เนื้อหาวันที่ : 2009-11-27 15:14:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2408 views

ทีมนักวิจัยไทยอบรมเทคโนโลยีซินโครตรอนประเทศญี่ปุ่น

ทีมนักวิจัยไทยอบรมเทคโนโลยีซินโครตรอน ณ SPring-8 ประเทศญี่ปุ่น อัพเดทข้อมูลและหาแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมไทย

.

ทีมนักวิจัยไทยอบรมเทคโนโลยีซินโครตรอน ณ SPring-8 ประเทศญี่ปุ่น อัพเดทข้อมูลและหาแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมไทย

.

เมื่อวันที่ 2 - 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ทีมนักวิจัยแสงซินโครตรอนของไทย จำนวน 7 คน นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมค่ายไครอน (Cheiron School 2009) ณ SPring-8 ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

.

ทั้งนี้ผู้เข้าอบรมจำนวน 60 คน จาก 9 ประเทศ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีซินโครตรอนในปัจจุบันพร้อมแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ตั้งแต่การใช้ในงานด้านวัสดุศาสตร์ วงการแพทย์ การศึกษาวัตถุโบราณ นิติวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงปฏิกิริยาเคมีต่างๆ  

.

โดยรูปแบบการอบรมมีทั้งการบรรยายโดยผู้อำนวยการสถาบันซินโครตรอนและนักวิจัยแสงซินโครตรอนที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ การแยกกลุ่มย่อยเข้าทำความรู้จักและหารือกับผู้เชี่ยวชาญเทคนิคต่างๆ ตลอดจนการลงมือปฏิบัติการทดลองจริงโดยใช้เครื่องมือซินโครตรอนชั้นสูงที่ SPring-8 

.

.

นอกจากนั้นผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้การทำงานและสัมผัสเครื่องกำเนิดแสงยุคที่สี่ (Forth Generation Light Source) ที่เรียกว่า X-ray Free Electron Laser (XFEL) หรือ เอ็กซ์เรย์เลเซอร์จากอิเล็กตรอนอิสระ ซึ่ง SPring-8 ได้รับงบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท จากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ดำเนินการสร้าง และจะเป็นหนึ่งในสามแห่งของโลก โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2553 นี้ 

.

สำหรับ XFEL นี้จะให้แสงเอกซ์เรย์ที่มีความจ้า (Brilliance) มากกว่าเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนปัจจุบันกว่าหมื่นล้านเท่า ซึ่งจะสามารถใช้ศึกษาโครงสร้างโมเลกุลต่างๆ เช่น โปรตีน โดยเทคนิคใหม่ได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว คาดว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการแพทย์และวัสดุศาสตร์อย่างก้าวกระโดด       

.

สำหรับค่ายไครอนนี้จัดขึ้นโดยกลุ่ม Asia-Oceania Forum for Synchrotron Radiation Research (AOFSRR) ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันซินโครตรอนในเอเชียและประเทศชายฝั่งทะเล โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ของไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก 

.

ทั้งนี้ ค่ายไครอนมีจุดประสงค์เพื่อสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนให้กับนักวิจัยซินโครตรอนรุ่นใหม่ที่จะสืบทอดการพัฒนาและวิจัยในสถาบันวิจัยซินโครตรอน โดยค่ายไครอนนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์กรของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น RIKEN JASRI KEK เป็นต้น (ติดตามข้อมูลได้ที่ http://cheiron2009.spring8.or.jp )    

.