Safety & Healthcare

งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week) ครั้งที่ 30 (ตอนที่ 1)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

ในปัจจุบัน กิจกรรมหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานทั้งในระดับชาติและสากล ที่รับรู้กันทั่วไปและจัดกันเป็นประจำทุก ๆ ปีในประเทศไทย (ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องเสียก่อน) ก็เห็นจะมีด้วยกันอยู่ 3 งาน ได้แก่ วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งในปี 2559 นี้ ก็ได้มีการจัดงานลุล่วงไปแล้วตามลำดับ ดังนี้

 

1. วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล (World Day for Safety and Health at Work)

 

          จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายนของทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานทั่วโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานรณรงค์สากลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้แพร่หลายทั่วโลก โดยในวันนี้ของทุกปี หน่วยงานและองค์กรในหลาย ๆ ส่วนทั่วโลกก็ได้มีการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อการรณรงค์ (Theme) ที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละปี ซึ่งในปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ก็คือ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมการป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Join in building a culture of prevention on OSH)” ส่วนในปี พ.ศ.2559 นี้ ก็คือ “ความเครียดในสถานที่ทำงาน: ความท้าทายที่สั่งสม (Workplace Stress: A collective challenge)”  

 

          โดยเหตุผลที่ทาง ILO ได้กำหนดให้เป็นหัวข้อการรณรงค์ประจำปีนี้ก็เพราะเล็งเห็นว่า ในปัจจุบัน มีแนวโน้มของความเครียดจากการทำงานเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว จึงคาดหวังให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดมุมมองในการเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ของโลกของการทำงาน ซึ่งในการทำงานแต่ละวันจะพบว่า ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากกำลังเผชิญความกดดันมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชีวิตการทำงานที่ทันสมัย มีหลายปัจจัยที่เข้ามาถั่งโถม คุกคามต่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานที่ทำงาน ซึ่งถ้าเป็นปัญหาทางกายภาพก็จะสังเกตเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นด้วยเรื่องปัญหาทางสภาพจิตใจในบางครั้งก็ (มักจะ) ถูกละเลยหรือมองข้ามความสำคัญไป ทั้ง ๆ ที่ปัญหานี้สามารถลุกลามหรือบั่นทอนสมรรถนะในการทำงาน หรืออาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาด้านความปลอดภัยได้ในท้ายที่สุด ที่เรากล่าวถึงนี้ ก็คือ “ความเสี่ยงทางจิตวิทยาสังคม (Psychosocial Risks)” เช่น การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังในสมรรถนะการทำงานที่สูงขึ้น และชั่วโมงการทำงานที่มักยาวนานขึ้น (โดยเฉพาะการที่ต้องเร่งทำงานล่วงเวลาให้ได้ทันกับยอดสั่งสินค้าล่วงหน้า) ล้วนมีส่วนทำให้สถานที่ทำงานกลายมาเป็นสภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียด (Stressful Environment) มากขึ้นไปกว่าเดิม ประกอบกับวิธีการสั่งงานในปัจจุบันจะยึดโยงอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ แมสเซนเจอร์ ทวิตเตอร์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบทันทีทันควัน และชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้น จึงทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นทุกทีในการที่จะแบ่งแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้านแรงงานสัมพันธ์ (Labor Relations) ที่เป็นวิธีปฏิบัติต่อกันระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง รวมถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้คนงานทั่วโลกต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงและการปรับโครงสร้างองค์กร การลดโอกาสในการจ้างงาน การเพิ่มงานที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเสี่ยงอันตราย การปลดพนักงานครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น เกิดภาวะความเครียด กังวลว่าจะสูญเสียงานที่ทำและมีเสถียรภาพทางการเงินลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสต่อสุขภาพจิตและชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน

 

          ในปีที่ผ่านมา ผลกระทบจาก ความเสี่ยงทางจิตวิทยาสังคม (Psychosocial Risks) และ ความเครียดที่เกิดจากการทำงาน (Work–related Stress) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในหมู่นักวิจัย ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้กำหนดนโยบาย ความเครียดที่เกิดจากการทำงานได้ถูกยอมรับกันทั่วไปในขณะนี้แล้วว่า เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบในทุกประเทศ ทุกสาขาอาชีพและคนงานทุกคน ทั้งที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว บริบทอันซับซ้อนนี้ ทำให้สถานที่ทำงานเป็นได้ทั้งต้นกำเนิดที่สำคัญของความเสี่ยงทางจิตวิทยาสังคม และก็ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การจัดการปัญหาเพื่อที่จะช่วยปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนงานได้ด้วยเช่นเดียวกัน

               

          สำหรับประเทศไทยเรานั้น ก็ได้ร่วมกิจกรรมตามหัวข้อรณรงค์ประจำปีนี้ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นั่นคือ “ความเครียดในสถานที่ทำงาน: ความท้าทายที่สั่งสม (Workplace Stress: A collective challenge)” โดยทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดงาน “วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล (World Day for Safety and Health at Work)” ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 เม.ย.2559 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักความปลอดภัยแรงงาน อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และมูลนิธิเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อรณรงค์ส่งเสริมแนวคิดในการสร้าง และก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัยอย่างยั่งยืน กิจกรรมสำคัญภายในงาน ได้แก่ การกล่าวปราศรัยพิเศษ การบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และจัดแสดงนิทรรศการ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วนประมาณ 500 คน

               

          ภายในงาน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวปราศรัยพิเศษไว้ว่า “การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ปี 2559 ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเฉกเช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อยกระดับมาตรฐานของงานด้านนี้ อีกทั้งประเทศไทยยังได้ก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน โดยได้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภายใต้เครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) มานานกว่า 16 ปี รวมถึงการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยด้านความปลอดภัยของแรงงานไทย ที่เห็นได้จากการที่รัฐบาลไทยได้ยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2549 กับผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 12 เดือนถัดไป นับจากวันที่ให้สัตยาบัน” หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ กล่าวต่อว่า

 

          “การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้องานเกี่ยวกับความเครียดในสถานที่ทำงาน อันเป็นความท้าทายที่สั่งสมขึ้น (Workplace Stress: A collective challenge) และได้มีการบรรยายทางวิชาการเรื่องการจัดการความเครียดในสถานที่ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร โดย แพทย์หญิง หทัยชนนี บุญเจริญ (ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 4) และเรื่องแรงงานได้อะไรจากการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 โดย นายวรานนท์ ปีติวรรณ (ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน) เพื่อให้ทุกท่านได้รับความรู้เพื่อประโยชน์ในการรับมือกับความเครียดในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ตลอดจนมีความเข้าใจในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยร่วมกันต่อไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานไปด้วยกัน โดยการนำแนวทาง ‘ประชารัฐ’ เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง” หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ กล่าวในท้ายสุด

 

          นอกจากนี้ยังมีผู้แทนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยร่วมการกล่าวปราศรัย ประกอบด้วย Mr. Maurizio Bussi ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นายอำนวย ภู่ระหงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยแรงงาน, นายอาทิตย์ อิสโม ประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน), รศ.ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ กรรมการมูลนิธิเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และ ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)

 

 

ภาพโปสเตอร์วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล  (World Day for Safety and Health at Work) ที่มีหัวข้อรณรงค์ (Theme) ประจำปี 2016 คือ “ความเครียดในสถานที่ทำงาน: ความท้าทายที่สั่งสม (Workplace Stress: A collective challenge)”

(ภาพประกอบจาก http://www.ilo.org/safework/events/safeday/lang--en/index.htm)

 

 

ไทยจัดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2559 โดยมีปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของไทย และผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้าร่วมงาน พร้อมร่วมกล่าวปราศรัย

 

 

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวปราศรัยพิเศษในงาน เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานไปด้วยกัน โดยการนำแนวทาง ‘ประชารัฐ’ เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

 

 

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน

 

 

มีผู้ให้ความสนใจจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมชมงาน

 

2. วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Work Safety Day)

 

          ได้ถูกกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 ส.ค. 2540 เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตา บริษัทเคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในครานั้นมากถึง 188 คน และบาดเจ็บกว่า 500 คน และนำเหตุการณ์นี้มาใช้เป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทย ที่ต้องใส่ใจสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานทุกสาขาอาชีพให้มากขึ้น

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 ขึ้นในวันอังคาร ที่ 10 พ.ค.2559 เวลา 07.00–17.00 น. ณ สำนักความปลอดภัยแรงงาน อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กทม. กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากการทำงานทุกกรณีในช่วงเช้า การชี้แจงกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานฉบับใหม่ การมอบประกาศเกียรติคุณสำหรับผู้ช่วยเหลืองานด้านความปลอดภัยในการทำงาน การเสวนาของเครือข่ายความปลอดภัยฯ และการจัดนิทรรศการด้านความปลอดภัยฯ

 

          พลเอก ศิริชัย ดิษยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานและได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2559  ไว้ว่า “ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนและดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในหลาย ๆ เรื่อง ประการแรกคือ การมีนโยบายแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2550 ที่กำหนดให้แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ซึ่งเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประการที่สอง การมีแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ.2554–2559) สำหรับดำเนินการ และประการที่สาม การมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานอีก 2 หน่วยงาน คือ กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)”

 

          “นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยได้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใด ย่อมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเข้าสู่งาน เข้าสู่การจ้างงานของทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะส่งคนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องมาพิจารณาว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาสามารถที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง พนักงานมีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย มีจิตสาธารณะเห็นชีวิตมนุษย์มีค่ามากขึ้นหรือไม่ มีคำถามว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้มีการทุ่มเท จริงจังในการทำงาน มีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด และมีการทุจริตหรือไม่ และมีคำถามอีกว่า กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง มีความเหมาะสมเพียงพอ การบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากน้อยแค่ไหน ได้มีการบูรณาการกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของประชารัฐหรือไม่ และต่างประเทศจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประเทศไทยสามารถที่จะปกป้องดูแลพลเมืองของประเทศนั้น ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้พวกเราทุกคนต้องตอบให้ได้”

 

          “ส่วนบทบาทของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีความปลอดภัยตามนโยบาย Safety Thailand ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ต้องรับผิดชอบหางานให้คนไทยทำ มีรายได้ดี มีการฝึกอบรมพัฒนาให้เป็นคนเก่ง ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือดี และการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งการสูญเสียที่มีสาเหตุมาจากการประมาท การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กระทรวงแรงงานจะไม่ยอมให้มีอุปสรรคที่จะมาขัดขวางวงรอบของกระทรวงแรงงาน โดยจะต้องให้บุคคลเหล่านั้นไปสู่หลักประกันทางสังคมและปลอดภัยให้ได้ การดูแลสวัสดิภาพของคนทำงานถือเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ให้ความสนใจมาโดยตลอดนับจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีทั้งเรื่องของการตรวจ การบังคับใช้กฎหมาย และการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย โดยมีการเปิดยุทธการ 90 วันลดอันตราย ซึ่งทำให้สถิติการประสบอันตรายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ อีกทั้งในปัจจุบันการเข้าสู่ AEC สถิติการประสบอันตรายที่ลดลงอาจไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านและสากล จึงได้มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานนานาชาติ โดยได้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา” พลเอก ศิริชัย ดิษยกุล ได้กล่าวต่ออีกว่า

 

          “ในปี 2559 กระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าหมายสูงสุด คือ ปลอดภัย 100 % ในการทำงาน โดยจะมีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ซึ่งจะมีการผลักดันระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี และระยะที่สอง (พ.ศ.2560-2569) มีการผลักดันแผนแม่บทด้านความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังต้องสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง โดยการสร้างองค์ความรู้และสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นนิสัยก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้น การใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อการลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน โดยประสานความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการและองค์กรที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกประชารัฐ เพื่อให้มีแผนงาน การควบคุม ตรวจสอบ และติดตามสอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามกฎหมายอย่างมีความถูกต้องและเหมาะสม และจะเน้นการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัด โดยมีการตรวจสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และตรวจเชิงรุกตามปฏิทินความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความร่วมมือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างหน่วยงานเครือข่ายภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการประสานความร่วมมือกับอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลี และประเทศจีน โดยเฉพาะในอาเซียน ประเทศไทยได้รับเกียรติมอบหมายเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และในปีนี้กระทรวงแรงงานจะได้บูรณาการ 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินการโครงการ Safety Thailand เพื่อลดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สิน โดยได้กำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมคนทำงานทุกภาคส่วนของประเทศ”

 

          “ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ ไม่สามารถที่จะดำเนินการลุล่วงไปได้ ไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน ต้องรู้เท่าทันถึงอันตราย และปฏิบัติตามมาตรการหรือแนวทางความปลอดภัยที่ได้กำหนดขึ้นไว้อย่างเคร่งครัด จริงจัง และที่สำคัญที่สุด คือ มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา รวมถึงขอชื่นชมที่หน่วยงานในความร่วมมือกับเป็นพลังในการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี และขอขอบคุณทุกท่านที่จะมาร่วมมือผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อคนทำงาน ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” พลเอก ศิริชัย ดิษยกุล กล่าวในท้ายสุด

 

          ด้าน นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้กล่าวว่า “ภาพรวมรอบ 10 ปีนี้ สถิติอันตรายจากการทำงานลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมี พ.ร.บ. ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และแผนงานป้องกันอย่างชัดเจน รวมทั้งยังได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ขึ้นมาด้วย”

 

          “จากสถิติในปี 2558 พบว่า มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานเสียชีวิต 577 คน ทุพพลภาพ 4 คน โดยหากคิดเป็นอัตราการประสบอันตรายต่อ 1,000 คน นั้น พบว่าลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 10.25 กรณีรุนแรงร้อยละ 3.15 ซึ่งลดลงจากในปี 2557 ที่มีลูกจ้างเสียชีวิต 625 คน ทุพพลภาพ 14 คน โดยพบว่า ลูกจ้างเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยานพาหนะมากที่สุด รองลงมาตกจากที่สูง ไฟฟ้าช็อต และสิ่งของพังทลายและหล่นทับ โดยในแต่ละปีมีการจ่ายเงินทดแทนกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากพิจารณาในช่วง 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2557–มีนาคม 2558 พบว่า ในอัตราการประสบอันตรายต่อ 1,000 คนนั้น ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 5.24 และกรณีรุนแรงร้อยละ 1.67 ขณะที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 – มีนาคม 2559 มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 5 และกรณีรุนแรงร้อยละ 1.51 ซึ่งลดลงจากเดิม ส่วนประเภทกิจการที่มีลูกจ้างประสบอันตรายมากที่สุดในช่วงปี 2553 -2557 ใน 5 อันดับแรก คือ 1.ก่อสร้าง 2.การผลิตเครื่องดื่ม อาหาร 3.การค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ 4.ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม และ 5.การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก”

 

          “จากการออกตรวจสถานประกอบการที่มีกว่า 350,000 แห่ง โดยในรอบ 6 เดือน กว่า 9,000 แห่งครอบคลุมลูกจ้างกว่า 600,000 ราย พบปฏิบัติผิดกฎหมาย 2,997 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32 จึงได้สั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กลุ่มกิจการที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน คือ ก่อสร้าง กิจการเสี่ยงเกิดอัคคีภัย สารเคมี และกลุ่มกิจการประเภท SME เพราะพบว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง” นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ กล่าวในท้ายสุด

 

 

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากการทำงานทุกกรณีในช่วงเช้า เนื่องในโอกาสวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2559

 

 

พลเอก ศิริชัย ดิษยกุล รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 และได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”

 

 

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล/ หน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน

 

 

พลเอก ศิริชัย ดิษยกุล รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เดินเยี่ยมชมนิทรรศการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่จัดแสดงอยู่ภายในงาน พร้อมซักถามด้วยความสนใจ

 

3. งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week)

 

          ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 30 จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน ด้วยความร่วมมือกันของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–2 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ตั้งแต่เวลา 09.00–17.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่องาน “แรงงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี นำประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อรณรงค์ ส่งเสริม และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน ตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียอันเนื่องมาจากความไม่ปลอดภัย และโรคจากการทำงาน อีกทั้ง ยังถือเป็นเวทีที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานระหว่างสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และร่วมมือร่วมใจผ่านกลไก ‘ประชารัฐ’ ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการลดการประสบอันตรายและโรคอันเนื่องมาจากการทำงานลงให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม

               

          หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201–203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ว่า “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีความปลอดภัยตามนโยบาย Safety Thailand กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการยืนยันว่าสถานประกอบการในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับที่ต้องทำในระดับโลก การจัดงานดังกล่าวถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่หลักในเรื่องของความปลอดภัยที่จะจัดขึ้นทุกปี เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัย”

               

          ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า “โดยในปี 2559 นี้ กระทรวงแรงงานจะได้บูรณาการกับ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการดำเนินการโครงการ Safety Thailand เพื่อลดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมคนทำงานในทุกภาคส่วนทั่วประเทศผ่านกลไกประชารัฐ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน และร่วมกันปลูกฝังความตระหนัก และทัศนคติเรื่องความปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ให้รู้เท่าทันความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในที่ทำงาน บ้านเรือน และที่สาธารณะ อีกทั้งต้องมีมาตรการป้องกัน ที่ได้มาตรฐานและผู้ใช้แรงงานต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี นำเรื่องความปลอดภัยให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถลงนามความร่วมมือกับ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้”

               

          “โดยจะเน้นหนักใน 3 เรื่องก่อน ได้แก่ ความปลอดภัยด้านสิ่งก่อสร้าง งานก่อสร้าง อัคคีภัย สารเคมีอันตราย และการลดอุบัติเหตุ อุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากความปลอดภัยด้วย โดยตั้งเป้าหมายนำร่อง 6 เดือนแรกจะขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้ลดลงอย่างน้อย 5 % ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการรณรงค์พร้อมกันเป็นครั้งแรกซึ่งจะทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ คือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมจะพร้อมใจกันที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะสามารถดำเนินการลุล่วงให้ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ทุกภาคส่วน ต้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน ต้องช่วยกันปลูกฝังสำนึกและทัศนคติเรื่องความปลอดภัยให้กับสังคมไทยโดยรวม โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก เยาวชน ครอบครัว และในสังคมแรงงาน เกี่ยวกับความมีวินัยความรับผิดชอบ ต่อตนเอง สาธารณะ และสังคม การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น การรู้เท่าทันความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะการทำงาน การใช้ชีวิตในบ้าน สถานที่หรือที่สาธารณะรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำประเทศไทยสู่สังคมที่มีวัฒนธรรม ความปลอดภัยเกิดขึ้น นั่นคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของคนทำงานของประเทศ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในที่สุด

               

          นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังมอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมกว่า 330 แห่ง คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดีเด่น 5 แห่ง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพดีเด่น รวม 26 คน รวมถึงการมอบรางวัลสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งในปีนี้มีสถานศึกษาได้รับรางวัลทั้งสิ้น 245 แห่ง

 

          ด้าน นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า “การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 30 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–2 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตั้งแต่เวลา 09.00–17.00 น. ภายใต้ชื่องาน “แรงงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี นำประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของคนทำงาน รวมถึงสร้างเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงการลดอัตราการประสบอันตรายและโรคอันเนื่องมาจากการทำงานลงให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2549 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว”

 

กิจกรรมภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 มีหลากหลาย ประกอบไปด้วย

 

  • การสัมมนาและบรรยายทางวิชาการ 3 วันเต็ม โดยวิทยากรที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างหัวข้อสัมมนา เช่น นโยบายประชารัฐ วาระ “ประเทศไทยปลอดภัย–Safety Thailand” การสร้างการรับรู้ และสร้างจิตสำนักด้านความปลอดภัยในการทำงาน, ความปลอดภัยในการทำงานกลไกสำคัญเพื่อการผลักดันประเทศ สู่โมเดลประเทศไทย 4.0, มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของสารเคมีอันตรายในการทำงาน, การขับเคลื่อนเพื่อรองรับการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2549 เป็นต้น
  • นิทรรศการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น คูหาและบอร์ดแสดงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ดีเด่นของสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล, บอร์ดแสดงข้อมูลประชาสัมพันธ์และสถิติด้านความปลอดภัยฯ จากหน่วยงานภาครัฐ, บอร์ดนิทรรศการกลาง เช่น ประวัติและการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) เหล่านี้ เป็นต้น
  • การจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านความปลอดภัยในการทำงาน
  • การออกบูธของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (เช่น สำนักงานประกันสังคม) เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและตอบข้อสงสัยของผู้เข้าชมงาน
  • การออกบูธของบริษัทเอกชนกว่า 100 บริษัท ส่วนหนึ่งเพื่อแสดงศักยภาพและผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้าความปลอดภัยและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในราคาพิเศษเฉพาะในงานเท่านั้นจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายโดยตรง
  • การออกบูธของสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า เพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรการเรียน การสอนให้กับผู้เข้าชมงานที่สนใจ และการออกบูธของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
  • บูธบริการให้คำปรึกษาด้านระบบการจัดการและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (SHAWPAT CLINIC) โดยสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และมีการเล่นเกมส์สอยดาวลุ้นโชค
  • กิจกรรม Safety Rally ลุ้นรับของรางวัลและของที่ระลึก โดยหาคำตอบจากคูหานิทรรศการต่างๆ ภายในงาน
  • กิจกรรมต่าง ๆ บนเวทีกลาง เช่น Talk show เรื่อง “พลิกชีวิต พิชิตความปลอดภัย ใคร ๆ ก็ทำได้” โดย อ.จตุพล ชมภูนิช, เรื่อง “สำนึกความปลอดภัย หนึ่งในปณิธานความดีที่ควรทำ” โดย เบส อรพิมพ์, เรื่อง “กันภัยดีกว่ากู้ภัย เสียงจากใจคนกู้ชีพ” โดย ไข่มุก เดอะวอยซ์ นอกจากนี้ก็ยังมี Safety Talk โดย จป.มืออาชีพ มีการเล่นเกมส์ ตอบคำถามเรื่องความปลอดภัย การแสดง ความบันเทิง และการประกวดผู้นำการออกกำลังกายในสถานประกอบกิจการ
  • การประกวดทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ ในปีนี้มีทีมฉุกเฉินฯ สมัครเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 27 ทีม แข่งรอบคัดเลือกระหว่างวันที่ 6–7 มิ.ย.2559 คัดเหลือเพียง 6 ทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2559
  • เปิดรับสมัครสมาชิก “เครือข่ายส่งเสริมความปลอดภัย” พร้อมทำบัตรสมาชิกฟรีภายในงาน ที่บูธสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า สสปท. โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน ให้สมาชิกในเครือข่ายได้รับข่าวสาร ความรู้ กิจกรรม รวมทั้งการสนับสนุนให้สมาชิกเครือข่ายได้มีช่องทางเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่ง สสปท. มีแนวความคิดที่จะพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับเครือข่ายสมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้พลาดโอกาสในงาน สามารถสมัครฟรีทางออนไลน์ พร้อมติดต่อขอถ่ายรูปติดบัตรและรับบัตรได้ที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในวันเวลาราชการ หรือติดตามข่าวสารการรับสมัครนอกสถานที่ได้ที่ Facebook สสปท. –TOSH และเว็บไซต์ ส่วนสมาชิกเดิมที่เคยสมัครและบัตรหมดอายุแล้ว สามารถสมัครกรอกข้อมูลสมาชิกใหม่ได้เช่นกัน

 

 

บูธสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เปิดรับสมัครสมาชิก “เครือข่ายส่งเสริมความปลอดภัย” พร้อมทำบัตรสมาชิกฟรีภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ

 

 

 

ตัวอย่างบัตรสมาชิกเครือข่ายส่งเสริมความปลอดภัย ด้านซ้ายมือเป็นบัตรสมาชิกเก่า ส่วนด้านขวามือเป็นบัตรสมาชิกใหม่

 

ผลการตัดสินกิจกรรมประกวดด้านความปลอดภัยฯ ประจำงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 มีดังนี้

  

  • รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกัน 1–4 ปี ระดับเพชร จำนวน 29 แห่ง ระดับทอง จำนวน 214 แห่ง
  • รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกัน 5-9 ปี ระดับเพชร จำนวน 43 แห่ง ระดับทอง จำนวน 144 แห่ง
  • รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ระดับเพชร จำนวน 38 แห่ง ระดับทอง จำนวน 103 แห่ง
  • รางวัลคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดีเด่น จำนวน 5 แห่ง และ หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยฯ ดีเด่น จำนวน 4 คน
  • รางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพดีเด่น จำนวน 12 คน ระดับบริหารดีเด่น จำนวน 6 คน และระดับหัวหน้างานดีเด่น จำนวน 4 คน
  • รางวัลการประกวดทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ จำนวน 6 รางวัล วัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบกิจการได้แสดงศักยภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ รอบชิงชนะเลิศในวันที่ 30 มิ.ย.59 โดยมีทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 6 ทีม ที่ต้องผ่านด่านทดสอบ 3 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ฐานการดับเพลิงเบื้องต้น ฐานกู้ภัยในที่อับอากาศ และ ฐานการคัดแยกและการปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม ERT TOYOTA จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงาน 4) จ.สมุทรปราการ ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

 

 

 

 

 

 

 

  •  รางวัลการประกวดชุดโปสเตอร์ความปลอดภัยในการทำงาน จำนวน 6 รางวัล วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับนำไปใช้ในการรณรงค์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิวัฒน์ เตชะสุริยวรกุล โปสเตอร์หัวข้อ “ความปลอดภัยในงานสารเคมีอันตราย” ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

 

 

 

 

 

 

  • รางวัลการประกวดมิวสิกวิดีโอประกอบเพลง (Safety Music Video) จำนวน 6 รางวัล วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรณรงค์ ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นางสาววรัทยา ฮั้วเฮง ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท จากผลงานมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงชื่อว่า “ใจ้เลย ปลอดภัย”

 

 

  • รางวัลการประกวดผู้นำการออกกำลังกายในสถานประกอบกิจการ (TOSH Aerobic Contest) จำนวน 5 รางวัล วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการสร้างสุขภาพอนามัยในการทำงานให้กับลูกจ้างผ่านการออกกำลังกาย โดยใช้กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลงความปลอดภัย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Safety Girls ได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินสด 30,000 บาท

 

 

 

 

  •  รางวัลการประกวดตราสัญลักษณ์การจัดงาน จำนวน 3 รางวัล วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของ “งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ” ที่จะใช้ประกอบการดำเนินกิจกรรมโครงการต่าง ๆ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเอกชัย จริงใจ ได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินสด 30,000 บาท

 

 

แนวคิดในการออกแบบ

ออกแบบและตัดทอนรูปคนสวมหมวกนิรภัย มีรูปกากบาทและแถบเส้นพุ่งโอบล้อม ประสานเชื่อมโยงกัน เพื่อสื่อถึงงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ

หมวกนิรภัย สื่อถึงความปลอดภัย ในการประกอบอาชีพการงาน

รูปกากบาท สื่อถึงสุขภาพอนามัย สภาวะที่สมบูรณ์ทางกายและใจ

แถบเส้นพุ่งโอบล้อม สื่อถึงการเข้าไปควบคุมดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพการงาน ให้มีสภาวะที่สมบูรณ์ มีความปลอดภัยจากอันตรายและความเสี่ยงต่าง ๆ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ด้วยดี

สีเขียวไล่โทนสีฟ้า แทนความสมบูรณ์ และความปลอดภัย

 

  • รางวัลสถานศึกษาปลอดภัย จากโครงการสถานศึกษาปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดกิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ประจำปี 2559 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ และนักเรียน ได้เกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษามากยิ่งขึ้น และมีมาตรฐานในการบริหาร ตลอดจนสามารถจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนในสถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับเด็ก นักเรียน เยาวชน ในการตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป โดยเชิญชวนสถานศึกษาให้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเข้ารับการประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยสู่สถานศึกษา เป็นผู้พิจารณาผลการตรวจประเมินนั้น ในปีนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 478 แห่ง และผ่านการตรวจประเมินกิจกรรมได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 254 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 246 แห่ง ได้รับถ้วยรางวัล จำนวน 126 แห่ง และประกาศนียบัตร จำนวน 60 แห่ง

 

 

 

พิธีส่งมอบการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

  

          ในวันที่ 2 ก.ค.2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้มีพิธีส่งมอบการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครั้งต่อไปให้กับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า สสปท. (TOSH) เพื่อรับไม้ต่อหรือสานต่อภารกิจงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และการสวมบทบาทเป็นแม่งานหรือผู้ดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ครั้งต่อไป แทน กสร. อย่างเป็นทางการ โดยมีนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นผู้แทนส่งมอบภารกิจการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครั้งต่อไปให้กับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (สสปท.) โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม ประธานกรรมการ สสปท. เป็นผู้แทนรับมอบภารกิจ

 

          สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามบทบัญญัติ มาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 (ประกาศจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในราชกิจจานุเบกษา 21 พ.ค.2558 มีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่ 22 พ.ค.2558) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและแก้ไขเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการด้านความปลอดภัยฯ ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล สร้างกลไกและประสานความเชื่อมโยงในการให้บริการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างยั่งยืน และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ก็คือ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดงานเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงการจัดงานดังกล่าวซึ่งมีทั้งการสัมมนาวิชาการ และงานนิทรรศการนวัตกรรมด้านความปลอดภัย จึงมีการปรับปรุงชื่องาน จากเดิม “งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ไปเป็นชื่อใหม่ “งานสัปดาห์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ” เริ่มตั้งแต่ครั้งหน้าเป็นต้นไป พร้อมเดียวกันนี้ ก็ได้เห็นสมควรให้มีการจัดทำตราสัญลักษณ์ประจำงานขึ้นมาใหม่เช่นกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำเสนอผลงานต่าง ๆ ซึ่งตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ก็เป็นผลงานชนะเลิศที่ได้จากประกวดตราสัญลักษณ์การจัดงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมประกวดด้านความปลอดภัยของงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 นี้ นั่นเอง

 

 

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นผู้แทนส่งมอบภารกิจงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครั้งต่อไปให้กับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (สสปท.) อย่างเป็นทางการ โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม ประธานกรรมการ สสปท. เป็นผู้แทนรับมอบภารกิจ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2559 ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30

 

 

ตั้งแต่ครั้งหน้าเป็นตันไป “งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “งานสัปดาห์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ” พร้อมกับ “ตราสัญลักษณ์ประจำงาน” ใหม่ด้วยเช่นกัน

 

รวมภาพบรรยากาศภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Safety Week) ครั้งที่ 30

 

 

 

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ทำพิธีเปิดงาน โดยมีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและภาคีเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยร่วมเป็นสักขีพยาน (30 มิ.ย. 59)

 

 

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน (30 มิ.ย. 59)

 

 

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 (30 มิ.ย. 59)

 

 

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ คณะกรรมการความปลอดภัยฯ และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่นระดับประเทศ สถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและต่อเนื่อง 5–9 ปี (30 มิ.ย.59)

 

 

 

การสัมมนาและบรรยายทางวิชาการ 3 วันเต็ม โดยวิทยากรที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก

 

 

 

หน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายความปลอดภัยร่วมกันออกบูธและจัดนิทรรศการด้านความปลอดภัยฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูล เช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า ก็ได้ออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรการเรียน การสอน

 

 

บูธของบริษัทเอกชนกว่า 100 บริษัท จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านความปลอดภัยในการทำงาน และผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าความปลอดภัยและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในราคาพิเศษเฉพาะในงานเท่านั้น

 

 

บูธบริการให้คำปรึกษาด้านระบบการจัดการและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (SHAWPAT CLINIC) โดยสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และมีการเล่นเกมส์สอยดาวลุ้นโชคด้วย

 

 

 

กิจกรรมต่าง ๆ บนเวทีกลาง เช่น Talk Show เรื่อง “พลิกชีวิต พิชิตความปลอดภัย ใคร ๆ ก็ทำได้” โดย อ.จตุพล ชมภูนิช, เรื่อง “สำนึกความปลอดภัย หนึ่งในปณิธานความดีที่ควรทำ” โดย เบส อรพิมพ์, เรื่อง “กันภัยดีกว่ากู้ภัย เสียงจากใจคนกู้ชีพ” โดย ไข่มุก เดอะวอยซ์ นอกจากนี้ก็ยังมี Safety Talk โดย จป.มืออาชีพ มีการเล่นเกมส์ ตอบคำถามเรื่องความปลอดภัย การแสดง และความบันเทิง

 

 

 

กิจกรรมประกวด เช่น การประกวดทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการรอบชิงชนะเลิศ และผู้นำการออกกำลังกายในสถานประกอบกิจการ (TOSH Aerobic Contest)

 

 

 

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เป็นประธานมอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกัน 1 – 4 ปี จำนวน 243 แห่ง และการประกวดอื่น ๆ เช่น รางวัลการประกวดผู้นำการออกกำลังกายในสถานประกอบกิจการ (TOSH Aerobic Contest) (2 ก.ค.59)

 

 

 

 

พิธีส่งมอบการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครั้งต่อไปให้กับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (สสปท.) อย่างเป็นทางการท่ามกลางสักขีพยาน โดยมี นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นผู้แทนส่งมอบภารกิจและ นายอาทิตย์ อิสโม ประธานกรรมการ สสปท. เป็นผู้แทนรับมอบภารกิจ (2 ก.ค. 59)

 

***** ติดตามอ่านข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 และครั้งที่ 30 นี้ ได้ในตอนจบฉบับหน้า *****

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
ขอขอบคุณ ข่าวประชาสัมพันธ์และภาพประกอบจากหน่วยงานด้านล่างนี้
     • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
     • สำนักความปลอดภัยแรงงาน
     • สำนักงานประกันสังคม
     • สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
     • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) (สสปท – TOSH)

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด