Macro Economic Outlook

เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิงคโปร์...สร้างชาติด้วยเศรษฐกิจ (ตอนจบ)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

 

 

          ปี ค.ศ.2015 มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา 2 ประเทศ ประเทศแรก คือ สิงคโปร์ ที่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับชัยชนะที่สวยสดงดงามของพรรค People’s Action Party (PAP) ทำให้ นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ยังคงครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ส่วนอีกประเทศ คือ เมียนมาร์ ที่ผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่รัฐบาลเผด็จการทหารยอมผ่อนปรนและถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเรือน เป็นวิธีลงหลังเสือแบบที่ผู้นำสายทหารไม่เจ็บตัว

 

          การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่พรรค National League for Democracy (NLD) ของ นางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ผู้นำฝ่ายค้าน คู่แข่งสำคัญของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้และครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา สามารถดึงอำนาจรัฐให้กลับมาสู่มือของรัฐบาลพลเรือนได้อีกครั้งหนึ่ง

          อย่างไรก็ดี นางซูจี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาร์เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามบุคคลที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

 

 

เลือกตั้งเมียนมาร์ปี 2015 จุดเปลี่ยนทางการเมืองและประวัติศาสตร์เมียนมาร์

ภาพจาก http://media.worldbulletin.net/news/2015/09/26/myanmar.jpg

 

 

          การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นหมากกลทางการเมืองที่ต้องการกีดกันไม่ให้ The Lady หญิงแกร่งของเมียนมาร์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุด

          การเลือกตั้งใหญ่ของเมียนมาร์สะท้อนภาพการปรับตัวของเผด็จการทหารที่ต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ประชาธิปไตยแบบตะวันตก และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ “บีบ” ให้ทุกประเทศต้องเลือกเดินตามกติกาเดียวกัน มิเช่นนั้นแล้ว โอกาสอยู่รอดบนโลกที่แข่งขันกันสูงลิบ จะกลายเป็นเรื่องยากยิ่งนัก

 

          สำหรับซีรีส์ชุด สิงคโปร์...สร้างชาติด้วยเศรษฐกิจ เดินมาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะครับ ในตอนนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จจนเป็น “ต้นแบบ” การพัฒนาประเทศให้ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศเดินตามรอย

 

 

สิงคโปร์ สร้างชาติด้วยเศรษฐกิจ (ตอนจบ)

 

          กล่าวกันว่าความสำเร็จในการพัฒนาประเทศสิงคโปร์นั้นไม่ได้ใช้เวลาเพียงห้าปี สิบปี หากแต่ใช้เวลายาวนานกว่าสามสิบปีจึงจะผลิดอกออกผล นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จนั้นมาจากปัจจัยสามประการครับ ได้แก่

 

 

          (1) การสร้างรากฐานของประเทศด้วยความเข้มแข็ง

          (2) การเกาะติดกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และ

          (3) การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชน

 

 

1. การสร้างรากฐานของประเทศด้วยความเข้มแข็ง

 

          ปัจจัยประการแรก รัฐบาลสิงคโปร์เน้นการสร้างรากฐานของประเทศด้วยความเข้มแข็ง ทั้งนี้ประเทศจะเข้มแข็งได้ด้วยองค์ประกอบสามข้อ ได้แก่ (1) การเมืองเข้มแข็ง (2) ประชากรเข้มแข็ง และ (3) ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ พร้อม

 

 

 

สิงคโปร์จากวันนั้นถึงวันนี้

ภาพจาก http://media02.hongkiat.com/

 

 

 

          มาดูที่องค์ประกอบแรก คือ "การเมืองเข้มแข็ง" กันครับ

 

          นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 เป็นต้นมา สิงคโปร์ภายใต้การบริหารประเทศของพรรค PAP นับถึงวันนี้กว่า 56 ปีแล้ว ที่ PAP ครองอำนาจ ปกครองประเทศมายาวนาน พอ ๆ กับพรรค UMNO ของมาเลเซีย

          ถึงแม้จะเป็นการ “ผูกขาด” ทางการเมือง แต่การผูกขาดดังกล่าวทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะการมีผู้นำที่ฉลาดและมีวิสัยทัศน์อย่าง นายลี กวน ยิว ยิ่งทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดไปได้รวดเร็ว

 

 

 

Men in White หนังสือของ Sonny Yap Richard Lim และ Leong Weng Kam

หนังสือว่าด้วยเบื้องหลังการครองอำนาจอย่างยาวนานของ PAP

ภาพจาก http://cdn.bleedingcool.net/

 

 

          การเมืองที่เข้มแข็งของสิงคโปร์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใส เพราะอดีต สิงคโปร์เองก็ “ขึ้นชื่อ” เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เมื่อพรรค PAP เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่ลี กวน ยิว ทำอย่างแรก คือ การรักษาระบบนิติรัฐ นิติธรรมให้เกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นเพียงแค่ “ลมปาก” เหมือนผู้นำบางประเทศ

          การบังคับใช้กฎหมายอย่างความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง กวดขัน และลงโทษด้วยบทลงโทษที่รุนแรงกับข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศติดอันดับเรื่องความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

 

 

Singapore’s Corrupt Practices Investigation Bureau หรือ CPIB

หน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ถูกจัดอันดับว่าเที่ยงตรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

ภาพจาก http://topnews.net.nz/

 

 

          องค์ประกอบประการถัดมา คือ "ประชากรเข้มแข็ง"

 

          กว่าร้อยละ 75 ของประชากรสิงคโปร์มีเชื้อสายจีน ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนนับเป็นชนชั้นกลางที่มีส่วนสำคัญในการสร้างชาตินับแต่สิงคโปร์ “แยกประเทศ” ออกจากมาเลเซีย

          ปัจจัยที่ทำให้ประชากรสิงคโปร์มีความเข้มแข็ง คือ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงทัดเทียมประเทศตะวันตก

          ชาวสิงคโปร์สามารถใช้ภาษาอังกฤษและจีนแมนดารินได้อย่างคล่องแคล่ว ทำนองเดียวกันพวกเขามีทักษะทางการคิดคำนวณเป็นเลิศ มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง ทำการค้า เนื่องจากในอดีตเคยเป็นเมืองท่า คนสิงคโปร์จึงมีความฉลาด เอาตัวรอดเก่ง และมีหัวในเรื่องธุรกิจ

          ความสำเร็จเหล่านี้มาจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับอาชีพครูอาจารย์ เน้นการพัฒนาทักษะและใช้งานได้จริง คนสิงคโปร์ไม่ได้ให้คุณค่ากับใบปริญญาบัตร แต่ให้คุณค่ากับองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาชีพและวิชาการ

 

          องค์ประกอบที่สาม คือ "การมีสาธารณูปโภครองรับครบครัน"

 

          สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคลำดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว การคมนาคมขนส่งในเมืองที่สะดวกรวดเร็ว ภายใต้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ การมี Infrastructure ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่พร้อมและทันสมัย ระบบอินเตอร์เน็ตที่ก้าวไปสู่ยุค 4G และ 5G

          สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้สิงคโปร์กลายเป็น “เกาะอัจฉริยะ” ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมบริการ ธุรกิจการเงิน ตลาดทุน ตลอดจนต่อยอดและเน้นการพัฒนาเชิงนวัตกรรม (Innovative Base Growth)

          วิชั่นของรัฐบาลสิงคโปร์มาจากการมองเห็นอนาคตที่ไกลและเป็นไปได้ของ “ลี กวน ยิว” ทีมงานของพรรค PAP เพราะพวกเขาทราบดีว่า สิงคโปร์มีข้อจำกัดเรื่องภูมิประเทศและจำนวนประชากร แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นกลายเป็นโอกาสในการพัฒนา ตรงตาม Concept ที่ว่า “น้อยแต่ดี” หรือ “เล็กแต่มีประสิทธิภาพ”

 

 

 

ทางเลือกการเดินทางในเมืองที่หลากหลายบนเกาะสิงคโปร์

ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

  

          ณ วันนี้ ลี กวน ยิว พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า เขาสามารถนำพาสิงคโปร์ไปได้ไกลกว่าที่หลายคนคิด เขาถ่ายทอดวิธีคิดให้ทายาททางการเมืองทั้ง นายโก จ๊ก ตง และ นายลี เซียน ลุง บุตรชาย ซึ่งทั้งสองคนนี้มีวิสัยทัศน์ไม่แพ้ลี กวน ยิว เลย

          ลี เซียน ลุง เป็นผู้นำที่ “ลูกไม้ หล่นไม่ไกลต้น” เขาได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนในประเทศว่าเป็น Google Prime Minister เนื่องจากเป็นผู้นำที่มีความฉลาด รอบรู้ มีวิสัยทัศน์เยี่ยม

          ลี ผู้ลูก เติบโตมาพร้อมกับการสร้างชาติสิงคโปร์ของบิดา ทำให้เขาเข้าใจบริบทในการพัฒนา และทำตัวให้พร้อมกับการเป็นทายาททางการเมืองที่ดี

          ภูมิหลังทางการศึกษาของลี เซียน ลุง นับว่ายอดเยี่ยม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านคณิตศาสตร์จากเคมบริดจ์ ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากฮาวาร์ด เข้ารับราชการในกองทัพ ก่อนจะผันตัวมาเล่นการเมืองตามบิดา

 

 

 

ลี เซียน ลุง ในวัยหนุ่ม ช่วงที่เริ่มต้นฝึกงานทางการเมือง

ภาพจาก http://www.straitstimes.com/

 

 

           ลี เซียน ลุง ฝึกฝนประสบการณ์ เรียนรู้ เก็บเกี่ยวบ่มเพาะความเป็นผู้นำโดยมี ลี กวน ยิว และ โก จ๊ก ตง เป็นพี่เลี้ยงที่ฟูมฟักจนกระทั่งวันนี้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ได้ชื่อว่า “ฉลาดและทรงอิทธิพล” คนหนึ่งในโลก

 

 

2. การเกาะติดกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

          ปัจจัยประการที่สองที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ คือ การทันต่อกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

          การที่สิงคโปร์ “ทันโลก” นั้น ทำให้พวกเขาไม่ตกเทรนด์ การเกาะกระแส แต่ไม่ใช่ “เห่อตามกระแส” ทำให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวล่วงหน้าเสมอ เช่นเดียวกันการร่วมมือกับนานาชาติ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศทำให้สิงคโปร์มักแสดงบทบาทเป็นแกนนำของความร่วมมือต่าง ๆ ใน ระดับภูมิภาค เช่น ความร่วมมือเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP

 

 

3. การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชน

 

          ปัจจัยสำคัญประการสุดท้าย คือ การที่รัฐบาลสิงคโปร์ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนเป็นหลัก

          แน่นอนครับว่า การที่ประชาชนในประเทศมีรายได้ที่มากพอที่จะเลี้ยงชีพตัวเอง เมื่อความต้องการพื้นฐานถูกเติมเต็มแล้ว ความต้องการอื่น ๆ ก็ตามมา

          คนสิงคโปร์สามารถขยับสถานะไปสู่ชนชั้นกลางในสังคมโดยการพัฒนาตนเอง รัฐบาลได้จัดการศึกษาที่มีคุณภาพไว้ให้พร้อม ทำให้พวกเขาได้รับความรู้มาเป็น “ทุน” ประกอบอาชีพต่อยอดให้ดีขึ้นไปอีก

          ท้ายที่สุด เมื่อประเทศใดมีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก ประเทศนั้นย่อมเจริญก้าวหน้าและพ้นจากความยากจน ด้อยพัฒนา ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          ปัจจัยประการสุดท้ายนี้เองที่ทำให้รัฐบาลพรรค PAP สามารถครองที่นั่งในสภาได้ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี

          การพัฒนาประเทศ เริ่มต้นจากการสร้างประชากรที่เข้มแข็ง ประชากรจะเข้มแข็งได้ รัฐต้องจัดการศึกษาที่ดี มีคุณภาพมากพอที่จะให้ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อไปในอนาคต

          ในตอนหน้า เราจะมาเริ่มต้นซีรีส์ชุดใหม่ ส่วนจะเป็นประเทศใดนั้น ไว้เฉลยในเดือนหน้านะครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด