R&D Show Update

เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (DURIAN MATURITY INSPECTION) นวัตกรรมฝีมือคนไทยคว้ารางวัลเหรียญทองแดงจากเวทีสิ่งประดิษฐ์โลกปี 2016 ที่เจนีวา

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

 

 

ตอบรับยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โชว์ 458 นวัตกรรม ซึ่ง 1 ในนั้นมีนวัตกรรมที่โดดเด่นฝีมือคนไทย คือ เครื่องวัดความอ่อน- แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) เป็นผลงานของทีมวิจัย นำโดย ผศ.ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม และทีมนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สร้างชื่อเสียงโด่งดังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ในงาน 44th International Exhibition and Invention of Geneva 2016 ณ สมาพันธรัฐสวิส เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

          4 4th International Exhibition and Invention of Geneva 2016 ซึ่งถือเป็นงานประกวดนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลกโดยในแต่ละปีจะมีผลงานนวัตกรรมจัดแสดงมากกว่า 1,000 ชิ้นจาก 48 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งผลงานเครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยสำนักข่าว BBC ของอังกฤษได้ยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 ของสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดและน่าทึ่งของโลก “Seven of the Best and Weirdest New Inventions”

 

 

ผศ.ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

 

          ผศ.ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ที่มาของงานวิจัยเนื่องจากทุเรียนได้ฉายาว่าเป็น “The King Of Fruits” เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารและมีปริมาณส่งออกสูงถึง 381,470 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 15,563 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2015) ปัจจุบันทุเรียนไทยโดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองเป็นที่นิยมทั้งคนไทยและนานาประเทศ จึงทำให้ตลาดการส่งออกทุเรียนไทยเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือชาวสวนและผู้ส่งออกทุเรียนไทยไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าทุเรียนลูกไหนแก่หรืออ่อนเพียงใด เหมาะแก่การบริโภคหรือไม่ ต้องรอกี่วัน ปัจจุบันชาวสวนได้แต่ใช้วิธีการเคาะด้วยไม้ที่มีปลายหุ้มด้วยวัสดุยาง ซึ่งไม่แม่นยำ ทางทีมงานวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.จึงคิดค้นพัฒนา เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) ซึ่งจะช่วยคัดทุเรียนอ่อนออกจากคอนเทนเนอร์ส่งออก ลดปัญหาชาวสวนและผู้ส่งออกคัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายและถูกตีกลับทั้งคอนเทนเนอร์จากประเทศคู่ค้าเมื่อมีการสุ่มตรวจเจอทุเรียนอ่อ่น สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล และบางครั้งผู้ส่งออกยังต้องเผชิญกับโทษรุนแรงทั้งจำคุกและเงินค่าปรับจากกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มงวดในต่างประเทศอีกด้วย

               

          คำว่า “อ่อน” หมายถึง ทุเรียนที่ไม่พร้อมต่อการบริโภค ทิ้งไว้อย่างไรก็ไม่แก่ที่จะทานได้ ส่วนทุเรียน “แก่” หมายถึง เมื่อทิ้งไว้อีกระยะก็จะสามารถสุกพร้อมรับประทานได้

               

          ผลงานการวิจัย เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) เป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย “เซนเซอร์ไมโครเวฟเพื่อการเกษตร” โดยมี ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นหัวหน้าโครงการ เราใช้เวลาศึกษาวิจัยต่อเนื่องนานหลายปี จนกระทั่งสามารถพัฒนาย่อส่วนอุปกรณ์ลงมาให้เล็กกะทัดรัด และยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเหลือเพียงราคาหลักหมื่นบาท มุ่งเน้นการใช้งานที่ง่าย และที่สำคัญราคาต้องไม่สูงเพื่อเกษตรกรจะได้มีกำลังซื้อหามาใช้ได้ เครื่องวัดความของทุเรียนนี้ ทำงานด้วยคลื่นความถี่ 915 MHz. มีกำลังส่ง 10 มิลลิวัตต์ ใช้เสาอากาศ 2 ชุด คือ ด้านรับ TR-Ant และด้านส่ง TX-Ant จุดวัดทุเรียนจะอยู่ตรงกลาง สามารถสแกนวัดค่าได้รวดเร็วโดยจะรู้ผลเป็นภาษาไทยได้ภายในไม่ถึง 1 วินาที ว่าทุเรียนมีคุณภาพอ่อน หรือแก่สำหรับการบริโภค เพราะจากการศึกษาพบว่า ทุเรียนอ่อน และแก่จะได้ค่าแตกต่างกันหรือมีความต้านทานไม่เท่ากัน ทำให้เครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซนเซอร์สามารถวัดค่าได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ค่าความแก่-อ่อน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามตารางดังนี้

 

 

          วิธีการใช้งาน เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) นี้ใช้งานง่าย คนทั่วไปที่ไม่ใช่ชาวสวนก็สามารถวัดและทราบได้ ไม่ต้องกรีดผ่าดู จึงไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อผลทุเรียน มีขั้นตอนการใช้เริ่มต้นเครื่องวัดโดยเลือกสุ่มทุเรียนไปวางไว้บนแท่นเครื่องวัด แล้วกดปุ่ม Calibrate ซึ่งจะส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนไปยังสายอากาศตัวรับ แล้วกดที่ปุ่ม Measure ขณะที่คลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียน ขนาดของสัญญาณคลื่นจะถูกลดทอนลงและแปรผันไปตามความอ่อน หรือแก่ของทุเรียน จากนั้นข้อมูลจะส่งผ่านเครื่องส่ง-รับสัญญาณไปประมวลที่คอมพิวเตอร์ และจะแสดงผลบนหน้าจอให้รู้ผลได้ทันที ว่า PASSED หมายถึง ทุเรียนแก่, หากแสดงผลว่า FAILED หมายถึง ทุเรียนอ่อน

    

           

          ขณะนี้มีผู้บริษัทผู้ส่งออกทุเรียน ผู้ประกอบการเกษตรและสำนักงานการเกษตรในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชุมพร ระยอง จันทบุรี สมุทรสาคร ได้สั่งเครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟไปใช้แล้ว ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนจะพัฒนาให้สามารถบอกได้ว่าทุเรียนที่แก่นั้นจะพร้อมรับประทานในอีกกี่วัน นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดพัฒนาไปใช้กับผลไม้อื่น เช่น เมลอน โดยวัดว่ามีระดับความหวานเท่าใด ที่เหมาะแก่การบริโภคได้อร่อย นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต (Pre-Harvest Inspection) ติดตั้งและใช้งานที่ต้นทุเรียนเลยก็เป็นไปได้

 

 

นับเป็นผลงานของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นสมาร์ทเทคโนโลยีที่ราคาไม่สูง ขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่ายรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อชาวสวนและการส่งออกทุเรียนของไทย

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด