ดร.โชคดี เลียวพานิช
อาจารย์ประจำภาควิชาไอที คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
งาน “Fujitsu Forum Tokyo 2016” ฟูจิตสึให้ความใส่ใจไปที่การเข้าถึงแบบใหม่สำหรับนวัตกรรม โดยมองนวัตกรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์ ด้วยการผสมผสานสามสิ่งเข้าด้วยกันคือ คน สารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน
ญี่ปุ่นนั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก ผู้คนมีความละเอียดปราณีต ทั้งศิลปะและวัฒนธรรม ฉบับนี้ขอพาท่านผู้อ่านมาเยี่ยมเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือเมืองโตเกียว ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟ Yurakucho จะมีศูนย์ประชุมที่ชื่อว่า Tokyo International Forum ซึ่งเป็นอาคารสูง 11 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น ความสูง 60 เมตร มีพื้นที่ 145,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกันชื่อ Rafael Viñoly ตัวอาคารหลักจะเป็นกระจก มีลักษณะคล้ายเรือ ด้านนอกอาคารจะปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 บริเวณด้านนอกหอประชุม
รูปที่ 2 บริเวณห้องโถงลงทะเบียน
เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2559 มีการจัดงาน “Fujitsu Forum Tokyo 2016” ภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอลด้วยนวัตกรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”
ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลนั้นได้แบ่งออกเป็น 4 คลื่นคือ คลื่นแห่งโลกดิจิตอลเริ่มต้นจากคลื่นลูกที่หนึ่ง ซึ่งมีอุปกรณ์เชื่อมต่อหนึ่งพันล้านเครื่อง เป็นโลกแห่งอินเทอร์เน็ต ตามมาด้วยคลื่นลูกที่สอง ซึ่งเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ ที่ทำให้เราเข้าถึงการสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา คลื่นลูกที่สามเป็น IoT ซึ่งเชื่อมสิ่งต่างๆ ทางกายภาพเข้าสู่โลกดิจิตอล และคลื่นลูกที่สี่ที่กำลังจะมาถึงคือ โลกแห่ง AI และ หุ่นยนต์ ที่เชื่อมโยงมนุษย์และเครื่องจักรเข้าด้วยกันด้วยความรู้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์ต่างๆเชื่อมโยงกันถึงห้าหมื่นล้านชิ้น
รูปที่ 3 คลื่นแห่งวิวัฒนาการของโลกดิจิตอล
ในยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีดิจิตอลที่ก้าวล้ำ ฟูจิตสึให้ความใส่ใจไปที่การเข้าถึงแบบใหม่สำหรับนวัตกรรม โดยมองนวัตกรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์ ด้วยการผสมผสานสามสิ่งเข้าด้วยกันคือ คน สารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่สิ่งต่างๆจะถูกเชื่อมต่อกันผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่ได้รับจากสารสนเทศ จะช่วยในการตัดสินใจและช่วยในการทำกิจกรรม ซึ่งนำไปสู่การสร้างโมเดลใหม่ๆสำหรับการสร้างคุณค่า
คุณ Tatsuya Tanaka ประธานบริษัทฟูจิตสี กล่าวว่า บนโลกที่กำลังเผชิญความยากลำบากมากมาย ความท้าทายที่มีขนาดใหญ่ จากการพัฒนาการไปสู่เมืองที่รวดเร็ว การที่ต้องตอบสนองประชากรแห่งผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การรับมือกับภัยธรรมชาติ การคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ฟูจิตสึเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถมีบทบาทที่จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคม บริษัทกำลังทำงานที่จะส่งมอบนวัตกรรมซึ่งสามารถช่วยผู้คนให้อาศัยอยู่อย่างมีความสุขยิ่งขึ้นและเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์
งานแสดงเทคโนโลยีครั้งนี้แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ คือ
ซึ่งมีการแสดงเทคโนโลยีถึง 73 บูธ ซึ่งขอคัดเลือกบางส่วนมาเล่าให้ฟัง
กระจกวิเศษ
กระจกที่เห็นในรูปที่ 4 นั้นไม่ใช่กระจกธรรมดา แต่เป็นกระจกวิเศษแบบในนิทานสโนว์ไวท์เลย แต่ไม่ได้บอกว่าเราสวยหรือไม่สวย เพราะเมื่อเราไปยืนด้านหน้าของกระจก จะสามารถอ่านใบหน้าของเรา และจะบอกได้ว่าเรามีอารมณ์ความเครียดอย่างไร มีสุขภาพอย่างไร ซึ่งจะได้ให้คำแนะนำแก่เราได้เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
รูปที่ 4 กระจกวิเศษ
การควบคุมภาพสามมิติ
ภาพสามมิติที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ทำให้เรามีมิติในการมองเห็นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือควบคุมภาพเหล่านั้นได้ วิธีการติดต่อสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับภาพสามมิติวิธีหนึ่งนั้นคือ ใช้ท่าทาง ในรูปที่ 5 จะเห็นเจ้าหน้าที่กำลังควบคุมฝาของอุปกรณ์โดยยกแขนขึ้น เพื่อยกฝาของอุปกรณ์
รูปที่ 5 ยกแขนขึ้นเพื่อยกฝาที่ปิดเครื่องอยู่
หรืออย่างผลิตภัณฑ์ zSpace ซึ่งประกอบไปด้วยจอภาพความละเอียดสูง Stylus และแว่นตา (รูปที่ 6) การควบคุมวัตถุนั้นจะใช้ Stylus โดยเราสามารถมองวัตถุในมุมต่างๆได้โดยใช้แว่นตาที่มีขนาดบางและเบา (ซึ่งต่างจากระบบอื่นที่เป็นแว่นขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Head Mounted Display หรือ HMD ที่จะปิดบังทัศนียภาพจริงไว้ทั้งหมด) ทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติในการมองและการสวมใส่ สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา แพทย์ นักออกแบบ zSpace สามารถจัดการกับชิ้นส่วน อวัยวะต่างๆ หรือภาพตัดขวาง เพื่อที่จะค้นหาส่วนที่เฉพาะเจาะจงได้ จึงทำให้การเรียนรู้ในสิ่งที่ยากเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นพืช สัตว์ ร่างกายมนุษย์ สิ่งของ หรือโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เห็นแต่มีปฏิสัมพันธ์ได้ จึงเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างดียิ่ง
รูปที่ 6 zSpace
ระบบการวิเคราะห์ภาพเพื่อการเฝ้าติดตาม
ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดตามสถานที่ต่างๆทั้งภาพจากเวลาจริงและการบันทึก เป็นข้อมูลที่มากมายมหาศาล การที่จะวิเคราะห์และเฝ้าติดตามบุคคลและยานยนต์โดยใช้มนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้แรงงานคนอย่างมาก ในรูปที่ 7 จะเห็นระบบ AI สามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาพที่ปรากฎนั้นเป็นคนหรือรถ สามารถรับรู้ได้ว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร สีอะไร เพื่อใช้ในประโยชน์เรื่องการดูแลการจราจร ส่วนการวิเคราะห์บุคคลจะสามารถรู้ถึงเพศ สีของเสื้อผ้า หรือสิ่งของที่ติดตัวมาด้วย ระบบนี้ช่วยให้การตรวจตราเป็นไปอย่างอัตโนมัติได้ เพื่อลดภาระงานของมนุษย์
รูปที่ 7 การวิเคราะห์บุคคลและยานพาหนะจากภาพวีดิโอ
ระบบยืนยันบุคคลด้วยเส้นเลือดในฝ่ามือ
Biometrics คือระบบการพิสูจน์บุคคลโดยใช้ลักษณะทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งมีมากมายหลายประเภทเช่น ตา ใบหน้า ลายนิ้วมือ เสียง แต่มีอีกประเภทหนึ่งคือ การใช้เส้นเลือดในฝ่ามือ (Palm Vein Pattern) ซึ่งอยู่ด้านในร่างกาย ทำให้การปลอมแปลงนั้นทำได้ยากมาก จึงให้ความปลอดภัยระดับสูง
อุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า PalmSecure (รูปที่ 8) ทำงานโดยการจับภาพลักษณะของเส้นเลือดในขณะที่กำลังแผ่รังสีโดยใช้รังสีใกล้อินฟาเรด ฮีโมโกลบินที่ถูกดีออกซิไดซ์ในเส้นเลือดของฝ่ามือจะดูดซับรังสีเหล่านี้เอาไว้ ด้วยวิธีนี้มันจะเป็นการลดอัตราการสะท้อน และทำให้เส้นเลือดต่างๆเหล่านั้นปรากฎเป็นสีดำ ลักษณะของเส้นเลือดนี้จะถูกนำไปเพื่อตรวจสอบกับลักษณะที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ในระบบ
รูปที่ 8 อุปกรณ์ PalmSecure แบบพกพา
การทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำงานได้เพียงแค่เอาฝามือวางเหนืออุปกรณ์ (รูปที่ 9) ใช้เวลาทำงานเพียงแค่ 1 วินาที การทำงานเป็นแบบไร้การสัมผัส (Contactless) ซึ่งดีต่อสุขลักษณะ ทำให้ไม่ต้องกังวลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทำให้ง่ายต่อการยอมรับจากผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเหนือระบบลายนิ้วมือซึ่งต้องมีการสัมผัสจากผู้ใช้ มีโอกาสทำให้ติดเชื้อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย และเมื่อใช้ไปเรื่อยๆจะทำให้ลดประสิทธิภาพลงเนื่องจากมีคราบสกปรกสะสม
รูปที่ 9 ใช้ฝ่ามือวางเหนือ PalmSecure เซ็นเซอร์ที่มากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค
เซ็นเซอร์ของ PalmSecure นี้จะทำงานก็ต่อเมื่อฮีโมโกลบินถูกดีออกซิไดซ์ที่กำลังไหลเวียนอยู่ภายในเส้นเลือดของบุคคลนั้น ซึ่งลักษณะของเส้นเลือดนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่น ความเย็นหรือความชื้น จึงให้มีความน่าเชื่อถือได้สูงในสภาพแวดล้อมต่างๆ
อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์และงานต่างๆได้อย่างกว้างขวาง นั่นหมายรวมถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีขนาดบางและเล็กอย่างโทรศัพท์มือถือ อัลตร้าบุ๊ค ไม่ว่าจะใช้ในการควบคุมการเข้าสู่พื้นที่ การบันทึกเวลาของพนักงาน การควบคุมการเข้าถึงอุปกรณ์
One-to-One Marketing
การแข่งขันทางการค้าบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นสูงยิ่งนัก การจะหาวิธีที่จะมัดใจลูกค้าได้ ไม่ใช่เพียงมีแต่สินค้าเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง การค้าในยุคดิจิตอลนั้นไม่ใช่แค่ประกาศสินค้าแล้วรอลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชม แต่จะต้องมีความเข้าใจถึงความสนใจของลูกค้า
ด้วยระบบ One-to-One Marketing พฤติกรรมต่างๆบนเว็บไซต์จะถูกบันทึกไว้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการ นำเสนอสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าโดยตรงหรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้า และไม่ใช่เพียงนำเสนอสินค้าในภายหลัง แต่หมายถึงการนำเสนอสินค้าทันทีในขณะที่ลูกค้ากำลังเลือกหาสินค้า เป็นการทำการขายในเชิงรุก
โต๊ะประสานงานเคลื่อนที่ (Collaboration Table)
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ อาชญากรรม การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ จำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสาร การประสานงาน และการสั่งการ อุปกรณ์ที่ว่านี้เป็นโต๊ะที่เคลื่อนที่ได้สามารถพับเก็บเพื่อการเคลื่อนย้าย (รูปที่ 10) และการออกแบบเพื่อใช้งานในพื้นที่สถานการณ์ ซึ่งสามารถทำงานรวมกันได้หลายๆคน บนโต๊ะจะเป็นจอภาพขนาดใหญ่แบบมัลติทัช ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกมุมมอง (รูปที่ 11)
รูปที่ 10 Collaboration Table
รูปที่ 11 ด้านบนของ Collaboration Table
ระบบดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน
สังคมผู้สูงอายุนั้นถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอีกอันหนึ่งของสังคม ในบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ระบบดูแลผู้สูงอายุจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อติดตามเสียง ความเคลื่อไหว เช่น เสียงไอ เสียงกรน เสียงพูด เพื่อดูความผิดปกติ เมื่อการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ ระบบจะติดต่อไปยังศูนย์ช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้อย่างทันท่วงที
ระบบโรงพยาบาลและการแพทย์
ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญไม่มากก็น้อย แต่เราสามารถจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บให้จากหนักเป็นเบา ป้องกันดีกว่าแก้ไข ด้วยระบบการจัดการโรงพยาบาล การแพทย์และสุขภาพ ระบบจะมีอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดสภาวะของร่างกายอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ความดันโลหิต อัตราการเต้นหัวใจ และอื่นๆ ประกอบกับข้อมูลของกิจวัตรเช่นการออกกำลังกาย การนอน การรับประทาน ข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ และจัดทำคำแนะนำในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสุขภาพที่ดีเช่น แผนการออกกำลังกาย แผนการรับประทานอาหาร
และเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บมาถึง ก็ต้องเข้าสู่สถานพยาบาล เรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นอะไรที่มีขั้นตอนและความต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า สามารถช่วยให้ระบบการรักษาพยาบาลเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องการนัดหมาย การจัดคิวเพื่อเข้าพบแพทย์ สามารถทำให้เรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี
อีกประการหนึ่งคือ การป้องกันก่อนที่โรคจะลุกลาม เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าสามารถช่วยในการวิเคราะห์กรณีของผู้ป่วยที่เป็นมาในอดีต นำมาเปรียบเทียบกับคนไข้ปัจจุบัน ทำให้สามารถวินิจฉัยและพยากรณ์การเกิดโรคหรือพัฒนาการของโรคได้ เมื่อทราบล่วงหน้าแล้ว จึงสามารถทำการป้องกันไม่ให้โรคนั้นมีวิวัฒนาการต่อไปได้ จึงเป็นการรักษาในเชิงป้องกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของสังคม และยกระดับสุขภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี
อุปกรณ์ช่วยผู้บกพร่องทางการได้ยิน (Ontenna)
Ontenna เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สวมใส่บนผมของผู้ใช้เหมือนกับคลิปหนีบผม (รูปที่ 12) มันจะถ่ายทอดลักษณะของเสียงโดยใช้การสั่นสะเทือนและแสง อุปกรณ์นี้สามารถทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงเสียงโดยการใช้ผมเช่นเดียวกับหนวดของแมวที่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของอากาศ
รูปที่ 12 คลิปหนีบผมช่วยในการสัมผัสการได้ยิน (ontenna.jp)
โดยการแปลงความดันเสียงในช่วง 30dB ถึง 90dB ให้เป็นระดับการสั่นสะเทือน 256 ระดับและความเข้มของแสง ลักษณะเฉพาะของเสียงจะถูกส่งไปยังผู้ใช้ ด้วยการแปลงจังหวะจากแหล่งกำเนิดเสียงแบบเรียลไทม์จึงทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์กับลักษณะของเสียงและความดัง
ระบบติดตามและเฝ้าระวังบุคคล
เด็กๆมักจะวิ่งซุกซนและพลัดหลงกับพ่อแม่ในห้างสรรพสินค้า ปัญหานี้สามารถใช้เทคโนโลยีซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ระบุตำแหน่งติดไว้ที่ตัวเด็ก และในห้างจะมีอุปกรณ์รับสัญญาณที่จะช่วยในการวิเคราะห์เส้นทางหรือตำแหน่งของเด็กได้อย่างรวดเร็ว
สายรัดข้อมือเพื่อระบุตำแหน่งยังสามารถนำไปใช้ในสถานที่ทำงานหรือโรงงาน เพื่อวัตถุประสงค์ในการวางแผนการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวของพนักงานไปตามจุดต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นสายรัดข้อมือยังสามารถตรวจจับความเครียดเพื่อประเมินความเสี่ยงในการทำงาน หรือแม้กระทั่งเมื่อพนักงานตกจากที่สูงก็สามารถตรวจจับได้และสามารถส่งคนเข้าไปดูแลได้อย่างทันท่วงที
การคัดแยกขยะ
เดินไปเดินมาในงานชักเริ่มเหนื่อย เลยแวะพักดื่มน้ำสักหน่อย ตอนดื่มน้ำเสร็จ เอาขยะไปทิ้ง ก็ไปพบเห็นถังขยะ ที่ไม่อยากเชื่อว่าภาพที่เราเห็นนั้นคือถังขยะ เพราะขยะถูกจัดอย่างเป็นระเบียบ (รูปที่ 12) อันนี้ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยี ใช้มือคนล้วนๆ เพราะนอกจากแขกที่เข้าเยี่ยมชมงานจะช่วยแยกขยะแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่มาคอยช่วยคัดแยกและจัดระเบียบขยะด้วย เค้าเริ่มจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเลย
รูปที่ 13 การคัดแยกขยะ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีมาก ทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย
ความปลอดภัยบนท้องถนน
ถ้าหากเดินไปตามท้องถนนที่มีการก่อสร้าง เราจะเห็นมีเจ้าหน้าที่ด้านหน้าอาคารก่อสร้างตามจุดต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มิได้มายืนเล่นๆ แต่มีหน้าที่ที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกและเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เมื่อมีรถใหญ่เช่นรถขนปูน จะเข้าบริเวณก่อสร้าง จะมีเจ้าหน้าที่อยู่สามจุดด้วยกันคือ สองคนบนทางเท้าที่จะคอยกั้นคนทั้งสองทิศทาง ไม่ให้เดินในระหว่างรถกำลังถอยเข้า อีกหนึ่งคนจะโบกกั้นรถบนถนนพร้อมกับเป่านกหวีดให้รถขนปูนเข้าไปในบริเวณก่อสร้าง การโบกรถก็ทำไปด้วยความรวดเร็วและความระมัดระวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องถูกฝึกท่าทางและการให้สัญญาณมาเป็นอย่างดี และเมื่อรถเข้าไปในบริเวณก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะโค้งคำนับตามแบบญี่ปุ่นพร้อมด้วยคำพูดอาริกาโต้โกไซมัตสี ด้วยความขอบคุณและจริงใจ ที่แสดงถึงความเกรงใจที่รบกวนเวลาทั้งผู้เดินเท้าและทั้งรถยนต์คันอื่น
การจัดการที่ดี ต้นทุนที่ต่ำ
ร้านอาหารที่ญี่ปุ่น มีคนเดียวก็ขายได้ นี่หมายถึงในร้าน ไม่ใช่รถเข็น เพราะใช้ทั้งเทคโนโลยีและคน ช่วยในขั้นตอนต่างๆ เริ่มจาก
การสั่งอาหารและเก็บเงิน สามารถทำโดยใช้ตู้กดอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตัดพนักงานรับออเดอร์ พนักงานเก็บเงินได้ หลังจากนั้นก็ยื่นตั๋วให้กับคนขาย คนขายก็มีหน้าที่ทำอาหาร แล้วก็วางกันตรงหน้าเคาน์เตอร์ ไม่ต้องมีพนักงานเสริฟเมื่อรับประทานเสร็จ ลูกค้าจะยื่นถาดอาหารคืนให้คนขาย และที่โต๊ะจะมีผ้าเช็ดโต๊ะไว้ให้ลูกค้าเช็ดให้ด้วย ตัดพนักงานเก็บโต๊ะเช็ดโต๊ะไปได้
ลดต้นทุนและขั้นตอนไปได้เยอะทีเดียว ด้วยเทคโนโลยีและคนซึ่งมีวัฒนธรรมในการช่วยเหลือตนเองที่แปลกอีกอันคือ ร้านพวกยืนกิน แหมทำไปได้ คนญี่ปุ่นไหนจะต้องเดินขึ้นรถไฟ ยืนเข้าคิว กินยังต้องยืนอีก ชีวิตอะไรมันจะขนาดนั้น ขาคนญี่ปุ่นทำด้วยอะไรเนี่ย เราสังเกตุเห็นโต๊ะที่เค้ายืนกินกัน มีที่แขวนกระเป๋าไว้ใต้โต๊ะด้วยนะ ไม่กลัวใครมาฉกหรือไง
การจัดการสูบบุหรี่
คนญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดประเทศหนึ่ง เพราะจริงจังกับการทำงาน ซึ่งก็ต้องแลกมากับความเครียด (คนญี่ปุ่นมีคำพูดหนึ่งที่พูดถึงคนไทยคือ คนไทยสบายสบาย ไม่รู้ว่าชมหรือตำหนิหรืออิจฉา!) ถ้าย้อนไปสักหลายปีก่อนที่โตเกียว จะเห็นผู้คนสูบบุหรี่กันทั่วไป ยิ่งร้านอาหารด้วยแล้วยิ่งหนัก แต่มาถึงค.ศ.นี้ มีการพัฒนาที่ดีมาก คือห้ามเดินสูบบุหรี่กันตามท้องถนน แต่กระนั้นก็ยังคำนึงถึงสิทธิของผู้สูบบุหรี่ โดยการจัดจุดสูบบุหรี่ไว้ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดเปิดโล่ง หรือมีรั้วล้อมรอบ หรือไม่ก็เป็นห้องทึบ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป และที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งคือ ตามร้านอาหารไม่น้อยเลยที่เป็นร้านปลอดบุหรี่ บางร้านจะแบ่งโซนสูบกับไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการไม่ให้แต่ละกลุ่มละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน
รูป 14 จุดสูบบุหรี่
การทำงานของเทคโนโลยีในยุคต่อไปนั้นจะเป็นไปในเชิงรุกและมีปฏิสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการใช้ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในอดีตมาประมวลผลเพื่อทำนายอนาคต ประกอบกับการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน (IoT) ทำให้สามารถรับทราบถึงสถานะการณ์ปัจจุบันได้ทันท่วงที สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะสร้างระบบในการตอบสนอง การให้คำแนะนำ หรือแม้กระทั่งการพยากรณ์ เพื่อใช้ในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง การดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การค้าขาย การขนส่ง
ประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่มีแค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ปัจจัยอื่นที่สำคัญคือ กระบวนการและคน ถ้าหากมีเทคโนโลยีแต่ไม่มีการปรับปรุงกระบวนการให้กระชับ ลดความซ้ำซ้อน ยิ่งใช้เทคโนโลยี อาจจะยิ่งสร้างความยุ่งเหยิงเข้าไปใหญ่ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เราเปลี่ยนการเก็บเอกสารจากเดิมใช้แฟ้มใช้กระดาษ ไปอยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์และเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ แต่หากเราไม่มีกระบวนการในการจัดการไฟล์เหล่านั้น มีอะไรก็เก็บเข้าไป ไฟล์ชื่ออะไรก็สับสนไม่มีมาตรฐาน กลายเป็นว่าไฟล์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์กลายเป็นกองขยะ ถึงเวลาต้องการใช้งานจริงๆกลับหาไม่เจอ แล้วอย่างนี้จะมีประโยชน์อันใดกับการเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สู้เป็นเอกสารแบบกระดาษยังมองเห็นด้วยตา จับด้วยมือได้ง่ายกว่า ผู้ที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์อาจจะได้ยินประโยคที่ว่า Garbage In Garbage Out ซึ่งหมายถึงการนำขยะเข้าไป ก็จะได้ขยะออกมา แต่มันจะเกิดสถานะการณ์ที่หนักกว่าคือ Garbage In Garbage Never Out นั่นคือถ้าเราเอาขยะเข้าไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพราะไม่มีการจัดการที่ดีแล้ว ขยะเหล่านั้นมันจะกลายเป็นขยะที่หมักหมมไว้ในเครื่องโดยที่เราไม่สามารถนำมันออกมาได้เลย เพราะมันเยอะมากและอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้
นอกจากองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว องค์ประกอบข้อที่สามที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ คน ซึ่งคนซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ต้องใช้เวลาและความพยายามในการฝึกฝน จนเป็นวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย การรักษาสิ่งของสาธารณะ ความมีระเบียบวินัย ดังนั้นการที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญสามสิ่งคือ เทคโนโลยี กระบวนการ และคน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด