เนื้อหาวันที่ : 2007-01-03 09:25:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1374 views

ก.พลังงาน เร่งเครื่องนโยบายปี 50 ชู 4 ภารกิจหลัก

กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภารกิจของกระทรวงพลังงานที่จะเร่งดำเนินการในปี 2550 นี้ จะให้ความสำคัญไปที่ 4 นโยบายหลัก เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อด้านพลังงาน

นายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า  ภารกิจของกระทรวงพลังงานที่จะเร่งดำเนินการในปี  2550 นี้ จะให้ความสำคัญไปที่ 4 นโยบายหลัก ได้แก่ 

 

1. นโยบายส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน  ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP 2006/2007) โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2550   ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงค่าพยากรณ์ใหม่  ภายหลังการจัดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549   จัดทำแนวทางกติกา การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) ในการประมูลรอบใหม่ ภายในเดือนมีนาคม  2550 และพร้อมออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจได้ภายในระยะเวลา  3 เดือน  โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) ทุกประเภทเชื้อเพลิง เป็น 4,000 เมกกะวัตต์ ภายในเดือนมกราคม 2550   และเตรียมออกสัมปทานปิโตรเลียมอีก 5 ราย ใน 11 แปลงสำรวจ ได้แก่ บริเวณอ่าวไทย 1 แปลง อันดามัน 3 แปลง  แหล่งบนบก 7 แปลง ภายในเดือนกุมภาพันธ์

 

2. การปรับปรุงโครงสร้างกิจการพลังงาน  กระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายด้านพลังงานให้ทันสมัย โดยเน้นความเป็นธรรม มุ่งประโยชน์สาธารณะ โปร่งใส ประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงภารกิจของสำนักงานพลังงานภูมิภาคให้คล่องตัว และเข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยมีการออกกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ที่จะกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ โดยกระทรวงพลังงานจะร่างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2550 

 

นอกจากนี้   ยังมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535  พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543    การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยให้จัดทำเป็นร่างกฎกระทรวงใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือเรื่องเดียวกันให้เหลือ  4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. ... 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. .... 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. .... และ 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตปลอดภัยและเครื่องหมายในบริเวณที่มีสิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม พ.ศ. ....

 

การยกร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งเสนอโดยกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....  2. ร่างกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยานพาหนะทางบก พ.ศ. .... 3. ร่างกฎกระทรวงการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. .... และ 5. ร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าของสถานีประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.

 

3.เร่งส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ได้แก่ นโยบายก๊าซธรรมชาติในเครื่องยนต์ (NGV)  จะเร่งงานที่ดำเนินการอยู่ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งการขยายสถานีบริการ ให้ครบ 740 สถานีในปี 2553  การติดตั้งใช้งานในรถ บขส. ขสมก. และในรถราชการให้ครบ 2,000 คัน  รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์การเลิกอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม  เพื่อกระตุ้นกลุ่มแท็กซี่ให้หันมาใช้ NGV เร็วขึ้น  การส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ จัดทำโครงสร้างราคาเอทานอล ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็นไปตามกลไกตลาด และขจัดกฎระเบียบเพื่อให้มีการผลิตเอทานอลอย่างเสรี ภายในเดือนมีนาคม 2550  การส่งเสริมการผลิต  ไบโอดีเซลทั้งในระดับชุมชน และเชิงพาณิชย์ โดยปรับเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลเป็น 4 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2554 เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ได้ชะลอจากการคาดการณ์ไว้เดิม  จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการหันมาใช้ NGV ในภาคขนส่งมากขึ้น ประกอบกับการพิจารณาร่วมกับพื้นที่ปลูกปาล์มที่เป็นไปได้   การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(VSPP) โดยออกประกาศกำหนดส่วนเพิ่ม(Adder) จากพลังงานหมุนเวียน  ภายในปี  2550

 

4.  นโยบายประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน   จะเร่งดำเนินการส่งเสริมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง  ได้แก่  โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในบ้านที่อยู่อาศัยทบทวนและศึกษาสถานภาพการใช้พลังงานในภาคที่อยู่อาศัย   ศึกษารวบรวมข้อมูลโครงการอนุรักษ์พลังงานด้านที่อยู่อาศัย   ศึกษาและประมาณการศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานใน 2 กลุ่ม   อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ชนิด  อาทิ ตู้เย็น  เครื่องปรับอากาศ  หลอดฟลูออเรสเซนต์ บัลลาสต์ และพัดลม ฉนวนและวัสดุก่อสร้าง 10 ชนิด  อาทิ  อิฐมอญ  คอนกรีตบล็อก กระจกตัดแสง ไฟเบอร์ ไยแก้วโฟม รวมทั้ง ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการอนุรักษ์พลังงานในบ้านที่อยู่อาศัย 

 

โครงการฉลากรถประหยัดพลังงาน เพื่อส่งเสริมและสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน ได้แก่ การใช้ฉลากประหยัดพลังงาน การส่งเสริมให้มีการปรับแต่งเครื่องยนต์ตามสถานีบริการรถยนต์ทั่วประเทศ การส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทางและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานอันเนื่องจากรถประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งคาดว่าจะลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และประหยัดได้ประมาณ .......     ภายในปี ............... 

 

โครงการฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน  ได้ปรับปรุงรูปลักษณ์ของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เดิม  มาเป็นฉลากรูปแบบใหม่โดยมีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงพลังงานเป็นพื้นหลัง และแสดงข้อมูลภายในฉลากแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า (Energy Efficiency Ratio: EER)  ข้อมูลที่แสดงถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ในแต่ละปี และข้อมูลที่แสดงถึงจำนวนค่าใช้ไฟฟ้าในแต่ละปี เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลจากฉลากประหยัดพลังงานนี้ ประกอบการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป