เนื้อหาวันที่ : 2009-12-08 10:20:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1118 views

พพ.เดินหน้าหนุนพลังงานแสงอาทิตย์เต็มสูบ เชื่อไปได้สวย

พพ. รุก ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ เต็มสูบ ยันเดินหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ กำลังผลิตรวมกว่า 130 เมกะวัตต์

.

พพ. รุก ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ เต็มสูบ ยันเดินหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ กำลังผลิตรวมกว่า 130 เมกะวัตต์ ชี้ภาคเอกชนที่ได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ด้านธนาคาร CIMB เชื่ออนาคตพลังงานแสงอาทิตย์รุ่งแน่ หลังภาครัฐมีนโยบายชัดเจน และภาคเอกชนได้รับแรงจูงใจรอบด้าน 

.

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ของกระทรวงพลังงาน พบว่ามีผู้ที่สนใจยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Giant Solar Farm) 

.

ซึ่งได้มีเอกชนติดต่อที่จะดำเนินการอย่างน้อย 3 ราย มีกำลังผลิตสูงถึง 130 เมกะวัตต์ ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ จ.อยุธยา และบริษัทเอกชน อีก 2 แห่ง กำลังผลิตรวมมากกว่า 100 เมกะวัตต์ ในเขตพื้นที่ภาคกลาง 

.

ทั้งนี้ พพ. ยังได้ติดตามและประเมินผล โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาดกลาง กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ของบริษัท บางกอกโซล่าร์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยภายหลังที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติวงเงินจากโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมพลังงานทดแทน จาก พพ. ผ่าน ธนาคาร CIMB ไทย จำกัด(มหาชน) จำนวน 50 ล้านบาท  

.

เพื่อนำไปติดตั้งระบบแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไฟฟ้า และนำส่วนที่ผลิตได้เหลือ จำหน่ายคืนให้แก่ กฟภ.โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น107.6 ล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินการพบว่าบริษัทฯสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 2,200,000 kWh/ปี คิดเป็นเงิน 22 ล้านบาท/ปี มีระยะเวลาคืนทุน 4.8 ปี

.

นอกจากนี้ พพ. ได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์นำมาผลิตเป็นน้ำร้อน โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน รวมพื้นที่ในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนฯ ได้จำนวน 7,000 ตารางเมตร  

.

สำหรับโครงการดังกล่าว พพ. จะมีการสนับสนุนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการติดตั้งแผงรับรังสีดวงอาทิตย์ผลิตน้ำร้อนรวมจำนวน 40,000 ตารางเมตร โดยจะมีเงินทุนช่วยสนับสนุนประมาณ 30%

.

“พพ.ได้กำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทุกรูปแบบให้ได้ร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทย ภายในปี 2565 และพบว่าขณะนี้นโยบายดังกล่าว ได้มีความคืบหน้าชัดเจน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่เห็นได้จากการตอบรับจากภาคเอกชนที่พร้อมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วก็ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม” นายไกรฤทธิ์ กล่าว 

.

นางดวงพร สุจริตานุวัต ผู้บริหารสูงสุด สายบรรษัทธุรกิจ ธนาคาร CIMB ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้มาถูกทางแล้ว และเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจที่สำคัญและจะเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

.

เนื่องจากการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้า จะมีอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(adder) สูงถึง 8 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ปัจจุบันต้นทุนการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ปรับลดลงจากเดิมมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนที่รวดเร็ว เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมจากกระทรวงพลังงาน ที่มีนโยบายด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ชัดเจน