Environmental

นวัตกรรม “ปรับคุณภาพดิน” ฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

 

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีให้แก้กันหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ถูกทำลาย หรือการสะสมของขยะ สำหรับปัญหาเรื่องของ “ดิน” มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลพวงจากความเจริญก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรม หรือบ้างก็เป็นปัญหาตามธรรมชาติ หากสามารถแก้ปัญหาได้ ย่อมหมายถึง การช่วยเพิ่มพื้นที่ทำกิน เพิ่มที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทำการเกษตร สามารถเพาะปลูกพืชได้เจริญงอกงาม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่นำไปสู่การกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวม

          อย่างไรก็ดีการจะเดินหน้าสู่การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและปนเปื้อน จำเป็นต้องใช้เวลา ศึกษาหาวิธีแก้ไข รวมถึงนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งในไทยมีนักวิจัยที่มีผลงานทางด้านสิ่งแวดล้อมโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ในที่นี้รวมถึงผลงาน “การพัฒนาระบบปรับปรุงดินปนเปื้อนแคดเมียม” ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ “การพัฒนาสารปรับปรุงดินทุกประเภทด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากเปลือกหอยและแคลเซียมธรรมชาติ” ราคาแสนถูกของทีมนักวิจัยรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาต่าง ๆ และเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรชาวไทย

 

 

 

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

 

ต้นแบบเครื่องปรับปรุงดินปนเปื้อนแคดเมียม

  

           ผลงานแรกที่กำลังเป็นความหวังว่า อนาคตจะเป็นทางออกของปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในดินได้ เป็นผลงานวิจัยนำทีมโดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ แห่งหน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งทำงานวิจัยภายใต้โจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ใช้หัวข้อที่เข้าใจยากอยู่สักหน่อยว่า “การประเมินความเหมาะสมของการใช้อนุภาคนาโนของเหล็กประจุศูนย์และผงเหล็กประจุศูนย์ในการปรับเสถียรดินและฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่เพาะปลูกข้าว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก”

          อธิบายให้เข้าใจเห็นภาพกันอย่างง่าย ๆ ว่า เป็นการศึกษาวิธีการใช้อนุภาคแม่เหล็กเพื่อปกป้องข้าวและดิน เพื่อช่วยกำจัดแคดเมียมออกจากผืนดินบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ลดการถ่ายเทแคดเมียมสู่ข้าว พืชอาหารที่ชาวไทยบริโภคเป็นหลักและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารอื่น ๆ

 

 

“เหมืองสังกะสี” ต้นตอมลพิษแคดเมียม

 

          ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานการวิจัยของทีม ดร.ธนพล สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว ซึ่งมีต้นน้ำจากดอยผาแดง ภูผาศักดิ์สิทธิ์ ต้องเดือดร้อนอย่างหนักจากการที่ดินและแหล่งน้ำปนเปื้อนแคดเมียม โดยต้นตอของปัญหามาจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของหลายบริษัทบนดอยผาแดงมายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่ง “แคดเมียม” เป็นแร่โลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะสีเงินแกมขาวหรือเป็นผง พบในธรรมชาติในรูปของสารประกอบซัลไฟด์และพบร่วมกับสังกะสี การถลุงสังกะสีจึงมีแคดเมียมเป็นผลพลอยได้

          ในปี 2541-2543 “สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ” หรือ อิมี่ (International Water Management Institute-IWMI) ได้ศึกษาวิเคราะห์การปนเปื้อนของแคดเมียมในดินบริเวณ ต.พระธาตุผาแดง พบว่า ใน 154 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ถึง 1,800 เท่า และยังพบด้วยว่า 95% ของเมล็ดข้าวที่สุ่มตรวจ มีแคดเมียมปนเปื้อนสูงกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นของไทยถึง 100 เท่า

          ในปี 2554-2546 สถาบันการจัดการน้ำฯ ได้ขยายพื้นที่ศึกษาลงมาตามลำห้วยแม่ตาว ใน ต.แม่ตาว ปรากฏว่า ยังคงพบการปนเปื้อนแคดเมียมสูงถึง 72 เท่าของค่ามาตรฐาน EU ขณะที่กว่า 80% ของตัวอย่างข้าวมีค่าแคดเมียมสูงกว่ามาตรฐานของญี่ปุ่นและองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งเป็นปริมาณการปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีอาการปวดบริเวณเอวและหลัง กระดูกสันหลังผิดปกติ จากการบริโภคข้าวติดต่อกันเป็นเวลานาน

          ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหามลพิษร้ายแรงของไทย จนในช่วงปี 2547-2549 รัฐบาลได้ประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่งดปลูกข้าวและพืชอาหารและทำลายข้าวที่เหลืออยู่เพื่อตัดวงจรข้าวปนเปื้อนแคดเมียม จากพื้นที่ปนเปื้อนที่มีอยู่มากถึง 13,237 ไร่ เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณ 218 ล้านบาท และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล และพืชชนิดอื่น ๆ แทน

 

 

 

 

 

พิษแคดเมียมทำไตวาย-กระดูกพรุน

 

          ดินที่ปนเปื้อนยังทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตามมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการตรวจ ประเมิน ติดตามสุขภาพของผู้ที่สัมผัสแคดเมียมอย่างต่อเนื่องของฝ่ายสาธารณสุขพบว่า 844 รายหรือ 10.9% ของ 7,730 ราย เป็นประชากรในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีปริมาณแคดเมียมในร่างกายสูง ปัจจุบันมีอย่างน้อย 40 รายกำลังป่วยด้วยอาการไตวายเรื้อรัง ขณะที่จำนวน 219 ราย ป่วยด้วยภาวะไตเริ่มเสื่อม

          นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุนและมีแนวโน้มมีผู้ป่วยจากพิษแคดเมียมเพิ่มขึ้น ซึ่งแคดเมียมสามารถทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้อีกหลายอย่าง โดยจากข้อมูลสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพบว่า แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านการหายใจนำฝุ่นหรือควันแคดเมียมหรือกินเข้าไป ค่าสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในร่างกายมนุษย์ คือ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร หลังจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานและไปสะสมอยู่ในตับและไตได้มากถึง 30 ปี จึงเป็นเหตุผลของภาวะไตวาย ไตเสื่อม นอกเหนือจากนี้ผู้ได้รับแคดเมียมยังมีโอกาสเป็นหมันหรือเลวร้ายถึงขั้นเป็นมะเร็งและโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ความดันโลหิตสูง เกิดการทำลายระบบประสาท เช่น ระบบประสาทการดมกลิ่น และเลือดจาง (ข้อมูลจาก wikipedia) และอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

          กระทั่งปัจจุบันกล่าวได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะแม้รัฐบาลจะสนับสนุนช่วยเหลือให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล และมีมติ ครม. 11 กันยายน 2555 ออกมาเสนอให้มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการเพาะปลูก แต่เนื่องจากการเคยเป็นชุมชนที่สืบทอดวัฒนธรรมชุมชนชาวนา มีการปลูกข้าวบริโภคกันมายาวนาน จึงทำให้นโยบายส่งเสริมให้เลิกปลูกข้าวของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนยังรอการเยียวยาแก้ไขปัญหาอยู่

 

 

          ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พบว่า โจทย์ใหญ่ ที่ประชาชนในชุมชนต้องการ คือ การช่วยทำให้พวกเขาได้กลับมาปลูกข้าวได้เหมือนเดิม ด้วยการฟื้นฟูดิน กำจัดแคดเมียมออกไป

          ดังนั้นภารกิจของ ดร.ธนพล และทีมงาน จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยให้เกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาวสามารถปลูกข้าวเพื่อบริโภคได้อย่างปลอดภัย ช่วยลดปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียมในดินด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม ที่สามารถลดการถ่ายเทของแคดเมียมสู่ข้าว และช่วยกำจัดแคดเมียมออกจากดินให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

          หลังการวิจัยพัฒนา โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปี 2555 ทีมงานของ ดร.ธนพล ได้พัฒนาต้นแบบ “เครื่องล้างแคดเมียมออกจากดินด้วยผงเหล็กและแม่เหล็ก” ขึ้น ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำผลงานมาโชว์ภายในงาน โครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” ที่มีมหาวิทยาลัย 20 แห่งจาก 4 ภูมิภาคเข้าร่วมโครงการและลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ นำความรู้และผลสำเร็จของงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ชุมชนสังคม โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

 

 

          เครื่องล้างแคดเมียมฯ ใช้ผงเหล็กประจุศูนย์ เป็นสารปรับปรุงดินเพื่อดักจับแคดเมียมออกจากดิน โดยผลจากการทดสอบกับดินปนเปื้อนแคดเมียมจริงในพื้นที่แม่สอดพบว่า มีประสิทธิภาพสูงในการดึงแคดเมียมออกจากดิน ซึ่งในกระบวนการทำงาน เริ่มจากนำผงเหล็กประจุศูนย์ใส่ผสมไปในดินตัวอย่าง จากนั้นเครื่องจะดูดตัวอย่างเข้าไปและผงแม่เหล็กจะทำหน้าที่ตรึงแคดเมียมเก็บไว้ ปล่อยเพียงน้ำไหลออกมา เหลือแคดเมียมที่ตรึงไว้ เพื่อนำไปกำจัดต่อไป

          ณ เวลานี้ เครื่องต้นแบบมีประสิทธิภาพในการตรึงแคดเมียมได้สูงถึง 97% โดยนักวิจัยศึกษาพบด้วยว่า แคดเมียมที่อยู่ในน้ำเกาะอยู่ตามช่องว่างของดินแบบหลวม ๆ สามารถถูกชะละลายออกจากดินได้ง่ายและมีโอกาสเข้าไปปนเปื้อนในข้าวได้มากกว่า

          อย่างไรก็ดี หากจะนำเครื่องล้างแคดเมียมฯ ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงที่กว้างใหญ่ไพศาล ยังจำเป็นต้องพัฒนาในขั้นต่อไปอีก ต้องเพิ่มทั้งในแง่ขนาดอุปกรณ์และศักยภาพในการตรึงแคดเมียม เพื่อใช้กำจัดแคดเมียมในดินให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องขยายขนาดอุปกรณ์ให้ใหญ่ขึ้นอีกประมาณ 100 เท่าตัว ซึ่งแน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี รวมถึงต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภารกิจดังกล่าวนี้ยังต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยเป็นความหวังที่เหลืออยู่สำหรับประชาชนในพื้นที่

 

 

ผลักดันฐานข้อมูลเทคนิค-แนวทางฟื้นฟูและกู้คืนทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายของไทย

 

          นอกเหนือจากความพยายามแก้ปัญหาการปนเปื้อนดินและน้ำในพื้นที่แล้ว ทางคณะทำงานของ ดร.ธนพล แห่งหน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้จัดทำ ฐานข้อมูลองค์ความรู้เชิงเทคนิคและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการฟื้นฟูและกู้คืน ทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายสำหรับประเทศไทย (TTIGERR)ด้วย ภายใต้โครงการ “การจัดทำฐานข้อมูลเทคนิคในการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารอันตราย และการประเมินภาวะการคุกคามของสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการ พื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายในน้ำใต้ดิน” (2555) ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย (ข้อมูล: http://www.ttigerr.org/)

          โดยฐานข้อมูลฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวบรวมแนวทาง ขั้นตอน และเครื่องมือทางเทคนิคในการจัดการและการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อน สารอันตรายที่ครบถ้วนทั้งกระบวนการและถูกต้องตามหลักวิชาการสากล โดยอิงขั้นตอนกรอบและแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนตาม กฎหมาย Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act (CERCLA) ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้นำประสบการณ์การจัดการและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายจริงของทีมผู้จัดทำเข้าไปด้วย

          เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อรวบรวม คัดกรองเรียบเรียง และพัฒนาองค์ความรู้เชิงเทคนิคและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการฟื้นฟูและกู้คืน ทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายสำหรับประเทศไทยเพื่อให้เป็นแนวทาง ด้านเทคนิคในการจัดการที่สามารถใช้ได้จริง และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อการทำ งานร่วมกัน และเพื่อต่อยอดในการสร้างกรอบในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนอย่างเป็นระบบของ องค์กรของตนและของประเทศต่อไป โดยแม้เทคนิคการจัดการการปนเปื้อนด้วยสารอันตรายบางเทคนิคในฐานข้อมูลนี้ จะเน้นการฟื้นฟูสารอันตรายประเภทสารอินทรีย์ระเหย แต่ขั้นตอนที่เป็นกรอบแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการในภาพรวมสามารถใช้ ได้กับพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายทุกประเภท

 

ในฐานข้อมูล ประกอบด้วย 5 ฐานข้อมูลย่อย (Module) ดังนี้คือ

 

          ฐานข้อมูลย่อยที่ 1 (Module I) “ภาพรวมแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” ซึ่ง รวบรวมภาพรวมกรอบแนวทางการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน สารอันตรายตาม หลักวิชาการสากล รวมถึงกรอบทางกฎหมายแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายของสหรัฐฯ ซึ่งพัฒนามาจากกรอบ แนวทางการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายตามหลักวิชาการสากลดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวบรวมกรอบทางกฎหมายแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายของประเทศไทย และชี้ให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของระบบการจัดการของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกรอบแนวทางการจัดการของสหรัฐฯ

          ฐานข้อมูลย่อยที่ 2 (Module II) “ฐานข้อมูลเทคนิคการประเมินและสำรวจการปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายเบื้องต้น” เสนอรายละเอียดและเครื่องมือในการประเมินและสำรวจพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายเบื้องต้นเพื่อประกอบการประเมินสภาวะคุกคามของการปนเปื้อนสารอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจว่า การปนเปื้อนนั้นร้ายแรงมากน้อยอย่างไร ถึงขึ้นที่จะต้องทำการสำรวจและวิเคราะห์การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อน สารอันตรายโดยละเอียดเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่หรือไม่

          ฐานข้อมูลย่อยที่ 3 (Module III) “ฐานข้อมูลเทคนิคการสร้างแบบจำลองมโนทัศน์ การสำรวจและวิเคราะห์การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายโดยละเอียด” นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในการวางแผนและดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์ การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายโดยละเอียดอย่างมีประสิทธิภาพและถูก ต้องตามหลักการวิชาการสากล

          ฐานข้อมูลย่อยที่ 4 (Module IV) “ฐานข้อมูลเทคนิคการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและต่อระบบนิเวศสำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในใช้การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระบบนิเวศอันเนื่องมาจากพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย เพื่อการประเมินความ เสี่ยงจากการปนเปื้อนในกรณีที่ไม่ทำการฟื้นฟูใด ๆ (Baseline Risk Assessment) เพื่อตอบคำถามว่า จะต้องทำการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนนี้หรือไม่ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตจากฟื้นที่ปนเปื้อน

          ฐานข้อมูลย่อยที่ 5 (Module V) “ฐานข้อมูลเทคนิคการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” ที่นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟู พื้นที่ ปนเปื้อนสารอันตราย

          นับว่าฐานข้อมูลฯนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียวที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้

 

 

สูตรสร้างความสมบูรณ์ให้กับดินทุกประเภท

 

          สำหรับผลงานวิจัยอีกชิ้นที่ไม่อาจมองข้าม เพื่อนำมาใช้ช่วยปรับแก้ความเสื่อมโทรม เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับดิน เป็นผลงานของทีมวิจัยของ ผศ.ดร.บรรจง บุญชม แห่งคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ (สจล.) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2555-2558

          ผศ.ดร.บรรจง เปิดเผยว่า เดิมได้พัฒนาปุ๋ยน้ำจากเศษเปลือกหอยเพื่อใช้บำรุงต้นพืช เร่งดอก และผลและเร่งการเจริญเติบโตของต้นพืชในช่วงปีแรกของการวิจัย หลังจากนั้นได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นสูตรสร้างและเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดินที่มีปัญหาทุกประเภทราคาถูก 6 สูตร โดยมีวัตถุดิบเป็นแร่แคลเซียมจากธรรมชาติ มาผสมกับเศษวัสดุทิ้งแล้วจากธรรมชาติ ได้แก่ เศษเปลือกไข่และเปลือกหอยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหอยน้ำจืดหรือน้ำเค็ม โดโลไมต์ (แคลเซียมแมกนีเซียมคาร์บอเนต) ที่ได้จากภูเขา ปูนมาลย์ (แคลเซียมคาร์บอเนต) และปูนขาว มาผสมกับสารน้ำแปรสภาพ (ที่เป็นความลับ) ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

          ต้นทุนภายหลังการผลิตแต่ละสูตรถือว่าต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ละสูตรเพียงใช้แร่แคลเซียมสลับสับเปลี่ยนผสมกันเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับดินแต่ละประเภทและที่แตกต่างกันไป โดยสามารถนำไปใช้กับ ดินเสื่อมในลักษณะต่าง ๆ ได้ เช่น ดินกรด ดินด่าง ดินเค็ม ดินทราย ดินเหนียว ดินแน่นทึบ และดินกรวด ซึ่ง ผศ.ดร.บรรจง กล่าวว่า สามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลายเป็นดินที่สมบูรณ์ เหมาะสำหรับเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ

 

 

พืชผลเติบโตหลังปรับปรุงดิน

 

          ที่ผ่านมา ผศ.ดร.บรรจง ได้ไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมถึงชุมชนชาวไร่อ้อย จ.นครราชสีมา สระบุรี สระแก้วและศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ จ.ราชบุรี และชลบุรีมีการผลิตสารปรับปรุงดินเพื่อใช้เองในชุมชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

“พืชได้ประโยชน์ทุกชนิด เพราะการเสริมแคลเซียมจะช่วยให้พืชแข็งแรง ช่วยยืดอายุเซลล์ ทำให้ต้นพืชแข็งแรง แมลงรบกวนยาก เมื่อยามเก็บผลผลิตและในการขนส่งจึงทำให้บอบช้ำน้อยลง”

          ผศ.ดร.บรรจง ยกตัวอย่างว่า ภายหลังปรับปรุงดินมีการปลูกพืชหลายอย่างแล้วพบว่า ได้ผลดี เช่น

          • มันสำปะหลัง พบว่า มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากที่เคยได้ผลผลิต 2.5 ตันต่อไร่ เป็น 7.5 ตันต่อไร่

          • ข้าว จากที่เคยได้ผลผลิตมากกว่า 300 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นมากกว่า 550 กิโลกรัมต่อไร่

          • นอกจากนี้ยังมีพืชอื่น ๆ รวมถึงลำไย พืชผักสวนครัว ที่ได้ประโยชน์ เช่น ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เมื่อนำสารปรับปรุงดินไปใช้ ทำให้สามารถเก็บผลผลิตมะเขือได้เพิ่มขึ้น จากที่ได้ประมาณ 38 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 104 กิโลกรัมต่อวัน และจะดียิ่งขึ้น หากนำปุ๋ยน้ำที่ผลิตได้มาใช้บำรุงต้นพืชร่วมกัน

 

 

 

 

          จากผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินปนเปื้อนและปัญหาดินเสื่อมโทรม เพาะปลูกไม่ได้ของนักวิจัยทั้ง 2 ทีมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ที่ผู้เขียนยกมาเป็นแบบอย่างของการแก้ไขปัญหาดิน ซึ่งยังมีนักวิจัยที่มีผลงานที่คล้ายกันนี้อีกจำนวนมาก เพียงแต่มุ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ซึ่งจำเป็นต้องดึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้จากหลายด้านมาร่วมด้วยช่วยกันศึกษา พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ ๆ นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วย

"แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานหน่อย...แต่เชื่อว่า ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ในสักวัน"

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด