Macro Economic Outlook

เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง (ตอนที่ 3)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

 

 

เมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานข่าวน่าสนใจชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กับไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานข่าวชิ้นนี้ เป็นบทวิเคราะห์ที่ทำให้เรามองเห็นอนาคตว่า หากประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงขนานใหญ่แล้ว เห็นที ฉายา คนป่วยแห่งเอเชีย หรือ The Sick Man of Asia คงจะเป็นจริงอย่างที่เขาปรามาสไว้แน่แท้

 

 

          ในอดีตนั้น ช่วงเวลาที่ฟิลิปปินส์ตกต่ำดำดิ่งมากที่สุด คือ ช่วงที่รัฐบาลเผด็จการของ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองประเทศ...ระบอบมาร์กอส เต็มไปด้วยความฉ้อฉล คดโกง เล่นพรรคเล่นพวก จนโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์พังพินาศไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

          การบูรณะฟื้นฟูประชาธิปไตยและสร้างเศรษฐกิจภายใต้ตลาดเสรีต้องเริ่มกันใหม่ภายหลังปี ค.ศ.1986 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เรียกว่า People Power Revolution

 

          รายงานข่าวของบลูมเบิร์กชี้ให้เห็นว่าในปี ค.ศ.2015 อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ น่าจะขยายตัวได้เกินร้อยละ 6 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3

 

          ขณะที่กลไกของเครื่องจักรเศรษฐกิจตั้งแต่ ภาคการผลิต การส่งออก การบริโภค รวมถึงการลงทุนภาครัฐนั้น ฟิลิปปินส์ทำได้เหนือกว่าไทยในรอบสามปีที่ผ่านมา

 

          ตัวเลขเศรษฐกิจที่บลูมเบิร์กวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC เกิดขึ้นเต็มตัวตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2016 ฟิลิปปินส์ คือ อีกประเทศที่ได้รับอานิสงค์จาก AEC ไปเต็ม ๆ

 

          นอกจากนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งของฟิลิปปินส์มาจากรายได้ที่ แรงงานชาวปินอย ไปหากินต่างประเทศ (โดยเฉพาะสิงคโปร์) แล้วส่งเงินกลับมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกต่อหนึ่ง 

 

 

 

 

แรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปขายแรงงานที่สิงคโปร์ โดยรับจ้างเป็นแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด

แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับมาฟิลิปปินส์จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ภาพจาก http://home.seohongkong.netdna-cdn.com/

 

 

          สำหรับซีรีส์ฟิลิปปินส์ ตอนที่ 3 ผู้เขียนจะพาท่านย้อนไปช่วงการสร้างขบวนการชาตินิยม ซึ่งมีเรื่องราวของ คุณหมอโฮเซ่ รีซัล (Jose Rizal) ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวปินอยลุกขึ้นมาปลดแอกตนเองออกจากสเปน

 

 

ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง: ขบวนการชาตินิยม

 

          ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงการปกครองที่กดขี่โหดร้ายของสเปนจนทำให้ชาวพื้นเมืองสะสมความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวพื้นเมืองพยายามก่อกบฏหลายครั้ง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ไม่มีสิทธิเข้ารับราชการ ไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เป็นเพียงลูกจ้างหรือทาสในที่ดิน ถูกบังคับใช้แรงงาน ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลสเปนในอัตราที่ไม่เป็นธรรม

 

         นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจฟิลิปปินส์สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด ขบวนการชาตินิยม (Nationalism) ว่ามี ดังนี้

 

          1. การเปิดคลองสุเอซนอิยิปต์ ทำให้เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลคิวบา ผลจากการเปิดคลองสุเอซทำให้แรงงานต่างถิ่นอพยพเคลื่อนย้ายมายังฟิลิปปินส์มากขึ้น การหลั่งไหลของแรงงานนำมาซึ่งการเปิดกว้างในเรื่องแนวคิดเสรีภาพและสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน

 

          2. การที่สเปนยอมเปิดประเทศให้ฟิลิปปินส์เพื่อทำการค้าขายมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไม่ได้เติบโตอย่างที่สเปนคาดหวังไว้ ดังนั้น การเปิดการค้ากับต่างประเทศจึงเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้สเปนมีรายได้มากขึ้น การค้าระหว่างประเทศทำให้เกิดแนวคิดด้านเสรีนิยมแพร่เข้ามาอีกเช่นกัน

 

          3. คนพื้นเมืองได้รับการศึกษาสูงขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ การปกครองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรีนิยม กฎหมายที่เป็นธรรม รวมถึงความฝันต่อการเรียกร้องเอกราช ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามีทางเป็นไปได้โดยเฉพาะบทเรียนการสร้างประเทศของสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

 

 

 

การเปิดคลองสุเอซในอิยิปต์มีผลต่อการสร้างชาติฟิลิปปินส์ในเรื่องการหลั่งไหลของแรงงานต่างถิ่น

ภาพจาก http://philippineslifestyle.com/

 

 

          ปัจจัยทั้งสามนี้ คือ เชื้อฟืนที่ทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมโหมกระพือเร็วขึ้น การเห็นตัวอย่างการลุกขึ้นสู้ของเม็กซิโก การประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ขบวนการชาตินิยมเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

          ขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

 

          ระยะแรก เป็นการก่อกบฏซึ่งเกิดจากการต่อต้านในระดับท้องถิ่น กระจัดกระจายกันไปตามพื้นที่ กินเวลายาวนานถึง 200 กว่าปี

 

          ระยะที่สอง เป็นการหาเสียงโฆษณาชวนเชื่อเรื่องชาตินิยมฟิลิปปินส์ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1872-1892 ระยะนี้ได้บ่มเพาะอุดมการณ์ต่อต้านปฏิวัติให้ชาวพื้นเมือง

 

          ระยะสุดท้าย คือ ระยะปฏิวัติ กินเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1892-1898 ช่วงเวลานี้ คนพื้นเมืองลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลสเปน

 

         กล่าวได้ว่า ช่วงเวลาที่เข้มข้นที่สุดในการเรียกร้องเอกราชฟิลิปปินส์ คือ ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1872-1898 ขบวนการชาตินิยมได้แปรสภาพเป็นขบวนการนำชาวพื้นเมืองในการลุกขึ้นปฏิวัติ

 

 

 

ชาวฟิลิปปินส์เป็นนักต่อสู้ตั้งแต่อดีตพวกเขาได้สร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเอกราชและความไม่เป็นธรรมเสมอมา

ภาพจาก http://www.pbase.com/image/25808023

 

 

          ขบวนการปฏิวัติเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ เรียกว่า Propaganda Movement นำโดยกลุ่มปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ที่เรียกร้องให้รัฐบาลสเปนหันมารับทราบสภาพปัญหาของชาวพื้นเมืองมากกว่าจะมุ่งกดขี่ข่มเหงและปราบปรามคนเห็นต่าง

 

          สภาพปัญหาที่ว่านี้ ชาวพื้นเมืองเรียกร้องเพื่อขอสิทธิเสรีภาพ การเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองมีส่วนร่วมประชุมสภานิติบัญญัติ (Corte) ตลอดจนให้สิทธิชาวพื้นเมืองสามารถดำรงตำแหน่งทางสงฆ์แห่งคริสตจักรได้ด้วย

 

          การเรียกร้องดูจะไม่เกินเลยขอบเขตเท่าใดนัก เพราะชาวพื้นเมืองไม่ได้หวังจะขอเอกราชโดยสมบูรณ์ หากแต่สิ่งที่เรียกร้องนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชในอนาคต

 

          อย่างไรก็ดี สเปนยังคงจำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวและเมินเฉยกับข้อเรียกร้อง จนท้ายที่สุดชาวพื้นเมืองได้ขยายวงไปเป็นการลุกขึ้นสู้โดยขบวนการปฏิวัติ

 

          ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เองที่ทำให้เกิดวีรบุรุษประเทศ (National Hero) ขึ้น วีรบุรุษท่านนี้ไม่ได้เป็นนักการทหาร ไม่ใช่นักการเมือง หากแต่เป็นนายแพทย์ ผู้มีจิตวิญญาณการต่อสู้และรักความเป็นธรรม 

 

          เขาเป็นผู้เขียนหนังสือปลุกเร้าให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกขึ้นต่อต้านสเปนที่กดขี่ข่มเหงชาวพื้นเมืองมากว่า 300 ปี

 

          คุณหมอท่านนี้ คือ โฮเซ่ ริซัล (Jose Rizal) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการปฏิวัติฟิลิปปินส์ รีซัลเป็นปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาจากสเปนและยุโรป เขาเป็นผู้นำแนวคิดการปฏิวัติโดยเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนที่ปกครองเลิกกดขี่ข่มเหงชาวเมือง

 

          หนังสือที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคม มีอยู่ 2 เรื่อง

 

          เรื่องแรก คือ Noil Me Tangaree หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สังคมมะเร็ง” ที่คุณหมอรีซัลเปิดโปงให้เห็นความล้มเหลวของสเปนที่กดขี่ชาวพื้นเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะสถาบันคริสตจักรที่พระเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ครอบครองที่ดินและหลอกลวงให้คนงมงายกับความศรัทธาจอมปลอม

 

          หนังสืออีกเล่ม คือ Reign of Greed ที่สะท้อนภาพความโลภ การตักตวงผลประโยชน์ของรัฐบาลสเปนอย่างไร้มนุษยธรรม

 

 

 

 

คุณหมอโฮเซ่ รีซัล

นักปฏิวัติผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวปินอย

ภาพจาก http://www.driftwoodjourneys.com/

 

 

          ข้อเขียนของรีซัลได้ปลุกให้ชาวพื้นเมืองก่อตัวเป็นขบวนการลับ ๆ จนกระทั่งรีซัลถูกเนรเทศไปอยู่เกาะมินดาเนาด้วยข้อหาปลุกปั่นก่อความไม่สงบ ต่อมาในปี ค.ศ.1892 เขาได้ก่อตั้ง La Liga Filipina หรือสันนิบาตฟิลิปปินส์ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรที่ใช้ต่อสู้เรียกร้องความไม่เป็นธรรมให้กับชาวพื้นเมือง

 

          สิ่งที่รีซัลทำกลายเป็นความหวังของการต่อสู้ เขากลายเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่กล้าลุกขึ้นสู้ แต่สุดท้ายความหวังนั้นก็พังทลายลง เมื่อรีซัลโดนจับและถูกลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี ค.ศ.1896 ความตายของรีซัลได้โหมกระแสการต่อสู้ให้แรงขึ้นอีก

 

          การตั้งขบวนการ คาติปูนัน (Katipunan) เมื่อปี ค.ศ.1892 โดย นักต่อสู้เรียกร้องเอกราช นายอังเดรส บอนบิฟาซิโอ (Andres Bonbifacio) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้แบบใช้กำลัง

 

 

 

Noil Me Tangaree

หนังสือคลาสสิคของโฮเซ่ รีซัล ที่เป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ความไม่เป็นธรรมในสังคม

ภาพจาก http://ronreads.com/

 

 

          บอนบิฟาซิโอเดินคนละแนวทางกับรีซัล โดยคุณหมอรีซัลต้องการให้ชาวพื้นเมืองต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่ปรารถนาให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ แต่เมื่อวิธีดังกล่าวไม่ได้ผลจนกระทั้งรีซัลถูกประหารชีวิต การต่อสู้ภายใต้การนำของขบวนการคาติปูนันจึงเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

 

ภาพถ่ายการประหารชีวิตโฮเซ่ รีซัล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1896

ภาพจาก https://joserizalss014.wordpress.com/page/3/

 

 

ธงสัญลักษณ์ของขบวนการ Katipunan หรือ KKK ที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1892

ขบวนการปฏิวัติที่ลุกขึ้นสู้เพื่อปลดแอกฟิลิปปินส์

ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

 

          ต่อมาภายหลัง ขบวนการของบอนบิฟาซิโอกลับถูกต่อต้านจากลุ่มปัญญาชนจึงทำให้ขบวนการคาติปูนันแตกกัน และเปิดช่องให้สเปนกลับเข้ามาปราบปรามอย่างหนักอีกครั้ง

 

 

 

นายอัลเดรส บอนบิฟาซิโอ

ผู้นำขบวนการ Katipunan

ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

 

          อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์หลุดพ้นจากสเปนกลับไม่ใช่ขบวนการภายในประเทศ หากแต่เป็นการเข้ามาของ สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจใหม่แห่งศตวรรษที่ 20

 

          สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับสเปนในคิวบา และเมื่อสหรัฐฯ ชนะ อาณานิคมของสเปนจึงตกเป็นของอเมริกาด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ฟิลิปปินส์จึงรับ “ส้มหล่น” สามารถขับไล่สเปนออกไปได้ แต่แอกอันใหม่ที่มาใส่ คือ แอกอเมริกัน

 

          สหรัฐอเมริกาเข้าปกครองฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1898 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

ในตอนหน้า เรามาดูกันต่อนะครับว่า ยุคอเมริกันที่เข้ามาปกครองฟิลิปปินส์นั้น มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สหรัฐฯ ได้วางรากฐาน โครงสร้างที่ดีหลายอย่างให้กับฟิลิปปินส์ และเมื่อฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว พวกเขาถูกคาดหมายว่าจะเป็นมหาอำนาจรายใหม่แห่งเอเชีย

 

 

          พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด