เนื้อหาวันที่ : 2007-01-04 15:28:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5719 views

รักษาตัวให้รอดปลอดภัยในยามใช้เครื่องจักร

นับแต่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ‘เครื่องจักร’ ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นทุกที ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน ลดของเสียจากกระบวนการ หรือแม้แต่เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อตัวสินค้าและองค์กรเอง เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกันก็คือ อัตราการบาดเจ็บและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงาน แถมเป็นแบบชนิดที่เรียกได้ว่า ยิ่งมีเครื่องจักรเยอะเท่าไร ก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น และยิ่งเครื่องจักรมีความทันสมัยมากขึ้นเท่าไหร่ ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

นับแต่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เครื่องจักรก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นทุกที ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน ลดของเสียจากกระบวนการ หรือแม้แต่เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อตัวสินค้าและองค์กรเอง เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกันก็คือ อัตราการบาดเจ็บและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงาน แถมเป็นแบบชนิดที่เรียกได้ว่า ยิ่งมีเครื่องจักรเยอะเท่าไร ก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น และยิ่งเครื่องจักรมีความทันสมัยมากขึ้นเท่าไหร่ ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

.

1. ทำอย่างไรดีหนอ ? เราจึงจะสามารถรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัย ในยามใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ

แต่ก่อนอื่น เพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน เรามาดูกันสักนิดดีไหมว่า เครื่องจักร นั้นครอบคลุมถึงสิ่งใดบ้าง ซึ่งตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า เครื่องจักรไว้ว่า เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น สำหรับให้ก่อกำเนิดพลังงานเปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ หรือพลังลม แก๊ส ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน และยังหมายรวมถึง เครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล พูลเล่ สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน และรวมถึงเครื่องมือกลด้วย

.

ส่วนคำว่า อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร หรือ Machine Guarding นั้น จะหมายถึง ส่วนประกอบที่ติดตั้งมากับเครื่องจักร หรืออาจสร้างขึ้นมาในภายหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องจักรเหล่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายนี้ นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงานเองแล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายให้กับผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

.

โดยหน้าที่หลักของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร มีดังนี้

1.ป้องกันอันตรายจากการสัมผัสกับส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรที่มีการหมุนหรือเคลื่อนที่ได้โดยตรง เช่น เกียร์ สายพาน ใบเลื่อย เป็นต้น

2.ป้องกันอันตรายจากกระบวนการผลิต เช่น เศษวัสดุจากการกลึงหรือเจียรกระเด็น หรือของเหลวจากการหลอมกระเซ็นออกมาโดนตัวผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

3.ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรชำรุดหรือบกพร่อง

4.ป้องกันอันตรายจากความบกพร่อง พลั้งเผลอ หรือประมาทเลินเล่อของพนักงาน

.

2. แล้วเครื่องจักรประเภทใดบ้างล่ะที่จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย

คำตอบก็ง่ายแสนง่าย มันก็ต้องเป็นเครื่องจักรชนิดที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานได้น่ะสิ ซึ่ง OSHA (Occupational Safety and Health Act) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดวิธีการจำแนกเครื่องจักรที่จะก่อให้เกิดอันตรายออกเป็น 2 ระบบคือ

2.1 จำแนกโดยดูจากการเคลื่อนไหวของเครื่องจักร (Machine Motion) ดังนี้

2.1.1 หมุนรอบตัวเอง (Rotating) ได้แก่ เครื่องจักรที่มีเฟือง พูลเล่ ไฟลวีล ลูกรอก สายพาน

2.1.2 เคลื่อนที่กลับไปกลับมา (Recipocating) เช่น การเคลื่อนที่ของลูกสูบ เลื่อยโลหะ

2.1.3 เคลื่อนที่แบบ เป็นเส้นตรง (Transverse) เช่น เลื่อยวงเดือน เลื่อยสายพาน

2.1.4 หมุนรอบตัวเอง แล้วเกิดจุดหนีบ บีบ อัด (Running in Nip Point) ได้แก่ เครื่องจักรที่มีลูกกลิ้ง โซ่กับเฟือง สายพานกับพูลเล่ เฟืองกับเฟือง

.

2.2  จำแนกโดยดูจากการลักษณะการกระทำ (Actions) หมายถึง บริเวณที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อผลิตสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ลักษณะ หรือรูปร่างตามต้องการ แบ่งเป็น

2.2.1 การตัด (Cutting)

2.2.2 การเจาะ (Punching)

2.2.3 การเฉือน (Shearing)

2.2.4 การโค้งงอ (Bending)

.

3. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Classification of Machine Guard) มีกี่ชนิด ?

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรจะมีความจำเป็น ก็ต่อเมื่อวิศวกรที่ออกแบบเครื่องจักรไม่สามารถออกแบบให้เครื่องจักรมีความปลอดภัยในตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดจุดอันตรายต่าง ๆ ขึ้นมา ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดดังนี้

.

3.1 อุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดอยู่กับที่ (Fixed Guard)

ควรจะเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดนี้เป็นอันดับแรก เพราะสามารถจะป้องกันไม่ให้ส่วนใดๆ ของร่างกายเข้าไปใกล้หรือสัมผัสกับส่วนที่เคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังยึดติดกับตัวเครื่องจักรหรือพื้นโรงงานอย่างแน่นหนา มั่นคง ไม่เคลื่อนที่ หรือหลุดออกมาได้ง่าย กรณีที่บริเวณนั้นต้องมีการบำรุงรักษาและต้องเปิดฝาครอบออก ควรติดตั้งบานพับเอาไว้ จะดีกว่าที่จะถอดออกมาทั้งฝาครอบ

.

3.2 อุปกรณ์ป้องกันอันตราย ชนิดล็อกในตัว (Interlocked Guard)

เครื่องจักรที่ทำงานโดยอาศัยพนักงานป้อนชิ้นงานเข้า-ออก สามารถออกแบบให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดล็อกในตัว เพื่อปิดคลุมส่วนที่อันตรายไว้ เมื่อพนักงานเปิดอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนที่ทำเป็นช่องสำหรับเปิด ก็จะมีกลไกส่งสัญญาณไปยังระบบควบคุมเครื่องจักรให้หยุดทำงาน เมื่อช่องเปิดของอุปกรณ์ถูกปิดเข้าที่ระบบควบคุมเครื่องจักรที่จะทำงานตามปกติ ตรงจุดที่เปิด-ปิด ของอุปกรณ์ป้องกันอันตราย อาจใช้บานพับ หรือบานเลื่อน แต่ต้องออกแบบให้ดี ไม่ขัดขวางการทำงานของพนักงานและเครื่องจักร

.

3.3 อุปกรณ์ป้องกันอันตราย ชนิดทำงานอัตโนมัติ (Automatic Guard)

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดนี้ ทำงานโดยอาศัยการทำงานของต้นกำลังเครื่องจักรร่วมกับกลไกต่าง ๆ เช่น แกนหรือก้าน ทำหน้าที่ผลัก กวาด หรือดันอวัยวะของร่างกายให้ออกมาจากบริเวณที่อันตราย

.
4. มีหลักอย่างไรในการเลือกวัสดุที่นำมาใช้ทำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร ?

วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรมี 3 ชนิด คือ โลหะ ไม้ และพลาสติก หรือกระจก โดยมีหลักในการเลือกใช้วัสดุ ดังนี้

4.1 มีน้ำหนักเบา

4.2 ไม่เป็นสนิม

4.3 แข็งแรง

4.4 ไม่ติดไฟง่าย

4.5 ไม่นำไฟฟ้าหรือเป็นฉนวน

4.6 หาซื้อง่าย

4.7 มีราคาถูก

.
5. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร ?

ลักษณะของอุปกรณ์ป้องกันที่ดีมีดังนี้

5.1 สร้างขึ้นมาถูกต้องเหมาะสมกับเครื่องจักร และได้มาตรฐาน

5.2 ติดตั้งถูกตำแหน่งที่ต้องการป้องกันอันตราย

5.3 ป้องกันอันตรายได้มากเพียงพอ

5.4 ป้องกันอันตรายได้ทั้งพนักงานที่ควบคุมและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง

5.5 อุปกรณ์ป้องกันจะต้องไม่เป็นจุดอ่อน หรือก่อให้เกิดอันตราย

5.6 ต้องไม่รบกวน หรือขัดขวางการทำงานมากเกินไป

5.7 ออกแบบมาสำหรับเครื่องจักรนั้น ๆ โดยเฉพาะ

5.8 ทนต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ดี

5.9 สามารถถอดซ่อมและบำรุงรักษาได้ง่าย

.
6. การบำรุงรักษาและซ่อมแซม อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

6.1 เมื่อพบว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายชำรุด ต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบทันที

6.2 ผู้ไม่มีหน้าที่ห้ามเปิดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย

6.3 ผู้มีหน้าที่ซ่อมเครื่องจักรต้องแต่งกายอย่างเหมาะสม

6.4 หยุดเครื่องจักรพร้อมทั้งล็อกเครื่องจักรด้วยตนเองก่อนซ่อม

6.5 ขณะซ่อมแซมเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตราย ต้องแขวนป้ายเตือนพนักงานควบคุมเครื่องจักร ไม่เดินเครื่องจนกว่าแน่ใจว่าติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายเข้าที่เรียบร้อย

.
ข้อมูลอ้างอิง

- การป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร โดย สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)