Google มีรถยนต์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง 48 คัน ผ่านการทดสอบการขับเคลื่อนโดยการสนับสนุนจากโซลูชั่น Connected Car ไปแล้วเป็นระยะทางกว่า 1.2 ล้านไมล์ ขณะที่ค่าย Tesla มีรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายแล้วกว่า 100,000 คัน ระยะทางในการเดินทางรวมกันโดยเฉลี่ยกว่าวันละ 1.5 ล้านไมล์ ข้อมูลจากการประมวลผลและสถิติต่าง ๆ ของผู้ผลิตรายใหม่เหล่านี้จะยิ่งเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของตน ในขณะที่ค่ายรถยนต์ที่เหลือในโลกแทบจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือเลย เท่ากับว่าจุดเริ่มต้นที่จะก้าวเดินในการพัฒนาและต่อสู้กับคู่แข่งใหม่ ๆ ยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดช่องว่างทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในการนำเสนออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สำหรับเพิ่มขีดความสามารถของรถยนต์รุ่นเก่า ๆ เพื่อให้ใช้งานร่วมกับโซลูชั่น Connected Car ไม่มากก็น้อย ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ๆ ทั่วโลกเสียโอกาสในการหารายได้จากธุรกิจยานยนต์ที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
การเติบโตของโซลูชั่นและเทคโนโลยี IoT สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม อันรวมไปถึงเรื่องของการใช้งานภายในสำนักงานในอนาคต จะได้รับการขยายผลจากความนิยมและความสำเร็จทางธุรกิจของโซลูชั่น IoT แบบ Smart Home ที่ได้กล่าวถึงในบทความตอนที่แล้ว สิ่งที่จะเป็นแรงผลักดันก็คือฐานนักพัฒนาและผู้ผลิตโซลูชั่น IoT ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันสร้างโซลูชั่นทั้งในส่วนของอุปกรณ์ Smart Home แอปพลิเคชั่น และระบบจัดการหลังบ้าน (Back Office) ซึ่งก็คือการประสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data ทำให้เกิดโซลูชั่น Smart Home ที่มีศักยภาพมากขึ้นทั้งในเรื่องของขนาด (Scale) ของระบบที่ใหญ่มากขึ้น ความหลากหลายของการควบคุม และระบบบริหารจัดการหลังบ้านที่สามารถควบคุมการสั่งการที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชั่นบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและลูกเล่นมากขึ้น จนสามารถก้าวข้ามขนาดของการให้บริการ Smart Home ในระดับบ้านเรือนอยู่อาศัย กลายเป็นการให้บริการ Smart Office, Smart Factory หรือ Smart Hospital เป็นโซลูชั่นที่มีเสถียรภาพและมีความแม่นยำสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ
รูปทึ่ 9 การพัฒนาตลาด Smart Home สำหรับบ้านพักอาศัยในปัจจุบันไปสู่ Smart Office ในอนาคต
การแข่งขันทางธุรกิจมีผลทำให้สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประหยัดพลังงาน รวมถึงให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยี IoT ที่ได้รับการพัฒนายกระดับจากโซลูชั่น Smart Home ให้รองรับการใช้งานในภาคธุรกิจจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้เขียนเชื่อว่าระดับราคาของโซลูชั่น Smart Office ย่อมจะต้องมีราคาที่ถูกและผู้ลงทุนสามารถทยอยจ่ายเงินซื้อได้ตามความต้องการ โดยไม่ต้องทุ่มเงินเริ่มต้นลงไปกับการติดตั้งระบบบริหารจัดการส่วนกลางในราคาที่สูงเหมือนเทคโนโลยี Smart Building ที่เป็นระบบปิดดังที่มีจำหน่ายให้ใช้งานในอดีต รูปที่ 9 แสดงให้เห็นพัฒนาการของเทคโนโลยี Smart Home ในแขนงต่าง ๆ ที่จะก้าวไปสู่โซลูชั่น Smart Office ตั้งแต่ระบบปิดประตูบ้าน Smart Lock จะพัฒนาตัวเองไปสู่ระบบควบคุมสิทธิในการเปิดปิดประตูและเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ (Access Control) เทคโนโลยี Smart Lighting ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลอดไฟที่สามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย Wi-Fi ในบ้านเข้ากับ Smart Phone เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมระดับความสว่าง สี และตั้งเวลาการปิดเปิดหลอดไฟ กลายเป็นระบบควบคุมไฟทั้งสำนักงาน โดยผ่านทางแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะมีลูกเล่นในการบริหารจัดการตั้งแต่การกำหนดโซน การให้สิทธิ์ (Permission) สำหรับผู้ใช้งานซึ่งก็พนักงานในระดับต่าง ๆ เทคโนโลยี Smart TV ตามบ้านพักอาศัยซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์หลาย ๆ รุ่นรองรับเทคโนโลยีการรับชมภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชั่นแบบ Streaming มาเป็นการใช้จอภาพแบบ Smart TV ในห้องประชุมทั้งเพื่อนำเสนองาน โดยผ่านทั้งทางการเชื่อมต่อแบบ HDMI ผ่านทางการทำ Mirroring หรือ Chromecast และแม้กระทั่งการใช้จอ Smart TV เหล่านี้ในการทำการประชุมแบบ VDO Conference ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไรในเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชั่น Social Media เช่น Skype, LINE Chat หรือ Facebook Messenger ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตในสำนักงานถูกห้อมล้อมด้วยเทคโนโลยี IoT ชนิดที่ผู้ใช้งานก็มีความคุ้นเคยกับการใช้งานแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
รูปที่ 10 โซลูชั่น Smart Office และการใช้งานจริงในสำนักงานใหญ่ของบริษัท Oracle
เทคโนโลยี Smart Thermostat ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการระดับอุณหภูมิและความชื้นในบ้าน ก็ได้รับการขยายขีดความสามารถให้สามารถบริหารจัดการสภาพอากาศภายในสำนักงาน (Climate Control) การเชื่อมต่อระหว่างเซ็นเซอร์ด้วยกัน และเซ็นเซอร์กับส่วนที่เป็นมันสมอง กับแอปพลิเคชั่นที่บริหารจัดการจำเป็นต้องได้รับการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการรุกรานของบรรดาแฮกเกอร์ (Hacker) ซึ่งเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยให้กับ IoT หรือ IoT Security จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อการประยุกต์ใช้งาน IoT ในอาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการต่าง ๆ รูปที่ 10 เป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี IoT กับการบริหารจัดการทั้งทางด้านการสื่อสาร การควบคุมพลังงาน สภาพแวดล้อม ในอาคารสำนักงาน
รูปที่ 11 การติดตั้งใช้งานอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในสำนักงาน ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์มาตรฐานเดียวกับการใช้งานภายในบ้านพักอาศัย ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท IBM และ Yanzi ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 4 ชั่วโมง
การติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์สำหรับใช้งานสร้างโซลูชั่น Smart Office ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เงินและเวลามากเหมือนโซลูชั่นเฉพาะผู้ผลิตในอดีต เนื่องจากคุณภาพและขีดความสามารถของอุปกรณ์เซ็นเซอร์ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ก็เป็นมาตรฐานเดียวกับการใช้งานภายในบ้านตามมาตรฐาน Smart Home ซึ่งมีพื้นฐานการออกแบบที่ช่วยให้การติดตั้งใช้งานทำได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องใช้ช่างฝีมือ เซ็นเซอร์ส่วนใหญ่มีการติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ควบคุมส่วนกลางหรือ Hub ผ่านทางคลื่นความถี่วิทยุ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Wi-Fi, Bluetooth หรือใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านที่เป็นมาตรฐานสำหรับการสื่อสารของเทคโนโลยี IoT นี่จึงเป็นจุดเด่นและจุดขายสำหรับการใช้งานในอาคารสำนักงาน รูปที่ 11 แสดงให้เห็นถึงการนำอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT สำหรับใช้งานกับโซลูชั่น Smart Home ในบ้านมาติดตั้งใช้งานภายในอาคารสำนักงาน ภายใต้การบริหารโครงการระหว่างบริษัท IBM และ Yenki โดยมีเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและมีการกำหนดแอดเดรสเป็นมาตรฐาน IPv6 จำนวนทั้งสิ้น 1,027 ตัว ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 3 ชั่วโมง 49 นาที และ 27 วินาที นับเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT สำหรับการใช้งานแบบ Smart Office ที่ใช้เวลาเร็วมาก แต่คุณภาพและระดับการรักษาความปลอดภัยของโซลูชั่นทั้งหมดตอบรับความต้องการใช้งานในระดับองค์กร
รูปที่ 12 การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ Wearable Device กับโซลูชั่นการใช้งานทางธุรกิจ
การใช้งานเทคโนโลยี Wearable Device สำหรับสำนักงานและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้รับการช่วยเหลือพัฒนาทั้งจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และจากผู้รับเหมาออกแบบและติดตั้งระบบหรือ System Integrator ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ Wearable Device ที่เป็นสินค้าที่เดิมได้รับการออกแบบให้ใช้งานโดยผู้บริโภคเป็นรายบุคคลมาใช้งานเป็นโซลูชั่น เทคโนโลยี Wearable Device ที่มาจากการผลิตและออกแบบใช้งานบนพื้นฐานเดียวกัน สามารถได้รับการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานให้แตกต่างตามความต้องการได้ รูปที่ 12 เป็นตัวอย่างของการต่อยอดใช้งานอุปกรณ์ Wearable Device เริ่มตั้งแต่การพัฒนาซอฟท์แวร์ที่อยู่บนเครือข่าย Cloud Computing และกลไกการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล Data Analytic เพื่อเชื่อมต่อกับสินค้าพื้นฐานอย่างกำไลอัจฉริยะซึ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว โดยทำงานร่วมกับการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลคร่าว ๆ อย่างจำนวนก้าวที่เดิน กำไลบางรุ่นอาจมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์เพิ่มเติมเพื่อระดับการเต้นของหัวใจ กลไกการทำงานเหล่านี้เป็นมาตรฐานปกติธรรมดาของอุปกรณ์ Wearable Device ประเภทนี้ที่ปัจจุบันมีการแข่งขันด้านราคาทำให้หาซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุข บริษัทประกันก็สามารถสร้างประโยชน์จากการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของตนเองเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพของตนติดตั้ง และให้ Smart Phone เชื่อมต่อกับกำไลที่ตนกว้านซื้อมาแจกให้กับลูกค้า บริษัทประกันจะทราบถึงการออกกำลังของลูกค้าแต่ละคน ระบบ Data Analytic ที่อยู่หลังบ้านขของตนจะสะสมข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคน เช่น คนที่มีเคยมีประวัติป่วยและเป็นโรคต้องเข้ารับการรักษาบ่อย ๆ หากพบว่ามีการเดินออกกำลังมากขึ้น และต่อมามีผลทำให้การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทิ้งช่วงลง ก็จะทำให้สามารถคิดปรับลดค่าเบี้ยประกันภัยลงได้
มีการออกแบบอุปกรณ์ Smart Phone ในรูปแบบของนาฬิกาพกพา เพื่อให้สะดวกต่อการพกพาและใช้งานของเจ้าหน้าที่บริษัท โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้อาจอยู่ในรูปของนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ที่มีการเชื่อมต่อกับ Smart Phone อีกทอดหนึ่ง หรือถึงขั้นเป็นนาฬิกาที่ติดตั้ง SIM Card และมีวงจรรับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G จุดประสงค์ของการสร้างโซลูชั่นใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทจะมีการเชื่อมต่อระบบเมลเซิร์ฟเวอร์และฐานข้อมูลต่าง ๆ ของตนเข้ากับเครือข่าย Cloud Computing สำหรับผลักข้อมูลให้ไปแสดงผลบนหน้าจอนาฬิกา เช่น อีเมล กำหนดนัดหมายต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งข้อมูลการ Chat ซึ่งในทางปฏิบัติ บางบริษัทอาจต้องการให้มีเพียงการแจ้งเตือน (Alert) บนหน้าจอนาฬิกา และให้พนักงานหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone มาดูรายละเอียด ทำให้การติดต่อสื่อสารของพนักงานภายในองค์กรกระทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนาฬิกาเป็นเครื่องประดับที่ผู้คนต้องสวมใส่ตลอดเวลาในระหว่างวันอยู่แล้ว
การใช้งานอุปกรณ์ Wearable Device ที่เกี่ยวข้องกับการติดตามพฤติกรรมและตรวจวัดข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วย นับว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักพัฒนาโซลูชั่นมาก โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งผลักดันให้ผู้ป่วยหรือคนไข้มีการสวมใส่อุปกรณ์ Wearable Device เพื่อตรวจสอบชีพจร ความดัน การขยับตัว การเดิน และตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วย ซึ่งทำให้โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเสียห้องพักให้กับผู้ป่วยไว้นอนเป็นเวลานาน ๆ ในเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพพ้นขีดอันตรายและสามารถกลับไปพักที่บ้านได้ โดยแพทย์และพยาบาลยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ที่รับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ Smart Phone ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Wearable Device เช่น กำไลข้อมูล นาฬิกา ฯลฯ ผ่านเครือข่าย Cloud Computing และระบบ Data Analytic ที่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในการติดตามอาการของคนไข้ การสร้างแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ Smart Phone ทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับคนไข้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ส่งกำหนดการนัดหมาย และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับคนไข้ได้ตลอดเวลา โดยสามารถลดต้นทุนการเก็บข้อมูลลงเอกสารได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันความรู้สึกของคนไข้ที่มีต่อโรงพยาบาลก็เกิดความเชื่อมั่นในการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อตัวคนไข้ที่สุด
รูปที่ 13 การขยายบทบาทของบริษัทด้านอุตสาหกรรมกับโลกของข้อมูล
สิ่งที่ได้กล่าวมาในหัวนี้ สามารถสรุปได้ว่าโลกการใช้งานอุปกรณ์ IoT ในโลกของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Smart Home, Connected Car ไปจนถึง Wearable Device กำลังก่อให้เกิดวิวัฒนาการใหม่ของภาคอุตสาหกรรม อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่าผู้ผลิตอุปกรณ์หรือโซลูชั่นต่าง ๆ ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม หากเปิดใจและทำความเข้าใจกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดจากการวัดค่าของเซ็นเซอร์ที่อยู่ในบรรดาอุปกรณ์ IoT สารพัดประเภทในโลก จะเห็นได้ว่าการไหลบ่าของข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำไปสร้างเป็นการต่อยอดทางธุรกิจขึ้นได้อีกมหาศาล โลกของการทำธุรกิจไม่มีข้อจำกัดว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์หรือโซลูชั่นจะต้องยืนอยู่บนที่มั่นเดิมในการพัฒนาแต่อุปกรณ์ ขณะที่ผู้ให้บริการ Social Media จะเป็นเพียงช่องทางในการทำตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือของผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชั่นในการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ตัวอย่าง เช่น หากผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลทั้งจากเซ็นเซอร์ภายในรถยนต์ เซ็นเซอร์ท้องถนน ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อและดึงข้อมูลจาก Google Map ได้อย่างง่าย ๆ ผู้ผลิตรถยนต์เพียงนำข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอดสร้างเป็นระบบสมองส่วนกลางในการให้บริการนำทางอัจฉริยะ เป็นช่องทางการนำเสนอตำแหน่งที่เที่ยวหรือจุดหน้าสนใจ พัฒนาต่อยอดเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นจองที่พัก จองร้านอาหาร เกิดรูปแบบการสร้างรายได้จากการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยที่มีฐานลูกค้าคือผู้ใช้รถยนต์ ซึ่งยังคิดต่อไปได้ว่าจะยึดมั่นถือมั่นเพียงลูกค้ารถยนต์ของตน หรือลูกค้ารถยนต์ทั้งหมด หรือจะรวมไปถึงว่าที่ผู้ที่จะซื้อรถยนต์ด้วย เพียงเท่านี้ก็จะเห็นขนาดที่มหาศาลของตลาดผู้บริโภค มองกลับไปที่ฝั่งการหารายได้ ก็จะเห็นทั้งส่วนแบ่ง (Commission) ในการเป็นช่องทางการขายการจองที่พัก ร้านอาหาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะขยับและขยายจุดยืนของตนเองเพื่อตอบรับการขยายตัวของโลก IoT
สิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่มีความแตกต่างจากในอดีตก็คือการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ในตัว และมีการเปิดทางให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเซ็นเซอร์ไปยังระบบบริหารจัดการส่วนกลาง โดยผ่านทางเครือข่ายสื่อสารไร้สายไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi หรือเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันมีเทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data หรือ Data Analytic เป็นปลายทาง ทำหน้าที่บริหารจัดการ ทั้งรับข้อมูล ทั้งควบคุม และทั้งติดต่อสื่อสารกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เหล่านั้น เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ยังสามารถเข้าถึงและติดต่อสื่อสารกับสินค้าของตน เพียงแต่มิใช่เพื่อจุดประสงค์ในการโจรกรรมข้อมูลของผู้บริโภค หากแต่เป็นการทำความเข้าใจ เรียนรู้ ศึกษา และพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค เพื่อต่อยอดธุรกิจให้กับทั้งบริษัทผู้ผลิต และยังเป็นการเปิดทางสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น จากประโยชน์ของเทคโนโลยี IoT ซึ่งกระตุ้น (Enable) ให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต
เมื่อเป็นเช่นนี้ แบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) ใหม่ ๆ ก็ได้รับการคิดค้นและผลักดันให้เกิดรูปแบบการให้บริการในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะเป็นครรลองต่อไปให้กับโลกการบริโภคไฮเทคนับจากนี้เป็นต้นไป เพื่อที่จะช่วยอธิบายนวัตกรรมทางการทำธุรกิจให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ผู้เขียนขอนำเสนอแกนความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของสินค้าและบริการ กับรูปแบบการหารายได้ของผู้ผลิต ดังปรากฏในรูปที่ 14
รูปที่ 14 แกนการสร้างมูลค่าธุรกิจและตัวอย่าง
รูปที่ 14 แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการทำธุรกิจต่าง ๆ ในโลกนั้นมีอยู่ทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน เริ่มจากแกนล่างขวา ซึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้า เป็นการขายแบบทันที โดยผู้ซื้อชำระเงินและรับสินค้าไป สำหรับการซื้อสินค้าด้วยเงินผ่อนหรือการทำไฟแนนซ์นั้นถือเป็นวิธีการหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การซื้อสินค้าได้เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ขายยินดีขายสินค้า อันหมายความว่าความเป็นเจ้าของสินค้าได้รับการเปลี่ยนมือจากผู้ขายให้กลายเป็นของผู้บริโภค การซื้อขายจบลงเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเงินจากผู้บริโภคมาสู่ผู้ขาย แทบจะเรียกได้ว่าการทำธุรกิจได้สิ้นลงตั้งแต่เวลานั้น ตัวอย่าง เช่น การซื้อโทรทัศน์ รถยนต์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งการซื้อบ้าน การทำธุรกิจประเภทที่สองซึ่งก็คือการขายสินค้า แต่ผู้ขายยังสามารถหารายได้ต่อเนื่องจากการบริโภคสินค้านั้นได้เรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น การขายมีดโกน เครื่องพิมพ์ ซึ่งแม้จะมีการได้รับสินค้าไปแล้ว มีการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้บริโภคสู่ผู้จำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย แต่การบริโภคใช้งานในสินค้านั้นทำให้ต้องมีการซื้ออะไหล่หรือวัสดุสิ้นเปลือง (Consumerable Goos) เช่น ตลับมือ หรือใบมีดโกน เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ในการขายสินค้าหลาย ๆ ครั้งมักพบว่าผู้จำหน่ายอาจตั้งราคาสินค้าตัวหลักไว้ต่ำมาก อาจมีการแถมวัสดุสิ้นเปลืองให้ระดับหนึ่ง แล้วคิดราคาเหมา (Bundle Price) เพราะมั่นใจว่าผู้บริโภคจะต้องกลับมาซื้อสินค้าสิ้นเปลืองเพิ่มเติมแน่นอน เป็นการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากการกลับมาซื้อสินค้าของผู้บริโภค
การทำธุรกิจอีกสองแบบหนึ่งเป็นการขายบริการของผู้จำหน่าย รูปแบบแรกคือการขายบริการและได้เงินเพียงครั้งเดียวหลังจากสิ้นสุดการให้บริการ ส่วนรูปแบบการชำระเงินนั้นจะจ่ายเป็นงวดภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ก็เป็นเพียงเรื่องของรูปแบบการจ่ายเงิน ตัวอย่างเช่น การให้บริการให้คำปรึกษา หรือเรื่องง่าย ๆ เช่น การตัดผม การรักษาโรค ฯลฯ ในการขายสินค้าบางประเภท ผู้ทำธุรกิจก็อาจไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า แต่ช่องทางในการจำหน่าย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือแม้กระทั่งแฟรนไซส์ต่างๆ ในกรณีนี้ก็ถือว่าผู้จำหน่ายทำหน้าที่เป็นฝ่ายขายหรือผู้ช่วยทางการตลาดให้กับเจ้าของสินค้า ก็จะได้รับเงินส่วนแบ่ง (Commission) เป็นค่าดำเนินการ รูปแบบสุดท้ายก็คือการขายบริหารแบบทำสัญญาให้บริการต่อเนื่อง เช่น บริการรับทำความสะอาด บริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไฟฟ้า น้ำประปา ประกันภัย ฯลฯ ซึ่งผู้บริโภคจะทำสัญญากับผู้ให้บริการ (แทนที่จะเป็นผู้จำหน่าย) เพื่อรับบริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเป็นบริการรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี ก็แล้วแต่ธรรมชาติของการให้บริการนั้น ๆ
แบบจำลองธุรกิจของการทำตลาดแบบ IoT ไม่ว่าจะเป็นตลาดส่วนบุคคลหรือตลาดระดับองค์กร/ธุรกิจ มีพัฒนาการที่เติบโตจากการขายเพียงครั้งเดียว ตัวอย่างแรกที่ขอนำเสนอก็คือ การให้บริการแบบ Product-as-a-Service หรือ PaaS ซึ่งเริ่มมีผู้จำหน่ายนำรูปแบบการทำสัญญาให้บริการเครื่องจักรแก่ลูกค้าประเภทองค์กร โดยที่สินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรหรืออิเล็กทรอนิกส์นั้นยังคงเป็นของผู้จำหน่าย ผู้ซื้อนั้นเป็นเพียงซื้อบริการจากผู้จำหน่าย และไม่ต้องบัญชีเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้บัญชีงบดุลของหน่วยงานธุรกิจที่ลูกค้านั้นไม่ต้องเสียเงินสด (Cash) เพื่อมาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่จะต้องมีการคิดค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ลงทุกปี การซื้อบริการนั้นในทางบัญชีจะคิดเป็นค่าใช้จ่าย (Expense) ซึ่งจะมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน (Cash Flow) มากกว่าการด้อยค่าของสินทรัพย์ โดยผู้จำหน่ายจะเป็นผู้คิดค่าบริหารจัดการและดูแลสินค้า เช่น เครื่อง Turbine สำหรับเครื่องบิน หัวรถจักร หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ Drone หรือหุ่นยนต์ในโรงงาน เป็นสัญญาต่อเนื่อง เช่น รายปี โดยมีการทำเงื่อนไขรายละเอียดในสัญญาว่าราคาค่าบริการที่คิดจะอยู่บนพื้นฐานที่ว่าชั่วโมงการทำงาน และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ลูกค้านำไปใช้ต้องเป็นข้อกำหนดของผู้จำหน่าย (ซึ่งอันที่จริงอาจเรียกว่าผู้ให้บริการ) การตรวจสอบสภาพแวดล้อมการทำงานผ่านทางเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายสื่อสาร ตามรูปแบบการทำงาน IoT จะทำให้ผู้จำหน่ายตรวจทราบว่ามีการใช้งานผิดเงื่อนไขหรือไม่อย่างไร เพราะจะทำให้สามารถคิดค่าบริการเพิ่ม รวมถึงยังเป็นการตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์และความบกพร่องของการทำงาน เพื่อที่จะได้เตรียมการให้บริการซ่อมบำรุงรักษา หรือซ่อมบำรุงก่อนปัญหาในการทำงาน (Preventive Maintenance) รูปที่ 15 แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของการทำแบบจำลองทางธุรกิจสำหรับการให้บริการฮาร์ดแวร์หรือเครื่องจักรที่มีการทำงานแบบ IoT ในลักษณะ PaaS
รูปที่ 15 การเปลี่ยนแปลงแบบจำลองธุรกิจ IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรม
รูปที่ 16 การเปลี่ยนแปลงแบบจำลองธุรกิจ IoT สำหรับการให้บริการ Smart Home
นอกเหนือจากการให้บริการแบบ PaaS สำหรับในภาคธุรกิจสำหรับองค์กรแล้ว เทคโนโลยี IoT ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถต่อยอดการทำธุรกิจให้กับผู้จำหน่ายต่อผู้บริโภคอีกด้วย รูปที่ 16 เป็นตัวอย่างของการต่อยอดการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ หรือตู้เย็นที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการซื้อขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคก็ยังคงเป็นการซื้อขาดเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ต่อยอดให้เกิดการทำธุรกิจต่อเนื่องและเป็นขยายยอดการขายของผู้จำหน่ายซึ่งอาจจะเป็นผู้จำหน่ายเครื่องไฟฟ้าตั้งแต่แรก หรืออาจเป็นผู้ประกอบการ e-Commerce ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็คือการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ไว้ภายในเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ในตู้เย็น โดยกำหนดพื้นที่สำหรับวางนม เครื่องดื่ม ผัก ฯลฯ เมื่อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งร่อยหลอลงก็จะมีการแจ้งเตือนผ่านมาทางแอปพลิเคชั่นบน Smart Phone ของผู้บริโภค ซึ่งอาจมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นนี้ลงบนโทรศัพท์แบบ Smart TV เพื่อให้แสดงผลบนหน้าจอหลักภายในบ้านก็ได้ เมื่อผู้บริโภคยืนยันการสั่งสินค้าเพิ่ม ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงการซื้อสินค้า Online อื่น ๆ ก็จะมีผลทำให้เกิดการซื้อสินค้าต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าสิ้นเปลืองในรูปแบบการทำธุรกิจพื้นฐาน นี่คือการต่อยอดโซลูชั่น Smart Home ไปสู่การทำธุรกรรมแบบ e-Commerce
รูปที่ 17 การเปลี่ยนแปลงแบบจำลองธุรกิจ IoT โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้รับเงินคืน หากปฏิบัติและยินยอมตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการ
ผู้เขียนได้กล่าวถึงการนำขีดความสามารถในการทำงานของอุปกรณ์ Wearable Device ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์บนโลก IoT มาต่อยอดสร้างเป็นโซลูชั่นสำหรับหน่วยธุรกิจ เช่น บริษัทประกันภัยมาแล้ว รูปที่ 17 เป็นการต่อยอดแนวคิดของการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ได้รับการเอื้อจากโลก IoT โดยเริ่มจากการจำหน่ายอุปกรณ์ IoT ซึ่งอาจจะเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับควัน หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ไปจนถึงอุปกรณ์ OBD-II สำหรับติดต่ออ่านค่าข้อมูลของเครื่องยนต์และการขับเคลื่อนของรถยนต์ ไปจนกระทั่งอุปกรณ์ Wearable Device อย่างกำไลข้อมืออัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Smart Phone ซึ่งเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของโซลูชั่น อาจคิดราคาค่าอุปกรณ์ไม่แพง บางกรณีอาจไม่คิดราคาค่าอุปกรณ์เลย แลกกับการขายบริการ เช่น กรมธรรม์โจรกรรมในบ้าน กรมธรรม์อุบัติภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันสุขภาพ ฯลฯ โดยผู้บริโภคยินยอมที่จะให้ผู้ให้บริการเข้าถึงข้อมูลที่เซ็นเซอร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้อ่านขึ้นมา เพื่อทำการเก็บรวมรวม และตรวจสอบพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวในบ้าน การเกิดควันไฟหรือเปลวไฟในบ้าน รูปแบบการขับขี่รถยนต์ ข้อมูลประวัติตำแหน่งของรถยนต์ ประวัติสภาพร่างกายโดยพิจารณาจากความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และการเดินหรือวิ่ง โดยผู้บริโภคจะตกลงเซ็นสัญญาซื้อกรมธรรม์ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ข้อมูลที่ผู้ให้บริการเก็บได้นี้มีประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้บริการในการตรวจสอบประวัติของผู้เอาประกันให้เป็นไปตามจริง และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะในหลาย ๆ กรณีผู้ให้บริการอาจกำหนดเงื่อนไขในการให้ส่วนลด หรือให้เงินคืน หากผู้เอาประกันสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ เช่น การขับรถยนต์ไม่เคยเกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือผู้เอาประกันสุขภาพมีการเดินต่อเนื่องทุกวัน ๆ ละ 3,000 ก้าวติดต่อกันหนึ่งปี ฯลฯ จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำสัญญาต่าง ๆ จะมีความละเอียดและสะท้อนความเป็นจริง ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
รูปที่ 18 การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมาเป็นผู้บริโภคได้เงินคืน
ปัจจุบันการผู้ให้บริการกรมธรรม์ต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น รูปที่ 18 เป็นตัวอย่างของการใช้ผลิตภัณฑ์ในตระกูล IoT ตั้งแต่อุปกรณ์ Nest ชิ้นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบควันไฟในบ้านเพื่อใช้เก็บข้อมูลสำหรับประมวลผลกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ต่อมาก็คืออุปกรณ์ Oscar Health Care ที่ทำหน้าที่ตรวจจับชีพจรและข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ ที่แถมมาให้พร้อมกับกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือกระทั่งกรมธรรม์ยานยนต์ที่แถมอะแดปเตอร์แบบ OBD-II สำหรับให้ติดตั้งกับรถยนต์และเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ Smart Phone เพื่อส่งข้อมูลการขับขี่มายังระบบ Data Analytic ของบริษัทประกันภัย ในขณะที่บริษัทประกันภัยก็มีการสรุปข้อมูลการขับขี่ สิทธิประโยชน์ที่ได้จากการขับขี่ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์มาให้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่งก็คือการใช้อุปกรณ์ Nest ที่ทำหน้าที่เป็น Thermostat และควบคุมการทำงานของหลอดไฟและเครื่องปรับอากาศ ผู้ให้บริการไฟฟ้าจะขอสิทธิ์ในการเข้าถึงเพื่ออ่านค่าและสั่งการทำงานของอุปกรณ์ Nest Thermostat เช่น เพิ่มอุณหภูมิของเครื่องทำอากาศขึ้นในขณะที่อากาศภายนอกเริ่มเย็น ปิดไฟดวงที่เจ้าของบ้านกำหนดให้การไฟฟ้าสามารถสั่งการได้ ในกรณีที่เป็นช่วงกลางวัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดค่าไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นให้กับผู้บริโภคแล้ว ในภาพรวมยังเป็นการร่วมกันควบคุมระดับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ทำให้การไฟฟ้าไม่ต้องผลิตไฟฟ้าในระดับที่มากเกินกว่าต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งผู้บริโภคอาจจะได้รับอุปกรณ์ Nest Thermostat สำหรับติดตั้งใช้งานฟรีก็ได้ ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นในช่วงเวลานั้น ๆ กรณีศึกษาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีการนำมาประยุกต์ใช้งานในพื้นที่อื่น ๆ ในโลก
เทคโนโลยี IoT จะยังคงมีการพัฒนาอีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทคโนโลยี และรูปแบบในการทำธุรกิจก็ย่อมจะต้องมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ บทความเรื่อง “บนเส้นทาง IoT 2016” ก็ถึงจุดสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ผู้เขียนจะนำเรื่องของเทคโนโลยีและธุรกิจ IoT ในบริบทอื่น ๆ มานำเสนอต่อไป พบกันได้ในบทความเรื่องต่อไปครับ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด