เนื้อหาวันที่ : 2009-11-19 10:41:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6834 views

แอฟริกาใต้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งกาฬทวีป

ปีหน้ามหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปแอฟริกาที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ด้วยความพร้อมด้านเศรษฐกิจจึงเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นมีความพร้อมมากที่สุดในบรรดาคู่แข่งที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างอียิปต์และโมรอคโค บทความนี้จะพาไปรู้จักกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010

ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ
แอฟริกาใต้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งกาฬทวีป

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนฟุตบอลคงทราบดีนะครับว่าในปี ค.ศ.2010 มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปแอฟริกาที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (Republic of South Africa) 

.

เหตุที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA ตัดสินใจเลือกแอฟริกาใต้ให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากความพร้อมด้านเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ซึ่งหากพิจารณาจากประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพอีกสองชาติอย่างอียิปต์และโมรอคโคแล้ว แอฟริกาใต้ดูจะมีความพร้อมมากที่สุดครับ  ด้วยเหตุนี้เองซีรีส์ ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ ฉบับนี้จะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ เจ้าภาพฟุตบอลโลกในปีหน้ากันครับ

.
แอฟริกาใต้: ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งกาฬทวีป

โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น ประกอบไปด้วยภาคเศรษฐกิจการเกษตรและภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครับ การที่ประเทศกำลังพัฒนาจะถีบตัวเองเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือ Developed Country นั้น ปัจจัยสำคัญคือ การยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจนำ

.

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่ายิ่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมก้าวไปไกลมากเท่าไร “สมดุล” ของทรัพยากรในโลกใบนี้ดูจะลดน้อยถอยลงไป สังเกตได้จากปัญหาภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่นับวันดูจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ถือเป็น “ต้นทุน” ของการพัฒนาเศรษฐกิจนะครับและกว่าที่มนุษย์จะตระหนักถึงต้นทุนต่าง ๆ เหล่านี้ มนุษย์นับล้านก็ต้องสังเวยชีวิตตัวเองเพื่อชดใช้ตัวเลขเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างสวยหรู

.

แอฟริกาใต้ ก็เช่นเดียวกันครับ ปัจจุบันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ประกอบไปด้วยทั้งภาคเศรษฐกิจเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแต่โดยทั่วไปแล้วชื่อเสียงของแอฟริกาใต้อยู่ที่การทำ “เหมืองแร่” ครับ

.

ในอดีตนั้นแอฟริกาใต้เคยเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ และอังกฤษนี่เองที่ได้วางรากฐานการพัฒนาแอฟริกาใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกา

.

โดยสภาพภูมิศาสตร์ของทวีปแอฟริกานั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คือ แอฟริกาเหนือ (Northern Africa) แอฟริกากลาง (Middle Africa) และแอฟริกาใต้ (Southern Africa) ซึ่งพื้นที่ในแถบแอฟริกาใต้ประกอบไปด้วยห้าประเทศ คือ บอสวานา (Botswana), เลโซโท (Lesotho), นามิเบีย (Namibia), สวาซีแลนด์ (Swaziland) และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (Republic of South Africa) ครับ

.

สำหรับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ หรือ ที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า “แอฟริกาใต้” นั้น จัดเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดของทวีปแอฟริกาโดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงที่สุดคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 255 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่องค์การสหประชาชาติจัดให้แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีระดับรายได้ขนาดกลาง (Middle Income Country) 

.

แอฟริกาใต้มีเมืองสำคัญ ๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนอยู่หลายเมืองนะครับ เช่น เคปทาวน์ (Cape Town), พอร์ต อาลิซาเบธ (Port Elizabeth), เดอบาน (Durban), เปรโตเลีย (Pretoria) และ โยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) แต่ที่ดูจะคุ้นหูคนไทยมากที่สุดก็เห็นจะเป็นเคปทาวน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงและโยฮันเนสเบิร์กซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุดและมีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเหมืองทองคำ

.

แอฟริกาใต้
ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งกาฬทวีปขนาบด้วยสองมหาสมุทรใหญ่อย่าง
มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก

.
Gear Policy นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้

ในอดีตนั้นแอฟริกาใต้เคยมีปัญหาการกีดกันสีผิวโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวขาวที่เป็นคนกลุ่มน้อยแต่กลับมีอิทธิพลในการควบคุมอำนาจทางการเมืองและกลไกเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้การกีดกันสีผิวนั้นมีรากเหง้ามาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมแล้วครับ โดยนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรค National Party พรรคการเมืองของคนผิวขาวคิดขึ้นโดยเรียกนโยบายนี้ว่า “นโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกัน” หรือ Apartheid Policy 

.

นโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันนี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้เป็นอย่างมากเนื่องจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ภายใต้การนำของพรรค National Party นั้นบังคับใช้นโยบายนี้เป็นเวลากว่า 46 ปี (ค.ศ. 1948-1994)    

.

โดยนโยบายกีดกันสีผิวนี้ได้แบ่งแยกพลเมืองแอฟริกาใต้ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มคนผิวขาว กลุ่มคนผิวดำ กลุ่มคนผิวสีและกลุ่มคนอินเดีย ซึ่งพลเมืองเหล่านี้จะถูกแบ่งแยกกันชัดเจนตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัย การกำหนดการศึกษา การรักษาพยาบาล การให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนครับว่าคนผิวดำและผิวสีอื่นจะมีสิทธิต่าง ๆ ด้อยกว่าคนผิวขาว

.

นโยบายดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งขึ้นภายในประเทศอย่างรุนแรงและเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงของคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันสีผิวซึ่งรัฐบาลพรรค National Party ได้สั่งปราบปรามและจำคุกบรรดาผู้นำขบวนการต่อต้านนโยบายนี้ซึ่งหนึ่งในผู้นำคนสำคัญก็คือ เนลสัน โรลิห์ลาห์ลา แมนเดล่า (Nelson Mandela) นั่นเองครับ

.

ในยุคที่คนผิวขาวครองอำนาจในแอฟริกาใต้
นโยบายกีดกันสีผิว Apartheid กลายเป็น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอฟริกาใต้ไม่ได้รับการพัฒนา

.

เนลสัน มันเดล่า ใช้เวลาถึง 27 ปีในคุกเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมตลอดจนสิทธิมนุษยชนให้กับคนดำและคนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในแอฟริกาใต้ ซึ่งท้ายที่สุดการต่อสู้ของแมนเดล่าก็บรรลุผลในปี ค.ศ.1994 เมื่อพรรค African National Congress (ANC) ภายใต้การนำของเขาได้รับการเลือกตั้งและทำให้แมนเดล่ากลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในที่สุด

.

เนลสัน แมนเดล่า (Nelson Mandela)
     รัฐบุรุษของชาวแอฟริกาใต้

.

หลังจากที่แอฟริกาใต้พ้นจากยุคของการแบ่งแยกสีผิวแล้ว แอฟริกาใต้ได้กลายเป็นสาธารณรัฐแอฟริกาใต้อย่างเต็มตัวและนับเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของแอฟริกาใต้ภายใต้การนำของพรรคการเมืองของคนแอฟริกันผิวดำอย่าง พรรค African National Congress (ANC) 

.

ช่วงที่แมนเดล่าดำรงตำแหน่งเขาได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (Open Market) มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและฟื้นฟูบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศภายใต้นโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า GEAR Economic Policy ซึ่งย่อมาจาก Growth, Employment and Redistribution ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำเสนอโดยรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลของแมนเดล่าที่ชื่อ เทรเวอร์ มานูเอล (Trevor Manuel) 

.

นโยบาย GEAR มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ให้มีเสถียรภาพ สร้างวินัยทางการเงินการคลังให้กับประเทศ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลแอฟริกาใต้พยายามรัดเข็มขัดทางการคลังโดยลดการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินลง มีการปฏิรูประบบงบประมาณใหม่ เป็นต้น

.

ผลของการดำเนินนโยบาย GEAR ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในแอฟริกาใต้ อีกทั้ง GEAR ยังสอดคล้องกับ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ที่ชูแนวคิดตลาดเสรีลดบทบาทภาครัฐให้น้อยลง

.

เทรเวอร์ มานูเอล
มือเศรษฐกิจของเนลสัน แมนเดล่า
ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบาย GEAR

.

World Cup 2010 บทพิสูจน์ก้าวต่อไปของมหาอำนาจจากกาฬทวีป

จะว่าไปแล้วแอฟริกาใต้นั้นเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากพอที่จะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตนะครับ ทั้งนี้แอฟริกาใต้มีความสมบูรณ์ในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลอย่างคล่องแคล่ว

.

ทุกวันนี้แอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางสำคัญของทวีปแอฟริกาทั้งหมด ไล่ตั้งแต่แหล่งความเจริญต่าง ๆ สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงล้วนอยู่ในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก หรือ เคปทาวน์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แอฟริกาใต้จะได้รับความไว้วางใจจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA ให้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ในช่วงระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน–11 กรกฎาคม ปี 2010

.

ซากูมี่ (Zakumi)
เสือดาวน้อย มัสคอตของฟุตบอลโลกปี 2010 ที่แอฟริกาใต้

.

การที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหนนี้ย่อมส่งดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้อย่างแน่นอนครับ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนทั้งหลายย่อมมุ่งสู่แอฟริกาใต้ นอกจากนี้หากฟุตบอลโลกเริ่มเปิดฉากขึ้นจะมีแฟนบอลและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเยือนแอฟริกาใต้ซึ่งคาดว่าจะนำเงินตรามหาศาลเข้าสู่ประเทศและนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้แอฟริกาใต้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนที่ใช้สำหรับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคตได้ไม่ยาก… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org