ศุวิล ชมชัยยา
สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แม้ว่า cloud computing จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในยุคนี้แต่ก็ยังมีประโยชน์กับธุรกิจอย่างมากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ธุรกิจ e-commerce ก็ยังคงต้องพึ่งพา cloud computing ที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไอทีแต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้
ถึงแม้ว่า cloud computing จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในยุคปัจจุบัน แต่การนำ cloud computing มาใช้ในด้านต่างๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงและมิติใหม่ในทุกวงการได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ธุรกิจเองก็เช่นกัน cloud computing ได้ก่อผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวไกล พร้อมทั้งแฝงด้วยความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งธุรกิจทั่วไปและธุรกิจ e-commerce ในรูปแบบของ business cloud เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าและการดำเนินธุรกิจ และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไอทีของธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud technology) สำหรับธุรกิจก็มีความหลากหลาย โดยที่ cloud computing ที่มีใช้ในปัจจุบันทั้งในรูปแบบของ public cloud และ private cloud ที่มีให้เลือกใช้บริการในหลายระดับตามแต่ความต้องการของธุรกิจนั้น
เทคโนโลยี cloud computing ที่มีใช้อย่างมากมายในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากเหตุผลต่างๆ เช่น
• วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม: สืบเนื่องมาจาก การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในการประมวลผลและเทคโนโลยีในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลที่มีปริมาณมากขึ้นในระดับ big data ดังนั้นจึงทำให้ cloud computing ทวีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น
• วิธีการบริหารจัดการธุรกิจที่เปลี่ยนไป: ในทศวรรษที่แล้วธุรกิจมักจะเก็บข้อมูลไว้ภายใน infrastructure ขององค์กร แต่การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อความต้องการใช้งานอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ข้อมูลที่เก็บไว้จึงต้องสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ อีกทั้งมีการ outsource บริการทางด้านระบบสารสนเทศให้กับบุคคลภายนอกเพื่อแบ่งเบาภาระขององค์กร และสามารถจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับเป้าหมายหรือจุดแข็งของธุรกิจ
• ขีดความสามารถในการประเมินผลที่เหลือใช้ : เนื่องด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอย่างก้าวไกลและมีราคาถูกลงอีกทั้งเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ เช่น amazon.com หรือ google.com ที่มีขีดความสามารถในการประมวลผลเหลือใช้ ได้เปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาเช่าใช้บริการการประมวลผล เป็นการแตกแขนงธุรกิจ
แม้บริบทของ cloud computing จะดูเหมือนเป็นระบบสารสนเทศขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแต่เพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ธุรกิจขนาดขนาดย่อมและขนาดกลาง (SME) ก็ยังได้รับประโยชน์ในการสร้างข้อได้เปรียบจากการใช้ cloud technology เช่น
• ความยืดหยุ่น (business flexibility) : การบริการแบบคลาวด์ (cloud based services) สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ดีสำหรับธุรกิจในทุกขนาด โดยลักษณะบริการเป็นไปตามขนาดและขีดความสามารถในการประมวลผลที่เหมาะสมกับธุรกิจในขนาดต่างๆกัน และการชำระค่าบริการตามที่ใช้งาน
• ใช้เงินลงทุนเริ่มต้น (up front cost) ต่ำ : เนื่องจาก cloud computing เป็นบริการสำหรับธุรกิจแบบ pay-as-you-go ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุปกรณ์และการพัฒนาระบบในช่วงเริ่มแรก อีกทั้งยังสามารถติดตั้งใช้งานหรือเพิ่มลดขนาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจและประหยัดค่าใช้ในการจ่ายดำเนินการ
• เพิ่มการทำงานแบบประสานสอดคล้องกัน (collaboration) : Cloud computing ก่อให้เกิดการทำงานแบบ collaboration ด้วยการให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถซิงโครไนซ์งานหรือเอกสารต่างๆ ที่ใช้งานร่วมกัน หรือแชร์เอกสารพร้อมๆ กัน จาก ผ่านทาง workstation ของตัวเอง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถอัพเดทหรือบันทึกข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้แบบ real time
• การอัพเดทซอฟแวร์แบบอัตโนมัติ (automatic update) : ผู้ให้บริการ cloud computing จะรับหน้าที่ในการบำรุงรักษาระบบ อัพเดทซอฟแวร์ รวมถึงการอัพเดทระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดสรรเวลาในการใช้งานระบบตามลักษณะพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าและทรัพยากรในคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในแต่ละช่วงเวลา
• ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเอกสาร (document management) : การสื่อสารหรือการส่งเอกสารด้วยอีเมล์แบบที่ผ่านมาเป็นรูปแบบที่เอกสารหรือไฟล์ข้อมูลสามารถใช้งานได้คราวละคน ซึ่งหากจะต้องใช้งานบนไฟล์เอกสารร่วมกันจะต้องมีการทำสำเนาไฟล์ จึงเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลเนื่องจากมีการทำสำเนาไว้จำนวนมาก อีกทั้งข้อมูลที่แยกกันทำงานโดยแต่ละบุคคลจะเกิดปัญหาเวลารวมข้อมูลจากทุกคนเข้ามาไว้ในไฟล์เดียวกัน แต่ด้วย cloud computing เมื่อไฟล์ข้อมูลเก็บไว้บน cloud storage แล้ว ข้อมูลจะสามารถถูกนำมาใช้ได้ทีละหลายๆ คนโดยไม่ต้องทำสำเนาเพิ่มอีกทั้งการแก้ไขสามารถทำได้พร้อมๆ กันแบบ real time จึงสามารถลดเวลาและลดความสับสนจากการทำสำเนาซ้ำซ้อนกัน
• ความปลอดภัย (security) : เมื่อข้อมูลทางธุรกิจหรือเอกสารไฟล์ข้อมูลของธุรกิจจัดเก็บอยู่บน cloud storage นั่นหมายถึง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงเป็นการสร้างความอุ่นใจ เมื่อต้องมีการเก็บเอกสารที่สำคัญและในกรณีที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายในเกิดความเสียหายไม่สามารถใช้งานต่อไปได้หรืออุปกรณ์เกิดการสูญหายก็ยังสามารถดึงข้อมูลที่เก็บไว้บน cloud storage กลับมาใช้ได้โดยที่ข้อมูลไม่ได้สูญหายไปกับการชำรุดเสียหายหรือการสูญหายของอุปกรณ์พกพาเช่น notebook หรือ tablet
• การกู้ข้อมูล (data recovery): ในยามวิกฤตหรือภิบัติภัยในช่วงที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจต้องมีการเตรียมแผนการกอบกู้ข้อมูลหรือเตรียมแผนป้องกันและกอบกู้ระบบในสภาวะการณ์ต่างๆ เช่น การเกิดวินาศกรรม ภัยธรรมชาติ หรือการโจรกรรมหรือความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและยากที่จะคาดการณ์เพื่อการวางแผนรองรับ แต่หากข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้บน cloud storage องค์กรสามารถลดความซับซ้อนในการวางแผนและการกอบกู้ระบบได้ เนื่องจากผู้ให้บริการ cloud service จะเป็นผู้รับหน้าที่เหล่านี้ทั้งหมดและสามารถกอบกู้ข้อมูลและระบบคืนได้ในระยะเวลาอันสั้น
• ความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ : Cloud computing ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้เข้าถึงเทคโนโลยีในระดับเดียวกับเทคโนโลยีในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ERP (Enterprise Resource Planning) โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางไม่ต้องลงทุนเริ่มต้นที่สูงมาก แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่มีใช้ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ใช้เทคโนโลยีหรือซอฟแวร์ในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ความคล่องตัวทางธุรกิจและต้นทุนที่ต่ำลง เป็นข้อได้เปรียบที่ธุรกิจได้รับจากการใช้ business cloud computing และเป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจทุกขนาดก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจแบบ cloud based มากขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น
1. การใช้งานที่ง่ายและสะดวก (ease of use)
ความสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากระยะไกลช่วยเสริมสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจได้มากและมีความจำเป็นเช่นเดียวกับการเพิ่มจำนวนธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ cloud service สามารถที่จะออกแบบหรือเลือกกำหนดลักษณะการใช้งานให้เข้ากับลักษณะธุรกิจและงบประมาณที่เหมาะสมกับ cloud computing ช่วยลดภาระในการดูแลระบบ สามารถเข้าถึงได้ข้อมูลได้จาก ทุกๆที่ โดยอุปกรณ์ต่างๆ ที่รวมถึงอุปกรณ์ขนาดเล็กเช่น smartphone หรือ tablet ก็สามารถใช้งานผ่านทาง cloud computing ได้เช่นเดียวกับการใช้ PC
2. การลดต้นทุน (cost reduction)
แน่นอนว่าการใช้ cloud computing ในองค์กรธุรกิจมีจุดประสงค์หนึ่งที่สำคัญ คือ การลดต้นทุนในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่สามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างมหาศาลจากการเลือกใช้บริการแบบจ่ายเท่าที่ใช้ (pay-as-you-go) จึงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีต้องใช้กำลังการประมวลผลขั้นสูงเช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถที่จะแบกรับภาระต้นทุนได้หากจะลงทุนเองทั้งหมด เช่น business analytics หรือ business intelligence ซึ่งจากการสำรวจพบว่า องค์กรที่ใช้ amazon web service เป็นผู้ให้บริการ cloud สามารถลดต้นทุนด้านระบบสารสนเทศลงได้ ถึง 70% ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสได้ใช้ enterprise application เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่เช่น CRM (customer relationship management) ที่เป็นแบบศูนย์รวมฟังก์ชั่นการใช้งานแบบครบวงจรสำหรัรบงานบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (รูปที่ 1) หรือ SCM (supply chain management) และในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการ cloud computing รายใหม่มากมาย ซึ่งได้มีการนำเสนอ enterprise application เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่แบ่งเป็นโมดูลให้เหมาะสมกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เช่น ERP CRM และ SCM) ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ โดยไม่ต้องมีการลงทุนเองทั้งหมดในเบื้องต้น ทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการดำเนินการและลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านระบบสารสนเทศได้ให้เหลือเป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แตกต่างจากค่าใช้จ่ายด้านระบบสารสนเทศซึ่งถือเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงมาก
รูปที่ 1 ภาพรวมของ cloud-based CRM (www.erpcloudnews.com)
นอกจากนี้ cloud computing ยังมีความยืดหยุ่นสูงในกรณีที่ธุรกิจขยายตัว และต้องการเพิ่มกำลังการประมวลผลหรือพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล และหรือในกรณีที่ต้องการที่จะลดขนาดกำลังการเก็บข้อมูลหรือกำลังการประมวลผล ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้องค์กรขนาดเล็ก สามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้นเนื่องจาก ต้นทุนที่ลดลง ไม่มีต้นทุนเริ่มต้นที่ต้องแบกรับภาระเองและยังสามารถตัดสินใจเพิ่มหรือลดขนาดการใช้งานได้ตามความต้องการอย่างทันต่อสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
3. ความน่าเชื่อถือ (reliability)
เนื่องจาก cloud computing เป็นระบบที่พร้อมใช้งานตลอดเวลาและมีเสถียรภาพ เนื่องจากผู้ให้บริการมีการเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงให้ระบบสามารถทำงานได้ โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กไม่ต้องแบกรับภาระในการดูแลระบบ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ หรือข้อขัดข้องทางเทคนิคขึ้น ผู้ใช้งานสามารถแจ้งศูนย์บริการแทนการพึ่งพาเจ้าหน้าที่ไอทีภายในองค์กร นอกจากนี้ข้อมูลที่อยู่บน cloud สามารถทำสำเนาเก็บไว้บนเครื่อง โดยแอพพลิเคชั่น cloud storage จึงทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาแม้ว่าในช่วงเวลาที่ระบบเครือข่ายขัดข้อง ไฟฟ้าดับ หรือในกรณีที่เกิดพิบัติภัยต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นด้านความเข้ากันได้กับของระบบที่มีอยู่เดิม (interoperability) เช่น ซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ หรือฮาร์ดแวร์อื่นๆ ซึ่ง cloud computing สามารถทำงานร่วมกับระบบนี้ได้ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมระบบมาก จึงจะเป็นการลดต้นทุนได้
4. ความปลอดภัยของระบบและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (system security and privacy)
ดูเหมือนว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมระบบและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล มากกว่าประเด็นอื่นใด แม้ความปลอดภัยของระบบอยู่ในระดับที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ มีระบบพิสูจน์ตัวตน authentication และระบบการเข้ารหัสที่ดี แต่จากการสำรวจก็พบว่า ถึงแม้ว่า CIO (Chief Information Officer) ของหลายองค์กรธุรกิจจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่สิ่งที่ cloud service โดยเฉพาะอย่างยิ่ง cloud storage สามารถทดแทนได้เป็นอย่างดี คือ การลดความเสี่ยงในการสูญหายและความปลอดภัยของข้อมูลในกรณีที่เกิดพิบัติภัย ซึ่งข้อมูลสามารถกอบกู้คืนได้ตลอดเวลา ซึ่งบรรดา CIO ต่างเชื่อว่าระบบความปลอดภัยของข้อมูลบน cloud service จะมีการพัฒนาให้ดีและมีเสถียรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงใช้ public cloud เพราะว่ามีบริการที่เป็นมาตรฐาน มีระบบความปลอดภัยที่คาดว่าจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตและค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการในระดับที่สมเหตุผล
5. การแชร์และการทำงานร่วมกันบนข้อมูล (sharing an collaboration)
ด้วยความแพร่หลายอย่างมากมายในปัจจุบันของ social media และ smartphone ทำให้ธุรกิจ startup และธุรกิจขนาดเล็ก สามารถร่วมมือกันในหลายองค์กรหรือบริษัทลูกได้ดีขึ้น cloud storage solution ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องขององค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งปันข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น การแชร์ข้อมูลผ่านทางอีเมล หรือผ่านทางเว็บลิงค์ ทั้งนี้ยังรวมไปถึง องค์กรการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่สามารถสอดแทรกหรืออัพเดทข้อมูลร่วมกันในกลุ่มงานวิจัยหรือระหว่างสถาบัน
ในขณะเดียวกัน การแชร์เอกสารหรือการแก้ไขปรับแต่งข้อมูลบนไฟล์เอกสารเดียวกันสามารถทำได้พร้อมๆ กัน เช่น google doc หรือ google drive ด้านการสื่อสาร เช่น skype เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยในการดึงดูดและผลักดันให้มีการใช้งาน cloud computing ในวงการธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ไม่มีค่าใช้จ่าย หากต้องการเพียงขีดความสามารถในการประมวลผล ฟังก์ชั่นการใช้งาน หรือความจุข้อมูลในระดับพื้นฐาน
ไม่เพียงแต่ธุรกิจทั่วไปเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงจาก cloud computing เท่านั้น ธุรกิจ e-commerce ก็เช่นกัน บทบาทของ cloud computing สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ e-commerce ได้อย่างเด่นชัด เช่น
• การพลิกโฉมของสถาปัตยกรรมทางเทคนิค (technical architecture)
e-commerce หรือพาณิชน์อิเล็กทรอนิกส์ คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการและสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บนสถาปัตยกรรมระบบแบบ cloud computing ไม่ใช้วิธีการที่ใหม่ แต่เป็นการต่อยอด ของแนวคิดการประเมินผลแบบกระจาย (distributed) และการประมวลผลแบบกริด (grid) ซึ่ง cloud computing เป็นวิวัฒนาการในการควบรวมวิธีการประมวผลทั้ง 2 แบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
cloud computing ช่วยให้ธุรกิจ e-commerce สามารถเลือกเช่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แทนการลงทุนเองทั้งหมดซึ่งช่วยลดต้นทุนในการสร้างและพัฒนาระบบ ซึ่งตามปกติแล้วธุรกิจ e-commerce ในช่วงเริ่มธุรกิจจะต้องลงทุนสูงในเรื่องของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ด้วย cloud computing platform ธุรกิจ e-commerce สามารถเลือกที่จะเช่า ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์และบริการอื่นๆ โดยจ่ายค่าบริการเท่าที่ใช้งาน ช่วยให้ธุรกิจ e-commerce มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทางสารสนเทศเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริง
cloud computing ช่วยแก้ปัญหาในการใช้ทรัพยากรทางระบบสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจ e-commerce มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างราบเรียบไม่สะดุด และเมื่อเวลาผ่านไปเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น การลงทุนตรงส่วนนี้จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนและอาจบานปลายเกินความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม การใช้ทรัพยากรทางระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพในส่วนของทรัพยากรที่ลงทุนไป และในช่วงเวลาที่อัตราการใช้งานอยู่ในอัตราที่ต่ำเนื่องจากความต้องการของธุรกิจที่ไปตามฤดูกาลที่ผันแปรตลอดเวลาและมีความสูญเปล่าสูงแล้ว cloud computing ช่วยให้ธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ โดยสามารถปรับลดการใช้บริการต่างๆ เช่น server หรือ data storage ตามความต้องการที่แปรผันตามฤดูกาลหรือตามสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถแบ่งสรรทรัพยากรส่วนที่เหลือใช้ไปทำประโยชน์ทางธุรกิจในด้านอื่นๆ สร้างรายได้และไม่เป็นการปล่อยทรัพยากรสารสนเทศ ให้ทิ้งไว้อย่างสูญเปล่า
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นพึงพิจารณา คือ ความปลอดภัยและความเสถียรของระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เมื่อทรัพยากรต่างๆ ทางและสารสนเทศ เช่น hardware software data และ network application ที่เก็บอยู่บน cloud platform ซึ่งถ้าหาก cloud computing ไม่มีความเสถียรพออาจถูกโจมตีระบบด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งทำให้ข้อมูลทางธุรกรรมสูญหายได้ และจะเกิดความเสียหายอย่างมากหากไม่มีการสำรองข้อมูล
• ผลกระทบต่อ backend service mode
service mode มีความแตกต่างจากรูปแบบการให้บริการทางสารสนเทศแบบดั้งเดิม โดยที่ทรัพยากรต่างๆ เช่น hardware software data และ infrastructure ที่ให้บริการกับธุรกิจ e-commerce มีการให้บริการผ่านทาง cloud platform เปรียบเสมือนบริการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งธุรกิจ e-commerce สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้และจ่ายค่าบริการเท่าที่ใช้งาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง สามารถเลือกระดับการให้บริการให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจ ทำให้ลดต้นทุนได้มาก ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการให้บริการแบบเดิมที่เป็นแบบ licensing ซึ่งเป็นการให้สิทธิ์การใช้งานแบบเหมาจ่ายตามช่วงระยะเวลา
อีกบทบาทหนึ่งของ cloud computing ต่อธุรกิจ e-commerce คือ ความสามารถในการโอนถ่ายภาระหน้าที่และความรับผิดชอบด้านการประมวลผลข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูล ให้กับบุคคลภายนอกหรือ outsourcing ซึ่งผู้ให้บริการจากภายนอกที่เป็น outsourcing service ในการให้บริการ cloud computing สำหรับธุรกิจ สามารถกำหนดมาตรฐานรูปแบบการให้บริการ และการรวมระบบ และการพัฒนาระบบ รวมถึงการปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการลูกค้า ซึ่งนอกจากจุดประสงค์หลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแล้วยังช่วยให้ธุรกิจสามารถทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาจุดแข็งของธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าจุดแข็งของ e-commerce ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ลักษณะของธุรกิจและการให้บริการลูกค้า ซึ่งการว่าจ้างผู้ให้บริการ cloud computing จากภายนอกช่วยให้ธุรกิจ e-commerce สามารรถปลดเปลื้องภาระจากการลงทุนในการพัฒนาระบบสถาปัตยกรรมระบบ การวางแผน การออกแบบ และการบำรุงรักษาระบบที่มีความซับซ้อน และเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจในการทุ่มเทพัฒนาจุดแข็งของธุรกิจเอง และมอบภาระหน้าที่ทางเทคนิคที่ซับซ้อนให้กับบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมากกว่า
• ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่อกลยุทธ์ e-commerce
ด้วยวิวัฒนาการของ cloud computing ที่ก้าวไกลในปัจจุบันทำให้ธุรกิจ e-commerce หลายรายๆ ก้าวเข้าสู่ กลยุทธ์ทางธุรกิจบน cloud computing เช่น amazon google และ alibaba ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์ cloud computing ในระยะยาวปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ก้าวเข้าสู่ cloud computing คือ ความต้องการของธุรกิจที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจ e-commerce ต้องมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการให้บริการที่สูงขึ้นแต่ต้นทุนต่ำลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งการให้บริการเสริมที่มีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น alibaba.com ซึ่งเป็นธุรกิจ e-commerce แบบธุรกิจต่อธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) ที่ใหญ่ที่สุดจากประเทศจีน มีการให้บริการสินเชื่อออนไลน์ผ่าน cloud computing โดย alibaba ให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยเงินทุนของ alibaba โดยใช้บริการ data analysis บน cloud computing ในการประเมินเครดิตผู้ขอสินเชื่อ
cloud computing ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการในการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลระดับ big data สำหรับธุรกิจ e-commerce ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลที่เคยเป็นปัญหาใหญ่สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ e- commerce ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามวิวัฒนาการของธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น การสร้าง data center เป็นของตนเองอาจเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป ซึ่ง cloud storage สามารถเข้ามารองรับปัญหาตรงนี้ได้ด้วยความยืดหยุ่นที่สามารถขยายความจุได้ตามต้องการหรือลดขนาดลงได้เมื่อความต้องการลดลง
• ผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจ (business chain)
cloud computing มีผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจ e-commerce โดยจะเห็นได้ว่า เมื่อ cloud computing เข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น จะทำให้โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนไป โดยจากรูปที่ 2 พบว่า โครงสร้างห่วงโซ่ธุรกิจ e- commerce เป็นจุดศูนย์กลางที่ล้อมรอบด้วย internet service provider นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ผู้ดูแลระบบ และ ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยธุรกิจ e-commerce จะเป็นศูนย์กลางและผู้ให้บริการเหล่านี้จะให้บริการอยู่เบื้องหลัง โดยที่ธุรกิจ e-commerce เป็นผู้บริหารจัดการ และแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านเทคนิคต่าง ๆ ด้วยตนเอง
รูปที่ 2 ห่วงโซ่ธุรกิจ e-Commerce แบบเดิม (Wang, 2013)
เมื่อ cloud computing เข้ามามีส่วนในธุรกิจมากขึ้น ภาระหน้าที่ต่างๆ ด้านการบริหารจัดการระบบ การอัพเกรดระบบ และการซ่อมบำรุงด้านต่างๆ ก็จะโอนถ่ายหน้าที่และความรับผิดชอบไปยัง service provider ที่ทำหน้าที่จัดหาและบริหารจัดการระบบแบบครอบองค์รวมให้กับธุรกิจ e-commerce ในลักษณะของ unified solution (ดังแสดงในรูปที่ 3) ทำให้ธุรกิจสามารถทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาจุดแข็งของธุรกิจได้อย่างเต็มที่และมอบภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญและอยู่เบื้องหลังธุรกิจให้กับ cloud computing service provider ที่มีความชำนาญเฉพาะทางมากกว่า
รูปที่ 3 ห่วงโซ่ธุรกิจ e-Commerce แบบ cloud-based (Wang, 2013)
การบริหารจัดการบัญชีและการเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ ทั้งธุรกิจทั่วไปและธุรกิจ e-commerce ซึ่งที่ผ่านมาการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาบริหารจัดการบัญชีซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง และต้องจัดซื้อจัดหาไว้เป็นของตัวเองโดยความสมัครใจเนื่องจากข้อมูลทางบัญชีถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความลับของธุรกิจ แต่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ cloud computing ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการบัญชี โดยให้บริการในรูปแบบของ Software-as-a-service หรือ SaaS ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ software-on-demand โดยธุรกิจที่ประเภท ขนาด และระดับความซับซ้อนทางบัญชีต่างกัน สามารถเลือกใช้บริการและชำระค่าบริการตามต้องการภายในงบประมาณที่เหมาะสม
เช่นเดียวกับเหตุผลทั่วไปของธุรกิจในการนำ cloud computing มาใช้งาน ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการลดต้นทุนทางด้านซอฟต์แวร์และระบบสารสนเทศ แต่ในส่วนของงานด้านบัญชีนั้นยังมีประเด็นพึงพิจารณาในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งหากเก็บข้อมูลไว้บน cloud storage จะต้องสามารถมั่นใจได้ว่าระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมีความเสถียรมากพอ และถึงแม้ว่าจะยังมีประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลอยู่บ้างแต่ cloud accounting ก็ยังคงเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน นอกเหนือจากเหตุผลต่างๆ ของข้อได้เปรียบด้านต้นทุน cloud accounting ช่วยให้ผู้สอบบัญชีและธุรกิจสามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและทุกเวลาและตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ทางการเงิน ซึ่ง cloud accounting จะมีส่วนช่วยธุรกิจได้เป็นอย่างดีในด้านการลดต้นทุนในการทำระบบบัญชี และความสามารถในการเรียกดูและวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบทันต่อสถานการณ์เพื่อประกอบการตัดสินใจทางการเงินอันมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจ
ไม่เพียงแต่องค์กรธุรกิจทางธุรกิจแบบทั่วไปและธุรกิจ e-commerce เท่านั้นที่ cloud computing มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ แม้แต่องค์กรด้านไอทีโดยตรงก็เช่นกัน ในทศวรรษหน้า องค์กรด้านไอทีจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีอย่างเด่นชัด ซึ่งองค์กรด้านธุรกิจไอทีต้องคำนึงถึงผลกระทบของ cloud computing ต่อองค์กร ด้านการว่าจ้างและสรรหาบุคลากรในอนาคต
ในทศวรรษต่อไป บุคลากรที่จะได้รับการว่าจ้างเข้าทำงานในองค์กรด้านไอทีจะต้องเน้นบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน cloud computing มาเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจาก cloud computing จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายในระดับทั่วไปแต่มีความสำคัญในระดับสูง และด้วยความต้องการและการขยายตัวของ cloud computing อย่างยิ่งยวด บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้าน cloud computing จะยังคงเป็นที่ต้องการในระยะยาว ซึ่งในช่วงแรกของการสรรหาบุคลากรด้านไอทีที่มีทักษะด้าน cloud computing นั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอาจต้องสรรหาบุคลากรที่มีอยู่ที่มีความเชี่ยวชาญหรือทักษะที่คล้ายคลึง หรือทักษะที่มีศักยภาพที่จะสามารถทำงานด้าน cloud computing ได้เพื่อเป็นต้นแบบในการว่าจ้างบุคลากรใหม่ที่จะคัดเลือกเข้ามาปฏิบัติงาน ซึ่งธุรกิจด้านไอทีจะมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะในเทคโนโลยีใหม่ ที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์กรด้านไอทีที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการว่าจ้างบุคคลที่มีชุดทักษะเหล่านี้หรือยังไม่มีแบบอย่างทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ผู้ว่าจ้างหรือผู้บริหารองค์กรอาจต้องพึ่งพาหน่วยงานในสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการขององค์กร หรืออาจเป็นการซื้อตัวหรือดึงดูดบุคลากรจากธุรกิจคู่แข่งหรือ supplier ด้วยผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่า
• ทักษะและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับ cloud computing
ด้านการบริหารจัดการระบบ: ในการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ใช้ cloud computing ผู้ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการด้านไอทีจะต้องสามารถประมาณการณ์และสมดุลระหว่างต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้จากระบบไอที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเงินลงทุนในระบบ cloud computing กับผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะได้รับอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และคุ้มค่าการตัดสินใจ
ผู้บริหารโครงการหรือผู้บริหารโปรแกรม: ทักษะด้านการบริหารจัดการโครงการเป็นส่วนสำคัญในทุกองค์กรด้านไอที เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมและแผนงานต่างๆ เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดและผลที่ต้องการเป็นไปตามที่คาดหวังหรือประสบความสำเร็จตามระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้ การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบที่มีสภาพแวดล้อมแบบ cloud enable จะมีลักษณะสภาพแวดล้อมระบบที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งระบบเดิมที่รองรับจะต้องสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วและตอบสนองได้อย่างทันท่วงที
Business analyst: เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทราบว่า cloud computing สามารถที่จะสอบตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งต้องการนักวิเคราะห์สภาพธุรกิจและสถาปัตยกรรมทางธุรกิจที่มีความเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงธุรกิจกับสารสนเทศได้อย่างแท้จริง เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสถาปัตยกรรมระบบที่เหมาะสม รวมถึงระดับการให้บริการที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ
การพัฒนาและการบำรุงรักษาแอพพลิเคชั่น: cloud computing และ mobile computing เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการประมวลผลแบบไม่จำกัดเวลาและสถาน (ubiquitous computing) ดังนั้นการออกแบบระบบและแอพพลิเคชั่นรวมถึงการบำรุงรักษาแอพพลิเคชั่นให้สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาด้วยอุปกรณ์ชนิดต่างๆ จึงมีความสำคัญ
ฝ่ายปฏิบัติการด้านระบบไอที: ในสภาพที่ข้อมูลและขีดความสามารถในการประมวลผลทวีบทบาทมากขึ้นต่อความสำเร็จขององค์กร ดังนั้นระบบที่มีความพร้อมและสามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในระดับที่ต้องการเป็นสิ่งที่คาดหมายเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับ ข้อมูลปริมาณมากๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยพึงพิจารณาที่ว่า ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลจำนวนมากให้มีความถูกต้องเที่ยงตรงก็มีความสำคัญเท่ากัน
การบริหารจัดการเครือข่ายระบบโทรคมนาคม ระบบรักษาความปลอดภัย และเว็บไซต์: นอกเหนือจากการบริหารจัดการเครือข่ายโทรคมนาคมและเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพแล้ว องค์กรด้านไอทีที่ประสบความสำเร็จจะต้องเข้าใจและสามารถที่จะอุดช่องโหว่ของระบบเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีความเข้าใจถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านการเงิน และความต้องการของธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่า ความเสถียรและความน่าเชื่อถือของระบบจะยังคงมีควบคู่ไปกับความพร้อมในการใช้งาน
ส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ใช้งาน: ส่วนสนับสนุนผู้ใช้งานที่เคยมีบทบาทและความสำคัญต่อระบบสารสนเทศขององค์เช่นไรก็ยังคงมีความสำคัญในระบบและสภาพแวดล้อมแบบ cloud computing อยู่เช่นเดิม ซึ่งบุคลากรในส่วนนี้ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเนื่องจากระบบ cloud computing จะต้องสามารถรองรับอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายทั้ง mobile และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นๆ นอกจากนี้ บุคลากรในส่วนนี้จะมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ความถี่ของปัญหาหรือประเด็นข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขระบบในอนาคตและปรับปรุงการสนับสนุนผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้น สร้างฐานความรู้ในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและการให้บริการสำหรับบุคลากรรุ่นหลังต่อไป
แม้ว่า cloud computing จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในยุคนี้แต่ก็ยังมีประโยชน์กับธุรกิจอย่างมากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ธุรกิจ e-commerce ก็ยังคงต้องพึ่งพา cloud computing ที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไอทีแต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ ประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนเห็นได้อย่างประจักษ์ชัดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุนในระบบไอทีในช่วงเริ่มต้นธุรกิจและค่าใช้จ่ายในระยะยาว
cloud computing ที่มีรูปแบบการให้บริการแบบเช่าใช้และจ่ายค่าบริการตามที่ใช้งานจริง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่มากนักสามารถใช้ประโยชน์ การประมวลผล และการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ cloud storage ที่สามารถ ปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ขณะธุรกิจ และสามารถขยับขยายได้เมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม และยังไม่ต้องเป็นภาระในการดูแลระบบที่รวมถึงการอัพเดทระบบให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในยุคนี้ละยุคหน้าที่ถึงแม้ว่าจะมีการก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี cloud computing ในทุกระดับอย่างทั่วถึง แต่ cloud computing ควรถูกบรรจุอยู่ในกลยุทธ์ทางการธุรกิจและกลยุทธ์ด้านไอทีขององค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งกล่าวโดยสรุป คือ แม้ในปัจจุบัน cloud computing จะเป็นเพียงเทคโนโลยีที่นำมาใช้และยังประโยชน์มากมายมหาศาลให้กับธุรกิจ แต่ในอนาคตนั้น cloud computing จะกลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกธุรกิจหากต้องการที่จะเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เพราะประโยชน์ของ cloud computing ในด้านการลดต้นทุนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
เรียบเรียงจาก
• C. Lakshmi Devasena, Impact Study of Computing on Business Development, Operations Research and Applications: An International Journal (ORAJ), Vol. 1, No. 1, August 2014.
• Danping Wang, Influences of Cloud Computing on E-Commerce Business and Industry, Journal of Software Engineering and Applications, No.6 , pp. 313-318, 2013.
• PwC Telecom Industry Accounting Group, Making sense of a complex world: Cloud computing – the impact on revenue recognition, , Price Waterhouse Cooper, 2015.
• David Eisner, The BIG Impact: How Cloud Computing is Changing the Face of Small Business, online article, published on June 19, 2014, retrieved on July 7, 2016, URL: http://www.circleid.com/posts/20140619_big_impact_how_cloud_computing_is_changing_face_of_small_business/
• Joe McKendrick, Cloud Computing Increases Business Agility, Whatever That Means, online article, published on July 19, 2014, retrieved on July 14, 2014, URL: http://www.forbes.com/sites/joemckendrick/2014/07/14/cloud-computing-increases-business-agility-whatever-that-means/#7512f48e4f8a
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด