Executive Talk

เชอวาลเตรียมเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ดาต้าเซ็นเตอร์ ด้วยเทคโนโลยี OCP ที่ตอบโจทย์ธุรกิจทั้งในวันนี้และอนาคต

กองบรรณาธิการ

 

 

จากวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล เชอวาล ไม่รีรอที่จะโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ใน consortium ที่ชื่อ โอซีพี (OCP : Open Compute Project) เพื่อสร้างสรรค์เอกลักษณ์แห่งเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์แนวคิดใหม่ตรงใจผู้ใช้งาน

 

 

     เมื่อหลายปีก่อนผู้คนต่างเกรงว่าจำนวนประชากรจะล้นโลก จนต้องรณรงค์ให้มีการวางแผนคุมกำเนิด ทำให้เหตุการณ์ค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี มาบัดนี้ปัญหาคล้ายๆ กันกำลังจะเกิด ซึ่งไม่ใช่ประชากรแต่เป็นข้อมูลที่ล้นหลามมหาศาลเพิ่มปริมาณขึ้นทุกวี่วัน สร้างปัญหาอันอย่างใหญ่หลวงให้กับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องรับภาระทางด้านการลงทุนซื้ออุปกรณ์ไอที ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดจนการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เฟสบุ๊กได้เริ่มต้นดำเนินการโครงการ OCP (Open Compute Project) ขึ้นมา เฟสบุ๊กได้แจ้งให้ทราบว่าบริษัทสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการระหว่างปี 2015 ได้ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

Stephen Illenberger

Senior Manager Commercial Section

Cheval Electronic Enclosure Co., Ltd

 

เมื่อ OCP จะมาพลิกโฉมดาต้าเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่

 

          แล้ววันหนึ่งได้มีบุคคลและกลุ่มคณะบุคคลได้ทำความตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทต่างๆ ภาคไอทีในสหรัฐอเมริกาในการรวมตัวก่อตั้งเป็นสหพันธ์ (Consortium) โดยใช้ชื่อว่า OCP (Open Compute Project) ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือต้องการก่อร่างสร้างชุมชนเพื่อทำการพัฒนาชุดเทคโนโลยีระบบเปิดสำหรับรองรับการใช้งานภายในดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ซึ่ง บริษัท เชอวาล อิเล็คโทรนิค เอ็นโคลสเชอร์ จำกัด เล็งเห็นความสำคัญในจุดที่ตนจะได้รับในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมการออกแบบ ผลิต และส่งออกแร็ค 19 นิ้ว ระดับโลก จึงสมัครใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์นี้ด้วย ในโอกาสนี้ลองมาพูดคุยกับ สตีเฟ่น อิลเลนเบอร์เกอร์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการค้า ของเชอวาลถึงที่มาของ OCP ประโยชน์ในการนำ OCP มาใช้ และมูลเหตุจูงใจที่ชักนำเชอวาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ OCP Community รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ของ OCP

           

          “ก่อนที่จะกล่าวถึงที่มาของ OCP ขอแนะนำเว็บไซต์ OCP ให้รู้จัก นั่นคือ www.opencompute.org ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามอ่านข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้ในเว็บนี้ หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นก็คงต้องยกให้เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าพ่อแห่งวงการโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเฟสบุ๊ก (Facebook) เพราะเหตุว่าเป็นบริษัทที่ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาล อีกทั้งข้อมูลบนเฟสบุ๊ก ข้อความ รูปภาพ และข้อมูลอื่นๆ มากมายเกินคณานับ เมื่อเป็นเช่นนี้ดาต้าเซ็นเตอร์หรือโซลูชั่นมาตรฐานทั่วไปจึงไม่ดีพอที่จะทำให้เฟสบุ๊กสามารถดำเนินธุระกิจได้ด้วยผลกำไรที่เหมาะสมภายใต้ภาวะที่ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ ในปี 2009 ทีมงานของเฟสบุ๊กเริ่มทำการวิเคราะห์จุดอ่อนด้อยของดาต้าเซ็นเตอร์ระบบเดิมๆ จนประสบความสำเร็จตามจุดประสงค์ในอีก 2 ปีถัดมา โดยสามารถออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ที่ได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงสุด ช่วยลดปริมาณการบริโภคพลังงานไฟฟ้าลงได้ถึงร้อยละ 25 ในภาพรวม นี่เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ OCP ถือกำเนิดเพราะหลังจากนั้นเฟสบุ๊กได้เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนสมัครพรรคพวกรุ่นบุกเบิกที่มีแนวร่วมเดียวกัน 5 ราย ทั้งบริษัทไอทีแถวหน้า ธนาคารชั้นนำระดับโลก ได้ทำข้อตกลงในการจัดตั้งสหพันธ์ที่เรียกว่า OCP” สตีเฟนบอกกล่าวเล่าถึงความเป็นมาของ OCP

           

          ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Open Compute Project ที่กำหนดกฎกติกามารยาทไว้ว่าใครก็ตามที่เข้าร่วมต้องยินดีเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดหรือเฉพาะบางส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ในการพัฒนาออกแบบผลงานของตนนำเสนอให้บริษัทสมาชิกทุกแห่งทดลองใช้และต่อยอดขยายผลเพิ่มเติมต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์แรกเริ่มก่อตั้งสหพันธ์ดังกล่าวขึ้นมา ส่วนในแง่เทคโนโลยีหลักๆ จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ต่างๆ ในดาต้าเซ็นเตอร์ โดยพุ่งเป้าโฟกัสไปที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ แร็ค เพาเวอร์ซัพพลาย ระบบระบายความร้อน ระบบทำความเย็น ปัจจุบันนี้ได้มีบริษัทที่นำ OCP ไปใช้งานโดยเป็นบริษัทระดับไฮเปอร์สเกลขนาดยักษ์ใหญ่มากและได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้ประโยชน์จาก OCP ได้อย่างเต็มที่และจริงจัง อย่างไรก็ดีบริษัทขนาดเล็กและดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วไปจะสามารถได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลงนี้ OCP Supplier กำลังพยายามจัดเตรียมระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ในเร็วๆนี้ บริษัทเชอวาลก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้โดยเริ่มจากการออกแบบและผลิต OCP Rack และได้ทำการเปิดตัวในงาน OCP U.S. Summit 2016

           

          “เท่าที่ทราบมีสมาชิกประมาณ 100 กว่าบริษัทแล้วที่อยู่ในสหพันธ์นี้ โดยจะแบ่งกลุ่มสมาชิกออกเป็นหลายระดับ อาทิ สมาชิกทั่วไป ซิลเวอร์ โกลด์ แพลตทินั่มตามจำนวนเงินบริจาค การจัดหาบุคลากรทำงานด้าน OCP เป็นการเฉพาะ สมาชิกในระดับสูงสุดคือบริษัทที่มอบลิขสิทธิ์เต็มเป็นที่เปิดเผยแก่เพื่อนสมาชิกได้นำผลงานที่พัฒนาขึ้นมาไปใช้งานได้ แต่ละบริษัทจะสมัครสมาชิกในระดับใดก็ได้แล้วแต่สะดวก เชอวาลเองสมัครเข้าไปหยั่งเชิงเป็นสมาชิกทั่วไปในเบื้องต้น นอกจากนั้นยังแยกเป็นกลุ่ม 3 กลุ่มหลักๆ ตามผลงานความถนัด ได้แก่ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และโซลูชั่นโพรวายเดอร์ ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้มีสมาชิกจำนวน 8 บริษัท ทำงานคล้ายๆ กับเอสไอหรือซิสเต็มอินทีเกรเตอร์ อาจมีข้อตกลงกับบริษัทที่จำหน่ายฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แล้วผนวกรวมทั้งหมดเป็นโซลูชั่น ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญรอบด้าน มีความพร้อมจัดหาทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการออกแบบโซลูชั่นเกี่ยวกับ OCP ให้ลูกค้าสามารถจัดซื้อไปใช้งานได้เลย โดยลูกค้าของโซลูชั่นโพรวายเดอร์ส่วนใหญ่เป็นพวกไฮเปอร์สเกลหรือบริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น อย่างเช่น เฟสบุ๊ก ไมโครซอฟท์ การเดินทางไปสัมมนาครั้งล่าสุดมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าในปีนี้ผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาเพิ่มขึ้นจาก 2,000 คนเมื่อปีที่แล้วเป็น 3,000 คน ทั้งๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 400 เหรียญสหรัฐ (แต่เดิมทาง OCP จัดสัมมนาฟรีมาตลอด) แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เด่นชัดของ OCP ซึ่งหลายคนหลายองค์กรต่างให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นนั่นเอง กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มาจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไอทีแทบทั้งสิ้น มีความเข้าใจในเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยี OCP มีโอกาสเปิดตลาดแนวทางใหม่ๆ ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ในอนาคตข้างหน้าแน่นอน” สตีเฟนกล่าวเพิ่มเติม

 

เรื่องดีๆ ที่ OCP ทำได้คือช่วยประหยัดในทุกมิติ

 

          หลายๆ ครั้งที่การขยายระบบดาต้าเซ็นเตอร์มักสร้างปัญหายุ่งยากวุ่นวายให้กับผู้บริหารเครือข่ายไอทีมิใช่น้อย ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามา งบประมาณการลงทุนปรับปรุงระบบที่สูงเกินความจำเป็น อีกทั้งเมื่อปรับปรุงระบบแล้วสภาพแวดล้อมและสภาพการทำงานก็ยังคงเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งขีดความสามารถระบบไม่สามารถรองรับงานต่อไปได้ ถึงตอนนั้นคงต้องรื้อระบบยกเครื่องใหม่อีกกี่ครั้งกี่หนกัน ทำให้ธุรกิจอาจหยุดชะงักหรือสูญเสียรายได้ 

 

 

ยุทธศักดิ์ อริยกุลนิมิต

ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนา

Cheval Electronic Enclosure Co., Ltd

 

          “เพราะความที่ OCP เป็นเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ชุดใหม่ล่าสุดที่ใช้ในการออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ให้มีราคาถูก  ไม่เน้นเรื่องความสวยงามของอุปกรณ์ไอที เพิ่มเติมความสามารถในการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เน้นลดปริมาณการบริโภคพลังงานภายในดาต้าเซ็นเตอร์ลงได้ถึงร้อยละ 25 (ตัวเลขนี้ระบุตามรายงานของเฟสบุ๊ก) ซึ่งได้อ้างว่าสามารถดำเนินการด้วยค่า PUE (Power Usage Effectiveness) 1.06 เท่านั้นเอง ดังนั้นสิ่งที่องค์กรผู้ใช้งานจะได้รับไปเต็มๆ คือประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าชนิดคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ขณะที่อุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีความน่าเชื่อถือสูง แล้วยังให้ประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานที่คล่องตัวกว่ามาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถซื้ออุปกรณ์ในท้องตลาดมาติดตั้งใช้งานได้ทันที รวมถึงการบำรุงรักษาก็สามารถทำได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีต่างๆ รวมถึงเมนบอร์ด ฮาร์ดดิสค์สามารถทำได้ด้วยมือเปล่า โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ อุปกรณ์ตัวใดเสียก็ถอดเปลี่ยนเฉพาะอุปกรณ์ตัวนั้น ไม่ส่งผลกระทบถึงอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ซึ่งหากมองในแง่คุณประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้ที่ได้รับนับว่าเกินตัว ที่สำคัญ OCP มีจุดประสงค์หลักอีกประการหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ การพัฒนาจึงมีความก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ในมุมของเชอวาลในฐานะเวนเดอร์การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน OCP Community ส่งผลดีตรงที่ได้ทำความรู้จักกับผู้คนในวงการไอทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ และทัศนคติซึ่งกันและกัน” ยุทธศักดิ์ อริยกุลนิมิต ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนา บริษัท เชอวาล อิเล็คโทรนิค เอ็นโคลสเชอร์ จำกัด ได้ให้ความกระจ่างถึงประโยชน์ของ OCP เทคโนโลยีที่โดนใจให้ผลตอบแทนสูง อันเนื่องมาจากการลดต้นทุนทางด้านการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและด้วยค่าบำรุงรักษาที่ต่ำสุด

 

เชอวาลจัดหนักผลักดัน OCP ช่วยสร้างฝันสู่อนาคต

 

          จริงอยู่ที่บางบริษัทมองว่า OCP เป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะไกลตัวเกินไป ยังไม่มีเค้าลางที่จะเข้ามามีบทบาทหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจของไทยเท่าใดนักในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะความต้องการเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องผ่านการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนเห็นคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้งานกันในทุกวันนี้ แต่เชอวาลกลับมีความคิดเห็นต่างจากมวลหมู่ผู้ใช้ทั่วไป แล้วมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เชอวาลรวบรวมความกล้าก้าวข้ามสู่อนาคตใหม่ไปพร้อมๆ กับ OCP ด้วยความมั่นใจนั้นมาจากไหน ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการค้าของเชอวาลจะมาขยายความต่อไป

           

          “สาเหตุหนึ่งที่เชอวาลเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่ม OCP Community ไม่ได้หวังเพียงการขายของได้เท่านั้น แต่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของเราคือต้องการนำเสนอสิ่งดีๆ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้แก่ลูกค้าของเชอวาล ในฐานะที่เราเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการออกแบบ ผลิต และส่งออกแร็ค 19 นิ้ว อินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ ตลอดจนส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก สินค้าของเรานอกจากจะเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดไอซีทีแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในกลุ่มของ OCP โดยตรง จึงต้องให้ความสนใจหมั่นติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของ OCP เป็นพิเศษมาตลอดหลายปี เรียกได้ว่าตลาดไอซีทีไปทางไหนเราจะพยายามเกาะติดกระแสแนวโน้มของตลาดให้ทัน เพียงแค่ช่วงจังหวะแรกๆ นั้นลูกค้าในกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกของเรายังไม่แสดงออกถึงความต้องการแต่อย่างใด กระทั่งในปีที่ผ่านมาสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป บริษัทใหญ่ยักษ์ระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ OCP อย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าตลาด OCP กำลังจะเข้ามามีบทบาทในวงการไอซีทีในอีกไม่ช้าไม่นาน ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้งานร่วมกันบนเทคโนโลยีระบบเปิดของ OCP รวมถึงเชอวาลเองด้วย เราจึงต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีล่าสุดใหม่สุดทันสมัยที่สุดเพื่อที่จะสร้างผลงานใหม่ๆ ระดับคุณภาพออกสู่ตลาดไอซีที ผลงานตัวอย่างชิ้นแรกที่เราสนใจผลิตออกมาก็คือโซลูชั่นที่เป็นโอเพ่นแร็ค การออกแบบจะยึดถือตามแร็คต้นแบบที่เฟสบุ๊กออกแบบและเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตมาปรับปรุงแก้ไข แล้วทำการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ตามแนวความคิดของเราเอง จากนั้นเราก็จะนำเสนอผลงานที่ทำเสร็จในระดับหนึ่งว่ามีการทำงานและคุณสมบัติอย่างไรให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้รับทราบ ซึ่งระหว่างนี้เรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับบริษัทแห่งหนึ่งที่สนใจจะเป็นพาร์ตเนอร์ในการร่วมมือพัฒนาโซลูชั่นแรกดังกล่าว โดยจะนำเทคโนโลยีทั้งของเราและของพาร์ตเนอร์มาผสมผสานกันในลักษณะของการทำ Customize เพื่อให้ได้โซลูชั่นโอเพ่นแร็คที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี OCP ในประเด็นความร่วมมือกันนี้คือข้อดีอีกประการหนึ่ง เพราะเท่ากับว่าเรามีเพื่อนพึ่งพาไม่ว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์หรือส่วนประกอบใดๆ ที่จะนำมาใช้งานกับดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตามถึงแม้ในเมืองไทยยังไม่มีบริษัทหรือองค์กรใดตอบรับหรือให้ความสนใจเทคโนโลยี OCP เราก็ต้องเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ เตรียมสรรพกำลังทุกอย่างไว้ให้พร้อมในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของเชอวาลในการเป็น Continuous Improvement Development ดังนั้นเราจะต้องเป็นผู้นำระดับแนวหน้า เมื่อไรที่ตลาด OCP มีความต้องการเราก็สามารถสนองตอบได้ทันที ขณะเดียวกันทางเฟสบุ๊กได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ประมาณ 70-80% ของดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกจะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี OCP แน่นอน เพราะ OCP มีคุณสมบัติที่น่าประทับใจในเรื่องของความประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ด้านนั่นเอง” สตีเฟนกล่าวย้ำอย่างมั่นใจ

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่



บริษัท เชอวาล อิเล็คโทรนิค เอ็นโคลสเชอร์ จำกัด

โทรศัพท์ 0-2744-1632
อีเมล domestic_sales@chevalgrp.com

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด