Safety & Healthcare

ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

          โรคไข้เลือดออกเดงกี (DHF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

 

          การป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกของนักแสดงหนุ่มชื่อดัง “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” ที่มีอาการเข้าขั้นวิกฤติ มีเกล็ดเลือดต่ำ ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในช่วงเย็นของวันที่ 10 พ.ย. 58 นอกจากจะทำให้บรรดาแฟนคลับแฟนละครตกอกตกใจกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว ก็ยังทำให้เราอดฉุกคิดหรือสงสัยขึ้นมาว่า ‘ไข้เลือดออก’ เป็นโรคที่อันตรายได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกมักมีอาการไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับเด็ก ๆ ที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าแถมยังตกเป็นเป้านิ่งของยุงลาย เพราะมีพฤติกรรมการนอนกลางวัน ยิ่งในกรณีของคุณปอ ซึ่งเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ชอบออกกำลังกาย ก็ไม่น่าที่จะมีอาการรุนแรงได้ขนาดนั้น แต่คำอธิบายเบื้องต้นของทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่แถลงในวันที่ 11 พ.ย. 58 ใจความว่า “ผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง แต่อาการเข้าขั้นวิกฤติเพราะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา จากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเยอะ ทำให้เซลล์ที่ไม่ควรจะถูกกำจัดถูกกำจัดไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายทรุดหนัก” ก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิด และหันมาสนใจดูแลป้องกันให้บ้านปราศจากลูกน้ำยุงลายกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที

 

          ผู้เขียนก็เลยอยากจะขอพูดถึงโรคไข้เลือดออกกันสักหน่อย เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้เกิดความตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับภัยร้ายใกล้ตัวที่เราคุ้นเคยหรือรับทราบกันมาเนิ่นนาน เสียจนมองว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว รวมทั้งอาจจะคิดไปว่าเรื่องแบบนี้คงจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา คนในครอบครัว หรือคนที่เรารู้จัก หรือเป็นแล้วก็ไม่ถึงกับเสียชีวิตหรอก รวมทั้งบางคนยังถูกยุงกัดกันเป็นว่าเล่นไม่เว้นแต่ละวันก็ไม่เห็นจะแสดงอาการอะไรเลย อย่างไรก็ดีตัวผู้เขียนเองที่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกและมาลาเรียมาแล้วเพราะใช้ชีวิตในแถบชายแดนไทย-พม่า ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งชุกชุมของทั้งสองโรค แถมด้วยโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคเท้าช้าง (Lymphatic Filariasis หรือ Elephantiasis) ที่มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค จึงได้รับรู้ความเป็นจริงโดยตรงจากประสบการณ์ว่า การดำเนินของโรคและความรุนแรงของอาการที่เป็นในแต่ละบุคคลหลังรับเชื้อ อาจจะช้าเร็วหรือรุนแรงต่างกันไปบ้าง ตามแต่ชนิดปริมาณและความรุนแรงของเชื้อโรคที่ได้รับ และปัจจัยส่วนบุคคล เช่น สุขภาพ ภาวะภูมิคุ้มกัน วัย เพศ และโดยเฉพาะเมื่อได้รับเชื้อในช่วงที่ร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เช่น มีโรคประจำตัว หรือป่วยเป็นโรคอื่นอยู่แล้ว หรือผู้หญิงที่ท้องหรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

 

          ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราน่าจะมาทำความรู้จักและเรียนรู้โรคไข้เลือดออกไปพร้อม ๆ กันอีกสักครั้งจะดีกว่า ตามข้อมูลด้านล่างนี้เลยค่ะ

 

 

โรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Hemorrhagic Fever: DHF)

 

         ลักษณะโรคและการระบาด

          สุภาษิตไทยที่ว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ” ดูท่าจะเป็นจริง เพราะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า “ยุง” เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กแต่คร่าชีวิตมนุษย์กว่า 600,000 คนต่อปี โดยยุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง และโรคไข้สมองอักเสบ และในทุก ๆ ปีพบว่ากว่า 50 ล้านคนในประเทศเสี่ยงทั่วโลกมีการติดเชื้อโรคไข้เลือดออก จากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องหามส่งโรงพยาบาลราว 5 แสนรายต่อปีมีราว 2.5 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต และอาจพุ่งสูงถึงร้อยละ 20 หากไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน โรคไข้เลือดออกเดงกี (DHF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

          สำหรับประเทศไทยนั้น พบการระบาดครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2501 ภายหลังจากระบาดที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (พ.ศ.2496–2497) สถานการณ์ไข้เลือดออกในปี 2558 นี้มีการระบาดค่อนข้างรุนแรงเกือบทุกประเทศในอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซียที่มีผู้ป่วยกว่า 80,000 ราย และผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 200 ราย เป็นต้น กรณีประเทศไทยตัวเลขจากระบบฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุในปี พ.ศ.2557 พบว่า ในช่วงไตรมาส 1 ถึง 2 มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 4,953 และ 8,222 ราย ตามลำดับ ส่วนในปี พ.ศ.2558 นี้ พบว่าในไตรมาส 1 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 7,493 ส่วนไตรมาส 2 จำนวนพุ่งสูงถึง 24,584 ราย หรือราว ๆ 3 เท่าจากปีก่อนหน้า และเมื่อดูสถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ ม.ค.–10 พ.ย.2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 107,564 ราย เสียชีวิต 106 ราย (อัตราป่วยตายร้อยละ 0.1 หรือเท่ากับว่าผู้ป่วยทุก ๆ 1,000 ราย มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต 1 ราย) ถือว่าไข้เลือดออกมีการระบาดหนัก แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2556 (ที่มีผู้ป่วยในช่วงเดียวกันนี้ 146,115 ราย เสียชีวิต 128 ราย) แต่หากพิจารณาในช่วง ต.ค.–พ.ย. พบผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ถือว่าผู้ป่วยเริ่มชะลอตัวลง โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 3,000–4,000 รายต่อสัปดาห์ จากช่วงที่มีการระบาดสูงสุดใน ส.ค. ที่มีผู้ป่วย 7,000 รายต่อสัปดาห์ ที่น่าสังเกตคือ ปีนี้อากาศร้อนค่อนข้างมาก ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับฝนตก ๆ หยุด ๆ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมากและเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมาก คนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ เป็นต้น

          โรคไข้เลือดออก พบได้กับประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–10 พ.ย.58 ระบุพบผู้ป่วยมากที่สุด อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุ 10–14 ปี และอายุ 25–34 ปี ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมากถึงร้อยละ 45 พบผู้ป่วยสะสมสูงสุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกตามลำดับ คือ ระยอง เพชรบุรี ราชบุรี อุทัยธานี และปราจีนบุรี โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่ามีความเสี่ยงของการระบาดสูงกว่าภาคอื่น เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรคทั้งในบริเวณที่พักอาศัยและเรือกสวนไร่นา ส่วนแนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันจะพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการป่วยในผู้ใหญ่จะไม่เด่นชัดเท่ากับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ที่สำคัญเมื่อเกิดในผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าในเด็ก

 

         สาเหตุ

          โรคไข้เลือดออกที่พบในไทยเกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ไวรัสเดงกี 1 (DEN-1), สายพันธุ์ไวรัสเดงกี 2 (DEN-2), สายพันธุ์ไวรัสเดงกี 3 (DEN-3) และสายพันธุ์ไวรัสเดงกี 4 (DEN-4) โดย ณ ปัจจุบัน กรมควบคุมโรคได้ยืนยันว่าในไทยยังไม่ปรากฏสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่การระบาดในแต่ละปีของแต่ละท้องที่จะมีสายพันธุ์หนึ่งเด่นขึ้นมา บางครั้งสายพันธุ์ที่ระบาดปีนี้อาจหายไปหลายปี เมื่อกลับมาระบาดซ้ำจึงทำให้คิดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ และโดยธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด คือ สายพันธุ์ไวรัสเดงกี 3 (DEN-3) แต่มาถึงปี 2558 สายพันธุ์ที่โดดเด่นขึ้นมาแทนมีแนวโน้มที่จะเป็นสายพันธุ์ไวรัสเดงกี 4 (DEN-4) แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้แทบไม่ต่างกันเลย

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เป็นก่อนหน้านั้นแล้ว โดยทั้ง 4 สายพันธุ์นี้มี Antigen (สารก่อภูมิต้านทาน) ร่วมบางชนิดจึงทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ได้ในระยะสั้น ๆ ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต (Permanent Immunity) และมีภูมิคุ้มกันต่อ 3 สายพันธุ์ที่เหลือได้ในช่วงสั้น ๆ (Partial Immunity) ประมาณ 6–12 เดือน หรืออาจสั้นกว่านี้ ถ้าติดเชื้อซ้ำในช่วงนี้ จะไม่ป่วยและมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน แต่หากติดเชื้อซ้ำหลังจากผ่านช่วง 1 ปีนี้ไปแล้ว ภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์จะต่ำลง จนทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง โดยอนุภาคของไวรัสเดงกีจะไปจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ไวรัสเจริญเติบโตมาก 100–1,000 เท่า เมื่อนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวจะทำงานผิดปกติ และสร้างสารน้ำปล่อยออกมานอกเซลล์ มีผลทำให้ทำลายเกล็ดเลือด ระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป ผนังหลอดเลือดเสีย ทำให้เลือดรั่ว จนน้ำและโปรตีนบางตัวออกจากหลอดเลือด หากไม่สามารถหยุดทันก็ทำให้เกิดอาการช็อก ในช่วงเดียวกันนี้เอง ไวรัสเดงกียังปล่อยโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาชื่อว่า NS1 ซึ่งเป็นพิษที่ทำให้ผนังหลอดเลือดรั่วได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกลไกทั้ง 2 อย่างนี้ส่งผลทำให้ผู้ป่วยอาการหนักดังนั้น จากคำอธิบายข้างต้นจึงเป็นการตอบข้อสงสัยของใครหลาย ๆ คนที่ว่า การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกมักจะไม่ค่อยรุนแรงมากนัก แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่สอง (Secondary Dengue Infection) ทำไมจึงเกิดความรุนแรงมากขึ้น (รุนแรงมากกว่าครั้งแรกอยู่ที่ 15–80 เท่า) จนถึงขนาดเลือดรั่วจากเส้นเลือด เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

 

         วิธีการติดต่อ

          โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ยุงลายบ้าน (Aedesaegypti) และยุงลายสวน (Aedesalbopictus) แต่โดยมากแล้วจะเกิดจากยุงลายบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอยู่ในอาณาบริเวณบ้านจึงมีความใกล้ชิดกับคนมากกว่า โดยลักษณะทางธรรมชาติแล้วจะพบว่ายุงลายตัวผู้จะไม่ดูดเลือดคน แต่จะดูดน้ำหวานจากดอกไม้หรือผลไม้เป็นอาหาร มีตัวเมียเท่านั้นที่จะดูดเลือดคนเพื่อนำโปรตีนในเลือดไปพัฒนาไข่ในท้องและใช้เป็นพลังงานในการวางไข่ เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในกระแสเลือดในช่วงที่มีไข้สูง (ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก) เชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร และเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ผนังกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายเตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกีให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปตลอดอายุของยุงตัวเมีย ซึ่งอยู่ได้นานประมาณ 30-45 วัน การแพร่เชื้อจะต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ถ้ามียุงและคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น

          ยุงลายมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ พบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน แหล่งเพาะพันธุ์คือภาชนะที่มีน้ำขังไว้เกิน 7 วัน โดยเป็นน้ำที่ใสและนิ่ง ยุงลายตัวเมียหลังดูดเลือดคนแล้วจะวางไข่ตามผิวในของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย อาศัยความชื้นจากน้ำที่ขังและความมืด ไข่จะฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 2 วัน จากลูกน้ำเป็นตัวโม่ง 6–8 วัน จากตัวโม่งกินเวลา 1–2 วัน ก็จะเป็นยุงตัวเต็มวัยบินออกไปหาอาหารและผสมพันธุ์ โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่จะพบอยู่ภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน มีระยะไม่เกิน 50 เมตร จะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน ไข่ยุงลายที่ติดอยู่กับขอบผิวในภาชนะมีความทนต่อความแห้งแล้งเป็นเวลานานถึง 1 ปี เมื่อเข้าฤดูฝนมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะฟักตัวเป็นยุงได้ในระยะเวลา 9–12 วัน นอกจากนี้ เมื่อยุงลายที่วางไข่มีเชื้อไวรัสเดงกีก็สามารถถ่ายทอดผ่านทางไข่ยุงสู่รุ่นต่อไปได้ (Transovarial Transmission) และการที่ยุงลายวางไข่ได้ครั้งละหลาย ๆ ฟอง ซึ่งมีโอกาสจะเจริญเติบโตเป็นยุงทั้งเพศผู้และเพศเมีย หลังจากยุงเหล่านี้เป็นตัวเต็มวัยแล้วและในขณะที่มีการผสมพันธุ์ก็มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีให้กับอีกฝ่ายได้อีกเช่นเดียวกัน แต่โอกาสจะต่ำกว่า 1% และเกิดได้ในช่วงสั้น ๆ

          ระยะฟักตัว ระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกีในยุง ประมาณ 8-0 วัน ส่วนระยะฟักตัวของไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3–14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5–8 วัน

          ระยะติดต่อ โรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2–4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นการติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพอ อีกประมาณ 8-10 วันจึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน

 

 

         อาการและอาการแสดง

          หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5–8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการไข้เดงกี (Dengue Fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (Dengue Hemorrhagic Fever: DHF) และรุนแรงมากจนถึงช็อกและเสียชีวิต (Dengue Shock Sysdrome: DSS) ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีอาการได้ 3 แบบ คือ

          1. Undifferentiated Fever (UF) หรือกลุ่มอาการไวรัส (Viral Syndrome) มักพบในทารกหรือเด็กเล็ก จะปรากฏเพียงอาการไข้ 2–3 วัน บางครั้งอาจมีผื่นแบบ Maculopapular Rash (ผื่นแบนราบและผื่นนูนสลับกันไป มักมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. ขอบเขตไม่ชัดเจนและมักจะพบร่วมกับอาการคัน) มีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก

          2. ไข้เดงกี (DF) มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาจมีอาการไม่รุนแรง คือมีเพียงอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะเมื่อยตัว หรืออาจเกิดอาการแบบ Classical DF คือ มีไข้สูงกะทันหัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก (Breakbone) และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตรวจพบ Tourniquet Test Positive ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ รวมทั้งบางรายอาจมีเกล็ดเลือดต่ำได้ ในผู้ใหญ่เมื่อหายจากโรคแล้วจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่นาน โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกได้แน่นอน ต้องอาศัยการตรวจทางน้ำเหลืองหรือแยกเชื้อไวรัส

          3. ไข้เลือดออกเดงกี (DHF) มีอาการทางคลินิกเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีไข้สูงลอยร่วมกับอาการเลือดออก ตับโต และมีภาวะช็อกในรายที่รุนแรง ในระยะมีไข้จะมีอาการต่าง ๆ คล้ายไข้เดงกี (DF) แต่จะมีลักษณะเฉพาะของโรค คือ มีเกล็ดเลือดต่ำและมีการรั่วของพลาสมา ซึ่งถ้าพลาสมารั่วออกไปมากผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกเกิดขึ้นที่เรียกว่า Dengue Shock Sysdrome (DSS) การรั่วของพลาสมาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไข้เลือดออกเดงกี สามารถตรวจพบได้จากการที่มีระดับฮีมาโตคริต (Hct–ปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น) สูงขึ้น มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง

          ข้อสังเกตที่สำคัญ โรคไข้เลือดออกเดงกี (DHF) มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้ 1.ไข้สูงลอย 2–7 วัน, 2.มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง, 3.มีอาการตับโต กดเจ็บและ 4.มีอาการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

 

         การดำเนินโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้ คือ

          1. ระยะไข้ (Febrile Phase) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (Flushed Face) และอาจตรวจพบคอแดง (Injected Pharynx) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้สูงลอยอยู่ 2–7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ Erythema (ผื่นแดงแบนราบ) หรือ Maculopapular (ผื่นแบนราบและผื่นนูนสลับกันไป) ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น Rubella (หัดเยอรมัน) ได้ อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ Tourniquet Test (เพื่อวัดความดันโลหิตและค้นหาจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง โดยใช้สายยางรัดหรือเครื่องวัดความดันโลหิตบริเวณต้นแขน) ให้ผลบวก (Poitive–มีจุดเลือดออกมากกว่า 10 จุด/ตารางนิ้ว) ได้ตั้งแต่ 2–3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักเป็นสีดำ อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อกที่เป็นอยู่นาน ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3–4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่มีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

          2. ระยะวิกฤติ/ช็อก (Critical Phase หรือ Leakage Phase) เป็นระยะที่มีอาการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี โดยระยะรั่วจะประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวการณ์ไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิดภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง (Hypovolemic Shock) ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีที่อยู่ในภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีภาวะรู้สติดี พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องขึ้นอย่างกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม (Acute Abdomen) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วง ๆ จับชีพจรและ/หรือวัดความดันไม่ได้ (Profound Shock) ภาวะรู้สติจะเปลี่ยนไปและจะเสียชีวิตภายใน 12–24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการช็อกอย่างทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ Profound Shock ส่วนใหญ่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

          ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลง ผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจรและความดันโลหิต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของเลือด เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไป แต่รั่วไม่มากจึงไม่ทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้น ๆ จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

           3. ระยะฟื้นตัว (Recovery or Convalescent Phase) ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็วในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อไข้ลดส่วนใหญ่จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีความรุนแรงแบบ Profound Shock ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อการรั่วไหลของพลาสมาหยุด Hct จะลงมาคงที่ ชีพจรจะช้าลงและแรงขึ้น ความดันโลหิตปกติ มี Pulse Pressure กว้าง จำนวนปัสสาวะจะเพิ่มมากขึ้น (Dieresis) ระยะฟื้นตัวมีเวลาประมาณ 2–3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนถึงแม้จะยังตรวจพบน้ำในช่องปอด/ช่องท้อง ในระยะนี้อาจตรวจพบชีพจรช้าลง (Bradycardia) อาจมี Confluent Petechial Rash ที่มีลักษณะเฉพาะคือ มีวงกลมเล็ก ๆ สีขาวของผิวหนังขึ้นท่ามกลางผื่นสีแดง ซึ่งพบในผู้ป่วยไข้เดงกีได้เช่นเดียวกัน ระยะทั้งหมดของไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7–10 วัน

 

         ระดับความรุนแรงของไข้เลือดออกเดงกี 

          ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกเดงกี (DHF) ทุกราย ต้องมีหลักฐานการรั่วของพลาสมา มีเกล็ดเลือด < 100,000 เซลล์/ลบ.มม. ความรุนแรงของโรคแบ่งเป็น 4 ระดับ (Grade) ได้ดังนี้ คือ

          Grade I – ไม่มีภาวะช็อก มีแต่ตรวจพบ Tourniquet Test ให้ผลบวก และ/หรือ ผิวหนังฟกช้ำ (Easy Bruising)

          Grade II – ไม่มีภาวะช็อกแต่มีภาวะเลือดออก เช่น มีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดกำเดาไหลหรืออาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

          Grade III – มีภาวะช็อกโดยมีชีพจรเบาเร็ว Pulse Pressure แคบ หรือความดันโลหิตต่ำ หรือมีตัวเย็น เหงื่อออกกระสับกระส่าย

          Grade IV – มีภาวะช็อกรุนแรง วัดความดันโลหิตและ/หรือจับชีพจรไม่ได้

          หมายเหตุ ไข้เลือดออกเดงกี Grade I และ Grade II แตกต่างจากไข้เดงกีและโรคอื่น ๆ ตรงที่มีการรั่วของพลาสมาร่วมกับจำนวนเกล็ดเลือดที่มีค่า ≤ 100,000 เซลล์/ลบ.มม. ในขณะที่ ไข้เลือดออกเดงกีที่มีระดับความรุนแรงเป็น Grade III และ Grade IV ถือเป็น Dengue Shock Sysdrome (DSS)

 

 

การวินิจฉัยโรค

  

          โดยอาศัยอาการแสดงทางคลินิกและการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรวิทยาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงในระดับเกล็ดเลือด และการรั่วของพลาสมา มีความแม่นยำสูง และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ/ช็อก

 

 

 

          การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

           1 .จำนวนเกล็ดเลือด ≤ 100,000 เซลล์/ลบ.มม.

          2. เลือดข้นขึ้น ดูจากมีการเพิ่มขึ้นของ Hct ≥ 20 % เมื่อเทียบกับ Hct เดิม (Hemoconcentration) หรือมีหลักฐานการรั่วของพลาสมา เช่น มี Pleural Effusion (น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด) และ Ascites (น้ำคั่งในช่องท้อง) หรือมีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ ≤ 3.5 กรัมเปอร์เซ็นต์ (ในผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการปกติ)

          3. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC: Complete Blood Count) พบมีเม็ดเลือดขาวต่ำ จำนวนนิวโตรฟิล (Neutrophil – ช่วยต่อต้านการติดเชื้อ) ต่ำ และตรวจพบ Atypical Lymphocyte (เม็ดน้ำเหลืองที่มีรูปร่างแปลกไป)

          ในระยะแรกที่มีไข้สูง 2–3 วันแรก ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าสงสัยว่าจะเป็น จะมีการทำ Tourniquet Test (เพื่อวัดความดันโลหิตและค้นหาจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง โดยใช้สายยางรัดหรือเครื่องวัดความดันโลหิตบริเวณต้นแขน) และเจาะเลือดตรวจ (CBC) เพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเม็ดเลือดแดง และจำนวนเกล็ดเลือด ซึ่งจะพอบอกได้เมื่อมีไข้มากกว่า 2–3 วันขึ้นไป ในระยะแรกผลเลือดอาจจะยังไม่ชัดเจนแพทย์จึงอาจจะยังไม่รับไว้ในโรงพยาบาล (ตรงจุดนี้มักพบปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างญาติผู้ป่วยกับแพทย์ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงไม่รับไว้ในโรงพยาบาลทั้ง ๆ ที่มีไข้สูง) แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการไข้สูงอยู่ แพทย์จะนัดตรวจตามอาการเป็นระยะ ๆ โดยอาจนัดตรวจและเจาะเลือดทุกวันจนกว่าจะปลอดภัย คือไข้ลงครบ 24 ชั่วโมง โดยไม่ใช้ยาลดไข้ หรือเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 1 แสน/ลบ.มม. และความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น ก็อยู่ในเกณฑ์การให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ส่วนความจำเป็นสำหรับการตรวจเลือดเป็นกรณีพิเศษเพื่อระบุว่าเป็นไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษา

 

         การรักษา

          ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคองให้ผู้ป่วยผ่านระยะไข้ลด ซึ่งเป็นระยะวิกฤติของโรคไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะได้ผลดี ถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดี ตลอดระยะเวลาวิกฤต คือช่วง 24–28 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษามีดังนี้

          1. ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ ถ้าไข้สูงมาก ยาลดไข้ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, Ibuprofen, Steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

          2. ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่

          3. ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา

          4. ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ Hematocrit เป็นระยะ ๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ Hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า น้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย

          สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษา เพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าวด้วยสารน้ำพลาสมา หรือสาร Colloid (Dextran-40) อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

 

          อาการแสดงที่เป็นสัญญาณอันตรายของผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีอย่างรุนแรง (Severe Dengue)

          จะมีอาการแสดงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ 1.มีภาวะช็อกจากการรั่วของพลาสมา ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น 2.มีเลือดออกผิดปกติ และ 3.มีการทำงานของอวัยวะล้มเหลว เช่น ภาวะตับวาย ไตวาย การหายใจล้มเหลว ความรู้สึกตัวลดลง เป็นต้น

          แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตอาการ อาการแสดง ค่าความเข้มข้นของเลือด ที่เป็นสัญญาณอันตรายก่อนผู้ป่วยจะมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ได้แก่ อาเจียนรุนแรง ปวดท้องหรือกดเจ็บที่ท้อง ตับโต ซึมลง หายใจลำบาก เลือดออกจากเยื่อบุต่าง ๆ (เช่น เลือดกำเดา เลือดออกไรฟัน) เลือดออกในจอม่านตา มีการบวมจากการรั่วของพลาสมา ปัสสาวะลดลง เลือดข้นขึ้น ร่วมกับมีการลดลงของจำนวนเกล็ดเลือด

          การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะในระยะแรกที่ยังมีไข้ และสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ดังนี้

          1. ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่บ่อย ๆ 2.เช็ดตัวช่วยลดไข้เป็นระยะ ๆ 3.ให้อาหารอ่อน งดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด 4.กินยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามกินยาแอสไพริน หรือไอบรูโปรเฟน 5.เฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงไข้ลดประมาณวันที่ 3–4 หากผู้ป่วยฟื้นไข้ สดชื่นขึ้น แสดงว่าจะหายเป็นปกติ แต่ถ้าเข้าสู่ภาวะช็อกให้รีบนำกลับไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

          สัญญาณอันตราย หากเด็กหรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเดงกี มีสัญญาณอันตราย ในช่วงไข้ลดหลังจากป่วยมาระยะหนึ่ง ผู้ปกครองหรือญาติผู้ป่วยต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน ซึ่งหากผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์ได้เร็วทันท่วงที โอกาสเสียชีวิตจากโรคก็จะน้อยลง สัญญาณอันตรายจะมีอาการดังต่อไปนี้ คือ เบื่ออาหารมากขึ้น, กระหายน้ำตลอดเวลา, มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ, มีอาการซึมอ่อนเพลียมาก ไม่ดื่มน้ำ, ปวดท้องรุนแรงกะทันหันจนกระทั่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะช็อก (Shock) หรือใกล้ช็อก (Impeding Shock) ได้แก่ มือเท้าเย็น, กระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก, ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย, ชีพจรเต้นเบา เร็ว, ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ 4–6 ชั่วโมง, ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย ทั้งนี้ ในช่วงแรกระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการช็อกจะมีความรู้สติดี สามารถพูดจาโต้ตอบได้ จนดูเหมือนผู้ป่วยมีแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น แต่อาการจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

          การดูแลรักษาในโรงพยาบาล

           ระยะไข้ ลดไข้ด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้ร่วมด้วย รับประทานอาหารอ่อนหรือดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ อาหารหรือเครื่องดื่มให้งดเว้นสีแดง ดำหรือน้ำตาล ในรายที่อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด

          ระยะวิกฤต ในรายที่ไม่รุนแรง ถ้าเลือดข้นไม่มาก รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด แต่ในกรณีที่เลือดมีความเข้มข้นมาก แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ตามความรุนแรงของโรค ระยะเวลาการให้ประมาณ 1–2 วัน บางรายอาจต้องพิจารณาให้เลือดด้วยถ้ามีอาการเลือดออก

          ระยะฟื้นตัว เมื่อเริ่มมีผื่นคัน ปัสสาวะบ่อย แพทย์จะพิจารณาหยุดให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด และสำหรับปัญหาผื่นคันนั้น ต้องฟอกผิวหนังให้สะอาดและแห้งเสมอจะทุเลาอาการคันได้ แพทย์อาจให้ยาทา ในบางรายที่คันมาก ๆ แพทย์พิจารณาให้ยาแก้คันชนิดรับประทาน

  

         การดูแลเมื่อกลับจากโรงพยาบาล

          1. หลีกเลี่ยงการกระทำที่มีการกระทบกระแทกซึ่งจะทำให้มีเลือดออกประมาณ 1–2 สัปดาห์ เช่น การเตะฟุตบอล ขี่จักรยาน ถอนฟัน เป็นต้น

          2. กลับไปพบแพทย์ตามนัด โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง

          3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน

          4. แจ้งข่าวการป่วยให้เพื่อนบ้านได้ทราบและช่วยกันเฝ้าระวัง ถ้าใครมีไข้สูงต้องนึกถึงโรคไข้เลือดออกเสมอ ควรพาไปรับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ และตรวจติดตามจนกว่าไข้จะลงครบ 24 ชั่วโมง จึงจะปลอดภัย

 

 

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

 

          ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก และถึงแม้จะมียาต้านไวรัสฯ จริง โอกาสในการใช้รักษาก็น้อยมาก เนื่องจากโอกาสการให้ยาอยู่ที่ 4–5 วัน แต่คนไข้มักจะมาพบแพทย์ช้า โอกาสการให้ยาจึงเหลือเพียง 1–2 วัน จึงไม่สามารถรักษาเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ความหวังจึงอยู่ที่ “วัคซีนป้องกันโรค” ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศมีการลงทุนเป็นพันล้านเหรียญ ในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกรวม 4 สายพันธุ์ โดยใช้โปรตีนเปลือกหุ้มของเชื้อไวรัสเดงกีไปใส่ในไวรัสไข้เหลือง เพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกขึ้นในร่างกาย โดยพบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 60 เท่านั้น เนื่องจากพบว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันในบางสายพันธุ์ ขณะที่บางสายพันธุ์ก็สร้างได้ต่ำมากหรือเกือบวัดไม่ได้เลย และยังพบว่าเมื่อติดเชื้อไวรัสแล้ว ไวรัสจะปล่อยโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาชื่อ NS1 ซึ่งเป็นพิษทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปล่อยสารน้ำออกมา และมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว จึงยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันจึงพยายามนำ NS1 มาใส่ไว้ในวัคซีนด้วย

          สำหรับประเทศไทยแล้ว นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และ ศ.ดร.สุธี ยกส้าน เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลกที่สามารถพัฒนาให้เชื้อไวรัสเดงกีอ่อนฤทธิ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และล่าสุด (17 พ.ย.58) ศ.ดร.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาวัคซีนเมื่อปี 2552 แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรม จึงได้มอบสิทธิในการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น สำหรับวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วไม่ได้ก่อโรค แต่จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ผ่านการทดลองในลิงแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพดี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเดง กีได้ 100% ทุกสายพันธุ์ภายในเข็มเดียว โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายใน 14–28 วัน และมีภูมิคุ้มกันยาวนานประมาณ 5–10 ปี”

          “ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยในคน เริ่มดำเนินการในปี 2559 โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรกจะทดลองในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มตัวอย่าง 20–50 คนใช้เวลา 1 ปี เฟสที่ 2 ทดลองฉีดในคนไทย เพราะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาตลอด โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100–400 คน ใช้เวลาในการศึกษา 2 ปี และเฟสที่ 3 ดำเนินการในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยมีประชากรกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 5,000 คนขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี จึงคาดว่าน่าเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า” ศ.ดร.สุธี ยกส้าน กล่าวเพิ่มเติม

          นอกจากนี้ (13 พ.ย.58) ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้เลือดออก อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมงานวิจัย (สกว.) กล่าวในงาน “ไขความจริงวิทยาศาสตร์ของไข้เลือดออก” ว่า “สำหรับประเทศไทยกำลังมีการวิจัยของนักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.ที่พัฒนาวัคซีนชนิดพ่นจมูกเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีสายพันธุ์ที่ 3 (DEN–3) ซึ่งเป็นชนิดที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ได้ยากที่สุด โดยทำเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยใส่ไว้ในอนุภาคชนิดหนึ่ง ซึ่งจะนำเชื้อเข้าไปสู่ภูมิคุ้มกันได้โดยตรง จึงทำให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ขณะนี้พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในหลอดทดลอง และอยู่ระหว่างการนำไปสู่การทดลองในสัตว์ และการทดลองทางคลินิกต่อไป ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี”

          ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า “ปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเดงกีในหลายประเด็น คือ การค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เมื่อช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อยากเรียกว่า สายพันธุ์ที่ 5 โดยพบเชื้อนี้ในยุงและลิงที่อยู่ในป่าแถบชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งหากสายพันธุ์นี้สามารถพัฒนาตัวเองเพิ่มจำนวนไวรัสจนสามารถเข้าเซลล์มนุษย์ได้ ก็จะทำให้เกิดการติดต่อมาสู่คน ซึ่งลิงและมนุษย์มีความใกล้เคียงกัน โอกาสเข้าสู่คนจึงค่อนข้างสูง ที่น่ากังวลคือ ถ้าสายพันธุ์ที่ 5 ออกจากป่ามาสู่เมือง ซึ่งอาจเกิดจากการท่องเที่ยวป่า ก็จะทำให้การควบคุมโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า เชื้อไวรัส เดงกีสามารถถ่ายทอดได้จากการบริจาคเลือด โดยพบจำนวน 4 รายแล้ว ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสเดงกีก็ถือเป็นเชื้อที่ไม่มีการตรวจในการบริจาคเลือด ดังนั้น หากประชาชนรู้สึกตัวว่า มีไข้ ก็ไม่ควรบริจาคเลือด”

          ส่วนเมื่อกลางปีที่แล้ว ศ.พญ.อุษา ทิสยาก นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เมื่อ 24 ก.ค.57 ไว้ว่า “การผลิตวัคซีนไข้เลือดออกต้นแบบเป็นการวิจัยร่วมของ 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์ความสำเร็จครั้งนี้ในวารสารแลนด์แซท (Landsat) ที่เป็นวารสารทางการแพทย์ระดับโลก ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งจากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 2–14 ปี จำนวนกว่า 1 หมื่นราย โดยการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน และ 12 เดือน พบว่า สามารถป้องกันโรคได้ 56.5% ลดความรุนแรงของโรคได้ 88.5% และป้องกันได้ 4 สายพันธุ์” และในงานเดียวกันนี้ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกที่ไทยร่วมวิจัยกับอีก 4 ประเทศและภาคเอกชนนั้น ทราบว่าให้ผลดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกได้ 56.5% คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในไทย”

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาวัคซีนให้ครบวงจรอีกมาก (เช่น ไทยเรายังไม่มีโรงงานวัคซีนต้นแบบมาตรฐาน GMP หรืองบประมาณ ทุนในการวิจัยมีจำนวนจำกัด เป็นต้น) ซึ่งส่งผลทำให้ศักยภาพด้านวัคซีนของไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้ง ๆ ที่เรามีนักวิจัยหลาย ๆ ท่านที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง ก็คงต้องทำใจจนกว่าเรื่องนี้จะถูกยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนดังที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรมอยู่ในสัดส่วนลำดับต้น ๆ ของงบอุดหนุนจากภาครัฐ

 

 

 

การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก

 

          เนื่องจากในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงรอวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันโรคและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ก็คือ การควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย การกำจัดยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด และการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกแบบมีส่วนร่วม

 

         1. การควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

          ประชาชนสามารถป้องกันตนเองและบุตรหลานมิให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่อยู่ในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้แก่ ภาชนะขังน้ำต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในบ้าน และบริเวณโดยรอบบ้าน เช่น โอ่งน้ำดื่ม-น้ำใช้ ถังซีเมนต์ใส่น้ำในห้องน้ำ ห้องส้วม จานรองกระถางต้นไม้ รางน้ำฝนที่อุดตัน ภาชนะใส่น้ำให้สัตว์เลี้ยง อ่างบัว หรือแม้แต่เศษวัสดุ เศษภาชนะแตกหักที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว แต่ยังคงขังน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์เก่า กระป๋อง กะลา ไห ขวด เป็นต้น โดยสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการ ดังนี้ คือ

          • ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิดเสมอ สำหรับโอ่งดินเผาหรือโอ่งซีเมนต์การปิดด้วยฝาเพียงชั้นเดียวไม่สามารถป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ได้ ควรใช้ผ้ามุ้งหรือตาข่ายไนล่อนหุ้มฝาโอ่งอีกชั้นหนึ่งก่อนปิด คือทำเป็นแบบฝาปิด 2 ชั้น

          • ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น ถังซีเมนต์เก็บน้ำในห้องน้ำ อาจใส่ปลากินลูกน้ำจำพวกปลาหางนกยูง หรือปลาสอด หรือปลาหัวตะกั่ว จำนวน 2–10 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะนั้น ๆ หากปลาหายหรือตายไป ก็ใส่ปลาเพิ่ม หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ทรายอะเบท (Abate Sand Granules) ซึ่งความจริงแล้ว ทรายอะเบท คือทรายเคลือบสารทีมีฟอส (Temephose) 1% ยี่ห้ออะเบท (หรือตราพระอาทิตย์) โดยสารทีมีฟอสนี้จะออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทการหายใจของลูกน้ำยุงชนิดต่าง ๆ โดยใช้ในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 1 ช้อนชา (10 กรัม) ต่อน้ำ 100 ลิตร (5 ปี๊บ) จะช่วยควบคุมไม่ให้มีลูกน้ำได้ประมาณ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้น้ำในภาชนะ เมื่อเริ่มมีลูกน้ำเกิดขึ้นให้ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำซ้ำอีก ทรายกำจัดลูกน้ำนี้ สามารถใช้กับน้ำเพื่อการบริโภคได้ จะถูกขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อในที่สุด ตามปกติจะถูกขจัดออกหมดภายใน 24 ชม. แต่ต้องถูกใช้ในอัตราที่ผู้ผลิตแนะนำไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำเพื่อการบริโภคควรเลือกใช้วิธีปิดฝาให้มิดชิดจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

          • ใช้ขันหรือกระชอนตักลูกน้ำและตัวโม่งที่ลอยอยู่ในภาชนะเก็บน้ำ เททิ้งไป ภาชนะที่ใช้รองน้ำต้องคอยสังเกตดูว่ามีรอยไข่ยุงลายดำ ๆ ติดอยู่หรือไม่ เพราะไข่ยุงลายติดอยู่ได้นานเป็นปี หากพบให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกหรือใช้แปรงขัด ควรขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง

          • ล้างและเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ขวดหรือภาชนะปลูกพลูด่างและไม้ประดับอื่น ๆ ที่ต้องแช่น้ำ เป็นประจำทุกสัปดาห์

          • สำหรับจานรองขาตู้กันมด มีหลายวิธีให้เลือกใช้ตามความสะดวก เช่น ใส่เกลือแกง 2 ช้อนชา หรือน้ำส้มสายชูชนิด 5% จำนวน 1 ช้อนชาครึ่ง หรือผงซักฟอกครึ่งช้อนชาต่อจานรองขาตู้ 1 ใบ ควรผสมเกลือหรือผงซักฟอกกับน้ำให้เข้ากันดีก่อนเทใส่จานรองขาตู้ นอกจากนี้ อาจใส่ชันหรือขี้เถ้าในจานรองขาตู้แทนการใส่น้ำก็ได้ ใช้ขี้ผึ้ง จาระบี น้ำมันเครื่อง น้ำมันเหลือใช้ทารอบขาตู้กับข้าวแทนการใช้น้ำหล่อขาตู้ หรืออาจใช้วิธีเทน้ำเดือดลงในจานรองขาตู้ทุกสัปดาห์ก็ได้ ซึ่งถ้าหากในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีลูกน้ำเกิดขึ้น ลูกน้ำก็จะถูกน้ำลวกตายไป (แต่อาจจะฟังดูโหดร้ายไปนิดนึง)

          • ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น เศษภาชนะและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้คว่ำหรือเก็บทำลาย อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รองรับน้ำได้ ดัดแปลงยางรถยนต์เก่าให้เป็นที่ปลูกพืช เป็นถังขยะ ทำฐานเสา หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เก็บกักน้ำไว้ไม่ได้ แต่หากจะเก็บเพื่อใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้าต้องปกคลุมให้มิดชิด อย่าให้มีน้ำขังในจานรองกระถางต้นไม้ เทน้ำที่ขังทิ้งทุก 7 วัน หรือใส่ทรายธรรมดาลงไปให้มีความลึก ¾ ส่วนของความลึกของจานรองนั้น เพื่อให้ทรายดูดซับน้ำไว้

 

         2. การกำจัดยุงลาย ทำได้หลายวิธี เช่น

          • ฉีดด้วยน้ำผสมผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน หรือแชมพู หรือสบู่เหลว ผสมในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อน้ำ 4 ส่วน (สำหรับการทดลองใช้ครั้งแรก เมื่อใช้ได้คล่องดีแล้วสามารถเจือจางลงได้ถึง 20 เท่า) ใส่ในขวดสเปรย์ที่ใช้ฉีด โดยฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่กลุ่มยุงให้ถูกตัวยุง บริเวณที่ยุงชอบเกาะพักเช่น ซอกมุมบ้านหรือเสื้อผ้าที่แขวนไว้ มุมผนังในห้องน้ำ โดยสารลดแรงตึงผิว (สารซักล้าง) เหล่านี้ที่ฉีดพ่นไปนั้น มีคุณสมบัติจับเปียก กระจายตัวปกคลุมและปิดกั้นระบบหายใจของตัวแมลง ทำให้เยื่อบุรูหายใจ (Spiracle) ของแมลงสูญเสียสภาพการควบคุมความสมดุลของน้ำภายในตัวแมลง (Dehydration) และทำให้แมลงตายในที่สุด

          • ใช้กับดักไฟฟ้า โดยแสงไฟจะล่อให้ยุงบินมาสู่กับดักแล้วก็จะถูกกระแสไฟฟ้าช็อตตายไป

          • ใช้ไม้ช็อตไฟฟ้ารูปร่างคล้ายไม้เทนนิส ให้พลังงานจากถ่านไฟฉายหรือชาร์จแบตเตอรี่ เมื่อเปิดเครื่องจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านซี่ลวด เวลาใช้ต้องโบกให้ถูกตัวยุง ยุงจะถูกไฟช็อตตาย

          • ใช้สเปร์ยกระป๋องกำจัดยุง ที่มีสารเคมีและสารผสมที่ออกฤทธิ์ฆ่ายุงลายได้ทั้งแบบสูตรน้ำมันและสูตรน้ำ มุ่งเน้นการฉีดภายในอาคารบ้านเรือน โดยเริ่มต้นฉีดพ่นบริเวณที่เห็นยุงบินหรือในบริเวณที่เป็นที่อับชื้น เช่น มุมห้อง หลังตู้ ใต้โต๊ะ ใต้เตียง เสียก่อน แล้วฉีดในพื้นที่โล่ง ๆ ของห้องเป็นลำดับถัดมา ควรใช้เวลาในการฉีดพ่นให้น้อยที่สุดเพียง 15 วินาทีเท่านั้น เนื่องจากผู้ฉีดพ่นอาจสัมผัสโดนละอองที่ลอยอบอวนอยู่ในห้องได้หากอยู่ในห้องนานเกินไป เสร็จแล้วให้รีบออกจากห้องพร้อมทั้งปิดประตูห้องเพื่ออบให้ยุงสัมผัสโดนละอองสารเคมีให้นานเพียงพอที่จะตายได้ โดยอบทิ้งไว้ประมาณ 15–20 นาที จึงเปิดประตู หน้าต่าง ให้มีการระบายละอองสารเคมีที่หลงเหลือออกไปจนกว่ากลิ่นสารเคมีจะจางลง หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดพื้นห้อง เพื่อกำจัดสารเคมีที่ตกค้างตามพื้น ในกรณีที่พบมียุงลายบินหรือเกาะพักอยู่รอบ ๆ ตัวบ้านก็สามารถฉีดพ่นสเปร์ยได้โดยพ่นใส่โดยตรงขณะที่ลมสงบ

          • ใช้เครื่องพ่นสารเคมีกำจัดยุงแบบหมอกควันแบบสะพายไหล่และยูแอลวี (ฝอยละเอียด) แบบสะพายหลัง โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีจุดมุ่งหมายในการฆ่ายุงที่เกิดใหม่ ยุงในระยะแพร่เชื้อ และยุงเกิดใหม่ที่ได้รับเชื้อจากแม่ยุงตอนวางไข่ แต่มักประสบปัญหาที่เจ้าบ้านไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพ่นยาภายในบ้าน จึงทำได้แค่บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่ตรงจุด เพราะลูกน้ำตามท่อน้ำเป็นยุงรำคาญ

 

         3. การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด เป็นวิธีการลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงพาหะ ดังเช่น

          • นอนในมุ้ง (ปัจจุบันก็มีมุ้งที่ชุบสารเคมีซึ่งใช้ในการป้องกันยุงได้ดีขึ้นและช่วยลดประชากรยุงที่มาเกาะ) หรือในห้องที่มีมุ้งลวด

          • สวมเสื้อผ้าป้องกันร่างกายให้มิดชิด สามารถลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงได้ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีทึบ (เช่น สีดำ) ที่ดึงดูดยุงให้มากัดมากกว่าเสื้อผ้าสีอ่อน

          • ใช้สารทาป้องกันยุงหรือสารไล่ยุง (Repellent) อาจเป็นสารเคมีหรือสมุนไพร ซึ่งเมื่อทาแล้วยุงจะได้กลิ่นและจะไม่เข้ามากัด หรือลดการกัดลงได้ อาจอยู่ในรูปแบบน้ำ ครีมหรือแป้งก็ได้ แต่ก่อนที่จะใช้ควรมีการทดสอบการแพ้ของสารที่ใต้ท้องแขนก่อนว่าแพ้สารนั้นหรือไม่ ส่วนประสิทธิภาพของสารไล่ยุงจะอยู่ติดนานแค่ไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ด้วย เช่น ลักษณะผิว อุณหภูมิร่างกาย เป็นต้น

          • ใช้ยาจุดกันยุง ซึ่งมีสารระเหยออกฤทธิ์ขับไล่ยุง สารออกฤทธิ์บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ในการเลือกซื้อควรตรวจดูสารออกฤทธิ์อย่างละเอียด ควรเลือกสารที่มีอันตรายน้อย เช่น สารในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ หรือสารสมุนไพร เพราะค่อนข้างปลอดภัยต่อมนุษย์

          • ใช้ไม้ตบไฟฟ้า เป็นวิธีป้องกันตนเองที่สะดวก ง่าย และสามารถฆ่ายุงให้ตายทันที

          • ใช้เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกให้สะดวกและเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน เช่น อุปกรณ์ไอระเหยไล่ยุง ที่มีสารออกฤทธิ์ Metofluthrin และมีพัดลมช่วยกระจายไอระเหย สามารถไล่ยุงได้ผลดี แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับไล่ยุงโดยใช้คลื่นเสียง พบว่ามีผลต่อยุงตัวเต็มวัยได้น้อยมาก

          • ใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณของกลิ่นที่ใช้ป้องกันยุงกัดได้ โดยใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของสมุนไพร เช่น ใบ ผิว หัว เหง้า ต้น (ตามความเหมาะสม) มาขยี้วางไว้ใกล้ตัวหรือทาที่ผิวโดยตรง หรือจะนำมาโขลกผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้วกรองเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำมาทาผิวหนังก็ได้ ยกตัวอย่างสมุนไพรป้องกันยุง เช่น มะกรูด สะระแหน่ กระเทียม กะเพรา ว่านน้ำ แมงลัก ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส สาบเสือ มหาหงส์ เป็นต้น

          • ปลูกต้นไม้หรือพืชสมุนไพรกันยุง ที่ช่วยส่งกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ เพื่อให้ยุงไม่เข้ามากล้ำกลายต่อคนในบ้าน ซึ่งต้นไม้กันยุง เช่น มอสซี่ บัสเตอร์ (Mozzie Buster) จะส่งกลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกมาจากต้น ซึ่งจะมีสารอยู่สองชนิด คือ สารที่มีคุณสมบัติเป็นสารดึงดูดยุง (Attractant) และสารไล่ยุง (Repellent) โดยเมื่อต้นที่ยังเล็กอยู่จะมีสารดึงดูดยุงมากกว่าสารไล่ยุง จึงควรปลูกไว้ไกล ๆ บ้านเพื่อล่อยุงไม่ให้เข้ามาในบ้าน แต่เมื่อต้นโตขึ้นพอสมควร สารดึงดูดยุงจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง สังเกตได้โดยใช้วิธีดมดูว่ามีกลิ่นตะไคร้หอมหรือไม่ จนสารไล่ยุงสามารถแสดงคุณสมบัติได้เต็มที่ ก็ค่อยย้ายมาปลูกในกระถาง แล้วนำมาตั้งไว้ในบริเวณที่ไม่ต้องการให้ยุงเข้ามารบกวน ตัวอย่างต้นไม้กันยุงอื่น ๆ เช่น แคทนิป ลาเวนเดอร์ เจอเรเนียม ส่วนพืชสมุนไพรกันยุง เช่น ต้นสะเดา โหระพา จิงจูฉ่าย ฯลฯ

          • ไม่อยู่ในบริเวณที่อับลม หรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย

          • หมั่นอาบน้ำชำระล้างกายให้สะอาด ปราศจากกลิ่นเหงื่อไคล เพราะถ้ามีเหงื่อไคลจะช่วยดึงดูดยุงให้เข้ามากัดมากขึ้นกว่าปกติ

 

         4. การรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกแบบมีส่วนร่วม

          เป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในระยะยาวได้ (จากการสำรวจคนไทยพบว่ารู้จักไข้เลือดออกกว่า 80% แต่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรค กำจัดลูกยุงลายเพียง 20%) เพราะทุกคนจะได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มใจและแข็งขันในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินการในเชิงรุกมากกว่ารับในการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้เลือดออกแบบบูรณาการ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น อบจ.และอบต.) ผู้นำในระดับชุมชน ท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนศูนย์เด็กเล็ก สถานพยาบาล โรงเรียน วัด โรงงาน สถานประกอบการ ไปจนถึงหน่วยพื้นฐาน นั่นคือ ระดับครัวเรือน โดยมาตรการแบบมีส่วนร่วมที่ใช้ ยกตัวอย่างบางส่วน เช่น

          • ส่งเสริม สนับสนุน ท้องถิ่น ชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนให้จัดระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงข้อมูลกับทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดอย่างเสริมพลังกัน

          • ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน แก้ไขและพร้อมรับปัญหาโรคไข้เลือดออกระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งการเตรียมทีมเฝ้าระวังและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายภาคประชาชน

          • ส่งเสริม สนับสนุน ให้ชุมชน ท้องถิ่น มีและใช้มาตรการทางสังคมในการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้เลือดออ

          • ส่งเสริม สนับสนุนการใช้ตะไคร้หอม และผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมกันยุง รวมถึงใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในการกำจัดลูกน้ำ

          • ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมรณรงค์ “รวมพลังเร่งรัดกำจัดลูกน้ำ” ตามปฏิทินของกระทรวงสาธารณสุขโดยดำเนินการกำจัดลูกน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ทั้งโรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน โรงธรรม แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน ตลาด ศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ

          ตามที่การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกนั้น มีมาตรการหลักที่เน้นไปที่การควบคุมยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะการทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายในภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขังสะอาดในบ้านเรือน หรือชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่ ดังนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาโรคไข้เลือดออกให้หมดไปจากชุมชนนั้น ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้นำเอาแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมาเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพ ดังเช่นกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ ในระดับกระทรวงก็ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกฉบับใหม่ (ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมในช่วงระยะเวลา15 มิ.ย.2558–15 มิ.ย.2562) ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันดำเนินการ 3 ประการ คือ 1.จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 2.ป้องกันควบคุมและประชาสัมพันธ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบ และ 3.รณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี

          การดำเนินการร่วมกันในแต่ละกระทรวง ได้ใช้แนวคิด “การจัดการสิ่งแวดล้อม” และจัดกิจกรรม “Big Cleaning Day” ร่วมกับภารกิจหลักที่ดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน โดยจัดขึ้นทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์หลักในการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับชุมชน และประชาชน ที่จะกระตุ้นให้ร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน และครัวเรือน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้บ้านเรือนสะอาด และได้กำจัดหรือทำลายแหล่งลูกน้ำยุงไปด้วย เช่นที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน และดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และในศาสนสถาน ให้สะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

          สำหรับรูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกแบบมีส่วนร่วมนี้ ได้มีผลงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่เป็นระบบการเฝ้าระวังไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน “ลานสกาโมเดล” ทีดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รองผู้อำนวยการ หน่วยบูรณา การวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area–Based Collaborative Research) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดหวังว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนทั่วประเทศ ที่สามารถสร้างมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่เฝ้าระวังในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง เป็นผลงานวิจัยบนความร่วมมือระหว่าง สกว. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช หัวข้อเรื่อง “รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดย รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง นักวิจัยจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า (17 พ.ย.58) “อ.ลานสกา จ. นครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีอัตราการป่วยด้วยไข้เลือดออกซ้ำ ๆ ในบรรดา 23 อำเภอของจังหวัด โดยสถิติการป่วยโรคนี้ย้อนหลัง 5 ปี (2552–2556) สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดคือ มากกว่า 50 รายต่อประชากร 1 แสนคน เมื่อมีการทำวิจัยโดยการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาโรคนี้ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับการดำเนินการในภาคครัวเรือน พบว่าอัตราการป่วยลดลงในปี 2557 และไม่พบอัตราการตาย”

          “จากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อค้นพบว่า เราสามารถสร้างนวัตกรรมในการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำระดับหมู่บ้าน ทำให้รู้แต่ละหมู่บ้านว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด เกิดรูปแบบการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ครัวเรือนถึงภาพรวมของอำเภอ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ประจำหมู่บ้านเป็นกลุ่มที่ดูแลเข้าถึงทุกครัวเรือน มีการเก็บข้อมูลดัชนีลูกน้ำยุงลายทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปคำนวณ ประชุมวางแผน อาจกล่าวได้ว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีส่วนกระตุ้นให้แกนนำชุมชน อสม. ตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกและการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมครอบคลุมทั้งอำเภอ มีนวัตกรรมเกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเสี่ยง สมรรถนะชุมชนและรูปแบบการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกของพื้นที่เสี่ยงสูง รวมถึงในส่วนของโปรแกรมดัชนีลูกน้ำยุงลายนั้น สามารถนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่พื้นที่อื่น ๆ ได้” รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง กล่าวสรุป

           หมายเหตุ ดัชนีลูกน้ำยุงลาย หมายถึง การออกสำรวจบ้าน (ทั้งบริเวณโดยรอบและในบ้าน) ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อหาจำนวนภาชนะที่สำรวจ จำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย จำนวนบ้านที่สำรวจ จำนวนบ้านที่สำรวจพบลูกน้ำยุงลาย แล้วนำข้อมูลทั้ง 4 ส่วนนี้มาคำนวณหาค่าดัชนี ยกตัวอย่างสักหนึ่งดัชนี เช่น

          • House Index (HI) หรือ Premise Index หมายถึง จำนวนบ้านที่สำรวจพบลูกน้ำใน 100 บ้าน มีสูตรการคำนวณ คือ

 

 

           ส่วนการแปรผลนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดค่าดัชนี HI ไว้ว่า ถ้าค่า HI > 10 จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อโรคไข้เลือดออก ส่วนพื้นที่เสี่ยงต่ำ ค่า HI < 1 เหล่านี้เป็นต้น ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่า HI < 1.0% ในกรณีที่ดำเนินการกำจัดยุงลายพาหะในพื้นที่ คือเมื่อมีการกำจัดยุงลายในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อสำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ดังกล่าวทุกหลังคาเรือน ค่า HI จะต้องน้อยกว่า 1.0% ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ก็เพื่อนำข้อมูลจากการประเมินที่ได้นี้ มาใช้ในการประเมินสถานการณ์ และวางแผนการควบคุมโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้วก็ยังไม่มีการกำหนดค่าดัชนีต่าง ๆ ไว้อย่างแน่ชัด ว่าถ้าค่าดัชนีมีค่าเท่าไรแล้วต้องมีกิจกรรมหรือต้องดำเนินการใด ๆ

 

ตารางแสดง ข้อแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกและโรคไข้หวัด

 

 

          อย่างไรก็ดี หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยในเรื่องใดเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ http://www.thaivbd.org/n/home

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก

          • คู่มือวิชาการโรคติดเชื้อเดงกี และโรคไข้เลือดออกเดงกี ด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิงหาคม 2558.

          • โรคไข้เลือดออกสำหรับประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม โดย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิงหาคม 2558.

          • แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสำหรับครอบครัว โดย ศูนย์ไข้เลือดออกสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สิงหาคม 2558.

          • แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมวิชาชีพ ร่วมกับสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิงหาคม 2558.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด