เนื้อหาวันที่ : 2009-11-18 16:33:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1442 views

อินโดนีเซียเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายสภาพภูมิอากาศ

กรีนพีซส่งสาส์นถึงโอบามาจากใจกลางป่าฝนเขตร้อนในสุมาตรา เรียกร้องให้ปกป้องป่าโดยเร่งด่วน ในการเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก หลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

.

นักกิจกรรมกรีนพีซจากหลากหลายประเทศ จำนวน 50 คน ร่วมเรียกร้องโอบามาให้ปกป้องป่าโดยเร่งด่วน ในการเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก หลังจากที่บารัค โอบามาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

.

กรีนพีซกางแบนเนอร์ขนาด 20 x 30 เมตร ที่มีข้อความว่า “โอบามา: คุณสามารถยุติการทำลายป่าได้” ในพื้นที่ป่าที่เพิ่งถูกทำลายในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมเรียกร้องให้โอบามาแสดงความเป็นผู้นำและร่วมมือกับผู้นำประเทศอื่นๆ ในการยุติวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยหยุดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก อันเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 5 ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก 

.

นักกิจกรรมกรีนพีซยังล็อครถขุดของบริษัท Asia Pacific Resources International Holding Limited (APRIL - RGE) หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย เพื่อหยุดการทำลายป่า สำหรับใช้ในการผลิตกระดาษให้ลูกค้า ซึ่งรวมถึง UPM Kymmene ด้วย

.

กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้น 2 วันก่อนหน้าที่โอบามาจะเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียหรือ APEC ที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่กี่สัปดาห์ ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคมนี้

.

“กรีนพีซได้ส่งสาส์นจากพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย แก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเรียกร้องให้นายโอบามาลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเร่งด่วน ในขณะที่การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญกำลังใกล้เข้ามา แต่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกากลับเป็นตัวถ่วงการเจรจาโลกร้อน” นายราฟ สการ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกากล่าว

.

“เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่โอบามาและผู้นำโลกจะต้องเข้าร่วมการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันให้เกิดข้อตกลงที่ดี เป็นกลาง และมีประสิทธิผล ซึ่งหมายความว่าต้องรวมถึงการยุติการทำลายป่าไม้ทั่วโลก”

.

.

กรีนพีซประเมินว่า การจะยุติการทำลายป่าไม้ทั่วโลกได้นั้น ประเทศอุตสาหกรรมควรลงทุน สี่หมื่นสองพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือสามหมื่นล้านเหรียญยูโรต่อปีเพื่อการปกป้องป่า ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้แก่ธนาคารแต่ละแห่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีก่อนเสียอีก

.

กิจกรรมรณรงค์ในวันนี้เกิดขึ้นที่คาบสมุทรกัมปาร์ เกาะสุมตรา ที่กรีนพีซตั้งค่ายผู้พิทักษ์ป่าขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว การทำลายป่าฝนเขตร้อนและป่าพรุในอินโดนีเซียนั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลและได้ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสามของโลก รองลงมาจากจีนและสหรัฐอเมริกา นักกิจกรรมของกรีนพีซยังได้สร้างฝายกั้นน้ำในคลองที่บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษได้สร้างขึ้นเพื่อเตรียมดินสำหรับการปลูกต้นไม้ไว้ใช้ผลิตกระดาษ

.

ทั้งนี้ การสร้างฝายกั้นน้ำจะช่วยป้องกันการทำลายหน้าดินพรุในป่าฝนเขตร้อนที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน ผืนดินแห่งนี้มีปริมาณคาร์บอนประมาณ 2 พันล้านตัน ซึ่งหากถูกทำลายจะถูกปล่อยเข้าสู่บรรยากาศ กรีนพีซจะยังคงสร้างฝายและจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไปจนถึงการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน

.

นายยูโดโยโน ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซจากการทำลายป่า และกรีนพีซได้รณรงค์ที่นี่ ณ ใจกลางป่าฝนเขตร้อน เพื่อเรียกร้องให้นายยูโดโยโนเปลี่ยนคำมั่นของเขาที่ให้ไว้ ให้กลายเป็นการลงมือทำที่มุ่งมั่น” นายบุสตาร์ ไมทาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว 

.

“อินโดนีเซียเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายสภาพภูมิอากาศแห่งใหญ่ การหยุดการทำลายป่าไม้ที่นี่และทั่วโลกนั้น ไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วที่สุดและมีประสิทธิผลที่สุด แต่ยังเป็หนทางที่สามารถปกป้องสภาพภูมิอากาศได้ระยะยาว”

.
ที่มา : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้