เนื้อหาวันที่ : 2009-11-24 18:37:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2326 views

โบอิ้งชี้ธุรกิจขนส่งทางอากาศอาเซียนมีแววแกร่งในระยะยาว

โบอิ้งชี้ธุรกิจขนส่งทางอากาศของอาเซียนมีศักยภาพสูงในระยะยาว เศรษฐกิจไทยฟื้นปีหน้า มั่นใจทิศทางธุรกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาแรง

.

โบอิ้งชี้ธุรกิจขนส่งทางอากาศของอาเซียนมีศักยภาพสูงในระยะยาว เศรษฐกิจไทยฟื้นปีหน้ามั่นใจทิศทางธุรกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาแรง                                                                      

.

โบอิ้งคาดธุรกิจขนส่งทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพที่จะเติบโตสูงในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งภูมิภาคจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ถึง 2,100 ลำ รวมมูลค่าถึง 330,000 ล้านดอลล่าร์

.

มร. แรนดี้ ทินเซธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน เปิดเผยข้อมูลในงานแถลงข่าวเรื่องการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ภายในปี 2571 หรืออีก 20 ปีต่อจากนี้ ตลาดโลกจะมีความต้องการซื้อเครื่องบินพาณิชย์ใหม่รวมทั้งสิ้นถึง 29,000 ลำ รวมมูลค่า 3.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ 

.

“จากยอดรวมความต้องการเครื่องบินของตลาดโลกดังกล่าว ได้มีการคำสั่งซื้อไปประมาณ 27% แล้วจากสายการบินต่างๆ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือคำสั่งซื้อมีค่าเฉลี่ยเท่าๆ กันทั้งในเรื่องของประเภทเครื่องบิน รุ่นของเครื่องบินที่ใช้ในธุรกิจสายการบิน และเป็นการสั่งซื้อจากทุกภูมิภาคทั่วโลกในจำนวนพอๆ กัน” 

.

มร. ทินเซธกล่าวเสริมว่า นับถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โบอิ้งได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบินที่กำลังรอผลิตรวมทั้งสิ้น 3,400 ลำ มูลค่ารวม 254,000 ล้านดอลล่าร์

.

ปัจจุบันธุรกิจสายการบิน และอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศได้รับผลกระทบจากความท้าทายและภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก มีผลให้ภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก

.

“แต่ข้อมูลที่เราศึกษาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มว่า ขณะนี้โลกของเราผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตทางเศรษฐกิจแล้ว และกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แต่กระบวนการฟื้นตัวคงเป็นไปอย่างช้าๆ และต้องใช้เวลานาน”

.

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะหดตัวประมาณ 3% แต่จะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% ในปีหน้า และจะรักษาระดับการขยายตัวในอัตราเฉลี่ยคงที่ประมาณ 4.5% ต่อปีหลังจากนั้น  ขณะเดียวกัน เราคาดว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกอาจจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูงเท่ากับสมัยเมื่อปี 2551 อีกครั้งในปี 2553

.

ทินเซธกล่าวต่อว่า “ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อัตราการเติบโตของการจราจรทางอากาศจะสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ การเดินทางทางอากาศจะมีการเติบโตในอัตราประมาณ 6.5% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตในอัตราประมาณ 4.6%  เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด คาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดการขนส่งทางอากาศน่าจะอยู่ในระดับ 6.9% ในระยะ 20 ปีข้างหน้า

.

“การเดินทางในเอเชียแปซิฟิกมีปริมาณสูงมากและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของการเดินทางทั่วโลกใน 20 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเพิ่มจาก 32% ในปัจจุบัน ที่จริงแล้วในระยะเวลาไม่เกิน10 ปี จากนี้เอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นตลาดการเดินทางทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ทินเซธกล่าว

.

ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นนี้สายการบินต่างๆ ได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการปรับขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการ และการปรับองค์กร 

.

“ในระยะยาวแล้ว สายการบินจำเป็นจะต้องลงทุนต่อเนื่องเพื่อให้มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของนักเดินทางรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจะเดินทางบ่อยขึ้นและไปยังหลากหลายเส้นทางยิ่งขึ้น”

.

ทินเซธกล่าวเสริมว่า โบอิ้งจะยังคงยึดมั่นในกลยุทธ์หลัก คือ การนำเสนอเครื่องบินที่มีขนาดและสมรรถนะที่เหมาะสมแก่ให้สายการบินที่เป็นลูกค้าในเวลาที่สมควรจะเป็น

.

“ในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้ เราเห็นว่าประเทศต่างๆ และผู้คนจะมีการติดต่อ เดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น คงจะพูดได้ว่าลูกค้าสายการบินของเราคือกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้คนในแต่ละประเทศเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น” ทินเซธกล่าว