เนื้อหาวันที่ : 2009-12-08 11:36:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1173 views

สนพ.คาดปีหน้าความต้องการใช้ไฟฟ้าโต 3-4%

สนพ.เผยพยากรณ์เศรษฐกิจไทยระยะยาวและพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อจัดทำ PDP เสร็จปลายปีนี้ คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปีหน้าจะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553

สนพ.เผยพยากรณ์เศรษฐกิจไทยระยะยาวและพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อจัดทำ PDP เสร็จปลายปีนี้ คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปีหน้าจะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2553 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีจะอยู่ในช่วง 3-4%  ซึ่งความต้องการไฟฟ้าก็น่าขยายตัวประมาณ 3-4% ดังนั้นแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP)ต้องมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในระยะยาว

.

สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณ พยากรณ์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ซึ่งต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ รวบรวมผลประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากโครงการอนุรักษ์พลังงานที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น โครงการต่างๆของกรมพัฒนาพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โครงการต่างๆ สนพ. โครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น

.

สำหรับข้อมูลการศึกษาปริมาณและผลกระทบจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต คาดว่าจะสรุปข้อมูลได้ภายในต้นปี 2553 เนื่องจากอาจจะต้องมีการปรับแผนพลังงานทดแทน 15 ปี เช่น การปรับลดเป้าหมายพลังงานทดแทนบางชนิดลง อาทิ พลังงานจาก ก๊าซชีวภาพ การปรับลดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)จากพลังงานแสงอาทิตย์

.

เนื่องจากปัจจุบันราคาต้นทุนในการผลิตลดลง เพราะเทคโนโลยีราคาถูกลงจากอดีตมาก ซึ่งคงต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าจะปรับลดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลงเท่าไร จากปัจจุบันที่ให้ส่วนเพิ่มราคาที่ 8 บาท/หน่วย หรือเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้เสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีภายในประเทศไทย เป็นต้น

.

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอย่างชัดเจน โดยการกำหนดสัดส่วนการรับไฟฟ้าเป็นรายประเทศ การกำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีการทบทวนที่ปัจจุบันมีการสำรองไฟฟ้าที่ประมาณ 30%ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นตัวเลขปริมาณสำรองที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

.

พร้อมกับมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชนิดของเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และพิจารณาแนวทางการปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต 

.
ที่มา :สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน