เนื้อหาวันที่ : 2009-11-19 14:22:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3840 views

"เจริญ"รุกธุรกิจพลังงานทุ่มเฉียดพันล้านผลิต"ไบโอแก๊ส"ส่งขายทั่วประเทศ

บิ๊กไทยเบฟเวอเรจ ลุยเดินเครื่องธุรกิจพลังงาน ทุ่มงบฯเฉียดพันล้านติดตั้งเครื่องผลิตไบโอแก๊ส เริ่มทดลอง 5 โรงงาน ก่อนขยายผลไปอีก 6 จังหวัด

บิ๊กไทยเบฟเวอเรจ ลุยเดินเครื่องธุรกิจพลังงาน ทุ่มงบฯเฉียดพันล้านติดตั้งเครื่องผลิตไบโอแก๊ส เริ่มทดลอง 5 โรงงาน ก่อนขยายผลไปอีก 6 จังหวัด

.

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี

.

เจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ดีเดย์เดินเครื่องธุรกิจพลังงาน ทุ่มงบฯเฉียดพันล้าน ติดตั้งเครื่องผลิตไบโอแก๊ส เริ่มทดลอง 5 โรงงาน "บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี" ก่อนขยายผลไปอีก 6 จังหวัด ชูโรงงานอธิมาตรเป็นหัวหอกนำร่อง เผยเบื้องต้นผลิตใช้ในโรงเหล้า ก่อนต่อยอดขายในอนาคต

.

หลังจากที่กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี มีความเคลื่อนไหวในการขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตร ปุ๋ย พลังงานทางเลือก ฯลฯ ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เริ่มเดินเครื่องผลิตไบโอแก๊ส (Bio-gas) ในนามบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อนำมาใช้ในโรงงานเหล้า ก่อนจะขยายไปถึงการผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวีใช้ในระบบขนส่งขายในอนาคต

.

นางสุธารา เทียนประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุน 850 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการไบโอแก๊สหรือพลังงานทางเลือกชีวภาพในโรงงานกลั่นสุรา 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

.

โดยแต่ละโรงงานจะลงทุนประมาณ 170 ล้านบาท เพื่อสร้างบ่อปิดปรับสภาพน้ำกากส่า บ่อหมักไร้อากาศ บ่อปิดเก็บน้ำกากส่าที่บำบัดแล้ว และระบบท่อส่งก๊าซชีวภาพ ทั้งนี้เพื่อลดการใช้น้ำมันเตาของโรงงานกลั่นสุราในเครือ และส่วนที่เหลือก็มีแผนจะผลิตออกจำหน่ายด้วย

.

โรงงานแรกที่เพิ่งเปิดทดลองเดินเครื่อง คือ โรงงานอธิมาตร จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งโรงงานมีกำลังผลิตสุรา 120,000-150,000 ลิตรต่อปี และสามารถผลิตน้ำมันเตาจาก ไบโอแก๊สได้ 13,000 ลิตรต่อวัน ขณะที่ปริมาณใช้จริงอยู่ที่ 10,000 ลิตร และเหลือพลังงานที่ไม่ได้ใช้อีกวันละ 3,000 ลิตร

.

"โครงการไบโอแก๊สจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ปีละ 30-40 ล้านบาทต่อโรงงาน และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่มีศักยภาพพอที่จะใช้ระบบไบโอแก๊สอีก 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี และหนองคาย โดยแต่ละแห่งอาจใช้เงินลงทุนแตกต่างกันไป แต่ระยะเวลาดำเนินงานติดตั้งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งจะเป็นเฟสต่อไป"

.

นางสุธารากล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาแนวทางการนำพลังงานที่เหลือในแต่ละวันต่อยอดไปยังธุรกิจต่าง ๆ อาทิ การนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการ อัดลงถังเป็นก๊าซเอ็นจีวี อย่างไรก็ตามในช่วงแรกนี้ก๊าซชีวภาพของโรงงานแต่ละแห่งอาจจะมีเหลือไม่มากนัก แต่หากมีจำนวนมากพอก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มอีกหลักร้อยล้านสำหรับผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี

.

ปีหน้ามีแผนใช้ไบโอแก๊สผลิตกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่โรงงานในอุบลราชธานี ใช้เงินลงทุน 60-80 ล้านบาท รวมทั้งยังมีแผนต่อยอดโครงการไบโอแก๊สไปยังโรงงาน อื่น ๆ รวมถึงโรงงานผลิตเอทานอลที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจาก ไบโอแก๊สจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังช่วยเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษด้านกลิ่นของกากส่าซึ่งเป็นของเสียที่มาจากโรงงานกลั่นสุรา โดยในแต่ละวันโรงงานกลั่นสุราจะปล่อยกากส่าออกมา 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

.

นายนพดล หลิมรัตน์ รองผู้จัดการโรงงานสุรา บริษัท อธิมาตร จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานอธิมาตรเป็นโรงงานที่อยู่ในกลุ่มสุราบางยี่ขัน ตั้งแต่ ปี 2543-2551 มียอดขาย 7,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ของโรงงานมี 1 ชนิด ได้แก่ สุราขาว 40 ดีกรี ยี่ห้อรวงข้าว ขนาด 330 ซีซี และ 625 ซีซี ครอบคลุมพื้นที่ขาย 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา มีกำลังการผลิตประมาณ 2 ล้านโหลต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 3 ล้านโหล

.

นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน ภาคที่ 2 (จังหวัดนครราชสีมา) สำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบการผลิตไบโอแก๊ส ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะมีการลงทุนในหลายจังหวัด อาทิ ขอนแก่น ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยเบฟ เวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ เป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เดิมชื่อบริษัท ปุ๋ยไบโอนิค จำกัด และเปลี่ยนมาเป็นไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 860 ล้านบาท มีกรรมการบริษัทประกอบด้วยนางสาวกนกนาฎ รังษีเทียนไชย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร นางสุธารา เทียนประภา นางสาวณัฐจงกล แสงมโนทัย นายสวัสดิ์ โสภะ และนายวิชัย ชัยยาวรานุรักษ์

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ