Top Story

ความพร้อมของ Cloud Computing ต่อการขับเคลื่อน Digital Thailand

ทศพนธ์ นรทัศน์

hs4hnl@gmail.com

 

 

นำเสนอให้เห็นถึงความพร้อมของ Cloud Computing ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสู่ความเป็น Digital Thailand ซึ่งในมุมมองของผู้ใช้งานทั้งในระดับบุคลและองค์กร

 

     Cloud Computing เป็นการให้บริการประมวลผลแบบคลาวด์ เกิดจากแนวคิดการให้บริการโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยมีเซิร์ฟเวอร์มากมายทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้บริการแอปพลิเคชันต่างๆ มีข้อดี คือ ลดความซับซ้อนยุ่งยากของผู้ต้องการใช้บริการ อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่าย เพราะเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ทำงานผ่านเทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) ระบบจึงไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องของสมรรถนะและขีดความสามารถของการใช้ระบบประมวลผลจากระบบต่างๆ ทำให้เกิดการบริการหลายๆ อย่าง เช่น การประชุมผ่านอินเทอร์เน็ต (Web Conferencing, Online Meetings) ผู้ใช้งานอาจอยู่ในห้องเดียวกัน หรือห่างไกลกันคนละซีกโลกก็ได้ การประมวลผลแบบคลาวด์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ Private Cloud Computing เป็นการใช้งานภายในองค์กร โดยเป็นการใช้สมรรถนะของศูนย์ข้อมูลภายในองค์กรนั้นๆ และ Public Cloud Computing เป็นรูปแบบที่มีผู้ให้บริการสาธารณะจัดสรรการให้บริการ การเข้าถึงข้อมูลรูปแบบต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนมาก โดยผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องรับทราบว่ามีเซิร์ฟเวอร์ติดตั้งอยู่ที่ไหนและมากเท่าใด สนใจเพียงแต่บริการที่ได้รับเท่านั้น (แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, 2559 : ผ9)

 

          ทั้งนี้ ไอดีซีประเทศไทยการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2559 นั้น องค์กรต่างๆ มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการใช้งานบริการผ่านคลาวด์ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแพล็ตฟอร์มรุ่นที่ 3 หรือดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชั่นในเชิงธุรกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีคลาวด์เป็นพื้นฐาน ซึ่งหมายความว่าองค์กรเหล่านั้น จะต้องเพิ่มการใช้บริการผ่านคลาวด์ขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของบริการผ่านคลาวด์จากความเป็นสถาปัตยกรรม “ใหม่” ไปสู่ความเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานนั้นจะมีนัยสำคัญสำหรับผู้นำด้านไอทีและธุรกิจ (กองบรรณาธิการ นิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์, 2559)

               

          บทความนี้ จะนำเสนอให้เห็นถึงความพร้อมของ Cloud Computing ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสู่ความเป็น Digital Thailand ซึ่งในมุมมองของผู้ใช้งานทั้งในระดับบุคลและองค์กรแล้ว บริการคลาวด์จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล สามารถขยายขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้ตามปริมาณที่คาดว่าจะมีการใช้งานจริง กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นเพียงผู้ใช้อย่างเดียว แต่ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิภาพในการถ่ายโอนข้อมูลจากดีไวซ์ต่างๆ (PC, Smart Phone, Tablet) สู่คลาวด์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเทอร์เน็ต รวมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลด้วย

 

Cloud Readiness Index 2016

 

          สมาคมเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์แห่งเอเซีย (Asia Cloud Computing Association : ACCA) -- www.asiacloudcomputing.org ได้เผยแพร่ดัชนีความพร้อมของคลาวด์ ปี ค.ศ. 2016 หรือ Cloud Readiness Index (CRI) 2016  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2016 โดยในส่วนของ Asia Pacific rankings พบว่า ฮ่องกง อยู่อันดับ 1 สิงคโปร์ อันดับ 2 นิวซีแลนด์ อันดับ 3 ออสเตรเลีย อันดับ 4 ญี่ปุ่น อันดับ 5 ไต้หวัน อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 มาเลเซีย อันดับ 8 ฟิลิปปินส์ อันดับ 9 ไทย อันดับ 10 อินโดนีเซีย อันดับ 11 อินเดีย อันดับ 12 จีน อันดับ 13 และเวียดนาม อันดับ 14  และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก็จะพบอย่างมีนัยยะสำคัญเชิงบวกอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจเกี่ยวกับคลาวด์ของเอเชียอยู่ในระดับนำของโลก เป็นคลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก ที่จะนำโลกไปสู่ยุคดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ (Bernie Trudel, Chairman of the ACCA)

           

          ขณะที่ Lim May-Ann, Executive Director of the ACCA ได้กล่าวไว้ว่า “คลาวด์เป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก ขณะที่ภาครัฐ (Public Sector) ก็ได้ยอมรับเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์มาใช้ในการบริหารงานภาครัฐ (gCloud) เฉกเช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ส่วนการตลาดของคลาวด์ในระยะถัดไป คือ การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดโครงข่ายสื่อสารข้อมูล (International data transfers) ที่รวดเร็ว มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าและธุรกิจ"

           

          นอกจากนี้ ดัชนีความพร้อมของคลาวด์ ยังบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคด้วย ซึ่งจากตารางจะเห็นถึงช่องว่างของคะแนน CRI ของแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่ายังมีช่องว่างที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจจาก ฮ่องกง-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์-เวียดนาม ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างกว้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการที่แต่ละประเทศมีการวางแผนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะค่อยๆ ปิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลงได้ในอนาคต

 

Cloud Readiness Index 2016

 

 

ที่มา: www.asiacloudcomputing.org/images/documents/cri2016_acca.pdf

  

          สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในลำดับที่ 10  นั้น ลดลงหนึ่งอันดับจาก CRI 2014 โดยปีดังกล่าวไทยอยู่ในลำดับที่ 9 ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าว สวนทางกลับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 แม้ว่าผลจากนโยบายดังกล่าว จะทำให้คะแนนในด้านการเชื่อมต่อภายในประเทศ (International Connectivity) เพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 8 มาเป็นอันดับที่ 7 และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy) ขยับจากอันดับที่ 13 มาเป็นอันดับที่ 12

           

          คะแนนด้านคุณภาพบรอดแบนด์ (Broadband Quality) ยังคงอยู่อันดับที่ 6 และด้านความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ (Business Sophistication)  ยังคงอยู่อันดับที่ 9 ในขณะที่คะแนนด้านอื่นๆ กลับลดลง โดยด้าน Power grid, green policy and sustainability จากเดิมอยู่อันดับที่ 6 ตกไปอยู่อันดับที่ 8 ด้านการจัดการความเสี่ยงของศูนย์ข้อมูล (Data Center Risk) จากอันดับที่ 5 ลงไปอยู่อันดับที่ 9 ด้านกฎระเบียบการใช้และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Government Regulatory Environment and Usage) จากอันดับที่ 13 ลงไปอยู่อันดับที่ 14 เช่นเดียวกับด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP Protection) และด้านเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information) ลดจากอันดับที่ 11 ลงไปอยู่อันดับที่ 12

           

          นอกจากนี้ กระบวนการตรา และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบร่างกฎหมายมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2557 และต้นปี พ.ศ. 2558 (ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม .. .... /ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) .. .... /ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) .. .... / ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่..) .. .... /ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ .. .... /ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ .. .... /ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล .. ....) ก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า (มีเพียงร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) .. .... ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยให้มีการตั้ง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ประกาศเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559) รวมทั้ง ยังมีความขัดแย้งภายในประเทศเกี่ยวกับนโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ (Single Internet Gateway) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ซิงเกิ้ลเกตเวย์ จะเป็นไปเพื่อสอดส่อง หรือเซ็นเซอร์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนจากภาครัฐ

           

          ACCA ได้แนะนำให้ประเทศไทยเร่งออกกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยเร็ว เพื่อช่วยลดความไม่มั่นใจของผู้ใช้คลาวด์และเทคโนโลยี ในทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ (มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองผู้ใช้งาน)

 

พัฒนาการที่สำคัญของภาครัฐไทยที่มีนัยสำคัญต่อดัชนีความพร้อมของคลาวด์

 

          ACCA ได้กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการซึ่งมีนัยสำคัญต่อดัชนีความพร้อมของคลาวด์ (Recent Government Legislation and gCloud/gICT Developments) ไว้ 5 ประการ (โดยผู้เขียนได้นำข้อมูลจากแหล่งอื่นมาขยายความในแต่ละหัวข้อเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น) ดังนี้

 

  • แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559) มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) หมายถึง ประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

 

  • นโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ (Single Internet Gateway) จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
    มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินโครงการ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียว หรือ National Single Internet Gateway) ทำให้หลายฝ่ายมีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะบุคคลในแวดวงไอทีที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบสิทธิส่วนบุคคลในการใช้งานอินเทอร์เน็ต

            แม้กระทรวงไอซีที จะออกมายืนยันว่าแนวนโยบายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เน้นในการใช้งานด้านความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งซิงเกิ้ลเกตเวย์จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ หรือเกตเวย์ ของตนเอง สามารถมาร่วมกันใช้ได้ในโครงข่ายเดียวในการให้บริการ (www.adslthailand.com) ต่อมานโยบายนี้ ก็ถูกพักไว้ก่อนเนื่องจากมีการต่อต้านจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก

 

  • โครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Centre Project) โดยที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ได้มีมติให้จัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ" โดยได้มอบหมายให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT Telecom) ผู้ให้บริการ ISP และศูนย์ข้อมูลรายใหญ่ของประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง CAT Telcom ได้ เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ล่าสุด คือ “CAT data center Nonthaburi II” ซึ่งพร้อมรองรับการใช้งานจากทั้งภาคเอกชน และภาครัฐไปพร้อมกัน CAT เป็นผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล TSI ระดับ 3 ของสถาบันเพื่อความปลอดภัย TÜViT สำหรับการให้บริการของศูนย์ข้อมูลแห่งนี้จะมุ่งเน้นที่ 4 ด้านหลัก คือ (1) การให้ลูกค้าเช่าพื้นที่ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ (2) ให้บริการจัดการระบบของลูกค้าและดูแลด้านความปลอดภัยในตัว (3) ให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงานชั่วคราว พร้อมอุปกรณ์สำนักงาน และ (4) เป็นศูนย์สำรองข้อมูลเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (DR) (www.blognone.com/node/70797)

 

  • มาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับการเข้ามาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย (Tax incentives for data centre builds) ตามประกาศ เรื่อง มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับธุรกิจในพื้นที่ และธุรกิจข้ามชาติในประเทศไทย ในขณะที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีที เพื่อสร้างระบบการจัดการไอซีทีที่มีความเป็นอัจฉริยะ (Smarter ICT Management System) ภายใต้โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การสร้างเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาช่องทางการตลาดดิจิทัลสำหรับ SMEs แบบบูรณาการ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์และนวัตกรรม

 

  • ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center: GAC) เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชันที่รวบรวมแอปพลิเคชันต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐไว้ด้วยกัน (เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถค้นหาแอปพลิเคชันและดาวน์โหลดลงบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จาก 11 หมวดหมู่บริการ เช่น หมวดสุขภาพ หมวดการเดินทาง หมวดการศึกษา ฯลฯ โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) เป็นผู้ประสานงานจัดการ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเสนอแอปพลิเคชันแก่ประชาชนผ่าน GAC ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://apps.go.th

 

กรณีศึกษาต่างประเทศ

 

          จากรายงานของ ACCA ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแต่ละประเทศ (www.asiacloudcomputing.org/research/cri2016) ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างบางประเทศมานำเสนอ ดังนี้

 

  • ฮ่องกง สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ในปี ค.ศ. 2016 โดยมีคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) โดยคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 6.8 ในปี ค.ศ. 2014 เป็น 9.5 ในปี ค.ศ. 2016 นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญจากการปรับปรุงโครงข่ายสื่อสาร (International Connectivity) และการบริหารจัดการความเสี่ยงของศูนย์ข้อมูล (Data Centre Risk Management)

 

  • สิงคโปร์ ยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สายเคเบิ้ล, พลังงาน และบรอดแบนด์ และยังคงมีสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อความง่ายในการทำธุรกิจ ทำให้สิงคโปร์ยังคงเป็นเป้าหมายที่ชื่นชอบของ Cloud Business และ Data Center สิงคโปร์มีการพัฒนาคุณภาพของบรอดแบนด์ มีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนด้านที่น่าเป็นห่วงก็มีเพียงด้านเดียว คือ ด้านเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีคะแนนลดลงเป็น 6 คะแนนในปี ค.ศ. 2016 จากเดิมที่เคยได้ 6 คะแนนในปี ค.ศ. 2014

 

  • มาเลเซีย ในปี ค.ศ. 2016 ผู้ประกอบการในมาเลเซียมีการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์มาใช้ในกิจการของตนเอง มากกว่าหลายประเทศในเอเซีย ยกเว้นญี่ปุ่นที่ได้ 8.3 คะแนน (พิจารณาในมิติด้านความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ หรือ Business Sophistication) โดยมาเลเซียได้ 7.6 คะแนน ขณะที่สิงคโปร์ได้ 7.3 คะแนน และฮ่องกง 7.4 คะแนน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาเลเซียคือประเทศผู้นำใหม่ด้าน Business Sophistication ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์ของมาเลเซียได้รับประโยชน์จากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอุบัติใหม่ (Emerging Industry Clusters) นอกจากนี้ ในมิติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาเลเซียยังได้คะแนนสูงกว่าทุกประเทศ (ยกเว้น ออสเตรเลียที่ได้คะแนน 7.6 เท่ากัน) มาเลเซียถือเป็นประเทศที่มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่มาเลเซียก็มีคะแนนต่ำในด้าน Connectivity และการบริหารความเสี่ยงศูนย์ข้อมูล ส่วนมติอื่นๆ ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปี ค.ศ. 2014

 

ก้าวต่อไปของ Cloud Computing ในประเทศไทย

 

          จากการที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดูรายละเอียดได้ที่ www.digitalthailand.in.th) เพื่อก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ และในมิติของภาคอุตสาหกรรมก็กำลังก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมีองค์ประกอบ 9 ด้าน คือ (1) หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Robots) มาเป็นผู้ช่วยในการผลิต (2) การสร้างแบบจำลอง (Simulation) เช่น การพิมพ์แบบ 3D เสมือนจริง (3) การบูรณาการระบบต่างๆเข้าด้วยกัน (System Integration) (4) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (Internet Of Things) ที่ทำให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ (5) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cyber Security) (6) การประมวลและเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cloud Computing) (7) การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ Additive Manufacturing เช่น การขึ้นรูปชิ้นงานในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (8) เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ทีวี 3 มิติ เครื่องเล่นเกม และ (9) ข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) คือ ชุมนุมของชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีทั้งการบันทึกและจัดเก็บ การค้นหา การแบ่งปัน และการวิเคราะห์ข้อมูล (Blue Update Edition 16, Bangkokbiznews.com, Prachachat.net, tpemagazine.com By: Wilaiphan S. อ้างถึงใน www.applicadthai.com)

 

 

ที่มา: www.zimory.com

 

          สอดคล้องกับที่ บัณฑิต ว่องวัฒนะสิน (พฤษภาคม 2559) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด หรือ ISSP กล่าวว่า “แนวโน้มการเติบโตของตลาดคลาวด์ในปี ค.ศ. 2016 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายๆ องค์กรมีการวางแผนงบประมาณเอาไว้สำหรับการลงทุนต่อเนื่องในระบบคลาวด์ที่ใช้งานอยู่เดิม หรือเริ่มต้นลงทุนในเทคโนโลยีคลาวด์แทนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีแบบเดิม ประกอบกับในปีนี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจ จากการให้บริการ 4G ที่จะทำให้จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น และขยายขอบเขตผู้ใช้งานไปในวงกว้าง และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนขึ้นในเรื่องความนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ฐานลูกค้าอีคอมเมิร์ซเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคจะมีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อเทคโนโลยีมีความพร้อมภาคธุรกิจยิ่งต้องสร้างคอนเทนต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อตอบสนองให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด …นอกจากนี้ สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องคำนึงถึงหลังจากเปิด AEC โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการแข่งขัน เพราะปัจจุบันธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งร้านขายของ หรือเช่าพื้นที่ขายสินค้าเพื่อจำหน่ายให้คนในประเทศนั้นๆ อีกต่อไป แต่ธุรกิจจะเกิดและเติบโตบนแพลตฟอร์มมือถือ อุปกรณ์สื่อสารจะกลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำการค้า ทำให้จากนี้ไปโอกาสทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า” (ดูเพิ่มเติมที่ www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000045311)

               

          ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็มีการพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud: G-Cloud)

               

          G-Cloud คือ โครงสร้างพื้นฐานบนอินเทอร์เน็ตแบบใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ EGA ให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐด้วยเทคโนโลยี Cloud ซึ่งเก็บทรัพยากรไว้บนอินเทอร์เน็ต สามารถเรียกใช้งานผ่านเครือข่ายได้ตลอดเวลาจากระยะไกล ปรับขนาดได้ตามความต้องการของผู้ใช้ มีการจัดสรรทรัพยากร ลดภาระการบริหารจัดการ และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ซึ่ง G-Cloud ได้ช่วยสร้างประโยชน์อย่างมากมายให้กับการใช้งานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และช่วยให้บุคลากรภาครัฐสามารถทำงานได้สะดวก คล่องตัว เพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดสู่ประชาชน

           

          วัตถุประสงค์ของ G-Cloud ที่พัฒนาขึ้นคือ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือระบบลดภาระในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือระบบของหน่วยงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้พื้นที่ในหน่วยงานอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนา e-Government ไปสู่การเป็น Green IT และมุ่งมั่นขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ระดับ PaaS (Platform as a Service) และ Saas (Software as a Service) เป็นระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยสอดคล้องกับมาตรฐาน และกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนสร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้กับทุกภาคส่วน และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

 

 

ที่มา: www.ega.or.th/th/profile/881/

 

          การให้บริการ G-Cloud เป็นการให้บริการตามความต้องการจริง โดยจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งรวมถึงจำนวนเครื่องแม่ข่ายเสมือน ระบบปฏิบัติการ หน่วยความจำ หน่วยประมวลผลกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญบริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ลดภาระในการบริหารจัดการ และดูแลรักษาระบบ ทำให้บุคลากรของหน่วยงานสามารถทุ่มเทเวลาในการให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นระบบ Cloud Computing มาตรฐานสากลใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น บริหารจัดการโดยหน่วยงานกลางของภาครัฐ และมีเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5 % และช่วยหน่วยงานลดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุน เช่น อุปกรณ์ เครื่องแม่ข่าย อุปกรณ์เครือข่าย ศูนย์ข้อมูล ฯลฯ รวมทั้งสามารถเข้าถึงได้จากเครือข่าย GIN (เครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงภาครัฐ) และอินเทอร์เน็ต รองรับระบบงานสนับสนุน Cloud ทุกระดับที่ EGA พัฒนาเพื่อให้บริการ รวมถึงบริการพื้นฐาน (Common Service) จากภาครัฐส่วนกลาง

 

ข้อพึงระวังในการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing

 

          แม้ว่า Cloud Computing จะเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดควบคู่กับอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วเพิ่มมากขึ้นเรื่อย และสมาร์ทดีไวท์ต่างๆ แต่ Cloud Computing ก็ยังมีข้อจำกัด หรือความเสี่ยงในการใช้งาน ดังที่ วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (อ้างถึงใน www.catdatacom.com/th/site/news/ news_detail/170) ได้กล่าวถึงข้อพึงระวังในการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing ไว้ ดังนี้

 

  • จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาจึงจะเรียกใช้งานได้ หรือถ้าระบบอินเทอร์เน็ตมีความเร็วไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
  • ในปัจจุบันแอปพลิเคชันในรูปแบบของ Cloud Computing โดยส่วนใหญ่นั้น จะมีจำนวนฟังก์ชันให้เรียกใช้งานน้อยกว่าแอปพลิเคชันในรูปแบบของ Desktop
  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแอปพลิเคชันที่ผ่านทางเว็บเบราเซอร์ อาจมีความล่าช้าในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้
  • หากผู้ให้บริการหยุดให้บริการ บริษัทอาจต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูลและแอปพลิเคชันเหล่านั้นไป ถึงแม้ว่ากรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
  • ก่อนที่จะเลือกใช้บริการในรูปแบบของ Cloud Computing นั้นจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องของ Privacy Policy เป็นสำคัญ  เพราะแม้ผู้ให้บริการจะให้ความสำคัญพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยไว้เป็นอย่างดี แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะถูกเรียกใช้โดยผู้ให้บริการเมื่อใดก็ได้

 

          จากข้อพึงระวังดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเร็วของอินเทอร์เน็ต ขีดความสามารถของซอฟต์แวร์/แอปพลิเคชัน ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ และการมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ดี ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลและมีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการ Cloud Computing โดยเฉพาะในระดับองค์กร

 

บทส่งท้าย

 

          Cloud Computing ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั้งในระดับบุคคลและในระดับองค์กรธุรกิจ กล่าวคือ ผู้ใช้บริการต้องการมีพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลโดยไม่ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป นั่นหมายความว่าในอนาคตหากการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างคลาวด์กับอุปกรณ์ที่ใช้งาน (PC, Smart Phone, Tablet) สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ก็จะทำให้มีผู้ใช้งานคลาวด์มากจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานคลาวด์ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

สำหรับประเทศไทยเองก็ยังมีหลายประเด็นตามองค์ประกอบของดัชนีความพร้อมของคลาวด์ ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ตามคำแนะนำของ ACCA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งออกกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อการเพิ่มคะแนนขององค์ประกอบของดัชนีดังกล่าว ในหลายด้าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่ความเป็น Digital Thailand อย่างเต็มรูปแบบตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด