Environmental

“พลาสติกชีวภาพ” ทางออกลดขยะ เพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรไทย

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

 

"ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ชาวโลกได้หันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องของการใช้ทรัพยากรโลกอย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุหรือพลังงาน การปลูกต้นไม้ทดแทนป่าที่ถูกทำลาย การรักษาแหล่งน้ำ ลดมลพิษและลดปริมาณขยะโลก โดยประเด็นการลดขยะนั้น พลาสติกชีวภาพ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น"

 

 

 

 

          จากคุณสมบัติที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่ผ่านมานักวิจัยไทยทำการศึกษาวิจัยก้าวหน้าจนถึงขั้นพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงได้แล้วและได้รับการขานรับจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ในอนาคตไทยอาจสามารถขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการใช้พลาสติกประเภทนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรของไทยและส่งเสริมสภาพแวดล้อมของไทยให้ดีขึ้นได้

 

 

กระแสโลกตอบรับพลาสติกชีวภาพ

 

 

 

 

          ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) หรือ พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastic) เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผลิตจากแป้ง (Starch) โปรตีนจากถั่ว อ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพด เป็นต้น จึงเป็นความหวังอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหามลพิษและขยะในสิ่งแวดล้อมได้ เพราะสามารถย่อยสลายกลายเป็นดินกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมได้เร็วภายใน 15 วัน-3 เดือน ต่างจากพลาสติกซึ่งเป็นผลผลิตจากปิโตรเคมีที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายระหว่าง 400-500 ปี จึงทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เพราะต้องหาพื้นที่ฝังกลบ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวทำการเกษตรได้อีกต่อไป หรือหากนำไปเผายังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา โดยพลาสติกชีวภาพย่อยสลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชนำมาใช้ประโยชน์ได้และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า พลาสติกชีวภาพจึงช่วยลดภาพที่น่ากลัว จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank*) ลงได้ ที่ประเมินไว้ว่า ในปี 2025 ทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 6 ล้านตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ราวร้อยละ 71.4 ที่มีปริมาณขยะราว 3.5 ล้านตันต่อวัน

 

 

 

 

          พลาสติกชีวภาพที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ 1.Polylactic Acid (PLA) และ 2.Polyhydroxybutyrate (PHB) Polylactic Acid (PLA) เป็นพลาสติกที่ผลิตจากข้าวโพดหรืออ้อย แต่ส่วนใหญ่นิยมผลิตจากข้าวโพด โดยนำเมล็ดข้าวโพดไปทำเป็นแป้ง แล้วนำแป้งไปผ่านกระบวนการหมัก (Fermentation) โดยใช้แบคทีเรีย Lactobacillus Brevis ได้ผลผลิตเป็นกรดแลคติก (Lactic Acid) ซึ่งกรดแลคติกนี้เป็นโมโนเมอร์ที่จะนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเป็นพลาสติก เมื่อนำไปผ่านกระบวนการ Polymerization ได้เป็นโพลีเมอร์ที่เรียกว่า Polylactide ออกมา

          สำหรับ Polyhydroxybutyrate (PHB) ค้นพบโดย** Maurice Lemoigne นักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ Alcaligenes Eutrophus โดยใช้แหล่งวัตถุดิบจากน้ำตาลกลูโคสหรือแป้งมาเป็นแหล่งคาร์บอนให้กับจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนเป็น Acetyle CoA ซึ่งสารนี้จะเป็นโมโนเมอร์สำหรับใช้ในการผลิตเป็น PHB

          พลาสติกชีวภาพชนิด PLA ถูกนำมาใช้งานมากกว่า ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PLA รายใหญ่ โดยใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของการผลิตPLA ทั้งหมดของโลก ในขณะที่ความต้องการพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2020 ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านตัน เมื่อเทียบกับความต้องการเพียง 0.4 ล้านตัน ในปี 2012 เนื่องจากกระแสการบริโภคที่ขานรับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

 

ไทยมีความพร้อมผลิตพลาสติกชีวภาพ

 

 

          สำหรับประเทศไทยถูกมองว่า มีศักยภาพสูงในการผลิตพลาสติกชีวภาพเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากการเป็นแหล่งวัตถุดิบชีวมวลสำหรับใช้ในการผลิต การสนับสนุนจากภาครัฐ บวกกับภาคธุรกิจและนักวิจัยไทยมีความสนใจศึกษาวิจัยก้าวหน้าหลากหลาย จนถึงขั้นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นของคนไทยเองได้แล้ว

          นางสุนันทา สมพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยในเวทีเสวนา เรื่อง เปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ ที่จัดขึ้นช่วงกลางเดือนกันยายน 2558 ว่า ไทยมีความพร้อมในเรื่องวัสดุตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้แข่งขันกับพลาสติกฐานปิโตรเลียมแบบเดิมได้และยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง

 

          สอดพ้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่า ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ โดยไทยผลิตมันสำปะหลังได้ราว 29.6 ล้านตันต่อปีและสามารถผลิตอ้อยได้ราว 103.3 ล้านตันต่อปี ถ้านำมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจะช่วยเพิ่มมูลค่าด้านราคาแก่มันสำปะหลังสดและอ้อยได้ราว 3.3 เท่า และ 4.0 เท่าตามลำดับ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตพลาสติกชีวภาพ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและน้ำตาล ผู้ผลิตกรดแล็กติก ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ไปจนถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ

          สำหรับการผลิตข้าวโพดนั้น จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2557/58 (ณ กันยายน 2557)ได้ถึง 5.01 ล้านตันและมีพื้นที่ปลูก 7.40 ล้านไร่ด้วยกัน

 

 

ปตท. ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่

 

 

          อย่างไรก็ดีเนื่องจากการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงกลายเป็นข้อจำกัดด้านการลงทุน มีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายใหญ่และรายเดียวในประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศเท่านั้น  

          ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ของ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. มีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกรดทั่วไปอยู่ที่ จ.ระยอง โดยมีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ปริมาณ 20,000 ตันต่อปีและเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ปริมาณ 140,000 ตันต่อปี

 

 

เปิดโรงงานต้นแบบผลิตพลาสติกชีวภาพมาตรฐานสากล มช.

 

 

 

 

          อย่างไรก็ดีกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพของ ปตท. ยังเป็นเทคโนโลยีของต่างประเทศ แต่เวลานี้ไทยก้าวหน้าสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพด้วยเทคโนโลยีของตนเองได้แล้วและยังเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงสำหรับใช้ทางการแพทย์ด้วยจากความบริสุทธิ์ที่มากกว่า 99.95%  ผลจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปีของนักวิจัยทีม ผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการเปิดตัวโรงงานผลิตขนาดย่อม ๆ แล้ว โดยความร่วมมือของ ปตท. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วช. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ที่สนับสนุนงบประมาณหน่วยงานละ 7,000,000 บาท รวม 28,000,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อสร้างห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากล หรือ ห้องปฏิบัติการผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกของไทยที่ได้มาตรฐาน  ISO 13485 โดยมี ผศ.ดร.วินิตา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ

          นักวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและผลิตภัณฑ์ระดับภาคสนามที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้ในระดับห้องปฏิบัติการและพร้อมที่จะผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้

          สำหรับการผลิตโดยเทคโนโลยีที่เป็นของไทย คือ นักวิจัยสามารถคิดค้นตัวริเริ่มปฏิกิริยาตัวใหม่เพื่อใช้ในการผลิตมอนอเมอร์และพอลิเมอร์สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและมุ่งเน้นผลิตเพื่อใช้งานด้านวัสดุทางการแพทย์เป็นสำคัญ 

 

 

 

 

          ผศ.ดร.วินิตา เปิดเผยว่า ได้จดสิทธิบัตรตัวริเริ่มปฏิกิริยาใหม่และกระบวนการผลิตมอนอเมอร์ไว้แล้ว ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีห้องปฏิบัติการต้นแบบฯ ในอนาคตคือ จะช่วยลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศได้เพราะไทยสามารถพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงได้แล้วและยังเป็นการผลิตจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 13485 ช่วยประหยัดงบประมาณ เนื่องจากเม็ดพลาสติกที่นำเข้ามีราคาสูงถึง 150,000 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ไทยเราสามารถผลิตได้ในราคาต่ำกว่าไม่ถึง 80,000 บาทต่อกิโลกรัมบนมาตรฐานเดียวกัน

          แม้ขณะนี้ห้องปฏิบัติการฯ ยังมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพใช้ทางการแพทย์ไม่มากนัก เพียง 1 กิโลกรัมต่อ 1 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานสูงไว้ โดยกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายได้แก่ กลุ่มนักวิจัย ที่พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ในสัตว์ทดลองและผู้ป่วยและกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์เพราะมาตรฐานของเม็ดพลาสติกชีวภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ได้หลายอย่าง อาทิ ผลิตไหมเย็บแผล เพลทหรือสกรูสำหรับใช้ทดแทนยามกระดูกหัก ทำให้ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อนำออกและผลิตอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยยา เป็นต้น  โดยผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกชีวภาพเกรดสูงนี้คาดว่าจะได้เห็นภายใน 1 ปี

 

 

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยฉายแววรุ่ง ภาครัฐหนุนลงทุน –วิจัย

 

 

          ในอนาคตคาดว่า ไทยจะสามารถขยายการผลิตพลาสติกชีวภาพได้เพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ผลจากการสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยไทยได้สร้างผลงานที่น่าทึ่งมากมาย

          โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปีอยู่แล้ว การช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยมอบหมายให้กระทรวง พลังงานพิจารณาลดค่าไฟและก๊าซธรรมชาติให้แก่ผู้ประกอบการ และยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมคือ ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 90% เป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าจะมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ แทนที่จะเป็นการผลิตเพื่อมุ่งส่งออกเป็นหลัก

 

 

 

 

          สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นที่นำมาโชว์ในงานเสวนา เปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ ณ สำนักงาน วช. อาทิ ผลงานของ นักวิจัยทีมงานของ ผศ.ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง และ รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยฯ วช. สนช. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งประสบความสำเร็จพัฒนา กรดดี-แล็กติก (D-lactic Acid ) และ แอล-แล็กติก (L-Lactic Acid) ที่มีความบริสุทธิ์เชิงแสงสูงถึง 100% จากแบคทีเรีย  และยังสามารถผลิตได้เร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยกรดทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นสำหรับใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด “พอลิแล็กติกแอซิด” (PLA) ชนิด Poly (L-lactic Acid-PLLA) และ Poly(D-lactic Acid-PDLA)  นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมช่วยเพิ่มความสามารถทนความร้อนสูงของพลาสติก PLA

           ความสำเร็จนี้เป็นความหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพที่มีต้นทุนต่ำได้ในอนาคต เพราะในปัจจุบัน  D-Lactic Acid ที่ได้จากกระบวนการหมักทั่วโลกมีปริมาณน้อย ทำให้มีราคาแพง เมื่อเทียบกับ L-Lactic Acid ซึ่งเป็นสารหลักที่จุลินทรีย์ผลิตได้เองอยู่แล้ว

            ทั้งนี้ในการศึกษานักวิจัยได้ใช้จุลินทรีย์เปลี่ยนแป้ง ซึ่งหมายถึง กากมันสำปะหลัง มันเส้น หรือมันสด ให้กลายเป็นกรด D-lactic Acid ที่บริสุทธิ์ โดยแบคทีเรียที่นำมาใช้จัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียกินได้หรือกลุ่มปลอดภัย กลุ่มเดียวกับที่ใช้ทำโยเกิร์ต 2 ชนิดซึ่งแตกต่างกัน ได้แก่ Lactococus ที่จะได้กรด L-Lactic Acid ส่วน Lactobacillus ได้ D-lactic Acid   

          “นำแบคทีเรียมาจากโรงแป้งเพราะเป็นแบคทีเรียที่โดยธรรมชาติมีอยู่ในแป้งและกินแป้งเป็นอาหารอยู่แล้ว จากนั้นนำมาคัดสายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ ต่อมานำมาทดลองให้แบคทีเรียกินแป้งและดูผลผลิต หลังจากนั้นใช้กระบวนการหมัก ก่อนนำเซลล์แบคทีเรียออกให้เหลือแต่ตะกอน นำตะกอนไปทำละลายและทำให้ได้กรดที่บริสุทธิ์ออกมา ซึ่งกรดที่บริสุทธิ์นี้นำไปทำโพลิเมอร์เพื่อนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพต่อไป”

          ผศ.ดร.สุรีลักษณ์ ยังกล่าวด้วยว่า การผลิตกรดด้วยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ เนื่องจากใช้วัตถุดิบราคาถูกที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย นอกจากนี้การผลิตยังสามารถทำได้เร็ว โดยกระบวนการเปลี่ยนจากแป้งไปเป็นกรดของทีมวิจัยใช้เวลาเพียง 3-6 ชั่วโมงเท่านั้นและมีความเสถียร ส่วนปริมาณที่ผลิตได้อยู่ที่อัตราส่วน  100 กิโลกรัมแป้ง: แบคทีเรีย 2% ได้ D-Lactic Acid เป็นปริมาณ 70 กรัมและ L-Lactic Acid ปริมาณ 91 กรัม

          นับเป็นผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์อย่างมากและพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่การผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หากมีผู้ประกอบการที่สนใจ นอกจากนี้ทีมงานของผศ.ดร.สุรีลักษณ์ยังคงเดินหน้าทำวิจัยต่อเนื่องจนปัจจุบันได้ค้นพบแบคทีเรียมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิต D-Lactic Acid และ L-Lactic Acid  

          ขณะเดียวกันทีมวิจัยของ ผศ.ดร.สุรีลักษณ์ ยังศึกษาแบคทีเรียผลิตโพลิเมอร์ด้วย ซึ่งหมายความว่า แบคทีเรียมีการผลิตพลาสติกอยู่ภายในตัวเอง จากนั้นนักวิจัยนำมาสกัดออก และจากการศึกษาสกัดแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ ทำให้ได้พบว่า แต่ละสายพันธุ์จะให้โพลิเมอร์ออกมาแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบและโพลิเมอร์เหล่านี้สามารถนำไปหลอมเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อนำไปขึ้นรูปได้เลย ไม่ต้องไปเริ่มกระบวนการผลิตเองตั้งแต่ต้นทาง อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังสามารถผลิตได้เป็นปริมาณน้อย ต้องใช้เวลาในการเพาะขยายแบคทีเรียให้ได้จำนวนมาก เพื่อให้สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพได้เป็นปริมาณมากในขั้นต่อไป

 

 

 

 

          สำหรับผลงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจเป็นการวิจัยกลางน้ำ ที่นำเม็ดพลาสติกชีวภาพมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้นี้ เช่น การดัดแปรพอลิแลคติกแอซิดเพื่อประยุกต์ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ทนแรงกระแทกสูง ผลงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสถาบันพลาสติก, ถาดพิมพ์ปากดัดรูปได้ในการรักษาทางทันตกรรม ผลงานนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผลงาน ฟิล์มคลุมดินเพื่อระบบนิเวศ งานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากหลายสถาบันทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและ ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับงานเพาะชำ ผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

 

 

 

  

เอกชนขานรับร่วมวิจัย-นำไปใช้

 

 

          นอกเหนือจากการวิจัยในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐแล้ว เอกชนหรือผู้ประกอบการเองได้หันมาสนใจใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น โดยมีรายใหญ่ ๆ เป็นผู้นำ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  มีบรรจุภัณฑ์ใช้กับสินค้าแช่เย็นกลุ่มอาหารสด และในช่วงต้นปี 2558 นี้ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตนม ไอศกรีมและโยเกิร์ตมีชื่อริม ถ.มิตรภาพ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นอีกตัวอย่างที่ ได้เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นถ้วยโยเกิร์ตจากพลาสติกชีวภาพแล้วเช่นกัน

 

 

 

 

          นายพฤติ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ แดรี่โฮม เปิดเผยว่า เดิมทำงานอยู่ในธุรกิจนมมาก่อน ที่บริษัทไทย-เดนมาร์กตั้งแต่หลังจบการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกปรับปรุงพันธุ์ ช่วยสอนชาวบ้านเลี้ยงวัว แต่ได้ออกมาทำธุรกิจของตัวเองมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งยังเกี่ยวข้องกับโคนมอยู่ ทั้งขายอุปกรณ์ เครื่องใช้ พร้อม โรงงานผลิตอาหารโคนม ต่อมาคิดว่า ควรจะทำธุรกิจให้ครบวงจรโดยได้ขยายกิจการมาผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนม พร้อมพยายามชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นให้ปรับวิถีการทำเกษตรใหม่ โดยหันมาเลี้ยงโคนมอินทรีย์ ทำเป็นฟาร์มแบบอินทรีย์  ไม่เน้นกำไร ใช้วัตถุดิบมาจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กระทั่งปัจจุบันมีเพื่อนบ้านเกษตรกรมารวมกลุ่มกันในชื่อว่า กลุ่มโคนมอินทรีย์ของแดรีโฮม ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรมมากกว่า 10 ราย

 

 

 

 

          นายพฤติกล่าวว่า การทำฟาร์มโคนมอินทรีย์ เกษตรกรจะได้เต็ม ๆ  ส่วนผู้บริโภคก็ได้บริโภคนมดีมีคุณค่าเพิ่มทั้งวิตามินและแร่ธาตุ โรงงานมีการจัดการแบบ Zero Waste ไม่มีของเสีย เพราะทุกอย่างนำกลับมาใช้ได้หมด ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งนมสด  โยเกิร์ตและไอศกรีม

          “อย่างไรก็ตามทำแค่นั้นยังไม่พอ เราต้องปรับด้วยเป็น กรีน  ไม่ปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมและเป็นภาระต่อโลก ด้วยการหันมาใช้ บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ ประกอบกับกระแสพลาสติกชีวภาพเริ่มแรงเพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงได้เริ่มทำวิจัยเพื่อดูว่า พลาสติกชีวภาพจะสามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์นมได้หรือไม่ โดยไปปรึกษากับองค์กรที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ เริ่มที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ก่อน ซึ่งได้ประสานงานทำวิจัยร่วมกับ อาจารย์นวดล เพ็ชรวัฒนา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เริ่มในปี 2556 ทำเป็นเวลา 3 ปีและได้ ถ้วยโยเกิร์ตจากพลาสติกชีวภาพ 100%”

          ผู้บริหารรักษ์สิ่งแวดล้อมของแดรี่โฮม กล่าวต่อว่า การวิจัยช่วยให้มั่นใจได้ว่า ถ้วยรุ่นใหม่สามารถนำมาใช้กับสินค้าของตนได้จริง จากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยซื้อเม็ดพลาสติกจากบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จำกัด ในเครือ ปตท. ไปขึ้นรูปที่โรงงานแถว จ.พระนครศรีอยุธยา และเริ่มใช้ถ้วยโยเกิร์ตช่วงเดือน มกราคม 2558

 

 

 

 

          ทั้งนี้ถ้วยโยเกิร์ตที่วิจัยได้มีคุณสมบัติหลายอย่างคือ 1.สามารถเก็บรักษาเนื้อโยเกิร์ตตลอดอายุ 3 สัปดาห์ได้ดีกว่าพลาสติกธรรมดา และ 2. สามารถย่อยสลายได้ดีในกระบวนการหมักย่อยในหลุม แม้มีต้นทุนแพงกว่า 30% แต่ได้ดึงงบกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) มาใช้ชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี จากเดิมบริษัทมีงบด้านวิจัยที่ประมาณ 2% ของยอดขาย (ยังไม่หักกำไร/ขาดทุน)

           “เวลานี้นับว่า ภาพรวมของบริษัทมีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิตและบรรจุภัณฑ์ ช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าคาร์บอนต่อหน่วยลดลง ทำให้ได้ผลตอบรับในเชิงบวกเพิ่มขึ้น ลูกค้าที่เข้าใจให้การสนับสนุนเพิ่ม”

          อย่างไรก็ตามคุณพฤติ ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ โดยเวลานี้ยังร่วมมือกับทีมวิจัยของ อ.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยพลาสติกชีวภาพและโรงงานขึ้นรูปพลาสติกแห่งหนึ่งเพื่อทำ ถ้วยไอศกรีม ต่ออีก ซึ่งคาดว่าจะได้ใช้ราวปี 2559 โดยถ้วยไอศกรีมรุ่นใหม่คาดหวังว่า จะสามารถทนความเย็นในระดับไอศกรีมได้และย่อยสลายช้าหน่อย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้อีก เช่น นำไปทำเป็นกระถางปลูกต้นไม้ เป็นต้น

          ส่วนงานวิจัยขั้นต่อไปในอนาคต คุณพฤติกล่าวว่า ต้องการพัฒนา ขวดบรรจุนม จากพลาสติกชีวภาพ โดยโจทย์ที่จะพัฒนาคือ สามารถย่อยสลายได้ เก็บคุณภาพน้ำนมได้ดี ไม่ปนเปื้อนและสามารถทนร้อนและเย็นได้

          ปัจจุบันคุณพฤติยังพยายามชักชวนเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์และในวิถีทางที่ถูกต้องต่อไป แม้ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะความคุ้นชินทำให้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน

          อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารหัวใจรักษ์โลกของแดรี่โฮมได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่พอมีกำลัง ให้ปรับเปลี่ยนสินค้าและภาชนะมาใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อผู้บริโภค ตัวเกษตรกรและภาคการเกษตรเอง

          โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า ภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยและเอกชนของไทย มีมุมมองต่อพลาสติกชีวภาพในด้านบวกและพร้อมจะอ้าแขนรับผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

 

 

"แม้ว่าจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด แต่เชื่อได้ว่า อย่างน้อยต่อไปเราคงจะได้เห็นว่า มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่มีอยู่เพียงไม่กี่รายรวมถึงมีผลงานวิจัยดี ๆ ถูกนำไปต่อยอดเพื่อสร้างผลผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง..เพื่อขยายการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพอย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้น 

ที่สำคัญคือ การได้เห็นเกษตรกร สามารถลืมตาอ้าปากได้ สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง"

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ข้อมูลจาก http://www.thaigoodview.com/ นายปราโมทย์ ทองเนียม
  • ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.thinsiam.com, เว็บไซต์สมาคมการค้ามันสำปะหลัง เว็บไซต์ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, http://www.kasetinfo.arda.or.th/ และเว็บไซต์ http://www.kasetloongkim.com/

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด