R&D Show Update

นวัตกรรมไทย เสริมประสิทธิภาพตามล่าอาชญากร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

 

นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือ กองพิสูจน์หลักฐาน ต่อยอดต้นแบบนวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม สู่การใช้งานจริงได้สำเร็จ ถือเป็นนวัตกรรมราคาประหยัดจากนักวิจัยไทยที่มีประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าเครื่องมือนำเข้าซึ่งมีราคาแพง

 

     ปัญหายาเสพติด ทำร้ายร่างกาย ปล้นทรัพย์ ข่มขืน ปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวจากเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งจากในและต่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์

อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

          ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้พัฒนาผลงาน “นวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม” ขึ้น โดย ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการนำองค์ความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์อย่างง่ายมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของกองพิสูจน์หลักฐาน ทั้งนี้วัตถุพยานหลักฐานส่วนใหญ่ที่พบในสถานที่เกิดเหตุเป็นวัตถุที่มีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ปืน ปลอกกระสุนปืน มีด กุญแจ และอาวุธพกพาต่าง ๆ ซึ่งหลักฐานสำคัญที่พบมากที่สุดในที่เกิดเหตุ คือรอยลายนิ้วมือ (Fingerprint) ที่สามารถนำมาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันตัวผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นนวัตกรรมดังกล่าวจึงเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับงานด้านนี้อย่างมากเพื่อใช้ในการหารอยนิ้วมือแฝงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และทำให้ภาพรอยนิ้วมือปรากฏได้ชัดเจนมากขึ้น

 

          “เป็นการนำหลักการของเซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างง่ายซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานมาประยุกต์ใช้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเครื่องมือขั้นสูงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยการนำขั้วไฟฟ้าที่เฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยามาต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้าและนำเอาวัตถุพยานที่ต้องการหารอยนิ้วมือมาต่อเข้ากับอีกขั้ว ซึ่งขั้วไฟฟ้าทั้งสองจะจุ่มอยู่ในสารละลายนำไฟฟ้า และเนื่องจากบริเวณที่เป็นรอยนิ้วมือแฝงมีไขมันเกาะอยู่จึงมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ทำให้เกิดภาพคอนทราสต์ระหว่างพื้นผิวโลหะกับรอยนิ้วมือ และส่งผลให้เกิดเป็นภาพรอยนิ้วมือปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน”

 

 

ชุดสาธิตการตรวจหารอยนิ้วมือแฝง

 

            ผศ.ดร.เขมฤทัย อธิบายต่อถึงวิธีการตรวจรอยนิ้วมือบนวัตถุพยานประเภทโลหะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ การใช้ไอระเหยจากกาว การแช่ในสารละลายนินไฮดริน และการปัดผงฝุ่น ซึ่งทั้ง 3 วิธี นอกจากจะต้องอาศัยความชำนาญแล้ว ล้วนแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้สารเคมีอันตราย ต้นทุนสูง ใช้เวลานาน และบางกรณีต้องทำถึง 2 วิธีร่วมกันจึงจะเห็นรอยนิ้วมือปรากฏชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือที่ปรากฏขึ้นจาก 3 วิธีดังกล่าวจะคงอยู่ไม่นานจึงต้องรีบถ่ายรูปเก็บไว้ 

 

 

          และด้วยปัญหาดังกล่าวจึงมีการพัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมา โดยมีข้อดีคือ รอยนิ้วมือจะปรากฏชัดเจนมากกว่าวิธีที่ใช้อยู่ทั่วไป และจะปรากฏอยู่อย่างนั้นได้นานนับปีเว้นแต่ว่าจะถูกทำลายอย่างตั้งใจ เช่น การขัด ถู นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้การตรวจหารอยนิ้วมือของกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นไปโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องใช้สารเคมีราคาสูง และมีขั้นตอนน้อยกว่าวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที ก็สามารถตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ พื้นผิวขรุขระ พื้นผิวสะอาด หรือไม่สะอาดได้ ซึ่งอาจจะช่วยให้จับตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้เร็วมากยิ่งขึ้นด้วย

 

 

           “ทางทีมเราพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวร่วมกับ พ.ต.อ.หญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศ นักวิทยาศาสตร์ สบ๔ กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และ พ.ต.ท.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นักวิทยาศาสตร์ สบ๓ กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และได้มีการทดลองใช้จริงแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนาจากอุปกรณ์ต้นแบบเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงานจริงเป็น 2 แบบ คือ เครื่องมือสำหรับตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานขนาดใหญ่เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือสำหรับพกพาลงพื้นที่เกิดเหตุสำหรับตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นจดสิทธิบัตร”

 

          ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ความตั้งใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวก็เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศมีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ผลิตขึ้นได้ในประเทศไทย ราคาไม่สูง แต่มีคุณภาพ และสามารถที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

          “หากเรามีวิธีในการจับตัวคนร้ายที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะนำมาซึ่งการลดอาชญากรรม คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรก็ดีขึ้น และยิ่งตอนนี้เปิดเป็น AEC แล้วในส่วนข้อดีในด้านเศรษฐกิจมีมาก แต่ปัญหาที่จะตามมาก็ไม่น้อย เพราะประเทศเปิดมากขึ้นการนำไปสู่การก่ออาชญากรรม หรือการก่อการร้ายมากขึ้นไปด้วย หรืออาจเป็นช่องทางในการนำส่งสินค้าอาวุธ ยาเสพติด สิ่งผิดกฏหมายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราหมั่นพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้มแข็งและรัดกุมมากขึ้นได้ สังคมประเทศเราก็จะน่าอยู่และปลอดภัย”

 

          และด้วยความมุ่งมั่นในการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม รวมถึงผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม จึงมีส่วนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มอบรางวัลนักวิจัยดาวรุ่งประจำปี 2558 ให้แก่ ผศ.ดร.เขมฤทัย เนื่องด้วยเป็นผลงานที่เน้นคุณค่าทางสังคมและชุมชน  เพื่อเป็นการยกย่องอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้อาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่รักงานวิจัย มีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด