Special Report

ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ทุ่มงบลงทุน 43,000 ล้านบาท ขยายแผนธุรกิจ 5 ปี สู่เส้นทางความสำเร็จรอบด้าน

กองบรรณาธิการ

 

 

บุคคลในภาพ (จากซ้าย)
1. นายไกรทส องค์ชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท โฮลดิ้ง จำกัด
2. นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
3. นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. มร.เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)
5. คุณวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

 

     หลังจากที่ได้มีการควบรวมกิจการกับบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป เริ่มเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอมองเห็นโอกาสที่ดีและสำคัญอย่างยิ่งจากโครงการของรัฐบาลที่จะพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor–EEC) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของดับบลิวเอชเอ อันได้แก่ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจดิจิทัล ล้วนสอดรับกับเป้าหมายและการพัฒนาของโครงการ EEC ในการจัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลและโรงงานหรือคลังสินค้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยทำให้ซูเปอร์คลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นได้

 

          “ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปมีความพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการ EEC ให้เกิดขึ้น” คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว “เหมราชฯ บริษัทลูกของเรา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคลัสเตอร์ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และตอนนี้ เราก็มุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคตด้วย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล การบิน หุ่นยนต์ พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และสุขภาพ” เธอกล่าวเพิ่มเติม

 

กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เตรียมทุ่มงบ 14,000 ล้าน

 

          กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ ซึ่งมีชื่อเสียงจากธุรกิจหลักที่พัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซ็ปท์ “Built-to-Suit” (BTS) จะเติบโตขึ้นด้วยการลงทุนเพิ่มเติมอีก 14,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี เพื่อขยายกิจการด้านโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ

 

          ในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอจะเน้นเป้าหมายหลักสองอย่าง เป้าหมายแรกคือ มุ่งหน้าพัฒนาอาคารมูลค่าสูงให้เช่า ทั้งคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit (BTSW) โรงงานแบบ Built-to-Suit (BTSF) Warehouse Farm ที่มีทั้งคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit และแบบสำเร็จรูป (Ready-Built) คลังสินค้าหรือโรงงานแบบ Built-to-Own (BTO) ตามต้องการของลูกค้า และสำนักงานแบบ Built-to-Suit

 

          เป้าหมายที่สองคือ บริษัทจะสนับสนุนและใช้โอกาสจากนโยบายของรัฐบาล ที่จะสร้างซูเปอร์คลัสเตอร์ใหม่ ๆ ตามแผนการผลักดันโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล “ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ ในอีสเทิร์นซีบอร์ด”

 

          คุณจรีพร กล่าว “เราตั้งใจว่าจะพัฒนาพื้นที่ราว 500 ไร่ ไว้รองรับอุตสาหกรรมการบินและหุ่นยนต์บริเวณใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์หลัก สำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ขนส่งสินค้า และเครื่องจักรอัตโนมัติ” และในเดือนที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอเพิ่งส่งมอบโรงงานผลิตอากาศยานแบบ Built-to-Suit ขนาด 15,600 ตารางเมตร ให้แก่บริษัทโอมาดะ อินเตอร์เนชั่นแนล จากประเทศสหรัฐอเมริกา

  

          สำหรับตลาดต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มีการวางแผนที่จะขยายพื้นที่บริการราวร้อยละ 10 ภายในระยะเวลา 5 ปีในประเทศอินโดนีเชีย และประเทศต่าง ๆ อาทิ เวียดนาม และต่อไป อาจจะเป็นพม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการสูงในด้านอุตสาหกรรมภายในประเทศ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่คลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ขนาด 25,000 ตารางเมตร ในเวสต์ จาการ์ตา ซึ่งบริษัทลงทุนเองทั้งหมดด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นอีกรายในช่วงปี 2560 เพื่อพัฒนาคลังสินค้าในสุราบายา

 

          “อินโดนีเซียและเวียดนามมีความต้องการบริการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและมีมูลค่าเพิ่ม” คุณจรีพร กล่าวอธิบาย “แผนของเราที่จะไปลงทุนในประเทศเหล่านี้คือ เติบโตไปด้วยกันทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยอาศัยการผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของเราเอง รวมไปถึงพันธมิตรบริษัทใหญ่ ๆ ของเรา อาทิ บริษัท ไดวะ เฮ้าส์ อินดัสทรี” ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล และเคพีเอ็น เพื่อพัฒนาคลังสินค้าระดับเวิลด์คลาส และเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทยังได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ไดวะ เฮ้าส์ อินดัสทรี ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านโรงงานและคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit จากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มีการลงทุนในประเทศเวียดนามด้วย

 

          ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ของดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่คลังสินค้าโลจิสติกส์แบบ Built-to-Suit โรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูป รวม 2.2 ล้านตารางเมตร และในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 ล้านตารางเมตรในประเทศไทย และประมาณ 300,000 ตารางเมตรในต่างประเทศ

 

กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท

 

          ในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ของดับบลิวเอชเอ วางแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่งในอีสเทิร์นซีบอร์ด และอีก 2 แห่งในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย และเริ่มการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน

 

          ในประเทศไทย จากการควบรวมกิจการกับเหมราชฯ ที่มีประสบการณ์กว่า 27 ปีด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ทำให้กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ มีนิคมอุตสาหกรรมคุณภาพระดับโลกเปิดให้บริการแล้ว 8 แห่ง และอีก 2 แห่งในอีสเทิร์นซีบอร์ดและสระบุรีที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทั้งหมดตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ โดยมีที่ดินรวมกว่า 45,000 ไร่ ทำให้กลุ่มดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนการตลาดร้อยละ 32 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

 

          ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอมีที่ดินรอพัฒนาอีก 11,000 ไร่ และวางแผนจะซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกในปี 2561 และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่อีก 4 แห่งในปีถัดไป นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทุกแห่งได้รับการออกแบบและพัฒนาให้เป็น “สมาร์ท ดิสทริค” และครบครันด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัย โดยยังคงเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม อาทิ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตอีก 5 กลุ่ม คือ ดิจิทัล การบิน หุ่นยนต์ พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

 

          “อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ รวมทั้งนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป” มร.เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ ของกลุ่มดับบลิวเอชเอ อธิบาย “นักลงทุนมองว่าประเทศไทยน่าสนใจ เพราะทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ  ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนที่ไม่แพง และทักษะของบุคลากร ยังไม่ต้องพูดถึงคุณภาพชีวิต” เขากล่าว  

 

          กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เริ่มต้นจากเวียดนาม โดยอาศัยเครือข่ายลูกค้าของบริษัท และระบบคมนาคมในภูมิภาคที่มีการพัฒนาให้เชื่อมโยงที่ดีขึ้น ทั้งถนน รถไฟ ระบบขนส่งทางอากาศและทางเรือ การสัญจรของประชาชน และการพัฒนาด้านการค้า

 

          “เราวางแผนที่จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขึ้น 2 แห่งในเวียดนาม รวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่” มร. เดวิด นาร์โดน กล่าว “เป้าหมายแรกของเราในเวียดนามคือ อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและสิ่งทอ”

 

กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ทุ่ม 11,000 ล้านบาท

 

          ดับบลิวเอชเอวางแผนที่จะลงทุนงบประมาณ 11,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้าในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มของนิคมอุตสาหกรรม จะยังคงพัฒนาและเติบโตธุรกิจควบคู่ไปกับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในและต่างประเทศ

 

          ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 13 โครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวม 2,537 เมกะวัตต์ ในราวปี 2562 ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และโซล่าร์รู้ฟท็อป ที่กำลังดำเนินการอยู่ 6 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 1,655 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) อีก 7 แห่งที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมอีก 882 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึง 2562 โดยดับบลิวเอชเอกรุ๊ปจะมีสัดส่วนการถือครองกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2562 รวมทั้งสิ้น 538 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้สัญญาร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในไทยและต่างประเทศ อาทิ โกลว์ เอ็นเนอร์จี กัลฟ์ พาวเวอร์ และ บี กริม

 

          และนอกเหนือไปจากโรงไฟฟ้าแบบทั่วไปแล้ว ดับบลิวเอชเอยังได้พัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกอื่น อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ราว 2.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคา 2 ล้านตารางเมตร ยิ่งไปกว่านั้น ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการพลังงานจากขยะร่วมกับพันธมิตรอีกด้วย

 

          ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งให้บริการน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบจัดการน้ำเสีย จะยังคงขยายบริการในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอทั้งหมด ซึ่งดับบลิวเอชเอกรุ๊ป เป็นผู้ให้บริการด้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตรวมถึง100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะพัฒนาเพื่อให้บริการไปยังพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม และต่างประเทศ

โดยธุรกิจกลุ่มนี้ไม่เพียงจะทำให้ลูกค้าของบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นใจ แต่ยังสร้างสัดส่วนรายได้จำนวนมากในรูปแบบของรายได้ต่อเนื่องที่มีกำไรสูง ผ่านเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไร

 

          “ทางด้านไฟฟ้า เราจะมองหาโอกาสที่จะลงทุนมากขึ้นในโครงการโรงไฟฟ้าแบบเดิมร่วมกับพันธมิตรของเรา ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม” มร.เดวิด นาร์โดน อธิบาย “สำหรับด้านสาธารณูปโภค เราวางแผนที่จะนำเสนอบริการที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยบริการจ่ายก๊าซธรรมชาติ และการสื่อสารผ่านใยแก้วนำแสง ทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรมของเราในประเทศไทย ส่วนต่างประเทศ เวียดนามและพม่าจะเป็นประเทศแรก ๆ สำหรับการลงทุนของกลุ่มธุรกิจนี้” เขากล่าวเพิ่มติม

 

ทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาทในกลุ่มธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม

 

          ดับบลิวเอชเอมีแผนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3-5 แห่ง ในช่วงปี 2559-2563 โดยศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่งแรกจะพร้อมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2559 ส่วนแห่งที่ 3 คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2561 ตามด้วยอีก 2 โครงการภายในปี 2565 ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณย่านพระราม 2 และวังน้อย  

 

          ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้จะให้บริการโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ให้เช่าและจัดหาบริการด้านอุปกรณ์ไอที คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า บริการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเครื่องจักรอัตโนมัติ เครื่องมือตรวจสอบและระบบควบคุม เครื่องหาปริพันธ์ระบบ ไปจนถึงบริการอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ยังมีบริการโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก (FTTx) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของดับบลิวเอชเอกรุ๊ปอีกด้วย

 

          กลุ่มเทคโนโลยีไอทีและการสื่อสารนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย ซึ่งดับบลิวเอชเอเล็งเห็นถึงความสำคัญและการเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยภายในอีกสามปีข้างหน้า เอเชียจะมีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ด้วยการเติบโตของระบบอีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และบทบาทของ “บิ๊กดาต้า” ที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

 

          ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ด้วยการเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรสำหรับบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมบริการและโซลูชั่นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ครบครัน อีกทั้งยังจับมือทำงานร่วมกันกับพันธมิตรผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย ในการให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

 

          “ในปัจจุบัน ดาต้าถือได้ว่าเป็น “ขุมทรัพย์ใหม่ (New Oil)” และเราตั้งใจที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย” คุณจรีพร จารุกรสกุล กล่าว “เราจะส่งมอบบริการโครงข่ายโทรคมนาคมและไอทีระดับเวิลด์คลาสให้แก่ลูกค้า พร้อมสร้างดาต้าโซลูชั่นและแพลตฟอร์มแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้า ทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ เติบโตและมีศักยภาพที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

 

          “ด้วยแผนธุรกิจ 5 ปี เส้นทางสู่ความสำเร็จ เราหวังว่า ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปของเราจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค และคาดว่า ในราวปี 2563 กรุ๊ปของเราจะมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรสูงเกิน 21,000 ล้านบาท” เธอกล่าวสรุป

 

โลโก้ใหม่

 

          ดับบลิวเอชเอกรุ๊ปเผยโลโก้ใหม่ ที่ออกแบบเพื่อสะท้อนถึงพละกำลังและการรวมกันเป็นหนึ่งของกลุ่มธุรกิจหลักทั้งสี่กลุ่มของบริษัท และเป้าหมายที่จะเป็น “พันธมิตรหนึ่งเดียว” ที่สามารถตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าได้ทุกด้าน

 

          โลโก้ใหม่ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท ที่เริ่มจากการพัฒนาคลังสินค้าคุณภาพชั้นนำระดับโลก ด้วยตัวหนังสือคำว่า WHA สีน้ำเงิน ที่หมายถึงบริษัทเดิมชื่อ “WHA Warehouse Asia” สีของโลโก้ได้รับการปรับใหม่ เพื่อให้ดูทันสมัย และมีเฉดสีที่อ่อนลง

 

          ส่วนเส้นคู่สีแดง ซึ่งในอดีตหมายถึงความมั่นคงของธุรกิจ ได้รับการปรับให้เป็นเส้นโค้งสีแดง เปี่ยมด้วยพลัง ความรวดเร็ว และบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง และโลโก้นี้ยังเป็นเครื่องหมายของโซลูชั่นด้านธุรกิจแบบครบวงจรที่กำลังขยายตัวของกลุ่ม สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศของบริษัทอีกด้วย 

 

 

 

 

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด