Environmental

โลกเปลี่ยน-สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน กระทบ “ปลาทูไทย”

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

ประเทศไทยนับเป็นชาติที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีการผสมผสานระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ความอุดมสมบูรณ์ได้จากการมีพืชธัญญาหาร ผัก ผลไม้ ฟาร์มสัตว์ และจับสัตว์น้ำจากการประมงที่มีการบริโภคภายในประเทศและส่งออกเป็นมูลค่าไม่น้อย เฉพาะในภาคประมงนั้น จากข้อมูลของกรมประมงในปี 2557 พบว่า มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งสิ้น 1.56 ล้านตัน

 

     อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์อย่างเดียวโดยไม่ระมัดระวังย่อมส่งผลกระทบตามมาได้ แนวทางเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจำต้องบริหารจัดการป้องกันไม่ให้มีการทำประมงมากเกินไป รวมถึงควบคุมการประมงในช่วงฤดูวางไข่ การคุมวิถีทำประมงที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันตัวอ่อนถูกทำลาย รวมถึงแก้ปัญหาที่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในทะเลจากภาวะโลกร้อน การนำหลากวิธีเหล่านี้มาใช้เชื่อว่า จะสามารถลดผลกระทบต่อทรัพยากร สินทรัพย์ในน้ำ จำพวกปลา ปลาหมึก สัตว์น้ำอื่น ๆ รวมถึง "ปลาทู" ที่เป็นอาหารโปรดของคนไทยได้

 

โลกร้อนทำสิ่งแวดล้อมทะเลเปลี่ยน

 

          ในช่วงหลายปีมานี้ชาวโลก รู้จักกับคำว่า “ก๊าซเรือนกระจก” (Greenhouse Gas) เพิ่มขึ้น ว่าเป็นก๊าซที่มีส่วนสำคัญให้เกิดปัญหา “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟราเรดได้ดี โดยดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วปล่อยรังสีความร้อนออกในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จึงมีประโยชน์ต่อโลก ช่วยทำให้บรรยากาศของโลกมีอุณหภูมิคงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซชนิดนี้ จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันร้อนจัดและหนาวจัดในตอนกลางคืน

 

          แต่ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อมีก๊าซเหล่านี้มากเกินไปในบรรยากาศโลก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ผ่านการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำพวกถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการตัดไม้ทำลายป่า โดยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต มีอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)

 

          นอกจากนี้ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว ทำให้เกิดสารเรียกว่า ฮาโลคาร์บอน

 

          การมีก๊าซเหล่านี้มากเกินไปส่งผลร้ายทำให้ชั้นบรรยากาศโลกสามารถกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้น และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งก๊าซเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศได้ยาวนานต่างกันและมีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแตกต่างกันไป เช่น คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในบรรยากาศได้นานถึง 200-450 ปีและถือว่า มีคุณสมบัติทำให้เกิดภาวะโลกร้อนต่ำที่สุดในบรรดาก๊าซ 6 ชนิด

 

          สำหรับมีเทน อยู่ในบรรยากาศ 9-15 ปี ศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 23 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ อยู่ได้ 120 ปี ศักยภาพ 296 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซ CFC-12 อยู่ได้ 100 ปีมีศักยภาพสูง 10,600 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนเตตระฟลูออโรมีเทนอยู่ได้นานสุดถึง 50,000 ปีและมีศักยภาพทำโลกร้อน 5,700 เท่า ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ 3,200 ปี ศักยภาพ 22,000 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์  

 

          โลกที่ร้อนขึ้นส่งผลให้เกิดหลายอย่างตามมา เช่น สภาพอากาศโลกแปรปรวนขึ้น ทำให้พื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นมีฝนตกหนัก เกิดพายุรุนแรง เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกหลอมละลายทำให้น้ำทะเลปรับสูงขึ้น เกิดปัญหาการกัดเซาะและท่วมชายฝั่ง เป็นต้น

 

          สำหรับไทยได้รับผลพวงจากภาวะโลกร้อนด้วย ดังกรณี ที่วัดขุนสมุทรจีน หมู่บ้านชายฝั่งเล็ก ๆ ที่ถือเป็นชุมชนแรกในไทยที่ประสบกับปัญหาการเกิดพายุรุนแรงและเกิดการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง เคยตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งหลายกิโลเมตรแต่ได้น้ำทะเลกินพื้นที่เข้ามาเรื่อย ๆ จนต้องป้องกันผืนดินไว้ด้วยการปลูกป่าชายเลน สร้างแนวกันคลื่น และช่วยกันรณรงค์ ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านขุนสมุทรจีน

 

          นอกจากนี้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังประเมินไว้ในรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว ถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัญหาอุทกภัยจะถี่ขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม รวมถึงกรุงเทพฯ การรุกของน้ำเค็มจะเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

          ที่สำคัญปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น บวกกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ระบบนิเวศของท้องทะเลเปลี่ยนไปจะทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากปรับตัวไม่ได้และต้องตายลงไป ซึ่งมีให้เห็นแล้วจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันที่เป็นผลมาจากปะการังตาย  และจากการที่ปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญมากจึงทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงไปและบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

 

          ผลกระทบที่เพิ่งเห็นอีกอย่าง เป็นเหตุการณ์ปลากระเบนตายจำนวนมากราว 50 ตัวในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกรมประมงให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เชื่อว่าเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจากการเก็บตัวอย่างน้ำมาวิเคราะห์ พบว่า สาเหตุการตายของปลากระเบน เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมที่ปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำอยู่ในระดับต่ำมาก จนปลากระเบนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าว มักมีปลากระเบนตายทุกปี เนื่องจากเป็นบริเวณที่น้ำทะเลและน้ำจืดมาบรรจบกัน ทำให้เกิดตะกอนฝุ่นคุ้งกระจายขึ้นออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จนปลากระเบนปรับตัวไม่ทันขาดออกซิเจนตาย แต่ประเด็นด้านสารเคมียังไม่ได้ทิ้ง ยังมีการวิเคราะห์กันต่อไป

 

 

 

“ปลาทู” บริโภคกันเพลิน จนถูกควบคุม

 

          สำหรับ “ปลาทู” ซึ่งเป็นปลาทะเลเหมือนกันจึงหนีไม่พ้นที่ต้องมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง นักวิจัยพบความล่าช้าในการเจริญพันธุ์อาจมาซ้ำเติมวิกฤตที่ถูกจับขึ้นมามากเกินไปอยู่แล้วในปัจจุบันได้ ดังนั้นการศึกษาสภาพแวดล้อมในทะเลจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้ได้ข้อมูลมาแก้ไขปัญหา ปกป้องทรัพยากร “ปลาทู” เพื่อนำสู่การบริหารจัดการการทำประมงอย่างยั่งยืน ปูทางให้มีปลาทูไว้บริโภคกันไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน

 

          “ปลาทู” เป็นปลาผิวน้ำที่เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยมานาน เนื่องจากเป็นปลาทะเลสามารถจับได้มากในเขตน่านน้ำของไทยและเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ประชาชนสามารถหาซื้อมารับประทานได้ง่าย เนื่องจากมีราคาถูก นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเนื้อปลาทูมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ทั้งกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นตัวควบคุมระดับคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด และกรดโคโคซาเฮ็กชิโนอิก (ดีเอชเอ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมอง

 

 

 

          ปลาทูไทยแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่ 1.ปลาทูตัวสั้น  ชื่อสามัญ: Short-bodied Mackerel ชื่อวิทยาศาสตร์: Restrelliger Brachysoma 2.ปลาทู ชื่อสามัญ: Indo-Pacific Mackerel หรือ Indo-Pacific Chub Mackerel ชื่อวิทยาศาสตร์: Restrelliger Neglectus Indo-Pacific-Mackerel 3.ปลาลัง  ชื่อสามัญ: Indian Mackerel ชื่อวิทยาศาสตร์: Restrelliger Kanagurtu Indian-Mackerel และ 4.ปลาทูปากจิ้งจก ชื่อสามัญ: Faughn’s Mackerel ชื่อวิทยาศาสตร์: Restrelliger Faughni

 

          เราสามารถพบปลาทูรวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ฝั่งบริเวณอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน 32.5%  แต่ปลาทูทนความเค็มต่ำได้ถึง 20.4% จึงพบในบริเวณน้ำกร่อยได้ ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ ซึ่งจะวางไข่ตลอดทั้งปี ทำให้ชาวประมงสามารถจับได้ตลอดทั้งปี โดยปลาทูสายแรกอยู่ในแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เรียกว่า ปลาทูสายตะวันตก ที่ถือเป็นแหล่งประมงปลาทูสำคัญของประเทศ ส่วนอีกสายจะอยู่บริเวณภาคตะวันออกแถบจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เรียกว่า สายตะวันออก

 

          ปลาทูจะวางไข่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยปลาทูสายตะวันตกบริเวณปากอ่าวไทยจะว่ายน้ำไปวางไข่บริเวณนอกฝั่งแถบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แหล่งวางไข่ขนาดใหญ่อยู่บริเวณหาดแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.เมือง และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร และเกาะสมุย เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นจะกลับขึ้นมามาหากินอีกครั้งบริเวณปากอ่าวไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าว ส่วนปลาทูสายตะวันออกจะว่ายน้ำไปวาง ๆ ไข่บริเวณเกาะช้างหรือเกาะกง

 

          ปลาทู 1 ตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 7 ครั้ง/ปี โดยแม่ปลาทู 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 20,000 ฟอง ปลาทูขนาดเล็กที่ออกหาอาหารบริเวณใกล้ฝั่งจนตัวเต็มวัยถึงวัยผสมพันธุ์จะเดิน ทางกลับสู่แหล่งกำเนิด ที่เป็นแหล่งวางไข่ เพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ตามฤดูกาล โดยตัวเมียจะมีไข่เต็มท้อง และตัวผู้จะมีปริมาณอสุจิที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ เมื่อแม่ปลาทูว่ายลงลึก วางไข่บริเวณท้องทะเลที่ความลึกประมาณ 20 เมตร หลังตัวเมียวางไข่เสร็จ ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ทันที หลังจากนั้น ไข่จะลอยไปตามกระแสน้ำ และฟักตัวออกเป็นตัวอ่อนในระยะเวลา 10 วัน หลังการวางไข่

 

          ปลาทูเมื่อแรกเกิดจะมีถุงอาหารพองเป็นอาหารสำรองประมาณ 3-5 วัน และจะเริ่มกินอาหารเมื่อถุงอาหารเริ่มยุบตัว ซึ่งระยะนี้จะมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร การหาอาหารของลูกปลาจะว่ายเข้ารวมกลุ่มกันเป็นฝูง และหาอาหารบริเวณผิวน้ำตื้นบริเวณชายฝั่งของปลาทูทั้ง 2 สาย ที่มีสาหร่าย ปะการังหรือแนวกำบัง ในระยะการหาอาหารนี้ปลาทูจะมีความยาวเพียงประมาณ 3-5 เซนติเมตรเท่านั้น

 

          ปลาทูในระยะแรกจะมีเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ประมาณ 3 เดือน จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร และเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน จะมีลำตัวยาวประมาณ 14-16 เซนติเมตร เมื่ออายุประมาณ 6-7 เดือน จะมีลำตัวยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร ก่อนเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ และวางไข่

 

          ที่ผ่านมา ความนิยมบริโภคปลาทู ทำให้ทรัพยากรปลาชนิดนี้ได้รับผลกระทบจากหลายอย่าง โดยเฉพาะการถูกจับมามากเกินไปโดยอาศัยเครื่องมือประมงหลากหลายประเภท การจับตัวอ่อนที่สามารถตัดวงจรการเติบโตของปลาทู ซึ่งทำให้สูญเสียมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยมีการคำนวณว่า ถ้าเรารับประทานลูกปลาทู 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งมีลูกปลาทูประมาณ 1,000 ตัว แต่ถ้ารออีกประมาณ 6-7 เดือนให้ปลาเหล่านี้โตเต็มวัย จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 70 บาทในตลาดท้องถิ่น และประมาณ 80-120 บาทที่กรุงเทพ ฯ แล้วค่อยซื้อมารับประทานจะทำปลาทูเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70-80 เท่าตัว หรือกล่าวคือ ลูกปลาทู 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาทในวันนี้ จะมีมูลค่าประมาณ 7,000-8,000 บาท ในระยะเวลา 6-7 เดือนข้างหน้า และถ้าเรือประมง 1 ลำจับลูกปลาทูเที่ยวละ 1 ตัน ก็จะทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000,000-8,000,000 บาท ต่อการทำประมง 1 เที่ยว

 

          สำหรับเครื่องมือการจับปลาทูนั้นได้มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนปี 2500 ถึงปัจจุบัน โดยในระยะแรก ๆ มีการใช้อวนตังเกล้อมจับฝูงปลา จากนั้นได้พัฒนามาเป็น “เรืออวนดำ” หรือ “อวนฉลอม” ซึ่งใช้สำหรับจับปลาผิวน้ำอย่างปลาทูโดยเฉพาะ และมีการพัฒนาประสิทธิภาพต่อเนื่อง รวมถึงการใช้อวนลากแผ่นตะเฆ่ การทิ้งซั้ง และตะเกียงในการล่อฝูงปลามาอยู่รวมกัน พัฒนามาเป็น “เรือปั่นได” ที่เปลี่ยนจากการใช้ตะเกียงมาเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมนำเครื่องมือไฮเทคอย่างเครื่องเอคโคซาวเดอร์ และโซนาร์มาช่วยในการค้นหาปลาทูได้อย่างแม่นยำและใช้ไฟเหนือผิวน้ำแทนการใช้ไฟล่อใต้น้ำ

 

          เรียกว่า ชาวประมงทำทุกวิถีทางเพื่อให้จับปลาทูได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่จำนวนเรือประมงก็มีอยู่เป็นจำนวน ซึ่งตัวเลขจากระบบฐานข้อมูลเรือประมงทะเลไทย ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2559 มีจำนวนเรือประมงในระบบอยู่มากกว่า 57,141 ลำ ไม่นับจำนวนที่อยู่นอกระบบ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้ปริมาณผลผลิตปลาทูในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง สร้างความกังวลให้ทางการต้องเริ่มขยับมาควบคุมก่อนที่จะไม่มีปลาทูเหลือให้คนรุ่นอนาคตได้เห็น

 

          โดยในปี 2531 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดมาทำการประมงในฤดูที่ปลามีไข่ แต่คุมได้ไม่ทั้งหมดเพราะชาวประมงบางส่วนดัดแปลงเครื่องมือให้ไม่มีผลต่อสัตว์น้ำที่กำหนด แต่ไปมีผลต่อสัตว์น้ำชนิดอื่นแทน

 

           ต่อมาในปี 2542 ถึงปัจจุบันเริ่มมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดในฤดูที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนในบางพื้นที่ หรือที่รู้จักกันว่า “ปิดอ่าว” นั่นเอง ซึ่งกำหนดห้ามทำประมงพาณิชย์ตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองการแพร่พันธุ์ปลาทูและให้โอกาสลูกปลาทูเจริญเติบโต เพราะการจับในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้แต่ปลาขนาดเล็กจำนวนมหาศาล เป็นการตัดโอกาสลูกปลาได้เติบโตและส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาในอนาคต 

 

 

 

“ปิดอ่าว” ป้องทรัพยากรปลาทู สู่ประมงปลาทูยั่งยืน

 

          มาตรการปิดอ่าวฝั่งอ่าวไทยปี 2550 อยู่ในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยเข้มงวดเรื่องการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย 

 

          เครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ เช่น เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงในช่วงระหว่างวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นต้น

 

          นอกจากนี้ยังกำหนดโทษไว้ด้วยสำหรับผู้ฝ่าฝืน ตั้งแต่ปรับ 5 พันบาท ไปจนถึง ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เครื่องมือทำการประมง เพิกถอนใบอนุญาต หรือกักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย

               

          ต่อมามีการพัฒนาเป็นมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก โดยในเดือนสิงหาคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่องห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดจับสัตว์น้ำครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 4,940.55 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 8 ล้านไร่ ในช่วงวันที่ 1 มิถุนายน–31 กรกฎาคมของทุกปี มีผลบังคับใช้ 3 ปี (พ.ศ.2557–2559)  

 

          พร้อมห้ามใช้เครื่องมือทำการประมง หลายอย่าง 1.เครื่องมืออวนล้อมจับที่ใช้ประกอบกับเรือกล 2.เครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล 3.เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงปลากะตัก  4.เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกล ล้อมติดปลาทู  5.เครื่องมืออวนติดตาปลาทูที่ใช้ประกอบกับเรือกล  แต่ยกเว้นให้ใช้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่  เครื่องมืออวนติดตาปลาทู ที่มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 3.8 เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 2,000 เมตร ที่ใช้กับเรือกลความยาวเรือไม่เกิน 10 เมตรและอื่น ๆ

 

          การห้ามจับในพื้นที่อ่าวรูปตัว ก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรประมงอุดมสมบูรณ์มาก ผลจากเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรี ไหลลงสู่อ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ได้พัดพาสารอาหารลงสู่อ่าวไทยจึงอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวนี้ยังเป็นที่ตั้งของป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด 

 

          ผลจากการนำมาตรการปิดอ่าวตัว ก มาใช้ปรากฏว่า ได้ผลดี สามารถใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนได้ เพราะช่วยป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับมากเกินควร ซึ่งจะทำให้มีสัตว์น้ำให้จับใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป

 

 

อ่าวตัว ก

 

          นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ข้อมูลการสำรวจการจับปลาทูในช่วงก่อนและหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก เมื่อปีที่2558 พบว่า ขนาดปลาทูก่อนปิดอ่าว ตัว ก เป็นปลาทูขนาดเล็กถึงร้อยละ 16 และหลังมาตรการ พบจำนวนปลาทูขนาดเล็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก ในการปกป้องสัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่ให้มีโอกาสเติบโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้น 

 

          กรมประมงยังศึกษาพบด้วยว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ปลาทูมีความยาวเฉลี่ย 12.8 เซนติเมตร  ซึ่งเป็นปลาทูขนาดเล็ก ไม่สามารถวางไข่ได้ หากปล่อยปลาทูเจริญเติบโตต่อไปอีก 2 เดือน จะมีความยาว เฉลี่ย 15.8 เซนติเมตร หรือเรียกว่าปลาทูสาว สามารถวางไข่ได้ และจากการประมาณมูลค่าปลาทูในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ก่อนที่จะมีการปิดอ่าว พบมีมูลค่า 93.6 ล้านบาท หากมีการปิดอ่าว 2 เดือน มูลค่าปลาทูจะเพิ่มขึ้นเป็น 391.9 ล้านบาท สัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดอ่าว

 

          นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาทูได้เพิ่มขึ้นจากก่อนมาตรการปิดอ่าวจับได้ 130 กิโลกรัม/วัน  แต่ในช่วงหลังมาตรการจับได้ 205.5 กิโลกรัม/วัน โดยขนาดที่จับได้ยังใหญ่กว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์มากกว่า 80 % 

 

          ในเวลาเดียวกันยังพบว่ามีสัตว์น้ำอื่น ๆ อาทิ ปลาเห็ดโคน ปูม้า ที่ชาวประมงจับได้ในรอบ 2 เดือนหลังจากมาตรการปิดอ่าวตัว ก มีขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจด้วยเรือสำรวจประมง ก่อนมาตรการ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ไม่พบ กุ้งแชบ๊วย และ กุ้งโอคัก แต่หลังจากปิดอ่าวตัว ก ไปแล้ว พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 2–4 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นของสัตว์น้ำ

 

ศึกษาพบอากาศ-สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนกระทบปลาทู สู่จัดการที่เหมาะสม

 

          อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการปิดอ่าวจะใช้ได้ผลดี แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและใช้วิธีการอื่น ๆ เสริมอีกเพื่อให้สามารถรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรปลาทูในทะเลไว้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งอาจเป็นการขยายระยะเวลาปิดอ่าว หรือกำหนดเวลาทำประมงในปริมาณและจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

          นักวิชาการคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.เมธี แก้วเนินและทีม ได้ร่วมกันศึกษาวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ถึงความคืบหน้าการศึกษาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงว่า มีผลต่ออุณหภูมิและแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารของปลาทูหรือไม่ อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาทูหรือไม่ เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลาทูน้อยมาก และข้อมูลยังไม่มีการทบทวน หรือ ปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรปลาทูและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงถึงเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย อุณหภูมิน้ำ ซึ่งอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและจำนวนของปลาทู

 

          โดยการศึกษามี 3 งานหลัก คือ 1.ศึกษาแพลงก์ตอนพืชอาหารของปลาทู โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 ปี เพื่อดูคลอโรฟิลด์ A มีการเก็บข้อมูล พร้อมเก็บตัวอย่างลูกปลาทูในระยะเวลาต่าง ๆ ตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชในทะเล ตัวอย่างคุณภาพน้ำและอุณหภูมิของน้ำว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งจะช่วยทำนายว่า บริเวณใดมีลูกปลาทูอยู่ สู่การบริหารจัดการประมงปลาทูได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น 2.ศึกษาสถานภาพของทรัพยากรปลาทูในบริเวณอ่าวไทย โดยเก็บตัวอย่างปลาทูจากเรือประมง ผ่าท้องดูรังไข่ อัณฑะ และดูความสัมพันธ์กับฤดูปิดอ่าว ศึกษาเวลาเดิมของการปิดอ่าวยังใช้ได้หรือไม่ อาหารที่พบเป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดใด และ 3.การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้ปลาทูในบริเวณอ่าวไทย โดยสำรวจความคิดเห็นของชาวประมง แม่ค้า แพปลา เกี่ยวกับ สถานการณ์การค้าปลาทู จับได้เป็นปริมาณมากน้อยอย่างไร  อีกทั้งกลไกการตลาดเป็นอย่างไร การสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อจับปลาได้ขนาดเล็ก

 

          สิ่งที่พวกทีมวิจัยค้นพบ คือ การศึกษาแพลงก์ตอนพืช ทำให้ทราบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำของทะเลไทยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝูงปลาทูโผล่ผิวน้ำน้อยมาก โดยในแต่ละปีอุณหภูมิผิวน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 4-5 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังไป 3-5 ปี ทั้งที่อุณหภูมิมีความเหมาะสมระหว่าง 29-30 องศา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมประมงที่ว่า ปี 2558 เรือประมงสามารถจับปลาทูบริเวณอ่าวไทยได้ 39,600 ตัน จากทรัพยากรปลาทูในทะเลมีทั้งหมด 94,200 ตัน น้อยกว่า สถิติปี 2552-2556 ซึ่งอยู่ระหว่าง 115,400-148,300 ตัน

 

          ขณะเดียวกันยังพบว่า การวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการวางไข่นอกฤดูกาล เพราะโดยปกติ ปลาทูจะวางไข่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า นอกจากการจับปลาทูมากเกินควร และการจับในช่วงที่ปลาทูยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่โดยใช้เครื่องมือการทำประมงบางชนิด เช่น อวนล้อมจับ อวนล้อมปั่นไฟแล้ว สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปยังส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาทูไทยด้วย

 

          ผศ.สมหมาย เจนกิจการ นักวิชาการคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ปกติปลาทูจะไข่ทุกเดือน แต่ในช่วงปิดอ่าวพบว่า เปอร์เซ็นต์ในการไข่ของปลาทูจะน้อยกว่าช่วงใกล้ ๆ เปิด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้การไข่ล่าช้าออกไป นอกจากนี้ในช่วงปลายของฤดูปิดอ่าว ยังพบปลาทูตัวที่มีไข่ 80-90% แต่หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 40-50%

 

          ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า ปลาอาจจะไข่หลังเวลาปิดอ่าวไปแล้ว และลูกปลาไปเจริญเติบโตอยู่นอกเขตอ่าวตัวก่อ ซึ่งเป็นเขตควบคุมการจับปลาในช่วงฤดูการวางไข่ หรือ ช่วงมาตรการปิดอ่าว ทำให้มีความเสี่ยงถูกจับไปในขณะที่ยังเป็นตัววัยอ่อนได้และอาจจะทำให้การปิดอ่าวไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  

 

          ซึ่งการจับลูกปลาทูก่อนโตเต็มวัย ที่เกิดจากการทำประมงด้วยเครื่องมือพื้นบ้านบางชนิด เช่น อวนจม อวนช็อต หรือการลักลอบไปทำประมงช่วงปิดอ่าว ไม่เพียงสูญเสียทรัพยากรไปอย่างไร้ค่าเท่านั้น ยังเสียโอกาสด้านรายได้ด้วย เพราะถูกขายไปในรูปของ “ปลาเป็ดหรือปลาเหยื่อ” ในราคาเพียง 5-16 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้ารอให้ลูกปลาทูโตกว่านี้ จะขายได้ในราคาที่สูงกว่าประมาณ 70-100 บาทในปัจจุบัน 

 

ผสานหลายภาคส่วน เพาะเลี้ยง ฟื้นฟูทะเล เพิ่มเชื่อมั่น

 

          โดยภาพรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า ความรู้จากงานวิจัยจะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้รัฐบาลนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไปได้ในอนาคต  ทั้งการได้ทราบว่า ช่วงระยะเวลาปิดอ่าว 3 เดือนใช้ได้หรือไม่ หรือควรมีปรับขยายระยะเวลาออกไปอย่างไรเพื่อความเหมาะสม

               

          อย่างไรก็ตามการเดินหน้าสู่การทำประมงปลาทูยั่งยืน ยังสามารถนำแนวทางอื่น ๆ มาใช้เพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่นใจว่าจะสามารถทำให้วัตถุประสงค์ประสบความสำเร็จได้ โดยแนวทางที่นักวิจัยเสนอแนะได้แก่  การเพาะเลี้ยงปลาทู เหมือนการเพาะเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว เป็นผลงานความสำเร็จทีมวิจัยของ น.ส.พรรณติยา ใจอ่อน นักวิชาการประมงปฏิบัติการแห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร ซึ่งได้ทดลองจับพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงในระบบปิด มีน้ำหมุนเวียน ปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบนิเวศในทะเล เพื่อให้ปลาทูวางไข่และสามารถอนุบาลในระบบปิดได้สำเร็จ  โดยแม่ปลาทูวางไข่ครั้งละประมาณ 15,000-30,000 ฟอง ละมีพฤติกรรมวางไข่แบบรวมฝูง แม่ปลาทั้งฝูงจะวางไข่เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหลายวันไปจนหมดฤดูผสมพันธุ์  

 

          ความสำเร็จนี้ได้กลายเป็นอีกความหวังจะมาช่วยทดแทนสถานการณ์การจับปลาทูมากเกินไปได้

 

          ส่วนอีกแนวทางที่สามารถทำคู่ขนานกันไปได้คือ “การฟื้นฟูทะเลของไทย” ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำอยู่ได้อย่างสมบูรณ์และปลอดภัย  ซึ่งแน่นอนว่า การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน สอดพ้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั่นเอง

 

มาถึงจุดนี้ คงต้องให้กำลังใจทุกภาคส่วนเดินหน้าปกป้อง “ปลาทู” ให้อยู่คู่ทะเลไทยได้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เรามีปลาทูเป็นเมนูอร่อยได้ลิ้มลองกันไปตลอดกาล

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://pasusat.com/(ธัญญารัตน์ สามัตถิยะ, 2545. ความสำคัญของปลาทูต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย พ.ศ.2397-2496.)
http://www.thansettakij.com/
• ข้อมูลจากกรมประมง
• ศูนย์สารสนเทศการวิจัย (ศสจ.) “สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
http://www.tmd.go.th/
http://www.greennet.or.th/
http://www.greentheearth.info/
• ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร (https://www.youtube.com)
• เว็บไซต์สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง สงขลา (http://www.nicaonline.com/)
http://202.129.59.73/hotworld/greenhouse/greenhousegas.htm

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด