เนื้อหาวันที่ : 2009-11-30 18:58:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2090 views

บวชป่าสักทอง (หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น) ปี 52

ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 400 คน ร่วมใจกันจัดงานประจำปี บวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งสืบทอดกันมานานนับสิบปี เพื่อเป็นการรักษาป่าต้นน้ำ ต่อต้านโครงการแก่งเสือเต้น และอนุรักษ์ผืนป่าสักทองผืนสุดท้ายของชาติไทย

รายงาน: บวชป่าสักทอง (หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น) ปี 52

.
เรื่องและภาพโดย ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี
ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำยม 
.

ร่วมลดภาวะโลกร้อนด้วยการ
บวชป่าสักทอง สืบชะตาแม่น้ำยม
ปกป้อง รักษา ป่าสักทอง พิทักษ์รักษาแม่น้ำยม หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น

.
ประเพณีชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

เช้าวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 400 คน ได้ร่วมใจกันจัดงานประจำปี บวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งสืบทอดกันมานานนับสิบปี ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชากรมากเป็นพิเศษ ทั้งทางจังหวัด ป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด อุทยานแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรภาคประชาชน ร่วมจัดนิทัศการแสดงผลงานกันอย่างคับคั่ง

.

.

นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ป่าเขต 13 จังหวัดแพร่ ประธานในพิธีได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าที่เป็นแหล่งดูดซับน้ำเปรียบเสมือนอ่างเก็บน้ำ ทำให้ต้นน้ำยมมีน้ำไหลตลอดทั้งปีดั่งที่เห็นอยู่

.

“ต่างประเทศมีภูเขาหิมะค่อยละลายมาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงประชาชน แต่ประเทศไทยเราไม่มีภูเขาน้ำแข็ง แต่เรามีป่าต้นน้ำที่คอยซับน้ำไว้ในฤดูฝนแล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำมาหล่อเลี้ยงพี่น้องประชาชนในทางตอนล่าง เราจึงควรรักษาป่าต้นน้ำไว้ไห้ลูกหลานได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดสืบไป เราได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ ปล่อยนก ปล่อยไก่ป่า ปล่อยปลากันในวันนี้ จะเป็นกุศลผลบุญให้ทุกท่านได้เจริญรุ่งเรืองสืบไป”

.

.
ดงสักงาม ป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของชาติไทย

ดงสักงาม ป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายทีเหลืออยู่ของประเทศไทย ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีมอดไม้เข้าบุกทำลายอยู่เป็นระยะ ถึงวันนี้ดงสักงามยังเป็นป่าสักทองที่ทรงคุณค่า กว่า 24,000 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ ถึงแม้จะมีพื้นที่น้อยกว่าป่าสักที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ถึง 50,000 ไร่ 

.

แต่ป่าสักที่แม่ฮ่องสอนเป็นป่าสักธรรมดาที่มีอยู่โดยทั่วไป ไม่ได้มีสีทองเหมือนดงสักงามที่มีแร่ธาตุพิเศษที่ทำให้เป็นป่าสักทองธรรมชาติ หากแต่เป็นทีน่าสนใจตรงที่ป่าสักแม่ฮ่องสอนเกิดอยู่บนที่สูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งไม่ค่อยมีการกระจายพรรณของสัก

.

.
ดงสักงาม ป่าสักทอง ป่าชุมชนคนสะเอียบ

ดงสักงาม เป็นเขตป่าสักทองที่หนาแน่น ซึ่งชุมชนคนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกันปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน ยังเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยทั้งชาติ ต้นสักทอง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณ ไม้สักชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบ พื้นที่ดินปนทรายที่น้ำไม่ขัง ไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นกัน

.

ไม้สักมักเป็นหมู่ไม้สักล้วนๆ และมีขนาดใหญ่และชอบขึ้นที่ที่มี ชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง ไม้สักเป็นไม้ผลัดใบ ขนาดใหญ่ ยอดกลมสูงเกินกว่า 20 เมตร เปลือกหนา สีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทาแตกเป็นร่องตื้นๆ ไปตามทางยาวและหลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ใบใหญ่ ความกว้าง 25 - 30 เซนติเมตร ยาว 30 – 40 เซนติเมตร

.

รูปใบรีมนหรือรูปไข่ แตกจากกิ่งเป็นคู่ๆ ท้องใบสากหลัง ใบสีเขียวแกมเทาเป็นขน ดอกเป็น สีขาวนวลออกเป็นช่อใหญ่ๆ ตามปลายกิ่ง เริ่มออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลหนึ่งๆ มีเมล็ดใน 1 – 4 เม็ด เปลือกแข็งมีขนสั้นๆ นุ่มๆ สีน้ำตาลหุ้มอยู่ ผลจะแก่ในราว เดือนพฤศจิกายน – มกราคม

.

ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบแข็งปานกลาง เลื่อนใสกบ ตบแต่งง่าย คุณสมบัติที่ดีบางประการ คือ ไม้สักปลวกมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษ มีคุณสมบัติคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็นราได้อย่างดียิ่ง มีความแข็งแรงสูง นอกจากนี้ไม้สักทองยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm (ไม้สักทอง 26 ตัน มีทองคำหนัก 1 บาท) 

.
ลักษณะของไม้สักมี 5 ชนิด คือ

1.สักทอง ขึ้นในป่าโปร่งชื้นไกลห้วยหรือแล้ง แต่ใกล้ห้วยดินค่อนข้างสมบูรณ์การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก แต่อยู่ในที่ที่แห้งชื้นไปบ้างเท่านั้น เรือนยอดสมบูรณ์ใบมีขนาดปานกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรงผ่าง่าย มีความแข็งกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือที่เรียกกันว่า สีทอง

.

2.สักหยวก ขึ้นในป่าโปร่งชื้นริมห้วย ต้นตรงเปลือกแตกเป็นร่องแต่ยาวตรงร่องของเปลือกไม้สักหยวกจะกว้างกว่า ไม้สักทอง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบขนาดกลาง เนื้อไม้หรือแก่นจะมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ถากหรือฟันง่าย

.

3.สักไข ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งแล้งเป็นส่วนมาก ความเจริญเติบโตช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้าง ระหว่างร่องลำต้นตรงเปลา แต่มีลักษณะแกร็นๆ พุ่มของเรือนยอดบอบบางแต่ก็มีใบเต็ม จะทราบว่าเป็นสักไขก็ต่อเมื่อถึงมือช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีไขปนยากแก่การขัด และการทาแชลแลคหรือแลกเกอร์ สีของไม้สักไขจะเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง

.

4.สักหิน ไม้สักพวกนี้จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งในระดับสูง การแตกของเปลือกเป็นร่องลึก และเรือนยอดดูไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติจะทราบได้แน่นอนเมื่อมีการโค่นล้มหรือตบแต่ง โดยพวกโค่นล้มเลื่อยและช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้สัก ทั่วไปและเปราะสีของเนื้อไม้สักเป็นสีน้ำตาลเข้ม

.

5.สักขี้ควาย ไม้สักพวกนี้จะเกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้ง ในป่าผลัดใบต่างๆ และมักจะอยู่ในบริเวณรอยต่อของป่าโปร่ง ผลัดใบและป่าแพะ ลักษณะของเรือนยอดมักจะไม่สมบูรณ์ลำต้นจะตายบ้าง กิ่งบนเรือนยอดแห้งตายไปบ้างกิ่งสองกิ่ง ลักษณะของ เปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก จะทราบได้ชัดก็เมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู จะเห็นได้ชัดว่าเนื้อไม้มีสีเขียวปน น้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน ปนกันดูเป็นสีเลอะๆ

.

ในบรรดาไม้สักทั้ง 5 ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายานามในวงการป่าไม้ว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" หรือ Queen of Timbers" เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลก ที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทยโดยเฉพาะ อนาคตไม้สักกำลังจะหมดไป การปลูกไม้สักให้มีปริมาณมากขึ้น การปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม เพื่อเป็นมรดกของชาติและลูกหลาน จึงเป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มราษฎรรักป่า ชุมชนสะเอียบ ร่วมกันปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลานและคนไทยทั้งชาติ

.

.
ประเพณีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ (1)

หลายปีที่ผ่านมานี้มีพิธีกรรมที่เรียกกันว่า "บวชปา" และ "สืบชะตาแม่น้ำ" หลายคนคงไม่ทราบว่าพิธีกรรมนี้ไม่ได้มีมาแต่โบราณ แต่เป็นการประยุกต์การบวชคนมาเป็นการบวชป่า เอาการสืบชะตาคน ชะตาชุมชน มาสืบชะตาแม่น้ำ โดยความคิดริเริ่มของพระรูปหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ครูมนัสนทีพิทักษ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ใจ วันนี้คือรองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

.

ชื่อของท่านพระครูก็บอกอยู่แล้วว่า ท่านเป็นผู้พิทักษ์แม่ใจ แม่น้ำสายเล็กๆ ที่เกิดจากดอยจากป่า เมื่อแหล่งกำเนิดถูกทำลาย น้ำสายนี้ก็เหือดแห้ง ผู้คนก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการทำมาหากิน ท่านรณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่า แต่เทศน์สอนอย่างเดียวไม่ได้ผล

.

ท่านจึงหากุศโลบายซึ่งเข้ากับวิถีชุมชน คือการประยุกต์ความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม พิธีกรรมบวชป่าเป็นพิธีกรรมเรียบง่าย มีพระสงฆ์ร่วมพิธีสวดมนต์ เลือกเอาไม้ที่ใหญ่ที่สุดหรือพญาไม้จำนวนหนึ่ง แล้วเอาผ้าเหลืองพันรอบต้นไม้นั้น ก็เท่ากับได้บวชทั้งป่า เป็นป่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่คนร่วมกันรักษาไว้

.

สำหรับแม่น้ำก็ประสบชะตากรรมเดียวกับป่า คือถูกทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำที่เป็น "แม่" ผู้ให้ชีวิต เกิดมลภาวะเพราะสารเคมีจากการทำการเกษตรบ้าง การทิ้งของเสียลงไปสารพัดการปลูกพืชเดี่ยวที่ทำให้หน้าดินไหลลงไปสู่แม่น้ำห้วยหนอง ทำให้ตื้นเขินแห้งหายไปเลยก็มี พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาสในเมืองน่าน เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์สร้างสำนึกการอนุรักษ์ป่าและลำน้ำต่างๆ 

.

โดยการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ท่านนำพระ เณร ชาวบ้านจำนวนมากเดินจากอำเภอบ่อเกลือ อันเป็นต้นน้ำน่านลงมาเรื่อยๆ จนไปสิ้นสุดที่เขื่อนสิริกิติย์ ถึงหมู่บ้านไหนก็หยุดเพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน เอาสไลด์ไปฉายให้เห็นผลเสียของการทำลายสิ่งแวดล้อม ชักชวนให้ช่วยกันรักษาแม่น้ำน่าน ที่น่าน ป่าอยู่ได้เพราะชาวบ้าน แม่น้ำน่านและห้วยหนองต่างๆ อยู่ได้เพราะชาวบ้าน มีการอนุรักษ์พันธุ์ปลากว่า 150 แห่ง ให้เป็นเขตอภัยทาน กุศลกรรมอันก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนกับธรรมชาติ

.
พิธีสืบชะตาแม่น้ำ

ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป ในกรณีของทางภาคเหนือนั้น การต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ ในยามที่เห็นว่าแม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ แต่สำหรับบางชุมชน แม่น้ำก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง  

.

แต่ชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับแม่น้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ

.

พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญดังนี้
1.ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน
2. ทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ
3. เกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร

.

พิธีกรรม ก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้าน ในวันกระทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง 

.

อีกท่อนหนึ่งจะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็กๆจำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร) 

.

 .
บวชป่าสักทอง สืบชะตาแม่น้ำยม ประเพณีชุมชนสะเอียบ

ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมใจกันจัดพิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ขึ้นทุกๆ ปี บริเวณริมแม่น้ำยม ที่ชาวบ้านเรียกว่าผาอิง ชาวบ้านกว่า 400 คน ได้เดินทางมารวมกันแต่เช้าของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 โดยพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านได้ปรับมาใช้จากการสืบชะตาของคน  

 .

โดยเชื่อว่าการสืบชะตาแม่น้ำนอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านและชุมชนตลอดเสมอมา ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในการปกป้อง พิทักษ์ รักษาแม่น้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงลูกหลานและชุมชนตลอดไปชั่วกาลนาน

 .

นายอุดม ศรีคำภา (2) ชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น และบ้านดอนชัยสักทอง ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มราษฎรรักป่าขึ้นมา เนื่องจากตระหนักในคุณค่าของป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  

 .

“ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำมากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องป่า แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด ทั้งผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร จนชาวบ้านถือว่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน ต้องช่วยกันรักษา เราร่วมใจกันปฏิบัติสืบมาจนกลายเป็นประเพณีของชุมชนไปแล้ว”

 .

นายเส็ง ขวัญยืน (3) กำนันตำบลสะเอียบ กล่าถึงการสืบเนื่องในพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านสะเอียบว่า “เราต้องการที่จะแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่าที่ป่าสักทองแห่งนี้ เป็นป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนไทยทั้งชาติควรเห็นคุณค่า ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ และให้การสนับสนุนการรักษาป่า รักษาแม่น้ำร่วมกับชุมชนสะเอียบ ช่วยกันปกป้องรักษาให้ถึงที่สุดอย่าให้เขื่อนร้ายแก่งเสือเต้นเข้ามาทำลายป่าสักทองแห่งนี้”

.

.
พิธีกรรมเสร็จสิ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป

เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านแต่ละคนก็ได้นำผ้าเหลืองที่เตรียมมา ไปมัดยังต้นไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่าดงสักงาม ซึ่งมีต้นสักขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ต้นไม้ต้นนี้ ป่าแห่งนี้ ได้บวชแล้ว เปรียบเสมือนผู้ชายเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จะบวชเป็นพระสงฆ์เพื่อสนองพระคุณพ่อแม่ และสานต่อพระพุทธศาสนา

.

ซึ่งถือว่าเป็นกุศโลบายที่บอกถึงการปกป้องรักษาต้นไม้ รักษาป่าสักทองแห่งสุดท้ายของประเทศนี้ไว้ ใครจะมาตัดทำลายมิได้ เพราะเปรียบเสมือนทำลายพระสงฆ์ และทำลายพุทธศาสนา

.

การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ในปีนี้ได้เสร็จสิ้นลง แต่ภารกิจในการปกป้องป่า ปกป้องแม่น้ำ ของชาวตำบลสะเอียบ ยังคงสืบต่อเนื่องไป เพราะนี่คือประเพณีของชุมชน นี่คือภารกิจของชาวบ้านและชุมชนที่ต้องสานต่อ ตลอดรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป และเราคงไม่ให้ภาระอันหนักอึ้งนี้ตกอยู่บนบ่าของชาวบ้านสะเอียบ เพียงเท่านั้น เราทุกคนต้องร่วมกันปกป้องรักษา เพื่ออนาคตของลูกหลานเราและมวลมนุษยชาติ

.
อ้างอิง

(1)    อ้างถึง ดร. เสรี พงศ์พิศ : บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ
(2)    นายอุดม ศรีคำภา ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
(3)    นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ แกนนำคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท