เนื้อหาวันที่ : 2009-11-19 18:50:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2009 views

ความเสี่ยงจาก บรรษัทภิบาล

ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลดูจะไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าไรนักจากสถาบันการเงินเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ กระทั่งเกิดวิกฤติการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ขึ้น จึงเป็นการจุดประกายให้สถาบันการเงินต้องหันกลับมาให้ความสนใจกับความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลเป็นสำคัญ

วิรไท  สันติประภพ
.

.

วิกฤติการเงินโลกรอบนี้ได้จุดประกายให้ต้องสนใจความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาล หรือ corporate governance risk ในโลกธุรกิจเราได้ยินเรื่องการส่งเสริมบรรษัทภิบาลมานานแล้ว แต่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องถ้าทำก็ดีไม่ทำก็เสมอตัวโดยไม่ค่อยคำนึงถึงความเสี่ยงและผลร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าขาดบรรษัทภิบาลที่ดี

.

ในโลกของสถาบันการเงิน ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาล ดูจะได้รับความสนใจน้อยกว่าความเสี่ยงหลักประเภทอื่น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากสินเชื่อ (credit risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด (market risk) และความเสี่ยงจากการปฏิบัติการ (operational risk) กติกากำกับดูแลสถาบันการเงินที่ใช้กันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงสามประเภทหลักและกำหนดให้สถาบันการเงินที่ใช้กันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลในระดับเดียวกัน

.

วิกฤตการเงินโลกรอบนี้ แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลสามารถทำให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มลงได้ เมื่อมองย้อมกลับไปก่อนวิกฤติสถาบันการเงินในโลกตะวันตกดูจะขาดระบบการกำกับดูแลที่ดีตั้งแต่ระดับผู้ถือหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่สมัยนี้มีขนาดใหญ่มากจนไม่มีใครมีทุนมากพอที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ จึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารได้อย่างเต็มที่ 

.

นอกจากนี้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินมักกำหนดเพดานการถือหุ้นขั้นสูงไว้อีกด้วยเพราะเชื่อว่าผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะแทรกแซงการปล่อยสินเชื่อให้พวกพ้องจนทำให้สถาบันการเงินเสียหายได้

.

นอกจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นสถาบันการเงินเป็นเบี้ยหัวแตกแล้วผู้ถือหุ้นในสถาบันการเงินยังอาจมีวัตถุประสงค์อื่น ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนจากการถือหุ้นระยะยาวเป็นหลัก หุ้นสถาบันการเงินมักถูกใช้เป็นตัวสะท้อนทิศทางขอสภาวะเศรษฐกิจ และเป็นหุ้นที่ซื้อง่ายขายคล่องส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้ถือหุ้นและกองทุนที่มุ่งหวังกำไรในระยะสั้น โดยเชื่อว่าจะสามารถขายหุ้นออกได้ทันก่อนที่ราคาจะตก

.

ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลในระดับคณะกรรมการเป็นปัญหาสำคัญเช่นกันผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีก่อนในโลก ต้องอาศัยการคำนวณความเสี่ยงจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ต้องถูกอุปโลกน์ข้อมูลขึ้นเอง(เพราะไม่เคยมีมาก่อนในโลก)    

.

เรื่องเหล่านี้ยากที่คณะกรรมการของสถาบันการเงินจะเข้าใจต่อให้จะเขียนกฎเกณฑ์ให้คณะกรรมการสถาบันการเงินต้องกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ไว้ละเอียดเพียงใดก็ยากที่คณะกรรมการจะเข้าใจและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที  ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลของสถาบันการเงินดูจะรุนแรงที่สุดในระดับผู้บริหาร  

.

สถาบันการเงินหลายแห่งล้มลงจนผู้ถือหุ้นขาดทุนจำนวนมาก และรัฐบาลต้องเอาภาษีของประชาชนมาช่วยเหลือ แต่ผู้บริหารที่บริหารงานผิดพลาดยังได้รับผลประโยชน์ที่ดี ทั้งโบนัสและเงินชดเชยการถูกให้ออก เพราะถูกกำหนดไว้แต่แรกในสัญญาจ้างงาน นอกจากนี้ในช่วงก่อนวิกฤติ ผลประโยชน์ที่ผู้บริหารสถาบันการเงินได้รับ มักจะอิงกับผลประกอบการในแต่ละปี

.

ในขณะที่ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อหรือการทำธุรกรรมการเงินหลายประเภทต้องอาศัยเวลายาวกว่าหนึ่งปีจึงจะปรากฎผลได้ชัดซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นผู้บริหารสถาบันการเงินมักจะได้รับโบนัสไปเต็มที่ และอาจย้ายไปทำงานกับสถาบันการเงินอื่นแล้ว ส่งผลให้ผู้บริหารสถาบันการเงินให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนที่ตนจะได้รับในระยะสั้นมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินในระยะยาว

.

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ฟองสบู่เติบโตได้ต่อเนื่อง ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจต่อความจากบรรษัทภิบาลเท่าไหร่นัก แต่จะให้ความสนใจกับผลตอบแทน และผลกำไรของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นหลัก ผู้ถือหุ้นคณะกรรมการและผู้บริหารจะมีความสุขเป็นพิเศษถ้ากำไรและราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นอาจมาพร้มกับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินต้องรับเกินควร

.

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติระบบสถาบันการเงินมีการแข่งขันรุนแรงมากเพราะผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ และผู้บริหารสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งคิดคล้ายกัน จึงไม่แปลกที่ระบบการเงินของโลกต้องรับความเสี่ยงมากเกินควร ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสินเชื่อ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด หรือความเสี่ยงจากการปฏิบัติการ ซึ่งถ้าคิดลึก ๆ แล้วล้วนมีต้นตอมากจากการขาดระบบบรรษัทภิบาลที่ดีทั้งสิ้น

.

ตั้งแต่เกิดวิกฤติรอบนี้ หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินหันมาสนในความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลมากขึ้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคงจะเป็นความพยายามออกกฎเกณฑ์ควบคุมการจ่ายผลตอบแทนให้แกผู้บริหารยืดฐานการคำนวณโบนัสและผลตอบแทนของผู้บริหารให้ยาวขึ้น ไม่ให้อิงกับผลประกอบการปีต่อปีเป็นหลัก และในอนาคตคงยากที่ผู้บริหารสถาบันการเงินจะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างในลักษณะที่ล้มบนฟูก ถ้าสถาบันการเงินที่ตนบริหารต้องล้มลง

.

การป้องกันความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลในระดับอื่น ๆ จะทำได้ยากกว่าการกำหนดผลตอบแทนของผู้บริหาร เพราะจะไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนได้ การแก้ปัญหาความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาล ต้องอาศัยการจัดโครงสร้างระบบผลประโยชน์และแรงจูงใจ หรือ incentive structure ให้เหมาะสม มากกว่าที่จะใช้กฎเกณฑ์ควบคุม

.

ทำอย่างไรที่ทั้งผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ และผู้บริหารจะคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของบริษัทเป็นที่ตั้งและคณะกรรมการที่ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทสามารถตัดสินใจบนพื้นฐานที่ถูกที่ควรได้อย่างเต็มที่ไม่โอนเอียงตามผลประโยชน์ที่ตนได้รับ 

.

ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลในสถาบันการเงินไทยอาจจะไม่รุนแรงเหทือนกับในประเทศที่เกิดวิกฤตการเงินรอบนี้และอาจจะมาในรูปแบบที่ต่างออกไป ในประเทศไทยความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลดูจะรุนแรงที่สุดในสถาบันการเงินกึ่งรัฐ เพราะมีโอกาสที่จะถูกแทรกแซงโดยภาครัฐได้

.

นอกจากนี้คณะกรรมการของสถาบันการเงินกึ่งรัฐมักจะประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือข้าราชการที่ขาดความเข้าใจในธุรกิจการเงินจึงมักให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการมากกว่าประเด็นทางธุรกิจ หรือมุ่งที่จะตัดสินใจแบบเสมอตัว ไม่กล้าตัดสินใจที่จะรับความเสี่ยงทางที่ธุรกิจที่เหมาะสมกับประโยชน์ระยะยาวขององค์กรได้อย่างทันกาล  

.

วิกฤติการเงินโลกรอบนี้ได้ปลุกให้ทั้งโลกตื่นขึ้นมาให้ความสนใจกับความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาล ในสถาบันการเงิน แต่ความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลเป็นความเสี่ยงสำหรับธุรกิจทุกประเภท

.

บริษัทใดไม่เคยสนใจเรื่องความเสี่ยงจากบรรษัทภิบาลคงต้องเริ่มตรวจสอบว่าทั้งผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ และผู้บริหารในบริษัทของท่าน มีโครงสร้างแรงจูงใจและมีความรู้ความสามารถที่จะมุ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของบริษัทเป็นหลักหรือไม่ อย่าปล่อยให้ผลประโยชน์แฝง หรือความไม่รู้เท่าทันมาเพิ่มความเสี่ยงของบริษัทโดยไม่ตั้งใจ

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ