Products Showcase

Passive Wi-Fi เทคโนโลยีพลังงานใหม่ของอุปกรณ์ IoT

          นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ได้เปิดเผยถึงการวิจัยเทคโนโลยีของ Wi-Fi แบบใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของอุปกรณ์ IoT อีกครั้ง โดยเทคโนโลยีที่ว่านี้จะช่วยให้อุปกรณ์ IoT สื่อสารข้อมูลผ่าน Wi-Fi ได้ด้วยพลังงานที่น้อยลงกว่าเดิมถึง 10,000 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่า Bluetooth LE หรือ ZigBee อยู่ถึง 1,000 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งทีมนักวิจัยของ UW ได้นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวไปในงาน USENIX Symposium on Networked Systems Design and Implementation ที่จัดไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

          เทคโนโลยีที่ว่านี้มีชื่อ Passive Wi-Fi ที่ได้ชื่อแบบนี้ก็เพราะส่วนฮาร์ดแวร์ของ Passive Wi-Fi นั้นทำงานโดยอาศัยหลักการ Backscatter ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้ใน Passive RFID tag นั่นเอง ความน่าสนใจก็คืออุปกรณ์ IoT ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ไม่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานอีกต่อไป นอกจากนั้น หากนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนก็จะช่วยให้การเชื่อมด้วยต่อกับ Wi-Fi ที่เดิมเคยเป็นส่วนที่สูบพลังงานอย่างมากจากแบตเตอรี่ กลายเป็นแทบไม่ต้องใช้พลังงานเลยอีกด้วย

 

          ในการทดลองกับเครื่องต้นแบบ อุปกรณ์ Passive Wi-Fi สามารถจะสื่อสารกับอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไป 100 ฟุต (ประมาณ 30.5 เมตร) ได้ แม้จะมีกำแพงกั้นอยู่ โดยในการทดลองที่ว่านี้จำเป็นต้องมีการดัดแปลงเฟิร์มแวร์ของ Wi-Fi Access Point เพื่อสร้างสัญญาณเฉพาะสำหรับอุปกรณ์ Passive Wi-Fi ซึ่งนั่นก็ทำให้ Access Point จะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น

 

          ในอนาคตนักวิจัยก็เชื่อว่าเทคโนโลยี Passive Wi-Fi จะช่วยให้อุปกรณ์ IoT ต่างๆ มีราคาถูกลงอีกมาก และจะช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กล้องวงจรปิด, เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ, เซนเซอร์จับควันไฟ ทั้งหมดจะไม่จำเป็นต้องถูกเปลี่ยนแบตเตอรี่อีกต่อไป

 

 

Domino pizza robot หุ่นยนต์ส่งพิซซาตัวแรกของโลก

          Domino Pizza เป็นหนึ่งในบริษัทที่มักจะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาทำให้ลูกค้าได้ประหลาดใจอยู่บ่อยครั้งจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ one-click easy order button ที่ลูกค้าสามารถสั่งพิซซาได้ด้วยการกดปุ่ม, รถส่งพิซซาที่มีเตาอบติดตั้งอยู่ในตัว เพื่อให้พิซซาส่งถึงมือของลูกค้ากันแบบร้อนๆ เป็นต้น ล่าสุดก็คือ หุ่นยนต์นักส่งพิซซา หรือ DRU (Domino's Robotic Unit) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับบริษัท Startup ในประเทศออสเตรเลียที่มีชื่อว่า Marathon Targets (http://marathon-targets.com)

 

          DRU มีน้ำหนัก 190 กิโลกรัม มีความสูงราว 1.2 เมตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เทคโนโลยี LIDAR ในการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมบนท้องถนนเช่นเดียวกับรถยนต์ขับเคลื่อน อัตโนมัติ และมีระบบ GPS tracking และ Google Maps ช่วยในการนำทาง สามารถทำความเร็วได้ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตัดสินใจได้เองเมื่อพบสิ่งกีดขวาง โดยสามารถจะแล่นบนทางเท้าและบนทางจักรยาน นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งกล้องตรวจการณ์ และระบบล๊อคป้องกันการขโมยเอาไว้ด้วย ซึ่งลูกค้าจะต้องป้อนรหัสผ่านเพื่อเปิดกล่องแล้วรับพิซซ่าไปอร่อยกัน

 

          ในปัจจุบันบริการนี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบและพัฒนา โดย Domino Pizza ได้ประสานงานกับ Queensland Department of Transport and Main Roads ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ และจะเริ่มเปิดให้บริการที่ออสเตรเลียเป็นที่แรก ในขณะเดียวกัน Domino Pizza เองก็ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั่วโลกด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า DRU จะสามารถใช้งานได้บนทุกท้องถนนตามกฎเกณฑ์ของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เทรนด์ของเทคโนโลยีเซนเซอร์จับภาพยุคใหม่ที่เก่งขึ้นกว่าเดิม

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เซนเซอร์จับภาพแบบซีมอส (CMOS image capture) ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Fast Auto-Focus, Low-Light Sensitivity และ Back-Illuminated Pixel Arrays และเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ การนำส่วนประมวลผลภาพ (vision processor) เข้ามาเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเซนเซอร์ชนิดนี้

 

          ยกตัวอย่างเช่น Omron Corporation ซึ่งได้พัฒนาโมดูลฮาร์ดแวร์ที่เรียกว่า Human Vision Component (HVC) module โดย HVC นั้นถูกมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 โดยการใช้อัลกอริทึมในการรู้จำใบหน้าที่เรียกว่า OKAO Vision ซึ่ง Omron พัฒนาขึ้น และทำให้ HVC สามารถใช้ข้อมูลภาพของส่วนต่างๆ บนใบหน้า การจ้องมองและการเคลื่อนไหวของดวงตา ในการรู้จำตัวบุคคล รวมทั้งสามารถคาดคะเน เพศ อายุ อารมณ์และความรู้สึก ได้ภายในเสี้ยววินาที (ดังตัวอย่างในรูปด้านล่าง) โมดูลที่ว่านี้มีขนาดเล็กและใช้งานได้ง่ายมาก โดยที่โมดูลจะมีพอร์ต UART ที่จะส่งข้อมูลของการตรวจจับใบหน้า (facial data) ออกมา ซึ่งนักพัฒนาสามารถจะนำข้อมูลจากพอร์ตดังกล่าวไปใช้งานต่อได้ในทันที

 

 

 

รูปที่ 1 HVC เป็นโมดูลที่ Omron Corporation พัฒนาขึ้นโดยมีส่วนประมวลผลภาพซึ่งจะทำงานบนอัลกอริทัมซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Omron และสามารถประมวลผลภาพและทำการรู้จำจากภาพใบหน้าได้ภายในเสี้ยววินาที

 

 

          OminiVision OV2744 เป็นเซนเซอร์จับภาพยุคใหม่อีกรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเซนเซอร์รุ่นนี้มีทั้งส่วนจับภาพที่ใช้เทคโนโลยี RGB-Ir ซึ่งสามารถจับภาพสีและภาพจากรังสีอินฟราเรดที่ความละเอียด 1080P และอัตรา 60 เฟรมภาพต่อวินาที และยังมีส่วนประมวลผลภาพ (image sensor processor) สำหรับการรู้จำใบหน้าอยู่ในเซนเซอร์รุ่นนี้อีกด้วย

 

 

 

รูปที่ 2 โครงสร้างภายในของ OV2744 เซนเซอร์จับภาพยุคใหม่ของ OminiVision ที่จะมาพร้อมกับความสามารถในการรู้จำใบหน้าด้วย

  

          เซนเซอร์เหล่านี้ในอนาคตจะถูกนำไปใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น ในระบบ ADAS (Advanced Driver Assistance System) โดยเซนเซอร์ที่ว่านี้จะถูกใช้ตรวจดูพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิด อันตราย หรืออาการหลับในโดยการตรวจภาพใบหน้าของผู้ขับรถแบบเรียลไทม์, ในด้านการ แพทย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยของโรคออทิสติก อาการซึมเศร้า และการรักษาผู้ป่วยโรคความเครียด เป็นต้น

 

อีกก้าวของเทคโนโลยีพลังงานจากไฮโดรเจนในโลกความจริง

 

          ถึงแม้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนจะมีประสิทธิภาพและความ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV อยู่บ้าง (เนื่องจากการผลิตไฮโดรเจนปริมาณมากๆ ในปัจจุบันยังต้องพึ่งการแปรรูปก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นตัวการสร้างมลภาวะ) แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานจากไฮโดรเจนนั้นเหมาะจะนำมาใช้ในชีวิตจริง มากกว่า ยกตัวอย่างได้จาก รถยนต์ FCV (Fuel-Cell Vehicle) FCX Clarity จาก Honda ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายให้ลูกค้าบางรายในประเทศญี่ปุ่นไปบ้างแล้ว

 

          หากเปรียบเทียบเรื่องระยะทาง เทคโนโลยี EV ในปัจจุบัน สามารถทำระยะทางสูงสุดได้ราว 435 กิโลเมตร (อ้างอิงจากข้อมูลของ Tesla Model S) ในขณะที่ Clarity สามารถแล่นทำระยะทางสูงสุด 750 กิโลเมตร โดยการใช้ถังขนาด 70 MPa แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนปั๊มก๊าซที่ยังมีไม่แพร่หลาย กว่าจะใช้งานได้จริงจังก็คงใช้เวลากันอีกพักใหญ่

  

 

          แต่นอกจากการใช้ในรถยนต์แล้ว Honda ก็ยังนำเอาเครื่องยนต์ของ Clarity มาใช้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Tesla Powerwall คือ นำมาใช้เป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับบ้าน โดยใช้ชื่อว่า Power Exporter 9000 เครื่อง ยนต์พลังไฮโดรเจนที่ว่านี้มีกำลัง 9 kW สามารถจ่ายพลังงานให้กับบ้านเรือนทั่วๆ ไปได้นาน 7 วันอย่างสบายๆ แต่ว่าความแตกต่างของระบบนี้กับ Powerwall ก็คือ ระบบนี้ไม่สามารถชาร์จเก็บพลังงานไว้ในตัวเองได้ แต่จะต้องทำงานโดยการต่อพ่วงเข้ากับรถยนต์ไฮโดรเจน เรียกได้ว่าเป็นการแปลงรถยนต์ FCV ให้กลายเป็นแบตเตอรีสำรองให้กับบ้าน การออกค่ายกลางแจ้ง รวมทั้งการใช้งานในกรณีที่เหตุวิบัติภัย

 

          เป็นไปได้ว่า Power Exporter 9000 จะเริ่มผลิตและวางจำหน่ายพร้อมกับ Clarity ในปีหน้า โดยในช่วงแรก Honda จะเริ่มจำหน่ายให้เฉพาะกับองค์ธุรกิจและหน่วยงานของรัฐฯ เท่านั้น เพื่อเก็บข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ จากผู้ใช้งาน ก่อนที่จะเริ่มทำตลาดให้มากขึ้น โดยคาดว่าปลายปี 2016 จะเริ่มส่งออกจำหน่ายไปยังทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นพื้นที่ถัดไป