เนื้อหาวันที่ : 2007-01-04 10:08:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1312 views

อภิรักษ์ปลื้ม ครม.ไฟเขียวเดินหน้าบีอาร์ที หลังแช่แข็งยุคทักษิณ

ครม.อนุมัติให้กรุงเทพฯ ก่อสร้างและให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ในเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ใช้วงเงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท หวังซื้อใจคนเมืองกรุง

ครม.อนุมัติให้กรุงเทพฯ ก่อสร้างและให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ในเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ใช้งบกว่า 1,500 ล้านบาท ส่วนเส้นทางเกษตรนวมินทร์-พหลโยธิน-หมอชิต ให้รอการแก้ไขปัญหาจราจร เพราะมีช่องทางคับแคบ

 

 .

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการก่อสร้างและให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ในเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ระยะทาง 16.5 กม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และแก้ปัญหาจราจรในเส้นทางดังกล่าว โดยจะเป็นรถเมล์ปรับอากาศที่ทันสมัย วิ่งให้บริการในช่องทางพิเศษด้านขวาสุด สามารถวิ่งผ่านสี่แยกไฟแดง

 .

โดยมีสัญญาณไฟพิเศษไม่ต้องหยุดรถ ประชาชนสามารถข้ามถนนมาใช้บริการจาก 2 ข้างทางได้ โดย ขสมก. สามารถขอใบอนุญาตในการดำเนินการจากกรมการขนส่งทางบก ด้วยการยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ซึ่งอนุมัติให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ เพียงรายเดียว ซึ่งหลังจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายให้ กทม. และ ขสมก. ร่วมกันดำเนินการให้บริการรถโดยสารบีอาร์ที เส้นทางเกษตรนวมินทร์-พหลโยธิน-สถานีขนส่งหมอชิต

 .

และเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ด้วยวงเงินลงทุน 2,795 ล้านบาท แต่จากการเจรจาของ กทม. กับ ขสมก. ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะ ขสมก. ติดปัญหาการปรับโครงสร้างองค์กร ดังนั้น เมื่อ กทม.มีความพร้อมในการดำเนินการ กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอต่อที่ประชุม ครม.วันนี้ ให้ กทม.ทำการก่อสร้างรถบีอาร์ที ในเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ นำร่องไปก่อน

 .

ส่วนเส้นทางเกษตรนวมินทร์-หมอชิต ยังติดปัญหาถนนคับแคบในช่องพหลโยธิน หากทำการก่อสร้างจะเกิดปัญหาจราจรติดขัด จึงยังไม่พิจารณาโครงการดังกล่าว สำหรับวงเงินลงทุนก่อสร้างช่องนนทรี ระยะแรก เป็นการก่อสร้างระบบเส้นทาง การจัดซื้อตัวรถ การวางระบบตั๋ว ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,338 ล้านบาท ระยะที่ 2 ก่อสร้างอู่จอดรถ อู่ซ่อมบำรุง และลิฟต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 172 ล้านบาท รวมกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม. และเห็นว่ารถบีอาร์ที ประหยัด ปลอดภัย และดำเนินการได้เร็วกว่าระบบรถไฟฟ้า โดยรถไฟฟ้าจะใช้เงินก่อสร้างถึง 1,000 ล้านบาท/กม. ส่วนรถบีอาร์ที ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 100 ล้านบาท/กม.