เนื้อหาวันที่ : 2009-11-24 10:42:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1302 views

"มาร์ค" เตรียมนำทีมลุยกาตาร์ รุกเปิดธุรกิจอาหาร-พลังงาน

อลงกรณ์เผย "อภิสิทธิ์" เล็งจีบ"กาตาร์" รัฐที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่ม GCC หวังสานต่อความร่วมมือด้านอาหาร บริการ และพลังงาน ฝันหวาน 5 ปีการค้าขยายตัว 2 แสนล้าน

อลงกรณ์เผย "อภิสิทธิ์" เล็งจีบ"กาตาร์" รัฐที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่ม GCC หวังสานต่อความร่วมมือด้านอาหาร บริการ และพลังงาน ฝันหวาน 5 ปีการค้าขยายตัว 2 แสนล้าน

.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

.

“นายกฯ”ชิมลาง“กาตาร์”รัฐที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่ม GCC เล็งลงนามความร่วมมือ หวังสานต่อโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เชื่อภายใน 5 ปีข้างหน้าการค้าขยายเท่าตัว 2 แสนล้านบาท

.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตนและพร้อมคณะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมเดินทางเยือนรัฐกาตาร์  เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่าง 2 ประเทศ  โดยเฉพาะด้านอาหาร บริการและพลังงาน คาดว่าจะใน 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มมูลค่าสองประเทศกว่าเท่าตัว หรือ 2 แสนล้านบาทได้

.

“การเดินทางในครั้งนี้ เพื่อสานต่อโครงการและความตกลงในด้านต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม โดยไทยเตรียมหารือ ในเรื่องด้านความร่วมมือระหว่างไทยและกาตาร์ในเรื่อง Food Security เนื่องจากกาตาร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก ซึ่งในปี 2551 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น อินเดีย และอียิปต์ มีมาตรการและนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวทำให้อุปสงค์ของข้าวไทยในตะวันออกกลางเพิ่มสูงขึ้น

.

และกาตาร์นำเข้าอาหารจากไทยสัดส่วนร้อยละ 7.72 ของยอดส่งออกไทยไปกาตาร์ ฝ่ายไทยควรเริ่มการจัดคณะผู้แทนการค้าข้าวจากภาครัฐและเอกชนไปเยือนกาตาร์และควรจัดตั้งคณะกรรมการติดตามการสั่งซื้อ ในขณะเดียวกันฝ่ายไทยควรเชิญผู้นำเข้าข้าวจากกาตาร์มาเยือนไทยให้บ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น”นายอลงกรณ์ กล่าว 

.

นอกจากนี้จะหารือการร่วมลงทุนด้านการเกษตร และ ไทยสนับสนุนให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ในระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายอาจมีการลงนามความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูง ไทย-กาตาร์

.

2. บันทึกความเข้าใจระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้ากาตาร์ และ 3. กรอบความตกลงระหว่างธุรกิจเคมีภัณฑ์เครือซีเมนต์ไทย - กาตาร์ปิโตเลียม โดยไทยได้ให้ความสำคัญด้านพลังงาน

.

“กาตาร์ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงและเห็นว่า ไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหาร และประสงค์ให้สินค้าอาหารไทยเข้าตลาดกาตาร์ ซึ่งน่าจะมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนธุรกิจด้านอาหารกับพลังงาน” นายอลงกรณ์ กล่าว และว่า กาตาร์ยังให้ความสนใจในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ สปา การนวดแผนไทย ซึ่งไทยพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวในกาตาร์ และให้มีการสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรม 

.

รวมถึงสนใจร่วมลงทุนในด้านการทำ Catering และการสอนการบิน เนื่องจากทางกาตาร์เองกำลังที่จะขยายสายการบินของตนเอง และทางรัฐบาลกาตาร์ต้องการที่จะสร้างเมืองโดฮา ให้เป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้า และศูนย์การประชุมในตะวันออกกลางแข่งกับดูไบ

.

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กาตาร์มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) และนับเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก เศรษฐกิจกาตาร์ประมาณร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 27.5 พันล้านบาร์เรล

.

ซึ่งประเมินว่ากาตาร์จะสามารถผลิตน้ำมันในระดับปัจจุบันได้อีกเป็นเวลา 65 ปี (ในระดับการผลิตในปัจจุบัน) กาตาร์มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน และมีกำลังการผลิต 25 ล้านตัน/ปี เป็นประเทศที่ส่งออก Liquefild Natural Gas (LNG) มากที่สุดในโลก และคาดว่าในปี 2555 กาตาร์จะสามารถผลิต LNG ได้ถึงร้อยละ 30 ของการผลิต LNG ทั่วโลก หรือประมาณ 77 ล้านตันต่อปี

.

ปัจจุบันกาตาร์ร่วมกับรัสเซีย และอิหร่านจัดตั้งกลไก Gas Troika ระหว่าง 3 ประเทศขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือด้านราคาก๊าซ รัฐบาลกาตาร์กำลังเร่งขยายการผลิตและส่งออก LNG และการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยทางรัฐบาลกาตาร์มีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Economic Diversification) นโยบายแปรรูปกิจการของรัฐ (Privation) และนโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรี (Deregulation - Liberalization) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

.

การที่กาตาร์มีรายได้และสภาพคล่องสูงจากราคาพลังงาน ที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถจัดทำโครงการขนาดใหญ่ได้หลายโครงการที่สำคัญได้แก่ การขยายการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรม ด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมีและ GTL และการก่อสร้างสนามบินใหม่           

.

โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ชื่อ Pearl Qatar การก่อสร้าง Energy City, Education City, Science and Technology Park, Hamad Medical City, The Sport City, The Entertainment City นอกจากนั้นยังได้เริ่มโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุด เชื่อมระหว่างกาตาร์กับบาห์เรน เป็นต้น กาตาร์ยังมีแผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมมูลค่าประมาณ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

การค้าระหว่างไทย - กาตาร์ มีมูลค่าการค้าในปี 2551 รวม 3,179.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 41.67 เป็นการส่งออกไปกาตาร์ 304.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 40.43 และนำเข้าจากกาตาร์ 2,874.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 41.80 สำหรับในปี 2552 (มค.-กย.) ไทยส่งออก 275.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 40.43

.

โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปกาตาร์ตามลำดับความสำคัญได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์และอะไหล่ยานยนต์ สายไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเครื่องจักร ข้าว ปูนซีเมนต์ อาหารทะเลกระป๋อง ตู้เย็นและส่วนประกอบ ฯลฯ 

.
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก