เนื้อหาวันที่ : 2009-11-20 17:11:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3873 views

ตำถ่านหิน ละลายโรงเหล็ก

โครงการโรงถลุงเหล็กของกลุ่มบริษัทสหวิริยา ที่อำเภอบางสะพาน กลายเป็นกรณีปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเมืองไทยในปัจจุบัน

ตำถ่านหิน ละลายโรงเหล็ก : ปัญหาความไม่เหมาะสมด้านพลังงานของโรงถลุงเหล็กบางสะพาน

เดชรัต  สุขกำเนิด

.

.

โครงการโรงถลุงเหล็กของกลุ่มบริษัทสหวิริยา ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นกรณีปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเมืองไทยในปัจจุบัน

.

มิติของความขัดยังจากกรณีดังกล่าวมีอยู่หลากหลายมิติ ทั้งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ (เช่น การแย่งชิงพื้นที่ป่าพรุ) ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัญหาในกระบวนการขออนุมัติ อนุญาต และปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

.

มิติการจัดการด้านพลังงานเป็นมิติหนึ่งของความขัดแย้ง ซึ่งแม้จะเป็นประเด็นหลักของการถกเถียงก็จริง แต่ก็มีบางฝ่ายแสดงความเป็นห่วงถึงความต้องการใช้พลังงานที่จะเกิดขึ้นจากโรงถลุงเหล็กอย่างชัดเจน และกังวลว่าอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่นี้

.

บทความนี้ จึงขอนำเสนอถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในมิติด้านพลังงานของโรงถลุงเหล็กบางสะพาน โดยในช่วงท้ายจะขยายความถึงการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่เชื่อมโยงกับการจัดการพลังงานในภาพรวมด้วย

.
กระบวนการถลุงเหล็ก

กระบวนการผลิตเหล็กขั้นต้นหรือกระบวนการถลุงเหล็กเป็นกระบวนการในการเปลี่ยนรูปสินแร่เหล็กซึ่งอยู่ในรูปของเหล็กออกไซด์ให้กลายเป็นโลหะเหล็ก โดยใช้สารลดออกซิเจน เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ในการกำจัดออกซิเจนและสารปลอมปนออกจากเหล็ก ผลลัพธ์ที่ได้คือ เหล็กดิบหรือเหล็กถลุง หรือ pig iron เพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าต่อไป กระบวนการถลุงเหล็กจึงเป็นกระบวนการขั้นต้นหรืออุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

.

วิธีการในการถลุงเหล็กมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยแบ่งเป็น 2 กระบวนการหลักคือ การถลุงในสภาพของเหลว และการถลุงในสภาพของแข็ง โดยการถลุงในสภาพของเหลวจะเป็นการกำจัดออกซิเจนออกจากแร่งเหล็ก พร้อมทั้งเปลี่ยนสภาพของแข็งเป็นของเหลว เพื่อนำไปใช้ต่อในกระบวนการผลิดเหล็กกล้า เช่นวิธีการ Blast Furnace ส่วนการถลุงในสภาพของแข็งจะได้ผลผลิตในรูปของแข็งเรียกว่า เหล็กพรุน หรือ sponge iron แต่กระบวนการนี้ไม่สามารถแยกการแร่ออกจากกระบวนการถลุง ทำให้ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในขั้นตอนการผลิตเหล็กกล้า

.

กระบวนการถลุงเหล็กกล้าเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงมาก โดยมีการใช้ทั้งไฟฟ้า และถ่านหิน หรือในบางกรณีจะใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินด้วย โดยถ่านหินที่ใช้กระบวนการผลิตแบบ Blast Furnace เป็นถ่านโค้ก ซึ่งเป็นถ่านหินที่ผ่านกระบวนการกลั่นทำลาย คือนำเอาถ่านหินไปบรรจุในที่จำกัดมิให้อากาศเข้าไปแล้วให้ความร้อนจนถ่านหินร้อนแดง จนพวกสารไฮโดรคาร์บอนในถ่านหินจะระเหยออกเป็นก๊าซ แล้วเทถ่านหินที่ร้อนแดงลงไปในน้ำ จะได้ถ่านโค้กที่มีลักษณะเป็นก้อนรูพรุนทั้งก้อน

.

ในการผลิตเหล็กขั้นต้น (เหล็กถลุงหรือเหล็กพรุน) 1 ตัน ด้วยวิธีการ Blast Furnace แบบทั่วไปจะต้องใช้สินแต่เหล็กประมาณ 490 กิโลกรัม ใช้ถ่านหิน 175 กิโลกรัม ถ่านโค้ก 335 กิโลกรัม และใช้ไฟฟ้า 127.5 หน่วย (หรือkWh) (หมายเหตุ-ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถลุงเหล็ก จึงมีทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตถ่านโค้ก ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้า และผลกระทบจากการถลุงเหล็กเอง

.

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมถลุงเหล็กที่เล็กมาก ๆ ส่วนใหญ่เรานำเข้าเหล็กขั้นต้น เพื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าอื่น ๆ  ต่อไป การที่เราจะลงทุนอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจึงเกิดเป็นคำถามว่าจะมีความเหมาะสมเพียงใด สำหรับประเทศของเราที่เป็นผู้นำเข้าเชื้อเพลิง ในช่วงเวลาที่ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกกำลังพุ่งสูงขึ้น

.
ความต้องการพลังงานในการถลุงเหล็ก

ความพยายามในการสร้างโรงถลุงเหล็กบางสะพานมีมาหลายปีแล้ว แต่โครงการก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ในช่วงปี พ.ศ. 2548 โครงการนี้เคยได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI โดยมีเงื่อนไขด้านความมั่นคงทางการเงิน (เช่น สัดส่วนหน้าสินต่อทุนหรือแหล่งที่มาของเงินลงทุน) แต่ต่อมาการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพราะบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้

.

ล่าสุด โครงการดังกล่าวมีการเสนอแผนการลงทุนที่ปรับปรุงใหม่ โดยในระยะแรกแบ่งการลงทุนเป็น 3 ปี คือ ปี 2552 มีขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี  มูลค่าการลงทุน 12,000 ล้านบาท ปี 2553 มีขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท และปี 2554 มีขนาดกำลังการผลิต 2 ล้านตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 34,000 ล้านบาท หรือรวมทั้งหมดในระยะแรกมีกำลังการผลิต 5 ล้านตัน/ปี

.

ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิม (ซึ่งยกเลิกไปเพื่อดำเนินการศึกษาใหม่) ได้ระบุว่าโรงถลุงเหล็กจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 230 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะผลิตไฟฟ้าเองประมาณ 112 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และใช้ไฟฟ้าจากระบบอีก 118 เมกะวัตต์

.

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2549 มีเพียงประมาณ 166.5 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงถลุงเหล็ก 230 เมกะวัตต์ จึงมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดถึงเกือบร้อยละ 40 ทีเดียว

.

ดังนั้น การสร้างโรงถลุงเหล็กจึงอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง (เช่น ชุมพร) เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้นมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดในปัจจุบันเสียอีก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โรงไฟฟ้าโรงใหม่ที่จะสร้างขึ้น สร้างเพื่อโรงถลุงเหล็กมากกว่าสร้างเพื่อชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หรือจังหวัดใกล้เคียง

.

ยิ่งไปกว่านั้น การถลุงเหล็กยังจำเป็นต้องใช้ถ่านหินและถ่านโค้กอีกด้วย โดยหากนำข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มาคำนวณก็พบว่า ความต้องการใช้ถ่านหินสำหรับโครงการระยะแรกน่าจะมีประมาณ 875,000 ตันต่อปี ในปี 2554 และมีความต้องใช้ถ่านโค้ก 1.68 ล้านตันต่อปีในปีเดียวกัน

.

การที่โรงถลุงเหล็กจำเป็นต้องมีการนำเข้าถ่านหินจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สะพานรับถ่านหิน ก็อาจจะเอื้ออำนวยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

.
ความเหมาะสมด้านพลังงาน

คำถามสำคัญสำหรับกรณีโรงถลุงเหล็กคือ การลงทุนในโครงการดังกล่างมีความเหมาะสมหรือความคุ้มค่าทางด้านพลังงานหรือไม่

.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเคยทำรายงานการศึกษาขั้นต้นเสนอต่อกรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน พบว่า อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงานคิดเป็สัดส่วนร้อยละ 33.1 ของมูลค่าผลผลิตทั้งหมด ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการผลิตน้ำแข็ง  

.

โดยอุตสาหกรรมโดยภาพรวมมีสัดส่วนค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของการใช้พลังงานร้อยละ 11.3 ของมูลค่าเพิ่มผลผลิต ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจึงจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานสูง (หรือ High Energy Intensive Industry)

.

อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยก็ได้ย้ำว่า การพิจารณาโครงสร้างอุตสาหกรรมในมิติด้านพลังงานจะพิจารณาเฉพาะความเข้มข้นของการใช้พลังงานอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ยังคำนึงถึงมูลค่าเพิ่มที่แต่ละอุตสาหกรรมมีต่อระบบเศรษฐกิจประกอบด้วย

.

ผลการวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าพบว่า อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 15.1 ของมูลค่าผลผลิต ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูง แต่กลับมีมูลค่าเพิ่มต่ำ

.

ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ายังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ กล่าวคือ ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เพราะเราไม่มีสินแร่เหล็กและแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นของตนเอง

.

ดังนั้น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจึงจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานสูแต่มูลค่าเพิ่มต่ำ และไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่น่าส่งเสริม เพราะในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเช่นในเวลาปัจจุบัน อุตสาหกรรมประเภทนี้ต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าสูงมาก ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ตนเองก็ได้มูลค่าเพิ่มเพียงเล็กน้อยและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่ำ อุตสาหกรรมประเภทนี้จึงอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

.

เมื่อพิจารณาในมิติพลังงานนี้ อุตสาหกรรมที่ควรให้การส่งเสริมมากที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานต่ำ แต่ได้รับมูลค่าเพิ่มสูง และมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกสูง เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน เป็นต้น

.

มองในมุมนี้ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนจำนวนมาก ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก แต่ผลที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่า และมีแนวโน้มที่จะไม่ยั่งยืน

.

เพียงแต่ว่า หน่วยงานราชการบางแห่งอาจจะตาโต เมื่อเห็นตัวเลขการลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท โดยที่มิได้คิดถึงภาระการนำเข้าเชื้อเพลิงที่จะตามมา จึงส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเหมาะสมในแง่พลังงาน

.
สรุป

การที่จบบทความนี้ข้ออ้างถึงคำกล่าวถึง ศ.ดร.พรายพล  คุ้มทรัพย์  จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทย ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “โครงการส่วนใหญ่ในแผนอนุรักษ์พลังงาน มีลักษณะที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต

.

กล่าวคือ ยังไม่มีแผนที่จะปรับโครงสร้างของสาขาอุตสาหกรรม โดยเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นในการใช้พลังงานต่ำ เช่น อุตสาหกรรมอีเลคโทรนิคส์ และเคมี พร้อมทั้งลดบทบาทของอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานสูง เช่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และการถลุงเหล็ก” ฟังแล้ว คิดว่า เราควรจะ “ตำถ่านหิน ละลายโรงเหล็ก” หรือไม่?