Macro Economic Outlook

เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง (ตอนจบ)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

          ช่วงเดือนสองเดือนมานี้ ประเทศฟิลิปปินส์ดูจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสำนักข่าวทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ถอดด้ามของ นายโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte)
          ดูเตร์เต กลายเป็นสีสันทางการเมืองของผู้นำระดับโลกไปแล้ว ด้วยท่วงท่าที่ไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน บวกกับชั้นเชิงและความเก๋าทางการเมือง ทำให้เขา “รู้จังหวะ” ว่าช่วงไหนควรรุกไล่ ช่วงไหนต้องปะทะ ช่วงไหนต้องถอยและผ่อนปรน

 

     บททดสอบแรกของดูเตร์เต คือ การเข้ามาแก้ปัญหา ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ในทะเลจีนใต้ที่มีหลายชาติอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหมู่เกาะนี้

 

          สแปรตลี ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็กกว่า 750 แห่งในทะเลจีนใต้ ด้วยความที่เกาะนี้มีลักษณะกระจัดกระจายทำให้มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และจีน

 

          จริง ๆ แล้วหมู่เกาะนี้ก็ไม่น่าจะสลักสำคัญอะไรถึงขนาดต้องแย่งชิงจนบานปลายเป็นข้อพิพาท หากแต่สแปรตลีได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากในจำนวน 750 เกาะนี้ มีอยู่ 45 เกาะที่เป็นที่ตั้งกองกำลังทหารของประเทศที่อ้างตัวเป็นเจ้าของ หนำซ้ำบริเวณนี้ยังมีการสำรวจพบน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติอีก

 

 

การอ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะสแปรตลีของหลายชาติในทะเลจีนใต้

ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/2a/Spratly_Is_since_NalGeoMaps.png/200px-Spratly_Is_since_NalGeoMaps.png

 

          การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะเหล่านี้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเพื่อนบ้านเราในอาเซียน

 

          เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลโลกที่กรุงเฮกตัดสินออกมาแล้วว่าจีนไม่มีสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวและคำตัดสินนี้ทำให้รัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจมาก จนอาจลุกลามเป็นชนวนความขัดแย้งต่อไป

 

          ในเรื่องสแปรตลีนี้ ท่าทีของนายดูเตร์เต ดูแข็งกร้าวและพยายามแสดงภาวะผู้นำนับตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ ๆ

 

          เขาเคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ถ้าเรื่องไม่จบ เขาจะแล่นเรือเอาธงชาติฟิลิปปินส์ไปปักที่เกาะสแปรตลีเองเสียเลย

 

          ล่าสุด ดูเตร์เตยังออกมาสบถด่าองค์การสหประชาชาติ หลังจากที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลเขาละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการกวาดล้างอาชญากรรมอย่างรุนแรง

 

 

โรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำฝีปากกล้าคนใหม่

ภาพจาก http://media.philstar.com/images/the-philippine-star/headlines/20160705/Duterte-PAF-speech.jpg

 

          นับจากนี้ไปอีก 6 ปี เราคงเห็นวีรกรรมของประธานาธิบดีวัยดึก จอมห้าวรายนี้ แสดงบทบาทผู้นำสายเหยี่ยวบนเวทีโลก

 

          โดยส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่า ดูเตร์เตมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร คุณสมบัติแบบนี้เองที่จะทำให้เขากลายเป็นที่จดจำของผู้คนไปอีกนานแสนนาน

 

          สำหรับซีรีส์ชุดฟิลิปปินส์ในตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายแล้วนะครับ รวมทั้งเป็นการปิดซีรีส์ชุดเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หลังจากที่ผู้เขียนเริ่มเขียนซีรีส์ชุดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

 

          ยังมีอีก 2 ประเทศที่ยังไม่เขียนถึง คือ เวียดนาม และบรูไน เหตุผลที่ยังไม่เขียนนั้น ก็ด้วยตั้งใจจะยกยอดไปเล่าเสียทีเดียวในซีรีส์ชุดใหม่ “เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21” ซึ่งจะพาท่านผู้อ่านทัวร์ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุนของ กลุ่มประเทศ OBAOR หรือ One Belt and One Road ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของจีนในโลกศตวรรษที่ 21 ครับ

 

ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง

 

          การโค่นล้มระบอบมาร์กอสเมื่อปี ค.ศ.1986 ด้วยพลังภาคประชาชนหรือ People Revolution นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ที่กลับมาเดินเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยโดยปราศจากการแทรกแซงของกองทัพ

               

          ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพนับเป็นตัวละครสำคัญที่มีบทบาททางการเมือง ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่า บริบทของกองทัพในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีส่วนต่อการค้ำจุนโครงสร้างรัฐมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ไล่เรื่อยมาจนกระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น

               

          กรณีฟิลิปปินส์ กองทัพมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ People Revolution เช่นกัน นายพลฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) คือ หัวเรือใหญ่ที่ช่วย นางอาควิโน โค่นล้มมาร์กอส และต่อมาภายหลังท่านนายพลก็ช่วยประคับประคองรัฐนาวาอาควิโน และรับไม้เป็นประธานาธิบดีต่อจากนางอาควิโนในช่วงกลางทศวรรษที่ 90

 

 

พลเอกฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของชาวปินอย

ภาพจาก http://www.g-l-f.org/site/global_leadership_foundation/assets/images/L.Col_Members_FidelRamos.jpg

 

          หลังยุคมาร์กอส ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ “เบ่งบาน” ภาคประชาชนและสื่อมวลชนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) แสดงบทบาทในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด

               

          แม้ว่าการพัฒนาประเทศฟิลิปปินส์จะถูกมองว่า โดนครอบงำจาก สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเคยเป็นประเทศอาณานิคมของจักรวรรดิอเมริกัน แต่ข้อดี คือ ระบบอเมริกันมาใช้ทำให้ฟิลิปปินส์ยึดโยงที่ตัวระบบกลไกมากกว่ามุ่งเน้นที่ตัวบุคคล

               

          ระบบประชาธิปไตยจะเดินไปพร้อมกับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม ทุนนิยม ซึ่งแน่นอนว่าระบบนี้เป็นระบบที่มือใครยาว สาวได้สาวเอา นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนก็จริง แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว นักการเมือง คือ ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ (Interested Group)  เป็นผู้พยายามประสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งที่เลือกตนเองเข้ามาเพื่อผลักดันนโยบาย กฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม

               

          โดยภาพรวมการพัฒนาประเทศฟิลิปปินส์นั้น ค่อยเป็นค่อยไป แม้จะมีสะดุดในบางช่วง แต่น่าสนใจว่ารัฐบาลทุกชุดของฟิลิปปินส์พยายามมุ่งไปที่การสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต

               

          ชัยชนะของนายดูเตร์เต มาพร้อมกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลใหม่ที่จะแก้ปัญหาอาชญากรรมโดยเน้นการปราบปรามที่รุนแรง ขณะเดียวกัน รัฐบาลของเขาไม่ละเลยคนยากจน พยายามที่ลดปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย สร้างงานและกระจายรายได้ให้ลงไปถึงชาวชนบทมากขึ้น

 

          ข้อมูล Factsheet เดือนมิถุนายน ปี 2559 ของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้รายงานผลการคาดการณ์จาก IMF ว่า ในปีนี้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเฉพาะการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคบริการ

               

          เทรนด์การค้าการลงทุนในฟิลิปปินส์เริ่มสนใจใน การพัฒนาธุรกิจบริการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจหรือ Business Process Outsourcing (BPO) ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง นอกจากนี้รัฐบาลเองพยายามเร่งสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม BPO และเป็นแรงดึงดูดให้คนฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างแดนให้กลับมาทำงานในเมืองใหม่ที่จะเป็นเขตธุรกิจสำคัญต่อไปในอนาคต

               

          ผลงานชิ้นสุดท้ายของอดีต ประธานาธิบดีเบนิกโญ่ นอยนอย อาควิโน คือ การทำให้ GDP ฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายภายใต้การบริหารงานของเขา ขยายตัวถึงร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในเอเชีย

 

 

แนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วเกิน 6%

ภาพจาก http://www.bworldonline.com/DataViz/images/p2big_061215.png

 

          ทั้งนี้หากรัฐบาลใหม่ของนายดูเตร์เตสานต่อนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องย่อมมีโอกาสดันให้ GDP ฟิลิปปินส์ปีนี้ขยายตัวมากถึงร้อยละ 6.8-7.8

               

          นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่าปัจจัยที่เร่งให้เศรษฐกิจเกิดแรงขับเคลื่อนนั้นมาจากปัจจัยทางด้าน อุปสงค์ภายใน(Domestic Demand) ที่มาจากการก่อสร้างซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 12 ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ซึ่งขยายตัวมากถึงร้อยละ 39.9

               

          ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนจาก Supply Side มาจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 8.7

               

          อย่างไรก็ดี ภาคการเกษตรกลับไม่เข้มแข็งดังที่คาดไว้ เนื่องจากเกิดการหดตัวถึงร้อยละ 4.4 ผลจาก ปรากฏการณ์เอลนิญโญ

               

          อีกปัจจัยที่น่าสนใจ คือ บทบาทชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวมากขึ้น การขยายตัวของชนชั้นกลางได้เพิ่มกำลังซื้อให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตเร็วขึ้น เกิดการพัฒนาเมือง ส่งผลให้มีการบริโภคสินค้าบางชนิดเพิ่มตามไปด้วย เช่น รถยนต์ ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น

               

          อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานภายในที่จะมาเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจนั้นขับเคลื่อนได้เต็มศักยภาพ ขณะเดียวกันระบบโลจิสติกส์ยังไม่ดีพอเป็นปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าภูมิประเทศที่เป็นเกาะของฟิลิปปินส์ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ไม่สามารถพัฒนาตนเองเรื่องโลจิสติกส์ได้เต็มที่

               

          การสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สะดวกภายในประเทศย่อมทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว กรณีฟิลิปปินส์นั้น ด้วยความที่สภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ การขนส่งจึงเน้นไปที่เรือเป็นหลัก จนกระทั่งในปี 2003 เริ่มมีการพัฒนาการขนส่งที่เรียกว่า roll-on roll-off (ro-ro)[1]

               

          การขนส่งแบบ ro-ro มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการขนส่งโดยใช้เรือระหว่างหมู่เกาะภายในประเทศ ซึ่งการขนส่งแบบดังกล่าว ทำให้ยานพาหนะสามารถขับขึ้นเรือและขนส่งสินค้าได้โดยที่ไม่ต้องนำสินค้าลงเรือ ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนและเวลาได้มาก

 

[1] ผู้สนใจเรื่องการขนส่งแบบ ro-ro โปรดดู รายงานพิเศษ เรื่อง การขนส่งภายในประเทศของฟิลิปปินส์: อุปสรรคในการทางธุรกิจและแนวทางใน อนาคต http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/131263/131263.pdf&title=131263

 

 

การขยายเส้นทางคมนาคมทางถนนเชื่อมทางเรือ แบบ ro-ro (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศนโยบายสนับสนุนการขนส่งแบบ ro-ro โดยเปิดถนนทางหลวงเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ แบ่งเป็น 3 สาย คือตะวันตก ตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งประกอบ ไปด้วย 12 เส้นทางหลัก

               

          โครงการดังกล่าว มีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจตามหมู่เกาะขนาดเล็ก เพราะลดต้นทุนการขนส่งลงได้มาก เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการกับสินค้าและยังมีผลดีอื่น ๆ อีก เช่น

  • ขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการขนส่งระหว่างมินดาเนาและลูซอนใช้เวลาลดลงกว่า 12 ชั่วโมง
  • ต้นทุนการขนส่งลดลงโดยการขนส่งระหว่างมินดาเนาและลูซอน มีต้นทุนต่ำกว่าเดิมกว่าร้อยละ 30
  • เกิดจุดเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างเกาะและภูมิภาคมากขึ้น
  • ตลาดในภูมิภาคมีการขยายตัว
  • ภาคท่องเที่ยวได้รับประโยชน์
  • การพัฒนาท้องถิ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • อุตสาหกรรมการเดินเรือภายในประเทศมีการปรับโครงสร้างและมีความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจาก ro-ro ทำให้การเดินเรือแบบเดิมลดลงได้

 

          อาจกล่าวได้ว่า ฟิลิปปินส์ในวันข้างหน้า พวกเขากำลังจะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของโลก เป็นดินแดนแห่งโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเปิดตลาดและมองเห็นกำลังซื้อที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

บทส่งท้าย

 

          ซีรีส์ชุดเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้เขียนเริ่มต้นเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยเกิดแรงบันดาลใจหลังจากที่เดินทางไปประชุมราชการที่ประเทศมาเลเซีย และได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนข้าราชการในกลุ่มอาเซียน

               

          คำถามหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนคิดอยากจะเขียนซีรีส์ชุดนี้ คือ เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านเรามากน้อยแค่ไหน เรารู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเพื่อนบ้านเรามากน้อยเพียงใด

               

          โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อใน บริบทของอาเซียน (ASEAN Context) ที่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องวิธีคิด แต่ก็มีความหลากหลายในแนวทางที่เดิน

               

          ยกตัวอย่าง ภูมิภาคของเรา มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเกือบทุกประเทศในอาเซียนจึงมีสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันชันไม่แตกต่างกัน คือ อยู่ในสภาพที่แย่พอ ๆ กัน แต่กรณีสิงคโปร์แล้ว กลับเป็นประเทศที่ติดอันดับโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

               

          ASEAN Context ทำให้เรารู้ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดเท่ากับสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน การครองอำนาจรัฐที่ยาวนานของ นายลี กวน ยิว และพรรคกิจประชาคม PAP ทำให้โครงสร้างทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจของสิงคโปร์เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงอันดับต้น ๆ ในโลก

               

          หรือทำไมผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานอย่าง ซูฮาร์โต้ แห่งอินโดนีเซีย มาร์กอส ฟิลิปปินส์ จึงถูกโค่นล้มจากประชาชน ขณะที่ผู้นำอย่าง ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด หรือ นายลี กวน ยิว ซึ่งครองอำนาจยาวนานพอ ๆ กันกลับถูกจดจำในฐานะรัฐบุรุษผู้พลิกโฉมหน้าประเทศ

               

          สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราเรียนรู้จาก ASEAN Context ทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทเพื่อนบ้านใกล้ตัวเรา

               

          เช่นเดียวกัน เพื่อนบ้านใน กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียนที่โตวันโตคืน เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญทุกประเทศล้วนเชื่อมโยงผู้คนด้วยถนนทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรม

               

          ผู้เขียนชื่นชอบความเป็นอาเซียน เพราะรู้สึกเสมอว่า อาเซียนเป็นชุมชนใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์รากฐานมายาวนาน มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตัวเอง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน กว่าจะมาสร้างชาติและรวมกลุ่มเป็นภูมิภาคนี้ได้

 

 

ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอปิดซีรีส์ด้วยคำขวัญอาเซียนที่ว่า
"One Vision One Identity One Community"
พบกันใหม่ ฉบับหน้ากับ ซีรีส์ชุด เส้นทางสายใหม่ในศตวรรษที่ 21 ครับ

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด