Macro Economic Outlook

เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 รู้จักยุทธศาสตร์ One Belt One Road จีนกับการสถาปนาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 2)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ

สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พสกนิกรชาวไทยทุกคนต่างเศร้าโศกเสียใจเมื่อได้รับทราบข่าวร้าย พลันที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เมื่อเวลา 19.00 น.
...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวง” ของพวกเราเสด็จสวรรคตแล้ว...
บรรยากาศทั่วประเทศเต็มด้วยความโทมนัส ขณะที่ผู้นำต่างประเทศร่วมส่งสาสน์แสดงความอาลัยต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

 

     ตลอดระยะเวลา 70 ปี ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประเทศของเราก้าวหน้าพัฒนาทัดเทียมอารยประเทศ แผ่นดินไทยที่ใครก็อยากเข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภาร ต่อจากนี้ไป พวกเราในฐานะ พสกนิกรของพระองค์จะน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนำทางชีวิต พวกเราจะช่วยกันสร้างแผ่นดินของพ่อให้เป็น “แผ่นดินทอง” ที่พัฒนาอย่างยั่งยืน

 

          สำหรับซีรีส์ชุด เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ในตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนจะพาท่านไปรู้จักเรื่องของ รถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) ที่กล่าวกันว่า เป็นพาหนะสำคัญที่จะเปิดให้จีนเชื่อมโลกด้วยม้าเหล็กความเร็วสูง 

 

เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21: รู้จักรถไฟความเร็วสูงจีน

 

          กล่าวกันว่า ในศตวรรษที่ 21 โลกาภิวัฒน์ คือ การเปิดโลกให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน ขณะที่ Internet เป็นเครื่องมือเชื่อมโลกด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารขั้นสูง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำว่า Connectivity หรือการเชื่อมต่อกันจะกลายเป็น “คีย์เวิร์ด” ของโลกยุคนี้

 

          นอกจาก Internet แล้ว การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งก็เป็นอีกเครื่องมือเชื่อมโลกด้วยทางหนึ่ง ระบบขนส่งสำคัญของโลกยุคใหม่ ได้แก่ สายการบินราคาถูก (Low Cost Airline) และรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) หรือ HSR

               

          ทันทีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศ ยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) รัฐบาลปักกิ่งทำงานแบบ “คิดเร็ว ทำเร็ว” พวกเขาพยายามใช้เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างสนับสนุนยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 ให้เกิดขึ้นจริง

               

          ถ้าเราหยิบแผนที่โลกมากางดู จะพบว่า จีนเริ่มขยายอิทธิพลทางการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน วัฒนธรรม ไล่มาตั้งแต่ทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียใต้ เอเชียกลาง รวมถึงอาเซียนที่ผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะมีคนจีนโพ้นทะเลอยู่มากที่สุด

 

 

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงในแผ่นดินจีน

(ภาพจาก https://www.travelchinaguide.com/images/map/train/rail-routes.jpg)

 

          การรุกคืบของจีนกำลังขยายไปสู่ ยุโรปและสหรัฐอเมริกา กรณียุโรป จีนเปิดเส้นทางรถไฟสาย Trans-Eurasia ที่มีความยาวมากกว่า 13,000 กม. เชื่อมจีนจากฝั่งตะวันออกสู่ภาคตะวันตก ผ่านคาซัคสถาน เอเชียกลาง รัสเซีย เบลารุส เข้าโปแลนด์ เลาะเยอรมนี ฝรั่งเศสและสิ้นสุดปลายทางที่เมืองมาดริด มหานครของสเปน

               

          เส้นทาง Trans-Eurasia คือ ตัวอย่างเชื่อมแผ่นดินสองทวีปด้วยรถไฟ

               

          ในอนาคตอันใกล้ รถไฟความเร็วสูงจะเป็นพาหนะเดินทางหลักที่จะก้าวขึ้นมาแข่งกับสายการบิน Low Cost

 

 

เส้นทาง HSR สาย Yiwu-Madrid เชื่อมแผ่นดินจีนเข้าทวีปยุโรป

(ภาพจาก http://www.energypost.eu/wp-content/uploads/2014/12/map-china-rail-mos_112414052931.jpg)

 

          ย้อนกลับไปดูกันว่า กว่าจีนจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางได้นั้น รถไฟจีนถูกมองว่า “เชื่องช้า” ไม่ตอบสนองต่อการให้บริการประชาชนภายในประเทศนับพันล้านคน

               

          ทุกวันหยุดเทศกาลโดยเฉพาะช่วงตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาว คนจีนในเมืองจะกลับบ้านที่ชนบท ช่วงเวลานั้นมีสภาพไม่ต่างอะไรกับช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์บ้านเรา นอกจากรถจะติดหนึบหนับแล้ว ขบวนรถไฟหรือแม้แต่เครื่องบินก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

               

          ดังนั้น รัฐบาลจีนตั้งแต่ยุค เจียงเจ๋อหมินและหูจินเทา จึงได้วางแผนการพัฒนา HSR ให้เป็นทางเลือกใหม่ของชาวจีน

 

          เมื่อพูดถึง HSR เรามักนึกถึง โทไกโด ชิงกันเซ็น (Tōkaidō Shinkansen) ของญี่ปุ่นที่เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ.1964 ชิงกันเซ็น เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในโลกที่ให้บริการทั้งเชิงพาณิชย์และขนส่งผู้คน

 

 

Shinkansen ต้นแบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศญี่ปุ่น

(ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          ต่อมา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ ต่างเริ่มพัฒนา HSR และตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุด คือ HSR สาย Eurostar ที่เชื่อมแผ่นดินยุโรปเข้าด้วยกันหมด

               

          สำหรับจีน การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เริ่มต้นจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 90 กานหย่าเล่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟจีน เขียนบทความเกี่ยวกับพัฒนาการรถไฟความเร็วสูงของจีนไว้ว่า รัฐบาลจีนได้ศึกษาดูงานระบบรถไฟความเร็วสูงในยุโรปจากเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงดูงาน รถไฟสาย Eurostar ที่ลอดอุโมงค์ Channel Tunnel จากฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ข้ามช่องแคบอังกฤษมุ่งหน้าสู่ลอนดอน

 

 

รถไฟความเร็วสูง EUROSTAR สาย London-Paris

(ภาพจาก https://www.raileurope.com/cms-images/359/372/eurostar-overview-5.jpg?country_origin=TH)

 

          รัฐบาลจีนเร่งปฏิรูปรถไฟพร้อม ๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 รัฐบาลปักกิ่งเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 2008 รถไฟ HSR สายปักกิ่ง-เทียนจิน ถูกเปิดใช้เป็นครั้งแรกเพื่อต้อนรับกีฬาโอลิมปิก หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี

               

          ต่อจากนั้น HSR สายอู่ฮั่น-กวางโจว เปิดให้บริการในปลายปี 2009 มีความยาวถึง 1,069 กม. สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางของ 2 เมือง จาก 10 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง

 

 

HSR สายปักกิ่ง-เทียนจิน รถไฟความเร็วสูงสายแรกของจีน ความยาวประมาณ 122 กม. ใช้เวลาเดินทางเพียง 33 นาที

(ภาพจาก http://images.chinahighlights.com/allpicture/2016/07/de5163c1b99142208798c8b7.jpg)

 

          ยี หย่วน[1] ผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟความเร็วสูง ได้สรุปพัฒนาการ HSR ในจีน ไว้ว่า มี 4 ช่วง โดยช่วงสำคัญที่สุด คือ ช่วงที่ 3 เป็น การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (ปี 2008-2010) ที่กระทรวงรถไฟจีนปรับแผนระยะกลางและยาวว่าด้วยการขยายโครงข่ายรถไฟ งบประมาณการลงทุนขยับสูงถึง 5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 25 ล้านล้านบาท)

 

[1] ผู้สนใจบทความของยี หย่วน หาอ่านได้จากบทความแปลของ ดร.อภิสรา พรรัตนานุกุล เรื่อง รถไฟความเร็วสูงของจีน กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1450936506      

  

          HSR สายสำคัญ ๆ เช่น ปักกิ่ง-ฮาร์บิน ปักกิ่ง-กวางโจว ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และ เซี่ยงไฮ้-นานกิง นับเป็นเส้นทางหลักที่ถูกสร้าง/ขยายเครือข่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวจีนสัญจรไปมาได้สะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า

 

 

 

HSR สายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ นับเป็นรถไฟความเร็วสูงสายเศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมสองเมืองมหานคร

ความยาว 1,318 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

(ภาพจาก http://images.chinahighlights.com/allpicture/2016/05/eaf27085472a4b2ba4777195.jpg)

 

          นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2011 ยี หย่วน ยังชี้ให้เห็นว่า โครงข่าย HSR มีทิศทางเป็นไปตามแผนที่เรียกว่า 4 แนวตั้ง 4 แนวนอน เชื่อมเส้นทาง ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ หังโจว-อู่โจว-เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้-อู่ฮั่น-เฉิงตู การเปิดเส้นทางเชื่อมไปถึงพื้นที่ภาคตะวันตก ได้แก่ เส้นทางหนานชาง-อูเถียน เหิงหยาง-หลิ่งโจว กุ้ยโจว-กวางโจว อูหลู่มู่ฉี-หลานโจว

               

          จนกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ ปี 2015 เส้นทาง HSR จีน นั้นมีความยาวรวมกันแล้ว 19,369.8 กม. และสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 200 กม. ต่อชั่วโมง

               

          HSR เป็นนวัตกรรมการพัฒนาที่บูรณาการทรัพยากร องค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกิดการเชื่อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตทั้งเหล็ก โลหะ เครื่องยนต์ พลังงานไฟฟ้า แรงงานมีฝีมือ และผลักดันให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวจากภายในได้อย่างต่อเนื่อง

  

          นอกจากนี้ ในบทความเรื่อง “รถไฟความเร็วสูงของจีนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ของ ยี หย่วน ยังได้กล่าวถึง HSR ในฐานะ เครื่องมือทางการทูตจีน ที่พยายามเชื่อมจีนกับโลก โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นใกล้ตัวคืออาเซียนของเรา

 

 

Premier’s dream ความฝันของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ที่ได้รับฉายาว่า ทูตรถไฟความเร็วสูง

หลี่ แสดงวิสัยทัศน์เชื่อมโลกด้วย HSR ที่มีจุดเริ่มต้นจากจีน เชื่อมเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

(ภาพจาก http://images.china.cn/attachement/jpg/site1007/20141008/e89a8f5fc4c2159ed77f06.jpg)

 

          HSR สายคุนหมิง-เวียงจันทน์ เป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟสาย Pan Asian Railway Network ของจีน ที่จีนมุ่งเปิดประตูสู่อาเซียนด้วยรถไฟความเร็วสูงนั้นเอง

               

          ยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้นั้น มีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และตั้งใจจะสิ้นสุดปลายทางที่สิงคโปร์ เส้น Pan Asian Railway Network มีอยู่ 3 สาย ได้แก่

  • Eastern Line เริ่มจาก คุนหมิง เชื่อมอาเซียน ผ่านเวียดนาม กัมพูชา ไทย สิ้นสุดที่สิงคโปร์
  • Central Line เริ่มจาก คุนหมิง ผ่าน สปป.ลาว เข้าไทย สิ้นสุดที่สิงคโปร์
  • Western Line เริ่มจาก คุนหมิง ผ่านพม่า เข้าไทย สิ้นสุดที่สิงคโปร์

 

          สังเกตเส้นทางทั้ง 3 สายแล้ว จะเห็นว่า ทุกสายนั้นต้องผ่านไทย และมาบรรจบกันที่สิงคโปร์ การสร้างเส้นทาง HSR จะสร้างงานให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน ขยายตลาดสินค้าจีนลงมาในอาเซียน ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ขนส่งระบบราง เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมตามแนวชายแดน

 

          ที่สำคัญ ประชากรใน ภูมิภาคอาเซียนและจีนทางตอนใต้ ย่อมได้ประโยชน์จาก HSR ทั้ง 3 สายนี้

 

          นอกจากนี้ สิงคโปร์และมาเลเซีย ยังปรับตัวรองรับยุทธศาสตร์ OBOR โดยเจรจาตกลงสร้าง HSR สาย KL-Sing เชื่อมกัวลาลัมเปอร์เข้ากับสิงคโปร์ด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง

 

          ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้วางกรอบการเชื่อมโลกในยุคผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ รุ่นที่ 5 ทั้งสีและหลี่ มีความฝันที่จะทำให้จีนสยายปีกของพญามังกรครอบคลุมโลก บนหลักคิดที่ว่าทุกฝ่าย win-win เหมือนกันหมด

 

 

ยุทธศาสตร์ OBOR ที่มุ่งลงใต้ โดยมีกรุงเทพเป็น Hub ของ HSR ทั้ง 3 สาย

(ภาพจาก https://applezeentech.files.wordpress.com/2016/01/pan-asia-railway-network.jpg?w=625)

 

          ท่านที่สนใจเรื่องนี้สามารถชมคลิปการบรรยายของ Dr.Gerald Chan ที่กล่าวบนเวที TED TALK เรื่อง Can China connect the World by High Speed Rail ?[2]

 

          Dr.Chan นำเสนอข้อมูลเรื่อง HSR จีนได้ยอดเยี่ยมมาก เขาบรรยายภาพที่เรียกว่า Infrastructure Diplomacy หรือการทูตผ่านการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยใช้รถไฟความเร็วสูง สิ่งที่ Dr.Chan กล่าวคงไม่ใช่เป็นแค่ความฝันที่ไกลเกินไป ภาพรถไฟความเร็วสูงจีนที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันคงจะปรากฏให้เราเห็นในไม่ช้านี้

 

          ในตอนหน้า ผู้เขียนจะพาท่านออกเดินทางด้วย HSR ไป “คาซัคสถาน” จุดเริ่มต้นจุดแรกของ OBOR สถานที่ประกาศยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

 

…พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ...

 

 

[2] https://www.youtube.com/watch?v=uRdQ_2sjF2s

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด