R&D Show Update

มจธ. จัดหลักสูตร WiL เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม สร้างนักศึกษาคุณภาพ “คิดเป็น ทำได้จริง” สู่สถานประกอบการ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

 

 

ในยุคที่ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลาง ดังนั้น บุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะและมีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอย่างมาก

 

 

          ดังนั้นตลอด 55 ปีที่ผ่านมาการผลิตบัณฑิตที่เก่ง ดี มีคุณภาพ และทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

  

          กว่า 20 ปี ที่ มจธ.ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน หรือ WiL (Work-integrated Learning) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ประยุกต์ความรู้ในสาขาที่เรียนมาไปใช้ในการทำงานจริง ณ สถานประกอบการ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์พี่เลี้ยงของสถานประกอบการ ที่ผ่านมา WiL สามารถสร้างผลงานที่ได้รับการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมเจ้าของโจทย์ที่นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้อย่างมากมาย ดังนั้นคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน ภายใต้กลุ่มงานนวัตกรรมและพันธมิตร สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มจธ.จึงได้จัดงานนิทรรศการ “สัปดาห์แสดงผลงานนักศึกษาหลักสูตรการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน ประจำปี พ.ศ.2559 (WiL Week)” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 1 เมษายน พ.ศ.2559 ณ Science Learning Space คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. 

 

 

 

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

          รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตเก่งดีและมีคุณภาพออกไปช่วยแก้ปัญหาสังคมและสร้างประเทศชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาจริง จึงจะทำให้นักศึกษาคิดเป็น ทำได้ ซึ่งหลักสูตร WiL นั้น จะนำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการที่มีโจทย์ปัญหาจริง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ อยากรู้ลึกลงไปในเนื้อหาของงานที่ทำไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่เทคโนโลยี และสามารถนำความรู้นั้นไปแก้โจทย์ปัญหาจริงได้ จึงถือเป็นลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนแบบ WiL การตั้งใจที่จะมุ่งสู่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และทำสิ่งที่ทำได้ให้ดีที่สุด จะทำให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ในที่สุด

 

 

ดร.สรัญญา ทองเล็ก

ประธานคณะทำงานโครงการ WiL

 

 

          ดร.สรัญญา ทองเล็ก ประธานคณะทำงานโครงการ WiL กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดหลักสูตร การเรียนการสอนในรูปแบบ WiL และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากมาเกือบ 20 ปีแล้ว สามารถสร้างผลงานที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานจริง ทำให้ปัจจุบันได้ขยายหลักสูตรจากระดับปริญญาโทเป็นปริญญาตรีเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะการทำงานต่าง ๆ นอกเหนือจากที่ได้ในห้องเรียนจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ณ สถานประกอบการมากขึ้น

 

 

 

 

 

          “การจัดนิทรรศการฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานนักศึกษา ที่ได้นำความรู้ จากที่เรียนในห้องเรียนกว่า 3 ปี ไปประยุกต์ใช้กับโจทย์จริงในสถานประกอบการ นอกจากนั้นยังได้ทำงานร่วมกับบุคลากรของภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตการทำงานจริงในสถานประกอบการ ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้รับ จึงไม่ใช่แค่เพียงวิชาการแต่ยังได้ทักษะการทำงานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างมากในอนาคต”

 

          ภายในนิทรรศการฯ จัดให้นักศึกษานำโครงงานวิจัยของตนเองมานำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ โดยแบ่งประเภทของผลงานออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ Safety, Innovation, Quality Improvement, Process Improvement, Information Management, Resource Management มีผลงานของนักศึกษาที่นำมาจัดแสดงทั้ง 2 ระดับ จาก 4 คณะ ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ 33 ผลงาน, คณะวิศวกรรมศาสตร์ 33 ผลงาน, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 2 ผลงาน และบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม หรือ GMI 1 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 69 ผลงาน การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งอาจารย์ บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเรียนการสอนรูปแบบ WiL ชัดเจนมากขึ้น และหันมามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อที่จะได้ร่วมกันผลิตบัณฑิตที่เก่ง ดี และมีคุณภาพให้กับสังคมและประเทศต่อไป”

 

 

 

นายชนวีร์ ลิขสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโทจากโครงการทักษะวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมเคมี มจธ.

ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในหัวข้อ Innovation ในงาน WiL Week ครั้งที่ 5 

 

 

          ด้าน นายชนวีร์ ลิขสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโทจากโครงการทักษะวิศวกรรมเคมี Chemical Engineering Practice School (ChEPS) คณะวิศวกรรมเคมี มจธ. เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในงาน WiL Week ครั้งที่ 5 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ในหัวข้อ Innovation กล่าวว่า มีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานในหน่วยงาน Process Innovation ที่บริษัท SCG Chemicals ซึ่งได้รับผิดชอบโปรเจกต์ในหัวข้อ “การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณสำหรับการแขวนลอยอนุภาคละเอียดในถังกวน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำองค์ความรู้ที่เรียนมาเข้าไปประยุกต์และต่อยอด 

               

          “การที่ได้ฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริง ๆ ที่แตกต่างจากในห้องเรียน เพราะมันเป็นการรับผิดชอบโปรเจกต์ที่ผลลัพธ์นั้นมีผลกระทบต่อคนหลายคน เราจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตอนเรียนเรารับผิดชอบแค่ตัวเอง ตั้งแต่เรียนจบมาผมยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง ๆ เพราะจบปริญญาตรีก็เรียนต่อเลย การได้มีโอกาสมาฝึกงานกับอุตสาหกรรมจริงอย่างนี้ แน่นอนว่าความรู้เราได้มากขึ้นอยู่แล้ว ประสบการณ์หน้างานจริงมันสอนอะไรมากกว่าในห้องเรียนเยอะ เอาง่าย ๆ แค่เรื่องทักษะพื้นฐานเราเรียนวิศวกรรมมาตอนเรียนถ้าเครื่องมือวิจัยชำรุดเราก็แค่ตามคนมาซ่อม แต่ที่หน้างานมันฝึกให้เราต้องคิดหาสาเหตุของการชำรุดและเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง” ชนวีร์ กล่าว

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด