เนื้อหาวันที่ : 2009-11-24 14:10:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1182 views

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค. พุ่งเกินคาดในรอบ 4 ปี

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ถีบตัวสูงขึ้นเกิน 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี รับอานิสงส์เศรษฐกิจจีนขยายตัว และเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ถีบตัวสูงขึ้นเกิน 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี รับอานิสงส์เศรษฐกิจจีนขยายตัว และเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,128 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวขึ้นจากเดือนกันยายน ที่ระดับ 95.9 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีที่มีค่าเกิน 100 นับเป็นเดือนแรกจากเดือนมีนาคม 2549 (42 เดือน)          

.

โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีทุกตัวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และเป็นการปรับตัวต่อเนื่องจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในภาคอุตสาหกรรมได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในของประเทศคู่ค้าอย่างประเทศจีน และจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักดีขึ้น 

.

ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับการขายในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปกติของช่วงสุดท้ายของปี ส่วนปัจจัยบวกในประเทศมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างและยานยนต์ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภาคการผลิตดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 100 เป็นเดือนแรกในรอบ 4 ปี

.

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.9 ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 107.8 ในเดือนตุลาคม 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ราคาขาย และผลประกอบการจะสูงขึ้น องค์ประกอบดังกล่าวทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

.

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมขนาดย่อม กลางและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการปรับตัวจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อจากในและต่างประเทศ ยอดขายภายในและต่างประเทศล้วนปรับตัวสูงขึ้น

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มขึ้นในด้านยอดขายและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลง โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่างโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากปริมาณผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์จากภาคตะวันออกกลางมีมากขึ้น และมีการแข่งขันสูง

.

ทำให้ผลประกอบการลดลง ส่วนภาคใต้อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกชุกในช่วงเดือนตุลาคมทำให้ค่าดัชนีปรับตัวลดลง

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า มีการปรับตัวขึ้นทั้ง 2 กลุ่มตลาด ทั้งนี้เป็นเพราะหลายอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน ซึ่งมาจากยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในต่างประเทศ        

.

เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศอยู่ที่ระดับ 93.6 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.2 ในเดือนตุลาคม ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มจาก 98.8 มาอยู่ที่ระดับ 108.9 ในเดือนนี้

.

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ข่าวสารที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัจจัยดังกล่าวสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการมีความกังวลในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกลดลง 

.

และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันคือ ให้ภาครัฐหามาตรการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนการจัดหาแรงงานฝีมือ เร่งแก้ปัญหาการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ให้มีการปรับโครงสร้างโลจิสติกส์อย่างจริงจัง

.

รวมถึงดูแลราคาน้ำมัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ควบคุมค่าเงินบาท เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันแข็งค่าเกินไป และให้รัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ