เนื้อหาวันที่ : 2009-11-30 13:45:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1390 views

พลังงานเดินหน้าปรับแผน PDP เน้นประชาชนมีส่วนร่วม

พลังงานลุยปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หวังให้เป็นแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอีก 20 ข้างหน้า โปรยยาหอมเน้นประชาชนมีส่วนร่วมและความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า

พลังงานลุยปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หวังให้เป็นแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอีก 20 ข้างหน้า โปรยยาหอมเน้นประชาชนมีส่วนร่วมและความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า

.

.

การกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) ได้เดินทางมาสู่การปรับปรุงครั้งใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยการปรับปรุงแผน PDP ดังกล่าวจะเป็นแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต 20 ปีข้างหน้า

.

จะเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและให้ความสำคัญกับความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้มีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้า

.

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 โดยมีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้แก่      

.

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ผู้แทนจาก 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) บมจ.ปตท. ตลอดจนนักวิชาการเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ ทั้งนี้มีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

.

คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวมีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผน PDP เพื่อให้การจัดหาไฟฟ้าในระยะยาวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศและการลงทุนขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

.

การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผน PDP ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในประเด็นต่อไปนี้

.

1. การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ในการดำเนินการ จะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการปรับปรุงแผน PDP จะจัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้งกลุ่มย่อย และสัมมนาแบบเปิดกว้างในการทบทวนและปรับปรุงแผนฯ    

.

ตลอดจนจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมนำเสนอความคิดเห็นอีกช่องทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความคืบหน้าของการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยและแสดงความคิดเห็น www.eppo.go.th/power/pdp 

.

2. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ให้มีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration) ทั้งนี้จะพิจารณาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาในระบบของประเทศควบคู่ไปด้วย

.

ขณะนี้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจาณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนสมมติฐานแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552

.

เพื่อทบทวนสมมติฐานที่สามารถทบทวนได้ในเบื้องต้นก่อนโครงการจัดทำค่าพยากรณ์เศรษฐกิจไทยระยะยาวซึ่งกระทรวงพลังงาน โดย สนพ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2553

.
โดยสมมติฐานที่จะดำเนินการทบทวน เช่น

1. การวิเคราะห์ผลประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM)
2. การพิจารณาปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าในอนาคต
3. การศึกษาปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และผลกระทบที่มีต่อระบบไฟฟ้า
4. การกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
5. การพิจารณากำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
6. การกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

.

ทั้งนี้ จะมีการรายงานความคืบหน้าการทบทวนสมมติฐานต่อคณะอนุกรรมการฯ เป็นระยะๆ และจะได้นำสมมติฐานดังกล่าวไปใช้ในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป 

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน