Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 20)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

     สำหรับหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ในตอนที่ 13–19 ได้กล่าวถึงเนื้อหาโมดูลที่ 5 “การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification)” โดยได้กล่าวจนมาถึงหัวข้อที่ (3) รูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms) ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบต้นแบบมาตรฐานตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ (UN Model Regulations) ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย เน้นไปที่ข้อตกลงยุโรปว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน (ADR) ซึ่งในบทความนี้ เราก็จะมาว่ากันต่อด้วยเรื่องการติดเครื่องหมาย (Marking) ฉลาก (Labelling) และป้าย (Placarding) ตามข้อกำหนดของ ADR ดังนี้

 

3. รูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms)
ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบต้นแบบมาตรฐานตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ
(UN Model Regulations) ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย
(ต่อ)

 

การติดเครื่องหมาย (Marking) ฉลาก (Labelling) และป้าย (Placarding)
ตามข้อกำหนดของ ADR บนบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ และรถขนส่งวัตถุอันตราย

 

          การติดเครื่องหมาย (Marking) ฉลาก (Labelling) และป้าย (Placarding) ตามข้อกำหนดของ ADR บนบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ และรถขนส่งวัตถุอันตราย จะต้องมีข้อมูลแสดงความเป็นอันตรายและประเภทย่อยของวัตถุอันตรายเหล่านั้นให้ชัดเจน โดยใช้สัญลักษณ์ภาพ สี และตัวเลข ซึ่งประกอบกันเป็นเครื่องหมาย ฉลากและป้าย บ่งชี้ประเภทวัตถุอันตรายตามฉลากบ่งชี้วัตถุอันตรายทั้ง 9 ประเภทดังตารางที่ 43 (ตารางนี้ แสดงอยู่ในตอนที่ 19 ที่อ้างอิงตามป้ายแสดงความเป็นอันตราย ในภาคผนวก ข ของประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตราย พ.ศ.2555) รูปสัญลักษณ์การขนส่งจะถูกแสดงไว้ใน 2 ส่วนหลัก นั่นคือ 1.สินค้าและภาชนะบรรจุ และ 2.หน่วยขนส่ง และในตอนที่ผ่านมาก็ได้กล่าวในข้อ 1 ไปแล้ว ดังนั้น จะขอกล่าวต่อในข้อ 2 ซึ่งก็ใช้การอ้างอิงกับประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 ด้วยเช่น

 

          2. หน่วยขนส่ง หมายถึง รถบรรทุก 1 คัน หรือรถลากจูงและรถพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงที่ต่อพ่วงกัน ในขณะที่ รถแบตเตอรี่ หมายถึง รถที่มีภาชนะบรรจุก๊าซหลายใบติดตั้งอยู่กับตัวรถอย่างถาวรและมีท่อก๊าซต่อร่วมถึงกัน สาระสำคัญของประกาศนี้ ก็คือ รถบรรทุกวัตถุอันตรายที่มีปริมาตรหรือน้ำหนักของวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในภาคผนวก ก ท้ายประกาศ ต้องติดป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ โดยการตรวจสอบประเภทความเป็นอันตราย และหมายเลขแสดงความเป็นอันตรายจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย แล้วติดป้ายและเครื่องหมายที่ด้านข้าง ด้านหน้าของหน่วยการขนส่งสินค้าอันตรายนั้นๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

 

          (1) ป้ายแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่บรรทุก เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางทำมุม 45 องศา กับแนวระนาบ มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า 250 มม. และมีเส้นขอบห่างจากขอบฉลาก 12.5 มม. ขนานกับขอบป้ายทั้ง 4 ด้าน โดยเส้นขอบครึ่งบนต้องมีสีเดียวกับสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย และเส้นขอบล่างต้องมีสีเดียวกับข้อความและตัวเลขแสดงประเภทความเป็นอันตราย ทั้งนี้ เว้นแต่ป้ายแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายประเภทที่ 7 (วัสดุกัมมันตรังสี) ให้มีเส้นขอบสีดำห่างจากขอบป้าย 5 มม. ขนานไปกับขอบป้ายทั้ง 4 ด้าน สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายมีขนาดเหมาะสมกับขนาดของป้าย และตัวเลขแสดงประเภทความเป็นอันตรายที่มุมด้านล่างของแผ่นป้าย มีความสูงไม่น้อยกว่า 25 มม. (ดูตัวอย่างที่ 8)

 

 

ตัวอย่างที่ 8 ป้ายแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย (Placards) ประเภทที่ 3 (ของเหลวไวไฟ) และประเภทที่ 8 (สารกัดกร่อน) เป็นตัวอย่างรูปสัญลักษณ์ที่จะถูกติดไว้กับรถบรรทุกวัตถุอันตราย โดยมีลักษณะเป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางทำมุม 45 องศา กับแนวระนาบ มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า 250 มม. พร้อมกับข้อความและตัวเลขแสดงประเภทความเป็นอันตรายระบุไว้ด้านใน

 

          (2) ป้ายสีส้ม ได้แก่ ป้ายสีส้มที่ไม่มีข้อความ ป้ายสีส้มที่มีหมายเลขแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Identification Number หรือ Kemler Code) และหมายเลขสหประชาชาติของวัตถุอันตราย (UN Number)

 

  • ป้ายสีส้มที่ไม่มีข้อความ เป็นป้ายสี่เหลี่ยมพื้นสีส้มสะท้อนแสง มีความสูง 300 มม. ความกว้าง 400 มม. มีเส้นขอบสีดำหนา 15 มม. อาจมีเส้นแนวนอนสีดำหนา 15 มม. คั่นที่กึ่งกลางของป้ายก็ได้ (ดูตัวอย่างที่ 9)

 

 

ตัวอย่างที่ 9 ป้ายสีส้มที่ไม่มีข้อความ เป็นป้ายสี่เหลี่ยมพื้นสีส้มสะท้อนแสง มีเส้นขอบสีดำ หรืออาจมีเส้นแนวนอนสีดำคั่นที่กึ่งกลางของป้ายก็ได้

 

  • ป้ายสีส้มที่มีหมายเลขแสดงความเป็นอันตราย และหมายเลขสหประชาชาติของวัตถุอันตราย ต้องมีลักษณะและขนาดตามป้ายสีส้มที่ไม่มีข้อความ และมีเส้นแนวนอนสีดำหนา 15 มม. คั่นที่กึ่งกลางของป้าย โดยส่วนบนของป้ายกำหนดเป็นหมายเลขแสดงความเป็นอันตราย และส่วนล่างของป้ายกำหนดเป็นหมายเลขสหประชาชาติของวัตถุอันตราย ซึ่งหมายเลขที่แสดงต้องเป็นตัวเลขอารบิกสีดำ มีความสูง 100 มม. และมีความหนา 15 มม. (ดูตัวอย่างที่ 10) 

 

 

ตัวอย่างที่ 10 ป้ายสีส้มที่มีหมายเลขแสดงความเป็นอันตราย และหมายเลขสหประชาชาติของวัตถุอันตราย โดยส่วนบนของป้ายกำหนดเป็นหมายเลขแสดงความเป็นอันตราย และส่วนล่างของป้ายกำหนดเป็นหมายเลขสหประชาชาติของวัตถุอันตราย

 

          (3) เครื่องหมายสำหรับสารที่มีอุณหภูมิสูง ในกรณีที่บรรทุกวัตถุอันตรายประเภทที่ 9 (วัตถุอันตรายเบ็ดเตล็ด) ที่เป็นของเหลวมีอุณหภูมิตั้งแต่ 100oC ขึ้นไป หรือที่เป็นของแข็งมีอุณหภูมิตั้งแต่ 240oC ขึ้นไป เป็นป้ายรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า 250 มม. มีสีและลักษณะตามตัวอย่างที่ 11

 

 

ตัวอย่างที่ 11 เครื่องหมายสำหรับสารที่มีอุณหภูมิสูง

 

          (4) เครื่องหมายสำหรับสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีบรรทุกวัตถุอันตรายที่มีคุณสมบัติเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นป้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางทำมุม 45 องศา กับแนวระนาบ มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า 250 มม. มีสีและลักษณะตามตัวอย่างที่ 12

 

 

ตัวอย่างที่ 12 เครื่องหมายสำหรับสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

 

          การติดป้ายและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตรายตามประกาศนี้ ต้องติดในตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่กำหนดและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และผู้ประกอบการขนส่งอาจติดป้าย เครื่องหมาย หรือข้อความแสดงรายละเอียดอื่นเกี่ยวกับการบรรทุกวัตถุอันตรายเป็นการเพิ่มเติมด้วยก็ได้ เช่น ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง หมายเลขโทรศัพท์กรณีฉุกเฉิน ป้ายเตือนการรมยา ส่วนการติดป้ายแสดงความเป็นอันตรายนั้น ต้องเป็นป้ายแสดงความเป็นอันตรายซึ่งตรงกับวัตถุอันตรายที่ทำการบรรทุกและต้องติดบนตัวรถที่มีสีที่ตัดกันกับป้าย แต่ในกรณีตัวรถมีสีกลมกลืนกับสีป้ายให้ใช้เส้นประหรือเส้นทึบสีดำรอบขอบป้ายแทนก็ได้ โดยให้ติดที่ด้านข้างทั้งสองข้างและด้านท้ายของรถ (ดูตารางที่ 44 และ 45 แสดงตัวอย่างตำแหน่งการติดป้ายและเครื่องหมาย)

 

ตารางที่ 44 ป้ายแสดงความเป็นอันตราย เครื่องหมายการบรรทุกสารอุณหภูมิสูง และเครื่องหมายสำหรับสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

 

 

ตารางที่ 45 ป้ายสีส้ม

 

 

 

ตัวอย่างที่ 13 ความหมายรูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms) บนหน่วยขนส่งวัตถุอันตราย ที่บ่งชี้ว่าเป็นรถขนคาร์บอนไดออกไซด์เหลว

 

 

ตัวอย่างที่ 14 ความหมายรูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms) บนหน่วยขนส่งวัตถุอันตราย ที่บ่งชี้ว่าเป็นรถขนของเหลวผสมของแข็งชนิดหนึ่งที่มีอุณหภูมิสูงมาก (รถขนยางมะตอย)

 

          เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตราย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง จึงกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ต้องจัดทำเอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายสำหรับพนักงานขับรถ โดยอ้างอิงจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Safety Data Sheet: SDS) ซึ่งข้อมูลในเอกสารคำแนะนำฯ จะต้องมีรายละเอียดของชื่อวัตถุอันตราย ชื่อทางการค้า (ถ้ามี) ข้อมูลการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายในการขนส่ง องค์ประกอบที่เป็นอันตราย คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ข้อมูลด้านอัคคีภัยและการระเบิด ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ มาตรการด้านความปลอดภัย ข้อปฏิบัติในการขนย้ายและจัดเก็บ

 

          ลำดับถัดไป วิทยากรก็จะได้พูดถึงหัวข้อที่ 4 ที่เป็นรูปแบบสุดท้ายของการบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification) นั่นคือ การติดฉลากและสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ GHS

 

4. การติดฉลากและสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ GHS

 

          ในการฝึกอบรมจะมีการอธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ระบบ GHS คืออะไร เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีระบบนี้ ความเป็นมาและการบังคับใช้ระบบ GHS ในประเทศไทย จากนั้นก็เข้าสู่เนื้อหาของระบบ GHS ไม่ว่าจะเป็น จุดมุ่งหมาย ประโยชน์ ขอบข่ายการใช้งาน องค์ประกอบ ประเภทความเป็นอันตรายและการสื่อสารข้อมูลบนฉลาก ข้อมูลที่จำเป็นบนฉลาก GHS ตลอดจนรูปสัญลักษณ์ (GHS pictograms) ที่สัมพันธ์กับประเภทความเป็นอันตราย ตลอดจนเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS)

 

          ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกหรือระบบ GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) เป็นระบบการจำแนกประเภท การติดฉลาก และการแสดงรายละเอียดในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) ของสารเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) พัฒนาขึ้น เพื่อให้ใช้สื่อสารและมีความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากสารเคมีนั้น ๆ ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการทดสอบและประเมินสารเคมี และมั่นใจว่าการใช้สารเคมีแต่ละประเภทจะถูกต้องตามที่ระบุ โดยไม่เกิดผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

 

เหตุผลความจำเป็นที่ควรมีระบบ GHS

 

          ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘การจัดการสารเคมีที่ดี (Sound Management of Chemicals)’ ควรจะเป็นระบบการจัดการที่สามารถระบุความเป็นอันตรายของสารเคมี และสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีในลักษณะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลสารเคมี ก็คือ ฉลาก (Label) และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) แต่ปัญหาที่พบ ก็คือ เกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Classification) รูปสัญลักษณ์ (Pictogram) และข้อมูลที่ต้องแสดงบนฉลาก รวมถึงรูปแบบของ SDS ในแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกัน) มีความหลากหลายและแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความสับสนในการสื่อสารขึ้นมา เช่น สารเคมีตัวเดียวกันในประเทศหนึ่งระบุว่าเป็นอันตราย มีสัญลักษณ์และข้อความเตือนแบบหนึ่ง ในขณะที่อีกประเทศหนึ่ง อาจจะระบุว่าไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอันตรายน้อยกว่า และมีสัญลักษณ์และข้อความเตือนอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีเกณฑ์การจำแนกและการกำหนดรูปแบบในการสื่อสารที่แตกต่างกัน และจากความแตกต่างโดยรวมเหล่านี้ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการสารเคมีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และถ้าพูดกันด้วยเชิงพาณิชย์ของธุรกิจการค้าเคมีระหว่างประเทศ ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยากและมีต้นทุนสูงในการจำแนกความเป็นอันตราย ติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และจัดเตรียม SDS ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศ จากปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบ GHS หรือระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ผ่านทางฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) โดยใช้เกณฑ์เดียวกันในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย  

 

ความเป็นมาของระบบ GHS

 

          (กล่าวพอสังเขป) ในปี พ.ศ.2499 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยแพร่เอกสารข้อแนะนำสำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย (UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods: UNRTDG) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตราย ได้ใช้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นในการออกกฎระเบียบข้อกำหนดสำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย ที่รวมถึงข้อกำหนดของเกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย และการแสดงสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่ง โดยถ้ามีสารเคมี/เคมีภัณฑ์บางตัวที่ถือเป็นสินค้าอันตรายก็เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเอกสารที่จัดทำขึ้นเป็นปกสีส้มจึงทำให้รู้จักกันติดปากว่า “Orange Book” และก็เป็นที่มาของระบบ UN Class ที่รู้จักคุ้นเคยและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยประเภทความเป็นอันตรายหลัก ๆ 9 ประเภท พร้อมกับสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย และนี่ก็อาจถือเป็นปฐมบทของระบบ GHS สำหรับสารเคมีในด้านการขนส่งก็ว่าได้ แต่กระนั้น ระบบ UN Class (UNRTDG) จะคำนึงถึงแต่เฉพาะอันตรายที่เกิดจากสมบัติทางกายภาพและความเป็นพิษเฉียบพลันเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจง เหตุเพราะมีจุดมุ่งหมายใช้เพื่อการขนส่ง ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งมักจะเกี่ยวข้องกับอันตรายทางกายภาพและความเป็นพิษแบบเฉียบพลันเสียเป็นส่วนใหญ่

               

          ต่อมาในปี พ.ศ.2532-2533 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้พัฒนาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในสถานที่ทำงานขึ้นมา และยังเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีระบบการจำแนกและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกด้วยเช่นกัน เหตุเพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วระบบการจำแนกและการติดฉลากที่มีอยู่และใช้ในระบบเดียวกันในระดับสากล ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศ พบว่าจะไม่ครอบคลุมการจำแนกประเภทและการติดฉลากในทุกมุมมองของความเป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากสารเคมี และจัดทำสำหรับบางกลุ่มการใช้งานของสารเคมีเท่านั้น

               

          ดังนั้น ในปี พ.ศ.2535 ในที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) หรือ “Earth Summit” ณ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล สมาชิกจาก 150 ประเทศจึงมีมติให้มีการพัฒนาระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (GHS) เป็นการดำเนินงานส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการ (Agenda) ที่ 21 (ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 Area) อยู่ในบท (Chapter) ที่ 19 ในส่วนของ Programme Area B เกี่ยวกับ ‘การปรับระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก’ โดยมีแนวทางปฏิบัติการดังนี้ คือ ‘ควรจัดให้มีระบบการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการติดฉลากที่ถูกต้องที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารข้อมูลความปลอดภัย และสัญลักษณ์ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย (ถ้าเป็นไปได้) ภายในปี พ.ศ. 2543’ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ คือ กลุ่มผู้ประสานงานภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างองค์กรเกี่ยวกับการจัดการที่ถูกต้องของสารเคมี (Interorganization Programme for the Sound Management of Chemicals: IOMC) ฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า “Earth Summit” เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบ GHS ก็คงไม่ผิดนัก

               

          จากนั้น ในปี พ.ศ.2538 ภายใต้การกำกับดูแลของ IOMC จึงได้มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นศูนย์ประสานงานทางวิชาการ (Technical focal point) เพื่อพัฒนาระบบ GHS ขึ้น 3 ส่วนตามประสบการณ์และความถนัดที่มีมาแต่เดิม ดังนี้ 1) UN Committee of Experts on Transport of Dangerous Good (UNCETDG) และ ILO รับผิดชอบด้านเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายทางกายภาพและความเป็นพิษเฉียบพลัน 2) Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) รับผิดชอบด้านเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และ 3) ILO รับผิดชอบด้านระบบการสื่อสารข้อมูล (Hazard Communication) โดยในการพัฒนาระบบ GHS ได้ใช้พื้นฐานจากระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากที่ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าเป็นระบบหลัก ๆ ที่ใช้กันอยู่มากที่สุด 4 ระบบด้วยกัน คือ 1) United Nations Recommendations on the Transport of Dangerous Goods 2) European Union (EU) Directives on Substances and Preparations 3) Canadian Requirements for Workplace, Consumers and Pesticides และ 4) US Requirements for Workplace, Consumers and Pesticides

               

          ต่อมา เดือนกันยายน ปี พ.ศ.2545 ในการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development: WSSD) ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ นานาชาติได้มีข้อตกลงร่วมกัน ให้ทุกประเทศนำระบบ GHS ไปปฏิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และกำหนดเป้าหมายให้มีการปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2551 จนกระทั่งในที่สุด ระบบ GHS ก็ถูกจัดทำแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2545 ได้รับการอนุมัติให้ประกาศใช้และเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2546 และได้มีการปรับปรุงแก้ไข (Revise) ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งการปรับปรุงครั้งล่าสุด คือ ปี พ.ศ.2558 เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 6 (Rev.6) และเนื่องจากหน้าปกของคู่มือสำหรับระบบ GHS เป็นสีม่วงจึงนิยมเรียกกันทั่วไปว่า “Purple Book”

 

ประเทศไทยกับระบบ GHS

 

          (กล่าวพอสังเขป) จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ น่าจะนับได้จากเวทีการประชุมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความปลอดภัยสารเคมี (Intergovernmental Forum on Chemical Safety: IFCS) ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ.2546 ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกับนานาชาติในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ เหตุผลก็เนื่องจากเล็งเห็นว่า ระบบ GHS จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการจัดการสารเคมี เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดข้อกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์เคมีระหว่างประเทศด้วย ในที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาข้อมูลสถานการณ์ระดับชาติเพื่อการจัดการสารเคมี (National Chemicals Management Profile) ของนานาชาติ และมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้มีผลในทางปฏิบัติภายในปี พ.ศ.2551 ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีนโยบายในการนำระบบ GHS มาใช้ปฏิบัติกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แก่ วัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม วัตถุอันตรายทางการเกษตร และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ต่อมาในปี พ.ศ.2547 คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) จึงมีมติแต่งตั้ง ‘คณะอนุกรรมการดำเนินการในการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย’ (หรือคณะอนุกรรมการ GHS) โดยมีองค์ประกอบมาจากหลายภาคส่วน ดังเช่น หน่วยงานควบคุมตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย (เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม สนง.คณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร), หน่วยงานภาคเอกชน (เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจเคมี), หน่วยงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (เช่น สนง.คุ้มครองผู้บริโภค), หน่วยงานวิจัย (เช่น สนง.กองทุนสนับสนุนการวิจัย)

               

          หลังจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ทำการศึกษาและเตรียมความพร้อม รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระบบ GHS เพื่อให้สามารถนำระบบ GHS มาปรับใช้ในประเทศ ยกตัวอย่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย วันที่ 9 พ.ค.2554, กรมวิชาการเกษตร เช่น จัดอบรมเกี่ยวกับ GHS และวัตถุอันตรายทางการเกษตร พร้อมเตรียมการพัฒนากฎหมาย ระดับกระทรวงเกษตรฯ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช่น ประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สนง. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับผิดชอบ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับผิดชอบ วันที่ 22 มิ.ย.2554, กรมการขนส่งทางบก เช่น จัดอบรมเรื่องการขนส่งอย่างปลอดภัย และจัดกลุ่มสินค้าอันตรายตาม UN Orange Book โดยความร่วมมือกับ GTZ (German Agency for Technical Corperation) และศึกษาและเตรียมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตราย เป็นต้น โครงการที่สำคัญและโดดเด่นก็เห็นจะเป็นโครงการ Thailand GHS Capacity Building (พ.ศ. 2548–2550, 2553–2555) ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITAR) และ ILO ในการดำเนินงาน ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น การสำรวจทัศนคติและความเข้าใจของประชากรไทยในการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีตามระบบ GHS (Comprehensibility Testing), การสร้างความตระหนักในเรื่อง GHS ให้แก่หน่วยงานภาคธุรกิจและประชาชน เป็นต้น

 

การบังคับใช้ระบบ GHS ในประเทศไทย

 

          สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการออกกฎหมายพรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และกฎหมายประกอบเพื่อรองรับการบริหารจัดการวัตถุอันตราย จึงมีนโยบายที่จะนำระบบ GHS มาใช้กับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรบ. วัตถุอันตราย โดยได้นำระบบ GHS มาบังคับใช้อย่างเป็นทางการกับวัตถุอันตรายที่อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จากการออก “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2555 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 มี.ค.2555 และมีผลใช้บังคับเมื่อ 13 มี.ค.2555) ซึ่งก็เป็นฉบับที่ยังใช้บังคับจนถึงปัจจุบันนี้ และอ้างอิงกับคู่มือสำหรับระบบ GHS หรือ Purple Book ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 (REV. 3) ปี พ.ศ.2552 และในวันที่ 26 มิ.ย.2555 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล สารเคมีและวัตถุอันตราย นำข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการควบคุม กำกับดูแล สารเคมีและวัตถุอันตรายให้เกิดความปลอดภัยต่อไป ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

               

          นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการจำแนกและสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีให้ครอบคลุมความปลอดภัยในการขนส่ง ความปลอดภัยในสถานประกอบการ และการคุ้มครองผู้บริโภค และการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลทางวิชาการที่สอดคล้องกับเอกสารข้อกำหนด ว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย การให้หน่วยงานที่กำกับดูแลวัตถุอันตรายในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคการเกษตร ภาคผู้บริโภค และภาคการขนส่ง นำข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการควบคุม กำกับ ดูแล สารเคมีและวัตถุอันตราย และการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีประชาคมโลก ในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ในส่วนของแผนปฏิบัติการบทที่ 19 (Chapter 19) ซึ่งกล่าวถึงแผนการจัดการสารเคมีที่เป็นพิษอย่างเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ตามแผนงานใน Program Area B ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลสารเคมี และเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสารเคมีของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อการจัดการสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งการพิจารณาช่องว่างทางกฎหมายที่ยังมีอยู่ เพื่อพัฒนาให้มีการออกกฎระเบียบ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและกำกับดูแลสารเคมีทั้งด้านการนำเข้า ส่งออก การผลิต การขนส่ง การดำเนินการกับสารเคมีที่มีอยู่ จนถึงการบำบัด กำจัดและทำลาย โดยให้ครอบคลุมทั้งสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การขนส่ง ผู้บริโภค และสาธารณสุข เป็นต้น

 

          กระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบ GHS ไปใช้กับวัตถุอันตรายที่กระทรวงฯ รับผิดชอบ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบการกำกับดูแลวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเตรียมความพร้อมด้านระบบงานและปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องตามระบบ GHS การรวบรวมฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามระบบ GHS ตลอดจนการดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวัตถุอันตรายและเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถนำระบบ GHS มาใช้ในการสื่อสารความเป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากของวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558” ตลอดจนได้จัดทำ “แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558 และเรื่อง ฉลากของวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558” ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเป็นสารผสม (Mixture)

               

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนำระบบ GHS ไปใช้กับวัตถุอันตรายที่กระทรวงฯ รับผิดชอบนั้น กรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานหลัก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล และควบคุมการนำเข้า ส่งออก ผลิต และมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช) ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไทยเองนั้น ได้นำเอาคำแนะนำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เรื่องการติดฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช (FAO Guilines on Good Labelling Practice for Pesticides) มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และใช้เกณฑ์การจำแนกระดับความเป็นพิษตามคำแนะนำในการจำแนกขององค์การอนามัยโลก (WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification 2004) ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลที่ใช้กันอยู่สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ดังนั้น การที่จะนำระบบ GHS มาปรับใช้ ทางกรมฯ จึงได้มีการศึกษาสถานการณ์และช่องว่างเพื่อเตรียมพร้อมที่จะนำระบบ GHS มาปฏิบัติ ผลจากการศึกษา พบอุปสรรคใน 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ

  1. เรื่องขององค์ประกอบของข้อมูลที่ต้องแสดงบนฉลาก เนื่องจากองค์ประกอบของฉลากตามระบบ GHS จะให้เฉพาะข้อมูลความเป็นอันตรายและคำเตือนแก่ผู้ใช้ จึงอาจให้ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกรเท่ากับฉลากที่ทำขึ้นตามคำแนะนำของ FAO ซึ่งมีคำเตือนให้ป้องกันตนเองจากการได้รับสัมผัสสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และมีข้อความระบุอาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น และคำแนะนำสำหรับแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่ได้รับพิษ หากจะนำทั้งระบบ GHS และคำแนะนำของ FAO มาปฏิบัติ จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่บนฉลากไม่เพียงพอที่จะบรรจุข้อความ และสัญลักษณ์ที่จำเป็น ความเป็นไปได้ที่จะนำเอาระบบ GHS มาใช้อาจใช้ได้กับกล่องที่บรรจุผลิตภัณฑ์ หรือภาชนะบรรจุขนาดใหญ่ เช่น ถัง แกลลอน กระสอบ เป็นต้น
  2. ความพร้อมและศักยภาพของผู้ประกอบการในการนำระบบ GHS มาใช้ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติมีศักยภาพในการใช้ระบบการจำแนกสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามระบบ GHS ได้ทั้งสารเดี่ยวและสารผสม ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถจำแนกความเป็นพิษของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสารผสม เช่นเดียวกับที่ ผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติมีระบบวัดความปลอดภัยจากสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน มีสมรรถนะที่จะรับเอาระบบ GHS มาใช้ได้ ต่างไปจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ไม่มีระบบวัดความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ มีเพียงการสังเกต และบันทึกข้อมูลพื้นฐานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และอาจไม่พร้อมที่จะรับเอาระบบ GHS มาใช้ อีกทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนภาคการเกษตรส่วนใหญ่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และการเกษตรที่ไม่พึ่งพาสารเคมีมากกว่าจะสนใจการนำระบบ GHS มาปฏิบัติ
  3. ความจำเป็นในการออกกฎหมายเพิ่มเติม และปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้สอดคล้องกับระบบ GHS ไทยมีการจำแนกระดับความเป็นพิษของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการติดฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ.ศ.2538 และมีการนำเข้า ส่งออก ผลิต และมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายทางการเกษตร ที่ดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ.2547 ถ้าไทยจะนำระบบ GHS มาใช้ จำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมและปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่

 

          อย่างไรก็ดี ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการปรับปรุงความทันสมัยของเนื้อหาในการจำแนกและการติดฉลากเกี่ยวกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ให้มีความสอดคล้องกับคู่มือระบบ GHS ที่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีอันตรายเรื่อยมา โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่ WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification ฉบับปี ค.ศ. 2009 (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน) แทนฉบับปี ค.ศ.2004 เช่นเดียวกันกับที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เผยแพร่ FAO Guilines on Good Labelling Practice for Pesticides (revised) ฉบับปี ค.ศ.2015 ดังนั้น จึงเป็นที่คาดว่า กรมวิชาการเกษตรอาจจะนำไปเป็นแนวทางปรับใช้กับการจำแนกระดับความเป็นพิษและการติดฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้อยู่ อนึ่ง นอกจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ก็ยังมีหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรอีก ได้แก่ กรมประมงรับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตรายที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมปศุสัตว์รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่ใช้ควบคุมสารเคมีฆ่าเชื้อโรค สารเคมีทำความสะอาด สารเคมีกำจัดแมลงและสัตว์รบกวนภายนอกตัวสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตรที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ในการผสม การใช้และการเก็บรักษาวัตถุอันตรายทางการเกษตร แก่เกษตรกร

               

          กระทรวงคมนาคม การนำระบบ GHS ไปใช้กับการขนส่งวัตถุอันตรายนั้น สำนักปลัดกระทรวงคมนาคมจะเป็นหน่วยงานหลัก และเนื่องจากในภาคการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป จะพบว่าแต่ละภาคการขนส่งได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตรายอยู่เป็นระยะตามกำหนดวาระการปรับปรุง จึงส่งผลให้การจำแนกประเภท การติดฉลากบรรจุภัณฑ์ และการติดป้ายประจำหน่วยขนส่ง มีความคล้ายคลึงกับระบบที่มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ภายใต้ระบบการจำแนกประเภท และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกหรือระบบ GHS อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การทดสอบและค่าจุดตัดสำหรับคุณสมบัติความเป็นอันตรายบางประเภทได้มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับภาคส่วนอื่น ๆ ตามความเหมาะสมภายใต้วงจรชีวิตของสารเคมี ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเองได้ยึดตามแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานสากลที่กำกับ ควบคุม ดูแล ในการขนส่งสินค้าอันตรายของแต่ละภาคการขนส่งระหว่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนการใช้บังคับกับการขนส่งวัตถุอันตรายภายในประเทศก็ได้พิจารณาออกกฎกระทรวงและประกาศให้สอดคล้องซึ่งรวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบ GHS ด้วย

 

          ***** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า *****

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
         
• GHS คืออะไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับคนไทย โดย ขวัญนภัส สรโชติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี; 20 ก.ย.2555
          • ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตราย พ.ศ.2555
          • วิธีการอ่านป้ายระบุอันตรายสารเคมี มูลนิธิสัมมาอาชีวะ พ.ศ.2554

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด