Environmental

กำจัด “ผักตบชวา” สู่การใช้ประโยชน์

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

ต้องยอมรับว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ให้กำจัด “ผักตบชวา” ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้สร้างกระแสตื่นตัวด้านปัญหาที่เกิดจากวัชพืชชนิดนี้ ไปทั้งประเทศ เนื่องจากปัญหาผักตบชวาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นเรื้อรังมานาน ทว่าการไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงยังคงเป็นปัญหาให้เห็นกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

     สำหรับชาวไทยต้องอึ้งและทึ่งกันไปตาม ๆ กัน เมื่อความร่วมมือกันอย่างจริงจังของหน่วยงานต่าง ๆ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีสามารถกำจัดผักตบชวาที่มีอยู่หนาแน่นเป็นความยาวประมาณ 5-6 กิโลเมตรปริมาณราว 5-6 หมื่นตัน ได้หมดภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า หากมุ่งมั่นดำเนินการอย่างจริงจังแล้ว ทุกปัญหาที่ว่าหนักหนา ยิ่งใหญ่ ก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่เราจะเลือกทำด้วยวิธีใดเท่านั้น จะกำจัดให้สิ้นซากไปเลย หรือเลือกนำมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ให้ผลคุ้มค่ามากกว่ากัน

 

“ผักตบชวา” พืชต่างถิ่นเจริญในไทยกว่า 100 ปี

 

          ทั้งนี้ “ผักตบชวา” มีชื่อสามัญว่า Water Hyacinth, Floating Water Hyacinth และมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Eichlornia Crassipes Solms ในวงศ์ Pontederiaceae เป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว ทรงพุ่มกลม สูงประมาณ 50–100 ซม. ลอยน้ำได้โดยไม่ต้องมีที่ยึดเกาะ สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แผ่นใบคล้ายรูปหัวใจเป็นมันหนา ก้านใบพองออกตรงช่องกลาง ภายในมีลักษณะเป็นรูพรุนจึงช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำได้ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบดอกบาง 6 กลีบ สีฟ้าอมม่วง กลีบบนขนาดใหญ่ และมีแต้มสีเหลืองกลางกลีบ ออกดอกช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ในไทยมีชื่อเรียกอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ผักป่อง สวะ บัวลอย ผักปง ผักปอด ผักยะวา และผักอีโยก

               

          เชื่อกันว่า ผักตบชวาเป็นพืชท้องถิ่นในทวีปอเมริกาใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบราซิล ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลก เอกสารทางพฤกษศาสตร์ไม่เคยมีบันทึกเรื่องราวของผักตบชวาเลย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2367 นักพฤกษศาสตร์และนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อว่า Karl von Martius ได้ค้นพบพืชชนิดนี้ขณะสำรวจพันธุ์พืชในบราซิลและในประเทศต่าง ๆ ของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งผักตบชวาไม่ได้เป็นพืชที่สร้างปัญหาให้แก่ท้องถิ่น เนื่องจากมีศัตรูธรรมชาติเช่น แมลง โรค และศัตรูอื่น ๆ คอยควบคุมการแพร่กระจายอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกนำไปจากถิ่นกำเนิดที่ปราศจากศัตรูธรรมชาติ จึงทำให้ผักตบชวาสามารถเจริญเติบโตได้ออย่างรวดเร็วและทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยผักตบชวาได้แพร่ออกจากถิ่นเดิมในอเมริกาใต้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว

 

          โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ผักตบชวาได้ถูกนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นนำไปแสดงในงานนิทรรศการฝ้าย (Cotton State Exposition) ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2427 โดยเก็บมาจากแม่น้ำโอริโนโกในประเทศเวเนซุเอลาขอองทวีปอเมริกาใต้ และได้แจกเป็นของที่ระลึกแก่บุคคลสำคัญที่มาเที่ยวชมงานคนละ 1 ต้น

 

          หลังจากงานนั้น 11 ปีต่อมา ปรากฏว่า ในแม่น้ำเซ็นต์จอห์น รัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองนิวออร์ลีนส์ไปทางใต้ราว 600 ไมล์ มีแพผักตบชวาเกิดขึ้นยาวประมาณ 100 ไมล์ ครอบคลุมพื้นที่ห่างจากฝั่งไปราว 200 ฟุต และผักตบชวาเริ่มกลายเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของโรงเลื่อย เพราะท่อนซุงไม่สามารถจะลอยเข้าไปยังโรงเลื่อยได้ จนในเวลาต่อมารัฐฟลอริดาได้ร้องเรียนไปยังรัฐสภาเพื่อให้ช่วยกำจัดผักตบชวา

 

          ส่วนที่อินโดนีเซียในปี 2424 ชาวดัทซ์ที่ปกครองอินโดนีเซียได้นำผักตบชวา ซึ่งขณะนั้นมีปลูกเฉพาะในสวนพฤกษชาติในหลายประเทศของยุโรป เข้าไปอินโดนีเซีย เพราะผักตบชวามีดอกสีฟ้าเป็นช่อตั้งสวยงามคล้ายคลึงกับดอก Hyacinth ซึ่งเป็นไม้ประดับของประเทศเขตอบอุ่น คำว่า Water Hyacinth” ที่เป็นชื่อสามัญภาษาอังกฤษของผักตบชวาถือกำเนิดมาจากคำนี้นั่นเอง ในระยะแรกที่ผักตบชวาถูกนำเข้าอินโดนีเซียได้ถูกนำไปปลูกไว้เป็นอย่างดีในสวนพฤกษชาติเมืองโบกอร์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ได้แพร่กระจายไปตามลำน้ำต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

 

          ในปี พ.ศ.2444 ถึงเวลาที่ผักตบชวามาถึงเมืองไทย เมื่อมีการนำผักตบชวาจากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกในวังสระประทุม ผลจากหลงใหลในความสวยงามของดอกผักตบชวา ใช้ประดับสระน้ำได้ดี แต่หลังเกิดน้ำท่วมวังสระปทุม ผักตบชวาได้หลุดออกสู่ลำคลองภายนอกและได้แพร่กระจายไปตามที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนในปี พ.ศ.2456 จึงมีพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาออกมา

 

 

ดอกผักตบชวา

 

 

ต้นและรากผักตบชวา

 

แพร่พันธุ์เร็ว ที่มาของสารพัดปัญหา

 

          ที่ผ่านมาความพยายามกำจัดผักตบชวาของภาครัฐบาลและเอกชนในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ค่อยได้ผลนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติที่เจริญเติบโตเร็วของผักตบชวา ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบหลายอย่างตามมา

 

          การแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นที่มาของสารพัดปัญหา โดยผักตบชวา 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้มากถึง 5,000 เมล็ด เมล็ดผักตบชวาเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำยังสามารถมีชีวิตได้นานถึง 15 ปี นอกจากนี้ผักตบชวายังสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการแตกหน่อ ผักตบชวาเพียง 2 ต้น สามารถแตกใบและเจริญเติบโตเป็นต้นได้เป็น 30 ต้น ภายในเวลา 20 วัน หรือเพิ่มน้ำหนักขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 10 วันเท่านั้น

 

          หลังจากนั้นจะสามารถขยายตัวครอบคลุมผิวน้ำได้อัตราร้อยละ 8 ต่อวัน การปล่อยผักตบชวาในแหล่งน้ำเพียง 10 ต้นจะสามารถแพร่กระจายเพิ่มปริมาณเป็น 1 ล้านต้นได้ภายในระยะเวลา 1 ปีเท่านั้น

 

          นอกจากนี้การมีธาตุอาหารในน้ำสูง ยังมีผลต่อการแพร่กระจายของผักตบชวาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผักตบชวาแพร่กระจายเป็นปริมาณมากในที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากมีมลภาวะที่เกิดจากภาคการเกษตร รวมถึงน้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม ตลอดจนน้ำทิ้งจากบ่อปลา และฟาร์มเลี้ยงหมู ทำให้ในน้ำมีธาตุอาหารพืชสูง ผักตบชวาจึงเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

          ผลกระทบที่ตามมาจากความหนาแน่นของผักตบชวาในแหล่งน้ำ มีหลายอย่าง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม

          

          ผลกระทบเบื้องต้น ได้แก่ การทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของแหล่งน้ำ แม่น้ำ เมื่อมีกองผักตบชวาลอยอยู่เต็มไปหมด ซึ่งมีผลให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา รวมถึงผลกระทบการท่องเที่ยว ผักตบชวาทำลายความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำต่าง ๆ ทำให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ยากและยังไปรบกวนกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะพักผ่อนหย่อยใจในแหล่งน้ำนั้น ๆ อีกด้วย เช่น การลงเรือท่องเที่ยว การว่ายน้ำหรือตกปลา เป็นต้น

 

          ผลกระทบต่อการสัญจรทางน้ำ ผักตบชวาที่แน่นหนาเป็นอุปสรรคทำให้การสัญจรทางเรือยากขึ้น หรืออาจไปติดพันใบพัดเรือ  

 

          ผลกระทบด้านการประมง ผักตบชวาที่ขึ้นอยู่หนาแน่นในแม่น้ำเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของปลาและการจับปลา ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ไปลดที่อยู่อาศัยของปลา นอกจากนี้ผักตบชวาที่ลอยอยู่อย่างหนาแน่นบนผิวน้ำยังทำให้แสงสว่างในน้ำลดลง ส่งผลทำให้พืชอาหารปลาขนาดเล็กหรือไฟโตแพลงตอนมีปริมาณลดลง ซึ่งไฟโตแพลงตอนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซออกซิเจนในน้ำ ที่จำเป็นต่อการหายใจของปลาและสัตว์น้ำทุกชนิด ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ตายได้ รวมถึงทำให้น้ำเน่าเสียและยังกระทบต่อการเลี้ยงปลาในกระชังของเกษตรกร

 

          ผลกระทบต่อการชลประทาน ผักตบชวาที่แน่นหนายังส่งผลต่อการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากทำให้อัตราการไหลของน้ำลดลงประมาณ 40% และขัดขวางการระบายน้ำของประตูน้ำ การตื้นเขินของแหล่งน้ำยังทำให้ต้องขุดลอกบ่อยสิ้นเปลืองงบประมาณและทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดวัชพืชน้ำเหล่านี้จำนวนมาก

 

          นอกจากนี้ผักตบชวายังทำให้การระเหยน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีผักตบชวาปกคลุมถึง 3-8 เท่า โดยในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ผักตบชวาสามารถระเหยน้ำได้สูงถึง 0.35 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าคิดเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ ประเมินว่า ทำให้สูญเสียน้ำประมาณละ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเลยทีเดียว

 

          ผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ผักตบชวาสามารถลดอายุการใช้งานของเขื่อนลงได้ เนื่องจากการตกตะกอนทำให้ตื้นเขิน รวมถึงการทำให้ปริมาณน้ำลดลง ผลจากการระเหยน้ำของผักตบชวาที่มากกว่าปกติ 3-8 เท่า ดังที่กล่าวข้างต้น

 

          ผลกระทบต่อภาคเกษตร ผักตบชวาในแหล่งน้ำทำให้การระบายน้ำสู่พื้นที่เกษตรทำได้ไม่ดี ระบายน้ำได้น้อยลง นอกจากนี้แพผักตบชวาที่ไหลมาตามน้ำยังสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ศัตรูพืชนานาชนิดได้ด้วย เช่น หนูและศัตรูอื่น ๆ  

 

          ผลกระทบด้านสาธารณสุข พืชสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแพผักตบชวา นอกจากเป็นอันตรายต่อต้นพืชแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน เช่น หอยไบธีเนีย ที่เป็นพาหะนำโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำยุงนำโรคเท้าช้าง และน้ำค้างตามซอกใบก็เป็นที่อาศัยวางไข่ของยุงชนิดอื่น ๆ อีกทั้ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายหลายชนิด เช่น งูพิษ หรือหนู เป็นต้น เมื่อแพผักตบชวาลอยไปติดเรือนแพหรือท่าน้ำ สัตว์เหล่านี้สามารถขึ้นสู่บ้านเรือนของประชาชน แพร่เชื้อโรคได้ต่อไป

 

          ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น เมื่อการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้ผลไปตามเป้าหมาย ย่อมกระทบต่อการเพาะปลูกซึ่งต้องอาศัยน้ำ ทำให้มีผลผลิตน้อยลง ส่งผลรายได้ลดลงตามมา กระทบคุณภาพชีวิตประชาชนและทำให้แผนพัฒนาประเทศไม่ได้ผลตามเป้าหมายได้

 

คำสั่งนายกฯ กระตุ้นเตือนกำจัด “ผักตบชวา” รอบใหม่

 

          การที่ไทยต้องเผชิญปัญหาผักตบชวามายาวนาน จนรู้สึกชินกับการได้เห็นผักตบชวาทั่วไปในแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้สังคมไทยตื่นตัวเพื่อลุกขึ้นมากำจัดผักตบชวากันอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับรายงานการสะสมของผักตบชวาจากกรมเจ้าท่า ถึงปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขา ตั้งแต่ภาคกลางจนถึง กทม.ว่า มีอยู่เป็นจำนวนมาก ผลจากการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว รวมพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นต้นทางของผักตบชวาก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

การขจัดผักตบชวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท

 

          นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังให้เร่งกำจัดผักตบชวาบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ที่สะสมเป็นระยะทางไกลระหว่าง 5-6 กิโลเมตร ลึก 1-2 เมตร คำนวณได้ว่ามีปริมาณราว 5-6 หมื่นตัน ซึ่งความหนาแน่นของผักตบชวาอาจส่งผลต่อการระบายน้ำในช่วงน้ำหลากหรือฝนตกหนัก  

 

          ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ทั้งจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยทหารที่ดูแลรับผิดชอบ ที่มีกำลังพลและอุปกรณ์ ร่วมกับกรมเจ้าท่าดำเนินการกำจัดผักตบชวาโดยเร็ว ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางน้ำ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อำนวยความสะดวกในการสัญจรทางนํ้า และลดปัญหานํ้าท่วมใหญ่

 

          ภารกิจกำจัดผักตบชวาเริ่มขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 โดยมีการระดมกำลังทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำผลัดเปลี่ยนกำลัง 24 ชม. ผลปรากฏว่า ภาพผักตบชวาที่แออัดแน่นหน้าเขื่อนหายไปภายในวันที่ 9 สิงหาคมเท่านั้น สร้างความประทับใจแก่ประชาชนทั่วไปถึงการทำงานอย่างฉับไวของเจ้าหน้าที่ทางการ

 

          อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาแนวทางทางกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนด้วย โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำผักตบชวาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่าง ๆ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

 

กำจัด “ผักตบชวา” อย่างยั่งยืน-เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

          โดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า แนวทางการกำจัดผักตบชวาสามารถทำได้ 2 วิธี คือการกำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งทำได้ยากในความเป็นจริงและการกำจัดด้วยวิธีการควบคุม ซึ่งเป็นวิธีที่นำมาใช้กันทั่วไปและตรงกับสภาพความเป็นจริงมากกว่า และเมื่อคำนึงถึงวิธีที่ยั่งยืน แน่นอนว่า ย่อมไม่นำสารเคมีกำจัดวัชพืชมาใช้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาได้อีก

 

          ทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นการสานต่อภายหลังจากนำผักตบชวาขึ้นมาจากแหล่งน้ำ แล้ว เป็นการกำจัดวัชพืชชนิดนี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังสามารถแปลงมาใช้ประโยชน์ และมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจได้อีก ได้แก่ การนำมาทำอาหารสัตว์ ทำก๊าซชีวภาพ ทำเครื่องจักสาน และวัสดุในการเพาะชำต้นไม้หรือเพาะเห็ด เป็นต้น

 

          “ปุ๋ยจากผักตบชวา” สามารถทำได้เนื่องจากผักตบชวามีโปแตสเซียมอยู่มากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอีกพอสมควร ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำที่มันเจริญเติบโต โดยสามารถทำปุ๋ยไว้ใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายก็ได้

 

          การทำปุ๋ยอาจทำได้หลายวิธี อาทิ การปล่อยให้ผักตบชวาแห้งแล้วเผา ซึ่งจะได้ขี้เถ้าที่มีโปแตสเซียมอยู่ประมาณ 20% สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใส่ต้นพืชที่ปลูกได้ เป็นวิธีที่ไม่ต้องขนย้ายผักตบชวาให้ยุ่งยาก  แต่จะไม่ได้อินทรีย์วัตถุที่พืชต้องการ  

 

          นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็น “ปุ๋ยหมัก” โดยกองสลับชั้นกับดิน ปุ๋ยคอกและขยะ กลับกองปุ๋ยหมักทุก ๆ 15 วัน จากนั้นจะเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยหมักสีดำคล้ำนำไปใช้ได้ภายใน 2 เดือน โดยปุ๋ยหมักจากผักตบชวามีองค์ประกอบคือ ไนโตรเจน 2.05% ฟอสฟอรัส 1.1% โปแตสเซียม 2.5% ที่จำเป็นแก่การเจริญเติบโตของพืชทุกชนิดในดิน ป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น และเมื่อสลายตัว ก็กลายเป็นอินทรียวัตถุและปุ๋ยให้แก่พืชปลูก..

 

          อีกวิธีคือ ใช้ทำ “วัสดุคลุมดิน” โดยการนำเอาผักตบชวาไปคลุมต้นพืชที่ปลูก เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน ป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น และเมื่อสลายตัว ก็กลายเป็นอินทรียวัตถุและเป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้ หรือนำมาตากแห้งแล้วใช้ผสมกับฟางเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางได้อีกทางหนึ่ง 

 

          สำหรับทางเลือกใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอีกอย่างหนึ่งคือ “การทำอาหารสัตว์” เนื่องจากผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำ เมื่อทำให้แห้งแล้วจะมีคุณค่าทางอาหารสัตว์สูง โดยมีโปรตีน 10-16% จึงสามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ เช่น ทำเป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ใช้ทำอาหารเลี้ยงไก่ ห่าน กระต่ายและหมู โดยผสมกับอาหารอื่น ๆ

 

          หรือแม้แต่ทำ “อาหารของคน” ก็ยังสามารถทำได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมบริโภคกัน โดยส่วนดอกอ่อนและก้านใบอ่อนของผักตบชวา สามารถนำมาทำเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้มได้  ซึ่งผักตบชวามีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น  ต้นมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษในร่างกาย ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย เป็นยาขับลมและใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบได้

 

 

“ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา” ผลงานวิจัยพัฒนาของทีมนักวิจัย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร, ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ และ อาจารย์ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

 

          ประโยชน์จากผักตบชวาที่น่าทึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ  “การนำแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน” หรือแม้แต่ “ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา” นั่นเอง ซึ่งคนไทยมีฝีมือทางด้านนี้อยู่แล้ว สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าโอท็อปที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น สานเป็นกล่อง กล่องใส่กระดาษทิชชู ตะกร้าผักตบชวา กระเป๋าผักตบชวา เก้าอี้ผักตบชวา เปลญวน รองเท้าแตะหรือรองเท้าผักตบชวา ถาดรองผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ แจกันสาน เสื่อผักตบชวา กระดาษจากผักตบชวา ฯ

 

          สำหรับตัวอย่าง “ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา” ที่น่าประทับเป็นผลงานวิจัยพัฒนาของทีมนักวิจัย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร, ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ และ อาจารย์ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่พัฒนาเส้นใยผักตบชวาสู่ผลิตสิ่งภัณฑ์สิ่งทอสร้างสรรค์ได้สวยงาม แปลกตา เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประกอบการแต่งกาย คือ เสื้อผ้าผักตบชวา หมวกผักตบชวา รองเท้าผักตบชวา นำมาออกแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ผ้าปูโต๊ะ

 

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผักตบชวา

 

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผักตบชวา

 

          โดยคุณสมบัติเด่นของเส้นใยผักตบชวา คือ น้ำหนักเบา ใส่แล้วไม่ร้อน เมื่อเทียบกับเส้นใย ลินิน ป่าน ปอ นอกจากนี้ยังเป็นการนำวัชพืชที่ไม่มีประโยชน์ มาเพิ่มมูลค่าทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากเส้นใยธรรมชาติ กลายเป็นเส้นด้ายผลิตเป็นผ้าผืนและผลิตภัณฑ์สิ่งทออย่างสร้างสรรค์ สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดของสิ่งทอ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

 

 

เสื่อผักตบ (phanomrungsilk.com)

 

 

เส้นใย-สิ่งทอจากผักตบ

 

ใช้ประโยชน์ “บำบัดน้ำเสีย” ผลิตก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงแท่ง

 

          นอกเหนือจากประโยชน์ดังข้างต้นแล้ว ผักตบชวายังสามารถนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การนำมาใช้ “บำบัดน้ำเสีย” โดยใช้เป็นทางเลือกในการบำบัดน้ำเสียนอกเหนือจากต้น ธูปฤาษี (Typha Latifolia) ผักเป็ดน้ำ (Alternanthera Philoxeroides) อ้อ (Phragnites Connumis) แหน (Lemma Spp.) ดีปลีน้ำ(Potamogeton Crispus) และกก(Scirpous Lacustris)

 

          สาเหตุเพราะ ผักตบชวา สามารถอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ทั้งในน้ำสกปรกและน้ำสะอาด สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่ค่า pH 4-10 และอุณหภูมิของน้ำไม่สูงกว่า 34 oC และในต้นพืชจะมีน้ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 95 (ในใบร้อยละ 89 และในก้านใบร้อยละ 96.7) ผักตบชวาช่วยในการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นตัวกรอง

 

          ผักตบชวาที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เปรียบได้กับการบรรจุวัสดุพรุน ซึ่งกรองน้ำที่ไหลผ่านกอผักตบชวาอย่างช้า ๆ ทำให้ของแข็งแขวนลอยต่าง ๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกั้น นอกจากนี้ ระบบรากที่มีจำนวนมาก ช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียดได้ โดยมีจุลินทรีย์ที่รากช่วยดูดสารอินทรีย์ด้วยอีกทาง รากผักตบชวาจะดูดสารอาหารที่อยู่ในน้ำ ลำเลียงไปยังใบเพื่อสังเคราะห์แสง ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียจึงถูกกำจัดไป

 

          อย่างไรก็ตามไนโตรเจนในน้ำเสียนั้น ส่วนมากจะอยู่ในรูปสารประกอบทางเคมี เช่น สารอินทรีย์ไนโตรเจน แอมโมเนียไนโตรเจน และไนเตรทไนโตรเจน ซึ่งเคยมีการศึกษาพบว่า ผักตบชวาสามารถดูดไนโตรเจนได้ทั้ง 3 ชนิด แม้ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยผักตบชวาสามารถดูดอินทรีย์ไนโตรเจนได้สูงกว่าไนโตรเจนในรูปอื่น ๆ คือ ประมาณร้อยละ 95 ขณะที่ไนเตรทไนโตรเจน และแอมโมเนียไนโตรเจนสามารถดูดได้ประมาณร้อยละ 80 และร้อยละ 77 ตามลำดับ

 

          แต่การใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสียที่มีปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ในทางกลับกันจะมีผลให้ผักตบชวาเจริญเร็วขึ้นด้วย และเติบโตปกคลุมผิวน้ำมากขึ้น จึงต้องมีการจัดการนำต้นแก่ขึ้นจากน้ำด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มันตายและเน่าอยู่ในน้ำ จนไปเพิ่มปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียได้อีก อย่างไรก็ดีควรใช้วิธีบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ร่วมกับวิธีอื่น ๆ จะให้ผลสำเร็จมากกว่า

 

          ส่วนการนำผักตบชวาใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ นำไป ผลิตก๊าซชีวภาพและเชื้อเพลิงแท่ง ช่วยให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

 

          จะเห็นได้ว่า แม้ผักตบชวาจะสร้างปัญหาได้หลายอย่าง แต่ปัญหาสามารถแก้ไขได้ โดยสามารถกำจัดหรือควบคุมวัชพืชชนิดนี้ได้ด้วยการนำมาสร้างประโยชน์ ดัดแปลงไปใช้งานในด้านต่าง ๆ หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ดีกว่าการนำขึ้นมากำจัดเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ้นเปลือกงบประมาณและแรงงานโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

 

ในอนาคต เราอาจได้เห็นพัฒนาการต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จากผักตบในด้านอื่น ๆ ได้ เพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้ จากการคิดค้น พัฒนาของเหล่านักวิจัยภายใต้กระทรวงต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหา อย่างยั่งยืน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://thaitribune.org/

http://irrigation.rid.go.th
http://region1.prd.go.th
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/
http://nutrition.dld.go.th/
http://www.dpt.go.th/
http://www.phayaopuktobchawa.com/
http://frynn.com/
http://reo06.mnre.go.th/
http://library.cmu.ac.th/

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด