เนื้อหาวันที่ : 2009-11-20 17:38:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2350 views

สวทช. หนุน SCG ใช้ระบบจัดการคุณภาพพื้นฐาน พัฒนา Logistics

SCG นำร่องเพิ่มศักยภาพเครือข่ายขนส่งใช้ระบบจัดการคุณภาพพื้นฐานของไทย พัฒนาระบบ Logistics เตรียมขยายเพิ่มอีก 20 บริษัทภายใน 3-5 ปี ตั้งเป้าก้าวสู่ระบบ ISO 9001 และ TQM

.

SCG นำร่องเพิ่มศักยภาพเครือข่ายขนส่งใช้ระบบจัดการคุณภาพพื้นฐานของไทย พัฒนาระบบ Logistics เตรียมขยายเพิ่มอีก 20 บริษัทภายใน 3-5 ปี ตั้งเป้าก้าวสู่ระบบ ISO 9001 และ TQM

.

สวทช. มอบใบประกาศนียบัตรระบบการจัดการคุณภาพพื้นฐานของไทย “TFQS” แก่ 5 บริษัทขนส่งในเครือข่าย SCG หวังนำร่องให้ผู้ประกอบการขนส่งรายอื่นเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่าย นำไปสู่การพัฒนาระบบ Logistics ของไทยให้เข้มแข็ง เตรียมขยายเพิ่มอีก 20 บริษัทภายใน 3-5 ปี ผู้บริหาร SCG ย้ำชัด ธุรกิจโลจิติกส์ไทยจะอยู่รอดได้ต้องนำระบบการจัดการคุณภาพเข้าไปใช้ พร้อมตั้งเป้าเครือข่ายขนส่งก้าวต่อสู่ระบบ ISO 9001 และระบบ TQM

.

ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจในภาวะที่มีการแข่งขันสูง หากผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญการพัฒนาความรู้ความชำนาญ ทักษะในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ อาจทำให้มีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ นอกจากจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมด้วย
ดังนั้น “ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี     

.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย ( Thai Foundation Quality System : TFQS ) ” ขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เพื่อสร้างพื้นฐานบันไดขั้นแรกในการบริหารจัดการคุณภาพได้ทั้งการผลิต และการบริการสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และพัฒนาองค์กรจนนำไปสู่การจัดการคุณภาพระดับสากลได้ในที่สุด 

.

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย หรือ TFQS เป็นระบบการบริหารงานคุณภาพสำหรับ SMEs ที่ต้องการพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เนื่องจากระบบ TFQS มีข้อกำหนดในการปฏิบัติที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่เสียเวลามาก ลงทุนน้อย และไม่เน้นการจัดทำด้านเอกสาร 

.

ระบบ TFQS เป็นระบบคุณภาพที่ทาง สวทช. โดย ดร.ลัดดาวัลย์ กระแสชล เป็นผู้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เหมาะกับการบริหารจัดการของ SMEsไทยทั้งการผลิต และการบริการ โดยเน้นใน 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ นโยบาย- เป้าหมายด้านคุณภาพ การวางแผนด้านคุณภาพ การควบคุมคุณภาพ การจัดซื้อและการส่งมอบ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพ 

.

“ระบบดังกล่าวสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ และพัฒนาการบริหารจัดการในองค์กรให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองระบบ TFQS จะมีพื้นฐานเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาองค์กรจนนำไปสู่การจัดระบบคุณภาพระดับสากล อาทิ ระบบ ISO 9001 และ ระบบการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร หรือ TQM ( Total Quality Management ) ได้ในที่สุด ” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว 

.

แนวทางการสนับสนุนของโครงการ iTAP ภายใต้ศูนย์ TMC นอกจากสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษา และเงินสนับสนุนร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาระบบคุณภาพ เพื่อให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งระบบ TFQS เป็นระบบคุณภาพหนึ่งที่โครงการ iTAP สนับสนุนให้มีการนำไปใช้สำหรับ SMEs ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

.

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย หรือ TFQS ของ iTAP ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2552 มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการ TFQS และได้รับการรับรองระบบคุณภาพแล้วทั้งสิ้น 28 บริษัท แบ่งเป็น ภาคการผลิต 20 บริษัท และภาคการบริการ 8 บริษัท เช่น ธุรกิจรับเขียนโปรแกรม ธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจขนส่ง เป็นต้น 

.

ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย ผู้จัดการโครงการ iTAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ TFQS ว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา iTAP ได้มีการมอบใบประกาศนียบัตรรับรองระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย หรือ TFQS ให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งในเครือข่ายบริษัท SCG Logistics Management จำกัด จำนวน 5 ราย ได้แก่    

.

บริษัท จัมโบ้ บาจส์ แอนด์ ทักส์ จำกัด , บริษัท นครปฐมยนตรภัณฑ์ จำกัด , บริษัท อี.ที.ชลบุรีขนส่ง จำกัด , ห้างหุ้นส่วนจำกัด วรรจณา และ บริษัท ลิ้มแชมป์เจริญ จำกัด หลังจากได้เข้าร่วมพัฒนาระบบ TFQS โดยมีอาจารย์นิพนธ์ ลัฐิกาพงศ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 และใช้เวลา 12 เดือนในการพัฒนาระบบของผู้ประกอบการขนส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ TFQS จนประสบผลสำเร็จ

.

ผลการเข้าร่วมพัฒนาระบบ TFQS พบว่า การดำเนินงานของทั้ง 5 บริษัทดังกล่าวนอกจากต้นทุนและเวลาในการทำงานที่ลดลงแล้ว ยังทำให้กระบวนการทำงานของบริษัทดีขึ้น การตรวจสอบมีความชัดเจนมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ปริมาณอุบัติเหตุในการให้บริการลดลง รวมถึงสินค้าคงคลังมีความถูกต้องเป็นระบบมากขึ้น    

.

ด้านการสื่อสารในองค์กรดีขึ้น ส่งผลตอ่บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เหล่านี้ เกิดจากการนำเอาระบบ TFQS มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

.

นายภานุมาศ ศรีสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท SCG Logistics Management จำกัด ในเครือปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า เครือปูนซีเมนต์ไทยมีนโยบายที่มุ่งไปสู่ระบบการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร หรือ TQM การสนับสนุนให้เครือข่ายขนส่งพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพพื้นฐานของไทย หรือ TFQS นั้นจึงเป็นไปตามนโยบายที่ต้องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งและโลจิติกส์เครือข่ายให้มีพื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและรองรับการแข่งขันในอนาคต 

.

สำหรับผู้ประกอบการขนส่งในเครือข่ายทั้ง 5 รายที่ได้รับการรับรองระบบ TFQS จาก iTAP ถือเป็นการนำร่องให้กับผู้ประกอบการขนส่งในเครือที่มีกว่า 200 รายทั่วประเทศ หันมาพัฒนาระบบการจัดการกันมากขึ้น เชื่อว่า เมื่อมีการนำระบบTFQS มาใช้ครอบคลุมเครือข่ายขนส่งเพิ่มขึ้นอีก 20 บริษัทภายใน 3 - 5 ปีข้างหน้า จะทำให้ความสามารถในการเชื่อมโยงระบบไอทีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ถึง12,000 ล้านบาท โดยในปี 2552 นี้ บริษัทฯ มียอดขายอยู่ประมาณ 9,000 ล้านบาท

.

“ระบบโลจิติกส์แต่เดิม เน้นเฉพาะรถบรรทุกและเรือขนสินค้าเท่านั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจเรื่องการจัดการ ปัจจุบันไม่ได้แล้ว เราไม่ได้แข่งเฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่คู่แข่งมีอยู่ทั่วโลก เมื่อข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA เริ่มบังคับใช้ หากเรายังไม่มีระบบการจัดการที่ดีเกรงว่าระบบโลจิติกส์ของไทยจะได้รับความลำบาก เพราะระบบโลจิติกส์เป็นธุรกิจที่ต้องเน้นประสิทธิภาพการทำงาน หากระบบการจัดการไม่ดี ก็จะอยู่ไม่ได้” 

.

“การมีระบบการจัดการที่ดีจะทำให้ต้นทุนการทำงานลดลง ประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัท SCG จึงสนับสนุนเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังจากได้พัฒนาระบบการจัดการ TFQS แล้ว ผู้ประกอบการขนส่งในเครือจะยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตนเองต่อไปสู่ระบบ ISO 9001 และ ระบบ TQM ได้ในที่สุด เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของเครือปูนซีเมนต์ไทย” กรรมการผู้จัดการ SCG Logistics กล่าว