Technology Update

การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

ปัทมาพร ท่อชู

สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

ดร.วิทยา  อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ  วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

 

 

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์นำความรู้จากธรรมชาติวิทยามาคิดค้นและดัดแปลงธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต ในระยะแรกเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นระดับพื้นฐานอาทิ การเพาะปลูก การชลประทาน การก่อสร้าง การทำเครื่องมือเครื่องใช้ การทำเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เป็นต้น แต่จากปัจจัยการเพิ่มจำนวนของประชากร ข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการนำและการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

 

     เทคโนโลยี หรือเทคนิควิทยา มีความหมายค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึงธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรม เช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

 

          เทคโนโลยีก่อเกิดผลกระทบต่อสังคมและในพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ เทคโนโลยีได้ช่วยให้สังคมหลาย ๆ แห่งเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งรวมทั้งเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ในหลาย ๆ ขั้นตอนของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีได้ก่อให้ผลผลิตที่ไม่ต้องการ หรือเรียกว่ามลภาวะ เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่ถูกนำมาใช้มีผลต่อค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคม เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็มักจะถูกตั้งคำถามทางจริยธรรม ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักมากขึ้นในปัจจุบัน

 

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี

 

          วิวัฒนาการของเทคโนโลยี หมายถึง การพัฒนาวิธีการ สิ่งของเครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาสนองความต้องการ หรือเพิ่มความสามารถในการทำงานของมนุษย์โดยมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ลักษณะทางกายภาพ วัสดุ หน้าที่ใช้สอย การใช้งานรวมถึงประสิทธิภาพของวิธีการ สิ่งของเครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์นั้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวิวัฒนาการของเทคโนโลยี สามารถแบ่งได้หลายแบบ โดยสรุปเกณฑ์ที่ใช้แบ่งได้ดังนี้

 

          1. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่แบ่งตามระยะเวลา แบ่งได้ 4 ยุค คือ

 

          1.1 ยุคโบราณยุคแรก ๆ คือประมาณ 10,000 ปี ก่อนคริสตศักราช มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ต้องดิ้นรนหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด มนุษย์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ไม้ กระดูก ขนสัตว์ ใบไม้ หญ้า เพื่อการดำรงชีวิต

 

          1.2 ยุคกลาง เป็นยุคที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องกลไกต่าง ๆ เช่น ในประเทศจีน ใช้ระบบแม่แรงยกสิ่งของ (Hydraulic Engineering) เพื่อใช้กับสิ่งก่อสร้าง

 

          1.3 ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคนี้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น เป็นยุคของเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) มีการสร้างกังหันลมและใช้พลังไอน้ำ สำหรับการทำงานของเครื่องจักรกล และการค้นพบความรู้เรื่องไฟฟ้าและเกิดการคิดค้นการสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

 

          1.4 ยุคศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของการบิน การส่งจรวด ความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ และระเบิดปรมาณู การประดิษฐ์คิดค้นวัสดุใหม่ ๆ

 

          2. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีแบ่งตามความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี แบ่งได้ 2 ยุค คือ

 

          2.1 ยุคแรก เทคโนโลยีเกิดขึ้นพร้อมกับการมีมนุษยชาติ เป็นการสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อการยังชีพ โดยใช้วัสดุธรรมชาติใกล้ตัว

 

          2.2 ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยียุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก มีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้แทนแรงงานคนและพลังน้ำไหลตามธรรมชาติไปสู่ต้นกำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

 

          3. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีแบ่งตามลักษณะของเทคโนโลยี แบ่งได้ 5 ขั้น คือ

 

          1. ช่างฝีมือ (Handcraft)

          2. ช่างกล (Mechanization)

          3. ระบบเครื่องจักรโรงงาน (Mass Production)

          4. เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation)

          5. สมองกล (Cybernation)

 

ความหมายของเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์

 

          เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรม เช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

 

          การสร้างสรรค์ (Creativity) หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า โดยสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นอาจมีการอ้างถึงบุคคลผู้สร้างสรรค์ หรือสังคมหรือขอบเขตภายในที่ได้สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา ซึ่งการวัดคุณค่าดังกล่าวอาจใช้ได้หลายวิธี

 

         ความคิดสร้างสรรค์ มี 4 ลักษณะ ประกอบ ด้วย

 

         1. ความคิดริเริ่ม (Originality) คือมีความคิดที่แปลกใหม่ต่างจากความคิดธรรมดาของคนทั่ว ๆ ไป

 

         2. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) คือมีความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายทิศทางหลายแง่หลายมุม

 

         3. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) คือสามารถคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว และได้คำตอบมากที่สุดในเวลาที่จำกัด

 

         4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) คือการคิดได้ในราย ละเอียดเพื่อขยายหรือตกแต่งความคิดหลักให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ของเทคโนโลยี

 

         เทคโนโลยีมีคุณค่าอยู่ที่การพัฒนาตน ให้เป็นเครื่องเกื้อหนุนอำนวยโอกาสให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามนำชีวิตและสังคมเข้าถึงความสุขและอิสรภาพดียิ่งขึ้นไป การรู้เท่าทันเทคโนโลยีจะเกิดประโยชน์ ดังนี้

 

          1. สามารถสื่อสารกับผู้อื่น คือสามารถรับส่งสารที่เป็นประโยชน์ให้ผู้อื่นเข้าใจ อย่างถูกต้อง อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับกาลเทศะ และเกิดประโยชน์

 

          2. สามารถพัฒนาตนเองและสังคม เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเรียนรู้ เลือกใช้ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต สำหรับสืบค้น ค้นคว้า รวบรวม สรุปความรู้ที่ได้ ด้วยรูปแบบของตนเองอย่างสร้างสรรค์ และมีคุณธรรม

 

          3. สามารถลดขั้นตอนและเวลาในการทำงาน ใช้เทคโนโลยีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานที่เป็นประโยชน์ เช่น จัดนิทรรศการ ทำแผ่นพับ เอกสาร วารสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานต่าง ๆ อย่างถูกต้อง อย่างสร้างสรรค์ มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ และมีคุณธรรม ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

 

          4. สามารถพัฒนาทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น ใช้เทคโนโลยีรวบรวมข้อมูลได้ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ใช้เทคโนโลยีออกแบบและปฏิบัติตามที่ออกแบบไว้ได้สำเร็จ รวมถึงใช้เทคโนโลยีประมวลผลจนเกิดชิ้นงาน/ภาระงานที่สามารถแก้ปัญหาหรือความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          สรุปว่าประโยชน์ของเทคโนโลยี มีดังนี้คือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้น ช่วยให้เราทันสมัย และช่วยประหยัดเวลา เป็นต้น

 

 

ระดับของเทคโนโลยี

 

          ระดับของเทคโนโลยีที่ใช้ในสังคมสามารถแบ่งได้ 3 ระดับคือ

 

          1. เทคโนโลยีระดับพื้นบ้าน หรือระดับพื้นฐาน (Low Technology) เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แต่เดิมตั้งแต่ยุคโบราณเกิดขึ้นจากความจำเป็นในการยังชีพของชาวชนบทในท้องถิ่นมีการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากธรรมชาติโดยตรงตลอดจนใช้แรงงานในท้องถิ่น มีการสืบทอดเทคโนโลยีต่อ ๆ กันมาพร้อมกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนั้นอาจเรียกเทคโนโลยีระดับต่ำว่าเป็นเทคโนโลยีท้องถิ่น (Traditional Technology) จัดเป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ๆ ซึ่งผู้ที่มีความสามารถในระดับต่ำจำเป็นต้องมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น ๆ อย่างถูกต้อง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อการดำรงชีวิตแต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจนถึงระดับแก้ไขดัดแปลง

 

          2. เทคโนโลยีระดับกลาง (Intermediate Technology) คือเกิดจากการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีระดับพื้นบ้านมาเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีขั้นตอนการทำงานซับซ้อน มีการคำนวณ และมีการวางแผนในการทำงานล่วงหน้าก่อนการทำงาน และผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นต้องมีความรู้พอสมควรและผลิตภัณฑ์ผลิตออกมา ก็มีการใช้วัสดุสังเคราะห์มากขึ้น จากเกษตรพื้นบ้านเป็นเกษตรกรรมเมือง เช่น การใช้เครื่องจักรแทนคน การใช้เครื่องทุ่นแรง และการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น

 

          3. เทคโนโลยีระดับสูง (High Technology) เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิศวกรรม การศึกษา วิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะด้านขั้นสูง รู้จักดัดแปลงเทคโนโลยีเดิมให้มีคุณภาพดีขึ้นจนก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หุ่นยนต์ อาคารหรือตึกสูง ๆ เครื่องบินโดยสาร ยานอวกาศ รถไฟความเร็วสูง และรถแข่ง เป็นต้น งานเหล่านี้ต้องมีการคำนวณอย่างละเอียด มีการทดลองใช้งานเพื่อหาข้อผิดพลาดก่อนการใช้งานจริง

 

การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer)

 

          เทคโนโลยีเป็นแนวคิดการสร้างหรือวิธีการจัดการจัดหาสิ่งของที่มนุษย์ต้องการใช้ในการดำรงชีวิตเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ เริ่มตั้งแต่อย่างง่ายแล้วพัฒนาปรับปรุง และวิวัฒนาการจนก้าวหน้าตามความรู้ของแต่ละชุมชน และถูกถ่ายทอดจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง หรือจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่ง ทำให้ความรู้เหล่านี้กระจายไป และเกิดการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อสนองต่อความต้องการมนุษย์กว้างขวางยิ่งขึ้น ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า "การถ่ายทอดเทคโนโลยี" หรือการได้มาซึ่งความรู้ทางด้านเทคโนโลยี (Technology Know-How) สำหรับการผลิตสินค้าและบริการด้วย ดังนั้นระดับของการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

          การถ่ายทอดเทคโนโลยี อาจแบ่งได้ 4 ระดับ ดังนี้

 

          ระดับที่ 1 เป็นการโยกย้ายทางภูมิศาสตร์ของเทคโนโลยี เช่น การเคลื่อนย้ายโรงงานและเครื่องจักรจากภูมิศาสตร์หนึ่งไปยังอีกภูมิศาสตร์หนึ่ง ความหมายเช่นนี้ ผู้ขายเทคโนโลยีและนักวิชาการในประเทศพัฒนาแล้วนิยมใช้กันมาก ต่อมาเห็นว่า ความหมายนี้ไม่ยังครอบคลุม และควรเรียกการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับนี้ว่า "การนำเข้าเทคโนโลยี"

 

          ระดับที่ 2 การถ่ายทอดเทคโนโลยีเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เมื่อผู้รับสามารถดำเนินการผลิตบำรุงรักษาและเปลี่ยนแผนการผลิต โดยมิต้องอาศัยผู้ให้อีกต่อไป

 

          ระดับที่ 3 เป็นระยะที่เทคโนโลยีซึ่งได้รับจากระดับที่ 2 ส่ง ผ่านหรือกระจาย (Diffuse) ความรู้ดังกล่าวภายในสังคม อาจเป็นการกระจายโดยไม่เจตนาของผู้รับและผู้ให้ก็ได้

 

          ระดับที่ 4 การถ่ายทอดในระยะนี้จะสมบูรณ์ เมื่อผู้รับเทคโนโลยีทั้งโดยตรงและทางอ้อม สามารถสร้างเทคโนโลยีชนิดหนึ่งขึ้นได้ใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถดัดแปลง แก้ไขเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น

 

          ดังนั้นสรุปว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั่วไป คือการเคลื่อนย้ายวิทยาการ หรือความรู้ความสามารถจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

 

ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์

 

          เทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็อาจส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติเอง จากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อประเทศไทยมีหลายอย่าง เช่น

 

          1. ด้านพลังงาน ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายทำให้มีความต้องการใช้พลังงาน เพิ่มขึ้นจึงต้องหาแหล่งพลังงานให้พอกับความต้องการ ทำให้มีการสร้างโรงไฟฟาเพิ่มขึ้น ผลกระทบจากการผลิตกระแสไฟฟาของโรงไฟฟาต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น โรงไฟฟาที่ใช้พลังงานความร้อนโดยใช้น้ำมัน หรือถ่านหิน ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงจะปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และเถ้าถ่านสู่บรรยากาศซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟา พลังน้ำหรือการสร้างเขื่อนทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  

 

          2. มลภาวะทางอากาศ เกิดจากควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและท่อไอเสียรถยนต์ที่ปล่อยสารพิษตะกั่วปนไอเสียออกมา ซึ่งสารตะกั่วมีผลต่อระบบหายใจของมนุษย์ จะทำให้เกิดอาการปวดท้องคอแห้ง และชักหมดสติ และมลพิษทางอากาศอีกอย่างหนึ่งที่พบในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ได้แก่ การเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse Effect) แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกจากยานพาหนะ โดยจะกั้นไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์กระจายออกจากโลกทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และสัตว์ เป็นต้น  

 

          3. มลภาวะทางเสียง กระบวนการผลิตของโรงงานกระบวนการขนส่งสินค้า การขนส่งคมนาคม ตามเมืองใหญ่ ๆ ทำให้เกิดเสียงดังมาก สร้างความรำคาญส่งผลเสียต่อสุขภาพ และสุขภาพจิตของคนในสังคม  

 

          4. มลภาวะทางน้ำ เกิดจากการที่โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และมนุษย์ปล่อยน้ำเสีย ซึ่งมีสารพิษ เช่น ปรอทแคดเมียมและแมงกานีส เป็นต้น ลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบาด เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์และบิด เป็นต้น  

 

การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

 

          การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเเละการเปลี่ยนเเปลงหรือผลที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิต สังคมเเละสิ่งเเวดล้อม คือ

 

          1. การเลือกใช้เทคโนโลยีโดยคำนึงถึงชีวิต คือการเลือกใช้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายของผู้ใช้

 

          2. การเลือกใช้เทคโนโลยีโดยคำนึงถึงสังคม คือการเลือกใช้โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม

 

          3. การเลือกใช้เทคโนโลยีโดยคำนึงถึงสิ่งเเวดล้อม คือการเลือกใช้โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเเละมลภาวะต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

          นอกจากนี้การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ถ้าหากเราเลือกใช้เทคโนโลยีโดยไม่รู้จักใช้หรือไม่เหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แต่ถ้าเราเลือกใช้เทคโนโลยีหรือมีการคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็จะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมบริเวณต่าง ๆ กลับมาสู่สภาพที่ดีอีกด้วย เช่นตัวอย่างต่อไปนี้

 

          1. การใช้เทคโนโลยีเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ส่งผลต่อการลดใช้ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการสร้างกระแสไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ทำให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          2. การใช้เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เพื่อลดการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกในการใส่ของ สามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งจะช่วยในการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมที่จะนำมาผลิตเป็นพลาสติก ช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกที่จะกลายเป็นขยะย่อยสลายยากหรือใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย เพราะการใช้ถุงพลาสติกส่วนใหญ่จะใช้เพียงครั้งเดียว ยิ่งมีการใช้มากก็ยิ่งมีการผลิตมาก ปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่การใช้ถุงผ้ามีอายุการใช้งานนานสามารถนำกลับมาใช้อีก เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดการผลิตและลดปริมาณขยะ แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้อีกด้วย

 

          3. การใช้เทคโนโลยีด้านการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้รถยนต์เพื่อการเดินทาง ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็วของการเดินทาง ในปัจจุบันการใช้รถยนต์มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การผลิตรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ใช้พลังงานทางเลือก ช่วยในการขับเคลื่อน ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง NGV รวมทั้งการคิดวิธีการเพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนน เช่น โครงการ “ทางเดียว กันไปด้วยกัน (Car Pool)” เป็นต้น

 

          หมายเหตุ แหล่งพลังงานที่สามารถทดแทนน้ำมันในการขนส่ง มีดังนี้ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofu-els) เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล และพลังงานไฟฟ้า

 

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร

 

          1. สำรวจความต้องการของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานแตกต่างกัน ย่อมมีลักษณะการทำงานและความต้องการทางเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ควรเปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานได้แสดงความคิดเห็นและนำเสนอเทคโนโลยีที่หน่วยงานตนเองต้องการว่ามีความต้องการเทคโนโลยีประเภทใด และหลังจากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในหน่วยงานจะช่วยเพิ่มความสามารถและศักยภาพในส่วนใดบ้าง

 

          2. บูรณาการความต้องการเพื่อกำหนดกรอบมาตรฐาน ในการทำงานบางประเภทของแต่ละหน่วยงาน อาจจะมีส่วนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน เช่น การจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งข้อมูลผ่านอีเมล์ การควบคุมการเปลี่ยนแปลงเวอร์ชั่นของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้นควรมีการคัดเลือกเทคโนโลยีเหล่านั้นให้มีการทำงานในรูปแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานมีมาตรฐานมากขึ้น

 

          3. พิจารณาความเหมาะสมกับ Business Model รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความเฉพาะและแตกต่างกัน ย่อมสรรหาเทคโนโลยีที่จะนำมาปรับใช้ในองค์กรค่อนข้างยาก จึงควรสรรหาเทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงรองรับ และสามารถปรับ เปลี่ยนได้ตามลักษณะธุรกิจของเราได้

 

          4. ตรวจสอบพื้นฐาน องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรถือว่าเป็น เรื่องยากที่จะต้องถ่ายทอดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ วิธีการใช้งาน และการบำรุงรักษา ให้กับบุคลากร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรวจพื้นฐานของบุคลากรโดยรวมว่ามี ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับใด ถ้าอยู่ในระดับน้อย ควรมีการจัดอบรมและชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพในการทำงาน

 

          5. การทดแทนความสามารถของบุคลากร เทคโนโลยีที่ดีควรสามารถทดแทนการทำงานของบุคลากรได้เพียงบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือ งานบางประเภทที่ต้องการความละเอียดและความรอบคอบพร้อมกับสามัญสำนึกของมนุษย์ เช่น การพิจารณาอนุมัติงบประมาณ เป็นต้น การนำเทคโนโลยีมาทดแทนกระบวนการที่ต้องใช้ความสามารถของบุคลากรถือว่าเป็น เรื่องที่มีความเสี่ยง ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ควรจะเป็นอะไรที่ช่วยแบ่งเบาภาระ และลดเวลาในการทำงานลง

 

          ปัจจัยสุดท้ายที่ไม่ควรมองข้ามคือ คุณลักษณะของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้งาน แต่ถ้าเรามองง่าย ๆ เทคโนโลยีในการใช้งานสำหรับธุรกิจแต่ละประเภทมีคุณสมบัติ ที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ให้คำปรึกษาหรือเจ้าของเทคโนโลยีใดที่สามารถให้ข้อมูล ให้คำปรึกษาในการนำเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ดีกว่ามักจะ เป็นตัวเลือกที่ดีเสมอ

 

สรุป

 

          เทคโนโลยีได้เข้าไปมีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คนและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ ด้านการธนาคาร ด้านห้องสมุด ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย และด้านธุรกิจการเลือกใช้เทคโนโลยีใด ควรคำนึงถึงผลที่จะเกิดต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ มีความเหมาะสมและคำนึงถึงผลต่อปัจจัยเหล่านี้และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความ ตระหนักและความสำคัญ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
1. แก้วตา ชูกลิ่น. เทคโนโลยีกับชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์)
2. http://www.krukaewta.net/web1/ng23101/unit4/u4_techno_and_life.html
3. http://taamkru.com/th/
4. http://www.krukaewta.net/web1/ng23101/unit4/u4_techno_and_life.html
5. https://sites.google.com/site/wqocc32102/title1
6. https://sites.google.com/a/srisuk.ac.th/computer-science-ssw/raywicha-kar-ngan-xachiph-laea-thekhnoloyi-m-3/radab-khxng-thekhnoloyi
7. http://technologycleanertechology.blogspot.com /2015/09/blog-post.html
8. http://www.thaigoodview.com/node/149384
9. http://jantima11.blogspot.com/
10. http://duangkamont.blogspot.com/
11. http://technologycleanertechology.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด