เนื้อหาวันที่ : 2009-11-23 08:00:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2999 views

จุดเปลี่ยนประเทศไทย ทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต

ก.พลังงาน จับมือ ทบวงพลังงานโลก(IEA) ส่งสัญญาณเตือนทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต ชี้ถึงเวลาจุดเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไปสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง

ก.พลังงาน จับมือ ทบวงพลังงานโลก(IEA) ส่งสัญญาณเตือนทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต ชี้ถึงเวลาจุดเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไปสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เชื่อภาวะโลกร้อนยังมีหวังลดผลกระทบได้ หากทั่วโลกรวมใจลดใช้พลังงาน และหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทิศทางพลังงานในอนาคตโลก (Launch of World Energy Outlook 2009, WEO 2009) ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน และทบวงพลังงานโลก (IEA) โดยมี Mr. Nobuo Tanaka Executive Director, IEA ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่องทิศทางพลังงานในอนาคตของโลก 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า จากรายงานของทบวงพลังงานโลก หรือ IEA ที่ได้มีการจัดทำภาพจำลองของการใช้พลังงานในอนาคต (Base Case Scenario) ซึ่งระบุว่าในอีก 20 ข้างหน้า หรือภายในปี คศ.2030 จะมีการขยายตัวของการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน สูงถึง 40% และกว่า 90% ของการใช้พลังงานดังกล่าว มาจากประเทศกำลังพัฒนา                    

.

โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ที่จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 76% เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็น และควรดำเนินการคือการหาวิธี เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการภาคการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั่วโลกต้องร่วมกันหาทางป้องกัน

.

ทั้งนี้ IEA ให้ข้อแนะนำว่า ถ้าจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี คศ.2030 ให้ได้นั้นทั่วโลกจะต้องมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรณรงค์ประหยัดพลังงาน 50% การใช้พลังงานทดแทน 37% การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ 18% และการใช้เทคโนโลยีอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงดิน 5%   

.

รวมทั้งรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้เทคโนโลยีไฮบริด เชื้อเพลิงจากไฟฟ้า ซึ่งหากดำเนินการตามที่กล่าวมาได้ทั้งหมด จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2030 เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานในปัจจุบัน ที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เพียงร้อยละ 1 

.

โดยจากภารกิจที่ IEA ได้แนะนำไว้นั้น ล้วนตรงกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางไว้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีความคืบหน้าไปมาก ได้แก่ ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ก็ได้มีทั้งมาตรการบังคับตามกฎหมาย และมาตรการทางสังคมที่ได้ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยลดการใช้พลังงานลง

.

นโยบายการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน เราก็ได้มีแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ที่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ในการส่งเสริมพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานจากชีวมวล ชีวภาพ เป็นต้น

.

ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์นั้น ก็อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมความพร้อมงานทางด้านเทคนิค การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะในการกำกับดูแล มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน  

.

ซึ่งจะมีเวลาถึงสิ้นปี 2553 ก่อนที่จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมด นำเสนอต่อรัฐบาลและประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ต่อไป ซึ่งจากนโยบายด้านพลังงานที่กล่าวมา สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทย สามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน และส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้เกิดขึ้น         

.

โดยการใช้ศักยภาพด้านพลังงานภายในประเทศที่มีอยู่ ตลอดจนการส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศนั้น จะช่วยยกระดับด้านเกษตรกรภายในประเทศอีกด้วย ที่สำคัญยังเป็นช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่ปัจจุบันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการพัฒนากลไกที่สะอาด (CDM) ซึ่งมีโครงการด้านพลังงาน ที่สามารถเข้าสู่ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกว่า 100 โครงการ แต่ด้วยปัญหาอุปสรรคจากขั้นตอนที่มีหน่วยงานกลั่นกรองเพื่อรับรองโครงการ (DOE) ทั่วโลกมีเพียง 27 แห่ง

.

จึงทำให้ปัจจุบันมีโครงการด้านพลังงานจากประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เพียง 2 โครงการ กระทรวงพลังงานจึงมีความคิดที่จะทำให้ประเทศไทย มีหน่วยงานด้าน DOE เกิดขึ้น โดยจะเร่งเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อเป็นผลักดันโครงการ CDM ในไทย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย