Electrical

สมาร์ทกริด กริดไฟฟ้าอัจฉริยะ (ตอนที่ 10)

พิชิต จินตโกศลวิทย์  

pichitor@yahoo.com

 

 

 

 

สมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือ กริดอัจฉริยะ นั้นมีขอบเขตที่กว้างมาก
แต่ละคนหรือแต่ละองค์กรนั้นอาจนิยามความหมายของสมาร์ทกริดแตกต่างกัน
แต่นิยามพื้นฐานของสมาร์ทกริด นั้นก็คือ การทำให้ระบบไฟฟ้า หรือกริดไฟฟ้า
นั้นมีความสามารถมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต

 

 

 7. ไมโครกริด (Microgrid)

 

          นิยามแบบพื้นฐานของไมโครกริด คือ การที่รวบรวมผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น อาคาร หรือกลุ่มอาคาร ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัย, ท่าอากาศยาน หรือชุมชนที่อยู่อาศัย แล้วเชื่อมโยงผู้ใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นด้วยแหล่งผลิตไฟฟ้าอย่างน้อยหนึ่งแหล่ง หรืออาจจะมีอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานร่วมด้วย ดังรูปที่ 41 กลุ่มของผู้ใช้ไฟฟ้าและแหล่งผลิตไฟฟ้า (ทั้งขนาดเล็กและแบบอิสระ) นั้นก็คือ กริดไฟฟ้านั้นเองโดยถ้ามีขนาดเล็กจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ไมโครกริด ผู้ใช้ไฟฟ้าในไมโครกริดจะรับพลังงานไฟฟ้าจากกริดของการไฟฟ้ารวมทั้งแหล่งจ่ายไฟฟ้าเฉพาะในไมโครกริดนั้น ๆ

 

 

 

รูปที่ 41 รูปแบบพื้นฐานของไมโครกริด

 

 

          ไมโครกริดเป็นศัพท์ทางเทคนิคที่ค่อนข้างใหม่ แต่จริง ๆ แล้วรูปแบบการจ่ายไฟฟ้าแบบไมโครกริดมีมาก่อนการปฏิวัติโดยสมาร์ทกริด หลายผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีการผลิตไฟฟ้าจ่ายภายในเครือของตนเองโดยหลาย ๆ เหตุผลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องประหยัดค่าใช้จ่าย, การจัดการพลังงาน หรือ แม้แต่การมีโอกาสขายไฟฟ้าเข้าสู่กริดของการไฟฟ้า โดยประโยชน์และตัวผลักดันไมโครกริดแสดงดังรูปที่ 42 โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในไมโครกริดนั้นมีหลายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ หรือ ดีเซล), การใช้พลังงานหมุนเวียน (ฟาร์มแสงอาทิตย์ หรือ ฟาร์มลม) และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีเกิดเหตุสภาวะฉุกเฉินทางในกริดหลักของการไฟฟ้า ไมโครกริดขนาดใหญ่จะสามารถจ่ายพลังไฟฟ้าเข้าไปช่วยกริดหลักได้

 

 

 

รูปที่ 42 แรงผลักดันไมโครกริดจากลูกค้าประเภทต่าง ๆ

 

 

          บ้านหลังหนึ่งที่แผงพลังแสงอาทิตย์บนหลังคา ก็คือ ตัวอย่างของไมโครกริดแบบง่าย ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจกว่าจะเป็นกลุ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นของตนเอง และก็ยังเชื่อมต่อเข้ากับกริดหลักของการไฟฟ้า ด้วยการติดตั้ง DG ตามสถานที่ต่าง ๆ อาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ก็จะกลายเป็นชุมชุนใหม่ที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าก็คือ ไมโครกริดนั้นเอง ด้วยความหลากหลายของรูปแบบการเป็นเจ้าของไมโครกริด ไมโครกริดหนึ่งอาจเป็นของเจ้าของเดียวในพื้นที่นั้น ๆ เช่น บริษัท หรือ มหาวิทยาลัย หรือ ไมโครกริดอาจเป็นของด้วยกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในชุมชนที่ร่วมกันสร้างนั้นเอง หรือเจ้าของกลุ่มอาคารที่ทำการติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อให้บริการ หรือยกระดับอาคารที่มีไฟฟ้าสำรอง โดยทั่วไปแล้วนั้นไมโครกริดเป็นจะอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง โดยอย่างน้อยไมโครกริดควรสามารถให้ความพึงพอใจในความต้องการพื้นฐานของท้องที่นั้น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ให้แสงสว่าง, ความปลอดภัย, ลิฟต์ โดยเฉพาะระหว่างที่อยู่ในสภาวะไอแลนดิ้ง อันเกิดจากมีไฟฟ้าดับในกริดไฟฟ้าหลัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับไมโครกริด สำหรับบางพื้นที่แหล่งพลังงานของไมโครกริดอาจจะจ่ายความร้อนให้ลูกค้าด้วยไม่ใช่แค่พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวทำให้ประสิทธิผลในการใช้พลังงานสูงขึ้น ซึ่งระบบไฟฟ้าความร้อนร่วมจะถูกนำมาใช้ในกรณีดังกล่าว เช่น ท่าอากาศยานเป็นต้น ไมโครกริดบางครั้งอาจจะถูกเรียกว่า โปรซูมเมอร์ (Prosumer) ซึ่งหมายความว่าเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้อยู่ในหน่วยเดียวกัน อ้างอิงจากรูปที่ 41 บัสพลังงานไฟฟ้า (Electric Bus) ณ ตำแหน่งที่มีการผลิตไฟฟ้าท้องถิ่นโดยทั่วไปยังมีการรับไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้าหลักเพื่อจะสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าตามความต้องการให้ลูกค้าทั้งหมดภายในไมโครกริด บัสไฟฟ้าที่แสดงตามรูปเป็นบัสตามทฤษฎี นั้นคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายในไมโครกริดสามารถที่จะรับไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายใดใดก็ได้ในไมโครกริดรวมแม้กระทั้งไฟฟ้าจากการไฟฟ้า เมื่อมีความจำเป็น ทิศทางการไหลของพลังงานไฟฟ้าระหว่างไมโครกริด และกริดหลัก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นั้นคือ การไฟฟ้าอาจจะอนุญาตให้ไมโครกริดป้อนพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่กริดของการไฟฟ้า และไมโครกริดอาจจะเชื่อมต่อกับกริดของการไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งจุด ทั้งนี้จะมีระเบียบการเชื่อมโยงกำกับไว้เพื่อรักษาความเชื่อถือได้ของกริดหลักให้คงเดิมมากที่สุดโดยเฉพาะในเรื่องระบบป้องกัน

          ระบบจัดการพลังงานของไมโครกริด (MEMS: Microgrid Energy Management System) จะมีหน้าที่จัดการการแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้าในไมโครกริด รวมทั้งการบริหารจัดการกับจุดเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าร่วมกับระบบ DMS หรือ EMS ของการไฟฟ้า ระบบ MEMS จะมอนิเตอร์และควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้า ทุกอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าจะต้องถูกติดตั้งอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อสื่อสารกับระบบ MEMS ระบบสื่อสารแบบ PLC, ZigBee หรือ คลื่นวิทยุแบบเมช เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้งานในระบบสื่อสารภายในของไมโครกริดได้ สำหรับกรณีตัวอย่างเล็กๆเช่น บ้านหลังเดียวที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้า เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา การมีระบบ HAN ที่เชื่อมกับ ระบบ EMS ของบ้านจะทำให้ระบบเครือข่ายเชื่อมกับระบบไมโครกริดได้ การทำงานของไมโครกริดปกติจะมี 2 โหมดทำงานหลักนั้นคือ ออนกริด (On Grid) และออฟกริด (Off Grid/Islanding) ดังรูปที่ 43 ซึ่งหน้าที่ของระบบ MEMS คือการทำให้การเปลี่ยนโหมดการทำงานรายลื่นไร้รอยต่อที่สุด

 

 

 

รูปที่ 43 State Diagram ของโหมดการทำงานของไมโครกริด

 

 

          ความซับซ้อนของระบบ MEMS ของไมโครกริด จะขึ้นอยู่กับขนาดของไมโครกริด, รูปแบบการเป็นเจ้าของของแต่ละแหล่งผลิตไฟฟ้าของไมโครกริด เช่น มีเจ้าของเพียงเจ้าเดียว หรือ หลายเจ้า หรือ เป็นกลุ่มของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง รวมทั้งความสัมพันธ์ของแต่ละผู้ใช้ไฟฟ้า ยกตัวอย่าง ในกรณีของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเจ้าของ มิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้าอาจเป็นของการไฟฟ้ารวมทั้งถูกบริหารจัดการโดยการไฟฟ้าตามใบอนุญาตการจำหน่ายไฟฟ้า โดยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะแยกจ่ายค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้าเป็นรายไปสำหรับค่าไฟฟ้าที่รับมาจากกริดไฟฟ้าหลัก หรือได้รับเงินจากค่าไฟฟ้าที่จ่ายเข้าสู่กริดไฟฟ้าหลักซึ่งทำการจัดสรรปันส่วนอีกทีภายใน อีกทางเลือกหนึ่งมิเตอร์ของทั้งไมโครกริดอาจจะเป็นของการไฟฟ้า ดังนั้นผู้จัดการของไมโครกริดจะมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องการเงินกับการไฟฟ้าแทนทั้งหมดเพียงเจ้าเดียว ในกรณีหลัง ผู้จัดการของไมโครกริดจะเป็นคนจัดการเรื่องบิลไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าอีกทีหนึ่งเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าและจ่ายเงินค่าไฟฟ้าให้กับเจ้าของแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า

          สุดท้ายแล้ว ฟังก์ชั่นทุกฟังก์ชั่น ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อกับ DG กับกริดไฟฟ้าหลักต้องมีความชัดเจนในการเชื่อมต่อโดยเฉพาะแหล่งผลิตไฟฟ้าในไมโครกริดกับระบบ DMS หรือ EMS ของการไฟฟ้า การไฟฟ้าอาจจัดหาติดตั้ง IED ตามจุดต่าง ๆ ของไมโครกริดเพื่อมอนิเตอร์ ควบคุม รวมทั้งป้องกันระบบกริดหลัก เพิ่มเติมการสื่อสารกับ IED เหล่านี้โดยทั่วไปจะทำบนเครือข่ายสื่อสารของการไฟฟ้า ระบบ DMS/EMS ของการไฟฟ้าจะต้องสื่อสารกับระบบ EMS ของไมโครกริด เพื่อจะจัดการพลังงาน การกำหนดราคาซื้อขายปลีก และรวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเวลาจริงของดีมานด์เรสปอนส์ ความท้าทายและอุปสรรคของไมโครในปัจจุบันหลัก ๆ จะมีอยู่ 6 ประการ ประการแรก ก็คือ แหล่งจ่ายพลังงานลมและแสงแดดนั้นควบคุมได้ยาก ประการที่ 2 คือ อุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ประเภทอิเล็กทรอนิกส์โดยธรรมชาติจะทำการซินโครไนซ์ทางไฟฟ้าได้ยาก รวมทั้งไม่มีแรงเฉื่อยเมื่อแหล่งจ่ายพลังงานมีปัญหาชั่วขณะ ประการที่ 3 ไมโครกริดจะได้รับผลกระทบในเรื่องระดับแรงดันและความถี่จากการผันผวนของโหลดหนักกว่าและเร็วกว่ากริดไฟฟ้าหลัก ประการที่ 4 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและซับซ้อนในการทำให้การเปลี่ยนโหมดนั้นราบลื่น ประการที่ 5 ประเด็นเรื่องผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าจากอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์อิเล็กทรอนิกส์ และ ประการสุดท้าย แผนการทุนที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายของไมโครกริด

 

 

 

รูปที่ 44 แนวโน้มการเจริญเติบโตของไมโครกริด

 

 

8. ตลาดขายปลีกพลังงาน (Retail Energy Market)

 

          โดยทั่วไปแล้ว การไฟฟ้า หรือเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้นจะเป็นผู้เล่นหลักหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดพลังงาน ซึ่งได้เรียกตลาดพลังงานขนาดใหญ่ดังกล่าวว่า ตลาดค้าส่งพลังงาน (WEM: Wholesale Energy Market) แต่ในบางประเทศหรือบางรูปแบบ ผู้ที่มีส่วนร่วมอาจจะไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในตลาดพลังงานถึงแม้จะเป็นการไฟฟ้าก็ตาม ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ หรือทางธุรกิจของการไฟฟ้าจะถูกดำเนินการโดยหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ISO (Independent System Operators) หรือ RTO (Regional Transmission Operators) โดยเฉพาะในประเทศอเมริกา แต่โดยทั่วไปแล้วการไฟฟ้าจะเป็นผู้เล่นหลักในตลาดพลังงาน การไฟฟ้าแบบหลายส่วน (ตัวอย่าง การไฟฟ้าที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่) จะเข้าร่วมในตลาดค้าส่งพลังงานเพื่อที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ๆ หรือ ขายส่วนไฟฟ้าที่เกินให้การไฟฟ้าอื่น แต่ส่วนใหญ่การซื้อขายนั้นการไฟฟ้ามักจะมีการทำสัญญาล่วงหน้ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ของตนเอง สัญญาแบบดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อตอบสนองกับความต้องการปริมาณมาก (โดยปกติจะอยู่ประมาณที่ 50% หรือมากกว่า) สำหรับความต้องการส่วนที่เหลือจะซื้อจากตลาดแบบล่วงหน้าหนึ่งวัน (Day-ahead) หรือ แม้กระทั้งซื้อกันตามเวลาจริง โดยทั่วไปแล้วการไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาจะสามารถครอบคลุมโหลดที่ได้จากการคาดการณ์ประมาณ 60-95% ด้วยการซื้อพลังงานจากตลาดล่วงหน้าทั้งแบบระยะยาวและล่วงหน้าหนึ่งวัน โดยความต้องการพลังงานที่เหลือจะซื้อจากตลาดตามเวลาจริง ราคาของพลังงานไฟฟ้าสำหรับการซื้อล่วงหน้าแบบระยะยาวจะสามารถถูกควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมได้  แต่สำหรับการซื้อแบบเวลาจริงหรือระยะสั้นราคาจะควบคุมได้ยากเนื่องจากจะเป็นไปตามกลไกตลาด ภายใต้กริดไฟฟ้าสมัยใหม่นั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าได้ตามความต้องการ ส่วนราคาค่าไฟฟ้าจะมีความเกี่ยวข้องกับราคาที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า ระบบสมาร์ทกริดจะอนุญาตให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนผู้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงนั้นการเปลี่ยนมักจะไม่บ่อยครั้ง รวมทั้งการตอบสนองตามคำสั่งจะไม่เป็นแบบเวลาจริงเนื่องจากจะทำให้ระบบมีความซับซ้อนสูงเกินความจำเป็น ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถทำการตรวจสอบประวัติของค่าไฟฟ้า โดยวิธีที่สะดวกที่สุด ก็คือ รายละเอียดบนบิลค่าไฟฟ้า โดยปกติแล้วผู้ไฟฟ้าจะไม่สามารถตรวจราคาค่าไฟฟ้าแบบเวลาจริงได้เนื่องจากเกินความจำเป็นและมีความต่างในเรื่องหน่วยวัดสูงมาก ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายจึงไม่ถูกพิจารณาว่าอยู่ในตลาดค่าส่งพลังงาน

          สมาร์ทกริดจะทำผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการไฟฟ้าได้สูงขึ้นรวมทั้งส่งเสริมการติดตั้ง DG จำนวนมาก ณ ตำแหน่งของผู้ใช้ไฟฟ้า สมาร์ทกริดถูกคาดหวังว่าจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับคุณภาพไฟฟ้าที่ดีบนราคาที่ได้จากการแข่งขันซึ่งอาจจะเป็นราคาตามเวลาจริง ในขณะเดียวกันเจ้าของ DG ก็ต้องการได้ราคาพลังงานจากกลไกตลาด เช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะราคาดีว่าราคาที่ได้จากโครงสร้างราคาของการไฟฟ้า สำหรับโปรซูมเมอร์ (ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มี DG เชื่อมต่อกับกริดหลัก) ก็อาจต้องการขายไฟฟ้าที่เหลือเข้าสู่กริดหลัก รวมทั้งเจ้าของ EV อาจต้องการซื้อไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้าหลักเมื่อราคาไฟฟ้าลง และ ขายกลับไป (สำหรับกรณีที่แบตเตอรี่ยังมีไฟฟ้าเหลือ) เมื่อราคาสูง แล้วก็ยังจะมีกลุ่มขนาดใหญ่ของเจ้าของ DG ที่ต้องการขายพลังงานแข่งขันกับกลุ่มขนาดเล็กของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดค้าส่งพลังงาน

          ตัว DG จะเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการจัดการพลังงานของการไฟฟ้า โดยที่การไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจาก DG เมื่อต้องการ ดังนั้นทำให้เกิดการขยายของผู้ผลิตไฟฟ้านอกเหนือจากกลุ่มของตลาดค้าส่งพลังงานไฟฟ้า  การขยายของตลาดพลังงานจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นทั้งคุณภาพและราคา ด้วยเหตุผลดังกล่าวก่อให้เกิดการสร้างตลาดค้าปลีกพลังงาน (REM: Retail Energy Market) ขึ้น ในตลาดค้าปลีกพลังงาน เจ้าของ DG และผู้ใช้ไฟฟ้าในบริเวณนั้นจะสามารถมีส่วนร่วมในตลาดพลังงานแบบเวลาจริงเพื่อให้ได้ปริมาณพลังงานที่ต้องการบนราคาที่แข่งขันกัน ดังรูปที่ 45 แสดงโครงสร้างพื้นฐานของตลาดค้าปลีกพลังงาน

 

 

 

รูปที่ 45 แสดงหลักการของตลาดค้าปลีกพลังงานไฟฟ้า

 

 

          โปรซูมเมอร์ดั่งเดิมส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเจ้าของ DG แบบโดดเดี่ยว (Stand-alone) ซึ่งจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดค้าปลีกพลังงาน ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปก็จะโดนกระตุ้นให้เข้าร่วมในตลาด REM เพื่อจะได้รับราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันกัน ตลาดค้าปลีกพลังงานตามทฤษฎีจะถูกบริหารจัดการด้วยหน่วยงานกลางที่เรียกทางเทคนิคว่า แอกกรีเกเตอร์ (Aggregator) หน่วยงานแอกกรีเกเตอร์จะดูแลธุรกรรม (Transaction) ทั้งหมดในตลาดพลังงานที่มีผู้เข้าร่วมหลายพัน หรือ หลายล้านราย ในตลาดค้าปลีกพลังงาน แอกกรีเกเตอร์จะมีหน้ารับคำสั่งเสนอขาย (Bid) จาก DG ซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น กำลังการผลิต, ราคาต่ำสุดที่ยอบรับได้แลระยะเวลาที่จะรองรับ ณ ระดับความต้องการนั้น ๆ ได้  เพื่อที่จะหาราคาที่สุดทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟฟ้า แอกกรีเกเตอร์ควรต้องมีระบบในการเจรจาต่อรองราคา ปัจจุบันโมเดลตลาดค้าปลีกพลังงานกำลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังที่ได้กล่าวมา สุดท้ายแอกกรีเกเตอร์จะต้องส่งสัญญาณไปยังระบบ EMS ของการไฟฟ้า เพื่อแจ้งว่าธุรกรรมได้เสร็จสมบูรณ์ แล้วสามารถปล่อยพลังงานจาก DG เข้าสู่กริดหลัก และจากกริดหลักสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า  จากการที่ แอกกรีเกเตอร์เป็นหน่วยงานกลาง ดังนั้นแอกกรีเกอร์จะอยู่ในโดเมน Service Provider ตามโมเดล NIST ดังรูปที่ 46

 

 

 

รูปที่ 46 โมเดล NIST

 

 

          จากความต้องการที่จะสนับสนุนโครงการดีมานด์เรสปอนส์ให้มีประสิทธิผล การไฟฟ้าจะต้องเข้ามีส่วนร่วมในตลาดค้าปลีกพลังงานด้วย แอกกรีเกเตอร์จะต้องจัดหาปริมาณพลังงานที่ต้องการตามช่วงเวลาดีมานด์เรสปอนส์จาก DG ที่ราคาแข่งขันกัน ฟังก์ชั่นเหล่านี้อาจจะเข้าเสริมเติมในตลาดค้าส่งพลังงานที่มีแต่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่และการไฟฟ้าเช่นกัน ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่แอกกรีเกเตอร์อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดค้าส่งพลังงานเป็นตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก

          อันที่จริงแล้วอาจจะมีหลายแอกกรีเกเตอร์ให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า และ DG ในการเชื่อมต่อกับกริดของการไฟฟ้า แต่ละแอกกรีเกเตอร์จะให้บริการในพื้นที่ของตนเอง ถ้าจะเปรียบเทียบแต่ละธุรกรรมของตลาดค้าส่ง และ ค้าปลีกพลังงานแล้ว ธุรกรรมของตลาดค้าปลีกพลังงานจะมีขนาดเล็กถึงเล็กมาก สิ่งสำคัญที่ต้องทราบ คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมตลาดค้าปลีกพลังงาน ลักษณะเดียวกัน DG โดยเฉพาะโปรซูมเมอร์ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมตลาดค้าปลีกพลังงานเช่นกัน สำหรับผู้ไม่เข้าร่วมในตลาดพลังงานนั้นจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าในเรื่องโครงสร้างราคาไฟฟ้าสำหรับการซื้อการขายไฟฟ้า

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

  1. K.Budka, J.Deshpande, T.Doumi, M. Madden, T.Mew: Communication Network Architecture and design principles for Smart Grid, Bell Labs Tech., 2010.
  2. J.Fulcher, An Introduction to Microcomputer Systems: Architecture and Interfacing. Addison-Wesley, Sydney,1989.
  3. S.Mackay, E. Wright, D.Reynders and .J Park, Practical Industrial Data Network: Design, Installation and Troubleshooting. IDC Technologies, Perth,2004.
  4. International Electrotechnical Commission. IEC60870-5 Telecontrol equipment and systems. Part 5: Transmission protocols.
  5. K.Brand, V.Lohmann, and W.Wimmer, “Substation Automation Handbook”, Utility Automation Consulting Lohmann, Bremgaten, Switzerland, 2003.
  6. Natural Resources Defense Council: Renewable Energy for America, NRDC.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด