เนื้อหาวันที่ : 2009-11-30 10:41:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1218 views

TMB คาดปี 53 เศรษฐกิจไทยโต 3.2% จับตาสถานการณ์ศก.โลก

TMB คาดเศรษฐกิจไทยปี 53 ขยายตัวระดับปานกลาง เชื่อตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ 3.2% ชี้นโยบายรัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของศก.ไทย แนะจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง

TMB คาดเศรษฐกิจไทยปี 53 ขยายตัวระดับปานกลาง เชื่อตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ 3.2% ชี้นโยบายรัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของศก.ไทย แนะจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง

.

.

“TMB Research” ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของ TMB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวในระดับปานกลาง โดยคาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2552 ซึ่งอาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 3 “TMB Research” มองว่า บทบาทและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 

.

ทั้งนี้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเต็มที่ ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาสี่ด้านสำคัญ ได้แก่ ภาวะที่เงินเฟ้อ  ตลาดแรงงานยังตกต่ำในประเทศสหรัฐและยุโรป  ความเสี่ยงจากการผ่อนปรนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควร และ ธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่เริ่มเติบโตเร็วกว่าการลงทุนที่แท้จริง

.

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ  โครงการไทยเข้มแข็งซึ่งเป็นความหวังของรัฐบาลเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป หากพิจารณาถึงประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง  “TMB Research” ประเมินว่าตัวทวีคูณของการขาดดุลงบประมาณในระยะสั้น (impact multiplier) อยู่ที่ 0.43 หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การขาดดุลงบประมาณ 100 บาท จะสามารถสร้างมูลค่าของผลผลิตของประเทศได้ 43 บาท

.

โดยจุดคุ้มทุนของนโยบายการคลังผ่านการขาดดุลงบประมาณต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ส่วนในระยะยาวตัวทวีคูณของการใช้งบประมาณขาดดุลมีแนวโน้มจะอยู่ที่ 1.2 ซึ่งหมายถึงการขาดดุลงบประมาณจะสามารถต่อยอดมูลค่าของผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

.

อีกประเด็นที่น่าจับตามองของโครงการไทยเข้มแข็ง คือ เรื่องของการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 74  ของแหล่งเงินทุนรวมของโครงการมาจากการกู้ของภาครัฐ  จากการศึกษาของ “TMB Research” พบว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอ่อนไหวต่อการออกตราสารที่มีระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น 

.

ในกรณีตราสารหนี้อายุ 3 ปี ที่ออกมาจำนวน 2,000 ล้านบาท จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นประมาณ 4 basis points ขณะที่การออกตราสารอายุ 10 ปี ในจำนวนที่เท่ากันจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 12 basis points   

.

ดังนั้น “TMB Research” มองว่าการออกตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนโครงการไทยเข้มแข็งควรจะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ เนื่องจากปริมาณตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในทางบวก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐควรจะพิจารณาการออกตราสารหนี้ในระยะสั้นมากขึ้น (ต่ำกว่า 10 ปี) เนื่องจากการออกตราสารหนี้ระยะสั้นจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดน้อยกว่าการออกตราสารหนี้ในระยะยาว

.

ในด้านการส่งออกของไทย  “TMB Research” มีมุมมองว่าตลาดแอฟริกาและอาเซียนมีความน่าสนใจ ถ้าพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยและอัตราการเจริญเติบโตของตลาดคู่ค้า ในส่วนของตลาดจีน อินเดีย และบราซิล นั้นยังมีโอกาสของสินค้าส่งออกของไทยในการเติบโต

.

เนื่องจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตลาดเก่า หรือ  G3 (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป 15 ประเทศ) ลดลง โดยสัดส่วนการส่งออก ลดลงจากร้อยละ 49.4 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 31.8 ในปี 2552 (10 เดือน)  ในขณะที่การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออกยังเข้มแข็ง โดยกลุ่มอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มดีในทุกสินค้า          

.

ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และปิโตรเคมี กลับขยายตัวได้ดีในตลาดเอเชียตะวันออก การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดใหม่ ได้แก่ ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย  มีสัดส่วนส่งออกรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.2 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 18.5 ในปี 2552 ทั้งนี้ การส่งออกไปประเทศเหล่านี้มีอัตราการขยายตัวดี แต่ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดน้อยอยู่

.

ในปี 2553 “TMB Research” มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงจากสี่ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกมาจากภาวะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2553 จากฐานราคาที่ต่ำในปี 2552 ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาเรล และสภาพคล่องส่วนเกินจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก จะส่งผลกดดันให้ธนาคารกลางที่มีเป้าหมายรักษาอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งเพียงพอ

.

ปัจจัยที่สองเกิดจากการปรับตัวในดุลยภาพของตลาดแรงงานกลุ่มประเทศตะวันตก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและค่าจ้างที่มีระดับต่ำลง ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว

.

ปัจจัยที่สามคือความเสี่ยงจากการผ่อนปรนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควรและไม่เป็นระบบระหว่างประเทศในกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อทดแทนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการตึงตัวของตลาดสินเชื่อ อย่างเช่นในสหรัฐฯ และอังกฤษ 

.

สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่น่าจับตามองในขณะนี้คือธุรกรรม Carry Trade ในตลาดการเงินระหว่างประเทศ (การลงทุนเพื่อสร้างกำไรจากส่วนต่างในดอกเบี้ย จากการกู้ในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปลงทุนในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า) ซึ่งเป็นแรงผลักดันการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในแถบเอเชียและละตินอเมริกา 

.

Carry Trade ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากสภาพคล่องที่มีอยู่ล้นเหลือและโอกาสในการลงทุนที่น้อยในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นตัวขับเคลื่อนเงินทุน กอปรกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในระดับต่ำ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ แต่ในทางกลับกันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นในประเทศต่างๆ จะส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยขยายกว้างมากขึ้น 

.

“TMB Research” มองว่า ในอนาคตอันใกล้ ช่วงเวลาของการทำ carry trade มีโอกาสจะขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพาะสภาวะฟองสบู่ในอนาคตอีกทั้งปริมาณของธุรกรรมจะใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อนตามขนาดของภาคการเงินในสหรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกและสามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้จากทั่วทุกมุมโลก 

.

ขณะเดียวกันนโยบายการเงินที่ต้องการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของสหรัฐฯ จะเร่งการเก็งกำไรให้มากขึ้น ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ก็ยิ่งดึงดูดให้เกิดการทำ carry trade มากขึ้นตามไปด้วย   

.

ในขณะที่ผลกระทบจากการถอนการลงทุนกลับในทันทีจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนตกลงอย่างรุนแรง ตลาดการเงินจะเผชิญกับความผันผวนจากจำนวนเงินมหาศาลที่จะถูกเคลื่อนย้ายอีกครั้ง ซึ่งผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้นก็ยากที่จะคาดเดาได้