Inside News

พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพิ่มแรงจูงใจการลงทุน ให้สิทธิ์เว้นภาษี 8 ปี เป็น 13 ปี

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

          การประชุมคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนผ่านการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไปที่ตั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นภาษีจาก 8 ปี เป็น 13 ปี ลงทุนได้จริงปี 2560 ครม. อนุมัติ แก้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน เพื่อรองรับเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้กล่าวพร้อมกับบอกถึงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ ว่าได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กิจการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี โดยในส่วนของกิจการที่อยู่ในประเภท 13 กิจการที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีแล้วจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม แต่จะได้รับการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเดินหน้าการลงทุนตามแผนที่วางไว้รวมทั้งจะได้รับการพิจารณาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 50% เพิ่มอีก 5 ปี ตั้งแต่ปีที่ 9-13

 

          ขณะที่กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มกิจการที่ตั้งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่สามารถลงทุนจริงได้ในปี 2560 จะอนุมัติให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนจะช่วยให้เกิดการลงทุนที่เร็วขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเนื่องจากเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ดี บอร์ดบีโอไอ ยังเห็นชอบนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการเชื่อมโยงการผลิตของอุตสาหกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาอุตสาหกรรม และทักษะแรงงานโดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ต่าง ๆ จะสามารถจูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น

          สำหรับการพิจารณาคลัสเตอร์อยู่บนพื้นฐาน 2 ส่วน คือ การกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะซึ่งมีการเชื่อมโยงกันในการผลิตในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอุตสาหกรรมสนับสนุน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชน

          รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น จ้างงานหรือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอี ในท้องถิ่น โดยการกำหนดพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์ในเชิงพื้นที่ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 9 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมทุกคลัสเตอร์ที่มีการกำหนด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.อยุธยา จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.ระยอง ส่วนอีก 2 จังหวัดที่กำหนดให้เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ดิจิทัล ได้แก่ จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่

          ส่วนอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ที่จะส่งเสริมรวม 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยคลัสเตอร์ 4 กลุ่มคือ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์ดิจิทัล ลำดับต่อมาคือคลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ อีก 2 กลุ่มได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป และคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

 

คลัง ตั้งคณะกรรมการศึกษาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม

 

          กระทรวงการคลังยังได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนเอกชนมีการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากภาคการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก

          สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน และมีตัวแทนจากกรมภาษีเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาดูว่า การส่งเสริมการลงทุนจะส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมใด และใช้มาตรการใดบ้างในการกระตุ้นการลงทุน

          ทั้งนี้คณะกรรมการจะศึกษาว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ หากลงทุนในช่วงนี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม จะต้องมาดูว่าจะทำอะไรบ้าง และทำอย่างไร ฝั่งเอกชนเรียกร้องอะไร แล้วเราให้อะไรได้บ้าง ต้องช่วยกันคิดในบอร์ดก็คงต้องคุยกัน กรมภาษีต่าง ๆ เข้ามาร่วมกัน

          ทั้งนี้การศึกษามาตรการดังกล่าว คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง เพื่อสรุปรูปแบบ และมาตรการ เช่น จะครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้าง จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม หรือเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในประเทศหรือไม่ เป็นต้น

 

 

พาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจไทย

 

          ด้าน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาของภาคเอกชนที่มีข้อติดขัดกับการประกอบธุรกิจ โดยแนวทางการแก้ปัญหานี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวทางยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Doing Business Easing) ไทยได้รับการประเมินตัวชี้วัดจาก 3 หน่วยงานคือ ธนาคารโลก สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) และเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) ซึ่งโดยที่ผ่านมาการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในส่วนนี้ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งให้มีการแก้ไข

          สำหรับในส่วนขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ที่เป็นหน่วยงานในการวิเคราะห์ดัชนีวัดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ซึ่งถ้าประเทศไทยได้ปรับปรุงดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ตามที่ 4 สถาบันได้สำรวจและจัดลำดับออกมาได้ดีขึ้น เชื่อว่า จากนี้ประเทศไทยจะมีความน่าสนใจในการลงทุนมากที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีความหวัง มีอนาคต ไม่มีความเสี่ยง การเมืองไม่มีความวุ่นวาย และมีความโปร่งใส ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องการและให้ความสนใจเข้ามาลงทุน

          นายสุวิทย์ กล่าวว่างานที่สำคัญและท้าทาย คือการทำอย่างไรเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการทำธุรกิจ ซึ่งต้องปรับปรุงตัวชี้วัดต่าง ๆ จากวันที่จดทะเบียนทำธุรกิจจนถึงตอนประกอบกิจกรรม มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ มีปัญหา จุดบกพร่องอะไรบ้าง มีประเทศใดที่เป็นอันดับ 1 ของโลก ก่อนจะบี้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปแก้ไขเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ว่าจากนี้ไปประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน

 

 

อุตสาหกรรมชีวภาพ คลื่นลูกใหม่เพื่ออนาคต

 

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันปิโตรเลียมร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จัดทำ "โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทย" โดยชี้ให้เห็นภาพในด้านต่าง ๆ เริ่มจากศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศสู่ AEC

          เมื่อมองจากปัจจัยภายในพบว่า อุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์และมีความพร้อมด้านวัตถุดิบจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก อยู่ที่ 75 ล้านตันต่อปี และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 25 ล้านตันต่อไป

          นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียนโดยในปี 2014 มีการใช้เอทานอล 2.9 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 2.8 ล้านลิตรต่อวัน อีกทั้งเป็นผู้นำการแปรรูผลิตภัณฑ์พลาสติกในอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 ราย และเป็นผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติกในอาเซียน 6.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงเป็นฐานการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน (Home Care) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) และเครื่องสำอาง

          ทั้งนี้จากโครงการศึกษาเมื่อมองจากปัจจัยภายนอกพบว่า ปัจจัยแรกสินค้าชีวภาพคือทิศทางของอนาคต โดยในปี 2020 มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 560,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 23% และสินค้าชีวภาพเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียว ปัจจัยที่สอง เศรษฐกิจสีเขียวเริ่มเป็นกติกาสากล เนื่องจากสหภาพยุโรปกำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 20% ภายในปี 2020 ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีมาตรการบังคับให้ภาครัฐซื้อสินค้าชีวภาพ ส่วนอิตาลีเก็บเงินจากผู้ใช้ถุงพลาสติกจากปิโตรเคมี 0.1-0.2 เหรียญยูโรต่อปี และเยอรมนี กำหนดมาตรฐานสินค้าชีวภาพเพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) ให้กับผู้บริโภค และปัจจัยที่สาม ภาคธุรกิจต่างปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว จะเห็นว่าเอกชนต่างปรับตัวด้วยการใช้วัตถุดิบชีวภาพทดแทน ปิโตรเลียมมากขึ้น เพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จึงต้องปรับตัวตามกติกาสากล

          แต่ยังพบว่าประเทศไทยมีปัญหาและอุปสรรคในด้านต่าง ๆ คือ ด้านวัตถุดิบ ขาด Economy of Scale ของการผลิต ระบบขนส่งสินค้าเกษตรมีต้นทุนสูง และขาดระบบจูงใจให้เกษตรกรปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีการผลิต งบการผลิตและพัฒนาของไทยค่อนข้างต่ำ ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนา นโยบายและกฎระเบียบไม่จูงใจให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และหัวข้อวิจัยและพัฒนาไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเป็น Bio Hub ด้านต้นทุนการผลิตจุลินทรีย์และเอนไซม์ถูกผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี ต้องนำเทคโนโลยีการผลิตสินค้าชีวภาพ ต้นทุนพลังงานของไทยสูงกว่าหลายประเทศไทย และค่าขนสินค้าในประเทศสูง

          ด้านตลาด ตลาดสินค้าชีวภาพค่อนข้างจำกัดขยายตัวได้ยาก ประชาชนไม่เลือกใช้สินค้าชีวภาพ เพราะมีราคาสูง คุณสมบัติพลาสติกชีวภาพด้อยกว่าพลาสติกปิโตรเคมี และมีข้อจำกัดด้านกฎหมายสำหรับการค้าเอทานอล และด้านการสนับสนุนของภาครัฐ ขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ขาดแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ นโยบายดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพยังไม่เพียงพอ และขาดการเชื่อมโยงการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเพื่อแปรรูป และแปลงสภาพผลิตผลทางการเกษตรและชีวมวล ให้เป็นพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการ บูรณาการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จึงเสนอให้จัดตั้ง Bio Hub อยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็น Complex และอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ

          โดยมีการเปรียบเทียบผลประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ระหว่างหน่วยการผลิตปัจจุบัน ซึ่งใช้เงินลงทุน 28,500 ล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 2,400 คน สร้างรายได้ 32,300 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม 18,400 ล้านบาทต่อปี และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.8 แสนตันต่อปี กับศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ครบวงจร ใช้เงินลงทุน 105,000 ล้านบาท สามารถจ้างงานใหม่ 86,500 คน สร้างรายได้ 120,800 ล้านต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่ม 73,000 ล้านบาทต่อปี และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.1 ล้านตันต่อปี

          ขณะที่วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยใน 20 ปี คือประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างครบวงจรในระดับโลก มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.สร้างอุตสาหกรรมชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร 2. สร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมชีวภาพบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของชาติ ด้วยการมีศูนย์วิจัยจุลินทรีย์เพื่อผลิตเอนไซม์ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง และพัฒนาเทคโนโลยี 2G (Cellulosic) เชิงพาณิชย์ และ 3.ปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศด้วยสินค้าจากอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยมีวิธีการคือ ในระยะเร่งด่วน (ปี 2015-2016) บรรจุเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ในระยะยาว (ปี 2017-2035) ให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายระยะยาว การส่งเสริมการลงทุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านสินค้าสำเร็จรูป และการพัฒนาด้านตลาดสินค้าชีวภาพ

          พัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าชีวภาพเป็นแผนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยกำหนดเป็น "วาระแห่งชาติ" และส่งเสริมให้เอกชนเป็นองค์กรหลักในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านนโยบายและความช่วยเหลือในระยะต้น

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ สั้น-ยาว

 

          สำหรับยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ในระยะเร่งด่วน ปี 2015-2016 มี 4 ด้าน ได้แก่

          1. ยุทธศาสตร์ด้านโยบาย (Policy and Regulation) มีมาตรการเกื้อหนุนและลดอุปสรรคด้านนโยบายและกฎระเบียบโดยแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลให้น้ำเชื่อมเข้มข้น (High Test Molass) ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบใน Bio Hub เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 และการออกแบบใบอนุญาตขอตั้งโรงน้ำตาลที่จะสร้างใหม่ให้พิจารณาโรงงานแปรรูปอ้อยที่ Integrate กับ Bio Hub เป็นอันดับแรก

          2. ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน (Investment Support) สนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิต แกนกลางผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่อง โดยสนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิตแกนกลางเป็นลำดับแรก ด้วยการให้รัฐสนับสนุนการจัดหาพื้นที่สำหรับการจัดตั้ง Bio Hub โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ให้รัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค Bio Hub และให้การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุด BOI

          3. ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี (Research Development and Innovation) ผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นของตัวเอง โดยรัฐสนับสนุนการจัดการเทคโนโลยีจุลินทรีย์ เพื่อการผลิตเอนไซม์และการพัฒนาเทคโนโลยี 2G (Cellulosic) ของประเทศ

          4. ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (Market Leader) ผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าชีวภาพ โดยกำหนดให้บรรจุภัณฑ์อาหารใช้พลาสติกชีวภาพทดแทนโฟมให้การจัดซื้อพลาสติกชีวภาพสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 200% ให้สนับสนุนการวิจัยพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ และให้ยกเลิกน้ำมันเชื้อเพลิง E10

          โดยให้ กอช. ศึกษาและจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ (สำนักงานถาวร) เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพและเกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

          ส่วนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ ในระยะยาว ปี 2017-2035 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่

          1. ยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย (Policy and Regulation) มีมาตรการเกื้อหนุนและลดอุปสรรคด้านนโยบายและกฎระเบียบ โดยกำหนดนโยบายสนับสนุนการทำ Contract Farming ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพภาคการเกษตร และเปิดเสรีการผลิต ขนส่งการค้า และการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพ

          2. ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน (Investment Support) สนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิตแกนกลาง ได้แก่ โรงงานหีบและแปรรูปอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้า/ไอน้ำจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เคมีชีวภาพ (กรดแลคติก กรดซักซินิก BDO) และพลาสติกชีวภาพ (PLA, PBS)

          3. ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี (Research Development and Innovation) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีภาพ โดยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับแปรรูปมันสำปะหลัง ผลผลิตเกษตรประเภทเส้นใยเป็นสินค้าชีวภาพ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมตั้งแต่ระดับ Lab Scalem Pilot Plant และ Commercial Scale รวมถึง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาการบำบัดของเสีย/น้ำเสีย ให้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตวัตถุดิบ และสนับสนุนการวิจัยพัฒนา/การผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำชีวมวลไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 2G (Cellulosic)

          4. ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (Market Leader) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าชีวภาพ โดยให้หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ เลือกให้สินค้าชีวภาพที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งกำหนดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในบรรจุภัณฑ์ รวมถึง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งต้องผลิตจากพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้ E85 เป็นเชื้อเพลิงหลักในพื้นที่ที่สร้าง Complex และพื้นที่ใกล้เคียงและยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเอทานอลมากกว่า 20%

 

 

บีโอไอ ชี้ ลงทุนกิจการด้านซอฟต์แวร์ไปได้สวย

 

          สำหรับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกิจการด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม 2558 บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 107 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 668 ล้านบาท

          ขณะที่กิจการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่ เป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และตอบสนองการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การพัฒนาระบบเกมบนโทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์รองรับระบบโทรคมนาคม 4G การพัฒนาระบบบอกพิกัดช่วยติดตามตัวบุคคลสำหรับธุรกิจประเภทต่าง ๆ เช่น การประกันภัย การเงินการธนาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับระบบบอกพิกัดของสถานที่สำคัญ ๆ ในไทย และซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาระบบข้อมูลหรือระบบประมวลผลขนาดใหญ่ (Big Data) ขององค์กร

          นอกจากนี้ยังมีกิจการพัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับเปรียบเทียบราคาสินค้า การจัดทำระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซอฟต์แวร์สำหรับสื่อโฆษณามัลติมีเดียแนวใหม่ รวมถึงซอฟต์แวร์เพื่อยกระดับการศึกษาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน และการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นต้น

 

 

เร่งปั้นผู้ประกอบการใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

 

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า กระทรวงจะเดินหน้าโครงการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น จากปัจจุบัน ที่มีเอสเอ็มอีจดทะเบียนถูกต้อง 6.8 แสนราย จากทั้งหมด 2.7 ล้านราย

          ทั้งนี้ ธุรกิจที่อยากให้ส่งเสริมให้มีเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร หรือการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจ

          สำหรับแนวทางในการสร้างผู้ประกอบการใหม่จะเน้นการสร้างผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการฝึกอบรม พัฒนา เพื่อให้เกิดธุรกิจรายใหม่ โดยรัฐจะช่วยส่งเสริมด้านองค์ความรู้และเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการ

          นอกจากนี้ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นแล้วต้องหาทางเชื่อมโยงและขยายเครือข่าย เพื่อให้ธุรกิจเติบโตขึ้น ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการจัดตั้ง Biz Club ขึ้นมาแล้วใน 38 จังหวัด มีสมาชิกกว่า 7,000 ราย จะต้องผลักดันให้มีเพิ่มมากขึ้น และทำการเชื่อมโยงกับกลุ่มและเครือข่ายธุรกิจขององค์กรอื่น ๆ ทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้มาร่วมมือกันในการทำธุรกิจ

          ขณะที่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ได้เร่ง ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าขายออนไลน์ เข้ามาจดทะเบียนเข้าสู่ระบบให้ได้เพิ่มมากขึ้น และจะเน้นการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี มีโอกาสในการค้าขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งหากมีความเข้มแข็งแล้วก็จะส่งเสริมให้ขยับไปสู่ภาคการส่งออกต่อไป

          อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์เร่งงานด้านการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เพื่อให้บริการได้รวดเร็วและตอบสนอง ต่อความต้องการให้ได้มากขึ้น เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าน่าจะได้ ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ เพราะหากทำได้ก็จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และยังเข้าถึงการส่งเสริมของสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ด้วย

          นอกจากนี้ กำลังรอการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น

 

 

เศรษฐกิจไทยยังทรงตัว รอดอกผล แผนกระตุ้นฟื้นความเชื่อมั่น

 

          ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดย น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย รายงานบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 4/2558 จากการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้ การเติบโตของจีดีพีในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.6% และปี 2559 ไว้ที่ 3.3%

          ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากไปอีกระยะ จับตานโยบายผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศ สนับสนุนทางการเงินและการส่งเสริมธุรกิจระดับจังหวัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม หากการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ การเติบโตของเศรษฐกิจจะค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น

          ในไตรมาสที่ 2 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเล็กน้อยหรือ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ขยายตัว 3.0% ในไตรมาสที่ 1 นอกเหนือจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีแล้ว เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ส่วนใหญ่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นไตรมาสที่ 3 ที่อ่อนแอ

          นอกจากนี้การส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดนอกเศรษฐกิจกลุ่ม G3 ทั้งนี้ ผลสำรวจภาคธุรกิจยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการคาดการณ์คำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าแผนการลงทุนภาคเอกชนอาจจะเลื่อนออกไปอีกแม้จะมีการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนปีจากบีโอไอในอัตราที่สูงในปี 2557

          ส่วนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปอย่างช้า ๆ รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่หลังการปรับ ครม.ช่วงเดือนสิงหาคม โดยมุ่งเน้นความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนรายได้ ต่ำแผนการเบิกจ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.8% ของ GDP (ไม่รวมสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่ SME) และมาตรการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ทันที อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจจะน้อยกว่าคาดหวังเนื่องจากปัจจัยความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อ่อนแออัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอลง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

          ทั้งนี้คาดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงต้องพึ่งพาการเบิกจ่ายของแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยประมาณการของรัฐบาล ณ เดือนมิถุนายนแสดงให้เห็นว่าแผนการเบิกจ่าย สำหรับปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 2% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามแผนการลงทุนยังคงเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาด

          และการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ รอบใหม่อาจก่อให้เกิดความล่าช้าเพิ่มขึ้นในระยะสั้น สำหรับด้านความเสี่ยงทางการคลังเราคาดว่าความต้องการใช้จ่ายที่สูงจะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ใกล้ 3% ของจีดีพีในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ระดับหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่า 50% ของ GDP ในช่วงปี 2558-2560 เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้เราจึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2558 ลงเป็น 2.6% จาก 3.1% แต่คงการคาดการณ์ของปี 2559 ไว้ที่ 3.3%

 

 

ลุ้นปี 59 อุตสาหกรรมขยายตัวสดใส ได้อานิสงค์ตลาดในประเทศ

 

          ด้าน นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 59 เชื่อว่า จะขยายตัวดีกว่าปี 58 แน่นอน เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศ มีแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการลงทุนภาคเอกชน หลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นส่งผลให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ที่สถานการณ์ความตึงเครียดด้านการเงินน่าจะผ่อนคลายลง ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่า ขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มรูปแบบ หลายฝ่ายประเมินว่า จะช่วยส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะมีทิศทางดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

          ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้วางแนวทางในการช่วยเหลือไว้หลายแนวทางโดยจะเน้นการตลาดใหม่ ซึ่งจะมีการจัดจับคู่ทางธุรกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการให้มีโอกาสเปิดตลาดการค้าสินค้า และบริการรวมทั้งการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และเพิ่มประเทศคู่ค้าใหม่ให้กับไทย

          รวมทั้งจะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจสร้างเครือข่าย และสำรวจธุรกิจกับประเทศสมาชิกอาเซียนโดยจัดกิจกรรมเดินทางไปต่างประเทศแก่สมาชิกและผู้ประกอบการไทยและจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจเพื่อโอกาสทางการค้าและการเปิดตลาดในประเทศอาเซียน

 

 

บีโอไอ แนะธุรกิจไทย ลงทุนกลุ่มประเทศ CLMVI

 

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา "เสริมฐาน-สร้างโอกาส-ตลาดอาเซียน: โอกาสการลงทุนในตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย" ว่า

          ตลาดกลุ่มประเทศ CLMVI เป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูง ในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงปีละ 10% และมีการค้าเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% ด้านการลงทุน นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2556 มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในตลาด CLMVI กว่า 1.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐและเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 9% ต่อปีโดยประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่หากพิจารณาจากการเติบโตของมูลค่าการลงทุน จะพบว่าเมียนมาร์และกัมพูชาเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด

          ในด้านการลงทุน โอกาสและการลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศ CLMVI นั้น จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เหมาะเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์บริการและซ่อมบำรุง สำหรับอุตสาหกรรมอาหารควรเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปผลิตผลท้องถิ่น ธุรกิจร้านอาหารไทย ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มควรเข้าไปลงทุนโรงงานผลิตเส้นใย โรงงานทอผ้า ย้อมผ้า และโรงงานตัดเย็บ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด