Management

“อยากเก่งต้องกล้า” อีกหนึ่งนิยามความสำเร็จ

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

 

          เมื่อโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานยังไม่มาถึง สิ่งที่พนักงานทุกคนควรกระทำก็คือตั้งใจทำงานและศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสที่มากขึ้น ทว่ามีหลายคนยินดีที่จะอยู่ที่เดิม มีความสุขกับการที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ดังนั้นการทำงานในองค์กรที่พนักงานแต่ละคนไม่มุ่งหวังที่จะก้าวหน้าจึงยากที่จะมองเห็นการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

          ในช่วงต้นปีของแต่ละปีเราท่านต่างรู้สึกยินดียิ้มแย้มให้กันเพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่าปีใหม่ผ่านมาแล้วเราจะได้เจอแต่สิ่งดี ๆ กัน ได้มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ซึ่งหากทุกคนตั้งใจทำงานมาตลอดปีและได้รับโบนัสหรือการเลื่อนขั้นเงินเดือนก็ย่อมที่จะเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่หากการทำงานอย่างทุ่มเทเต็มที่มาตลอดกลับไม่ได้รับความสนใจและขาดการให้โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงานก็ย่อมเป็นเรื่องน่าคิด จริงอยู่ที่คนทำงานควรได้รับการพิจารณาตอบแทนผลงานของพวกเขา แต่ก็มีหลายคนที่ทำงานดีแต่ไม่ค่อยขยับไปไหน มีการเสนอตำแหน่งใหม่ให้ก็ไม่เอายอมอยู่ตำแหน่งเดิม เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในสายเดียวกันขยับข้ามไปทำงานตำแหน่งที่สูงกว่าก็ยังไม่สนใจ เกิดอะไรขึ้นและจะทำอย่างไรดีกับพนักงานกลุ่มนี้

 

กังวลกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น

 

          พนักงานหลายคนทำงานมานาน มีเพื่อนร่วมงานที่สนิทหลายคน และเป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่ยุ่งยากกับใคร เช้ามาทำงานเย็นกลับบ้าน พอมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นก็มีความกลัวเรื่องต่าง ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน เช่น อาจต้องมาทำงานเร็วขึ้น กลับบ้านช้ากว่าเดิม ต้องมีการกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมงานบ้างในกรณีที่งานไม่เป็นไปตามแผนงาน หรือต้องรับผิดชอบกับนโยบายที่ส่งตรงมาให้ ต้องขยับฐานะจากพนักงานธรรมดาเป็นผู้บริหาร เป็นธรรมดาที่คนทำงานเมื่อปรับตำแหน่งก็ย่อมต้องมีอะไรที่รับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งความรับผิดชอบที่มาก กว่าเดิมย่อมหมายถึงเงินเดือนหรือโบนัสที่มากขึ้น ทว่าเมื่อพนักงานที่ต้องมารับบทบาทใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันอย่างที่กล่าวมาบางคนมีความกังวลหนัก บางคนถึงกับลาออกไปใช้ชีวิตทำงานส่วนตัวเองหรือทำอาชีพอิสระเพราะไม่อยากอยู่กับความกดดัน นี่เองที่กลายเป็นปัญหาให้กับองค์กรที่ต้องขาดบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์ไปแบบน่าเสียดาย

          ทางออกที่ช่วยให้พนักงานกลุ่มนี้หันมาทำงานและสู้กับงานที่หนักขึ้นก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อหางาน ขอบเขตความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ที่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเขา ซึ่งจะช่วยลดความกดดันและความอึดอัดใจได้ส่วนหนึ่ง ที่เพิ่มเติมอีกก็คือการสร้างความคิดในทางบวกกับเขาและทุกคนที่อยู่รอบข้าง การเปลี่ยนแปลงตารางชีวิตประจำวันบ้างไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนชีวิตทั้งหมด แต่มันคือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ นั่นคือ “ถ้างานที่ทำอยู่มันมีความสำคัญมากขึ้น ก็ย่อมที่จะต้องใช้คนที่เก่ง รอบคอบ และคนนั้นก็คือพนักงานคนนั้น ๆ” หรือบอกพวกเขาไปเลยว่า “ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องแสดงความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือบริษัทเราให้ก้าวหน้าต่อไป” หรือ “เราคือกำลังขับเคลื่อนที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เรายังสามารถพัฒนาความสามารถร่วมกันเพื่อไปสู่จุดหมาย” สร้างความคิดบวกให้พวกเขา ดึงจิตวิญญาณของพนักงานดี ๆ คนหนึ่งขององค์กรออกมา

 

 

ให้ความรู้ เชิดชูคนกล้า

 

           พนักงานหลายคนที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและแสดงให้ผู้บริหารเห็นตลอดว่าเขาคือคนที่ใช่สำหรับการเลื่อนตำแหน่ง พนักงานคนนั้นมักจะได้รับการส่งตัวไปอบรมในเรื่องต่าง ๆ ที่ควรเรียนรู้ และเมื่อเขาได้รับการอบรมมาแล้วก็ควรที่จะแสดงให้ทุกคนในองค์กรทราบว่าพนักงานท่านนี้ได้ผ่านการอบรมเรื่องใดมา มีความพร้อมที่จะช่วยพัฒนางานในส่วนใดขององค์กร เมื่อพนักงานทุกคนทราบก็จะกลายเป็นการยอมรับในเบื้องต้นจากนั้นก็ต้องมีการทดลองงานในตำแหน่งใหม่เพื่อเป็นการเรียนรู้งานและปรับตัว เป็นการสร้างคนแบบค่อยเป็นค่อยไป คนที่มีการเรียนรู้งานและได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีก็ย่อมที่จะมีความมั่นใจในการทำงานเป็นทุนส่วนจะทำงานออกมาได้ดีขนาดไหนก็อยู่ที่งานนั้น ๆ ว่าจะยากเพียงใดหรือมีปัญหาส่วนไหนที่ยากต่อการแก้ไข “ความกล้ามักจะมาหลังความเข้าใจงานเสมอ” ดังนั้นการสร้างพนักงานให้มีศักยภาพสูงขึ้นอย่างที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องที่เน้นความเข้าใจงานเป็นหลัก และถ้าผลตอบแทนที่มีให้เขาสร้างความรู้สึกที่ดีกับพนักงาน ปัญหาเรื่องของพนักงานลาออกก็จะน้อยลง ปัญหาเรื่องการพัฒนาทีมงานก็จะน้อยลง เพราะทุกคนเริ่มกล้าที่จะเรียนรู้และแก้ไขตัวเอง

 

 

ความกล้า (อย่างมีสติ) นำพาสู่ความสำเร็จ

 

          พนักงานหลายคนขยันมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่และบางคนบางตำแหน่งจำเป็นต้องอาศัยความกล้าในการตัดสินใจเมื่อมีข้อมูลพร้อม อย่างเช่น ฝ่ายการตลาดที่ต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้วางแผนการตลาด และเมื่อมีโอกาสที่จะสร้างโอกาสให้กับสินค้าหรือบริการตัวเองก็ตัดสินใจทำได้อย่างทันท่วงที หรือทำแล้วลดโอกาสในการเสียเปล่าของงบประมาณองค์กร อันนี้เป็นความกล้าอย่างมีสติเพราะใช้ข้อมูลที่แม่นยำชัดเจน ต่างกับพนักงานที่อาศัยความใจร้อนตัดสินใจทำงานเพราะเข้าใจว่านั่นคือความกล้าในการตัดสินใจ โอกาสที่จะผิดพลาดตามมาก็ย่อมมีสูง

          พนักงานหลายต่อหลายคนผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ ในการทำงานที่ผิดพลาดมา แต่พวกเขาก็ใช้ความผิดพลาดมาเป็นตำราเล่มใหญ่ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสร้างโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไขงาน กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานระดับหัวหน้า หรือระดับผู้บริหารได้ ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอายหากทำอย่างตั้งใจแล้วมันผิดพลาด แต่เรื่องที่น่าอายคือไม่ยอมศึกษาให้ดีก่อนทำและไม่กล้าทำเพราะกลัวจะผิดพลาด

"พนักงานก็คือเฟืองจักรที่สำคัญของกลไกการทำงาน ถึงเวลาทำงานก็ต้องทำอย่างเต็มที่เต็มกำลัง และหากมีโอกาสที่จะทำงานที่สำคัญกว่าเดิมก็ขอให้รู้ไว้เลยว่า เราคือคนสำคัญที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว"

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด