เนื้อหาวันที่ : 2009-11-18 11:37:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2660 views

6 ยุทธศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกไทย

อุตสาหกรรมพลาสติก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหลายสาขา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจึงต้องปรับตัวสร้างความแข็งแกร่ง

สศอ.ชง 6 ยุทธศาสตร์หนุนอุตฯพลาสติกไทย

.

.

“อุตสาหกรรมพลาสติก” เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้วให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น 

.

จากตัวเลขทางเศรษฐกิจในปี 2549 อุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท มีจำนวนผู้ผลิตกว่า 5,000 ราย  ขนาดอุตสาหกรรมรวมประมาณ 3 ล้านตัน มีการจ้างงานกว่า 200,000 คน มูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์สูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

.

ในขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้ามีกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งเห็นได้ว่าด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลกับทิศทางการขยายตัวที่มีอย่างต่อเนื่อง

.

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือ โอไออี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จึงได้จัดทำ “ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” เปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

.

เนื่องจากประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งที่สำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาชั้นเชิงการก้าวไปของประเทศอุตสาหกรรมทั้ง 5 ประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อไป ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมนี้ว่าเป็นอย่างไร

.

สำหรับประเทศจีนและญี่ปุ่น ถือเป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลาสติกของเอเชียและของโลก ซึ่งจีนมีขนาดอุตสาหกรรมพลาสติกใหญ่ที่สุดในเอเชียมีขนาด 35.37 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก ญี่ปุ่นขนาดอุตสาหกรรมพลาสติกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียมีขนาด 10.07 ล้านตัน ส่วนประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีศักยภาพใกล้เคียงกับไทย จึงต้องมีการศึกษาควบคู่กันไปเพื่อกำหนดทิศทางการก้าวไปของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

.

ซึ่งจากการจัดทำ “ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” และการวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไทยยังมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ จึงได้นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนา เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหรรมพลาสติกของไทย ซึ่งแบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

.

• ยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและการจัดการ เพื่อเติมเต็มด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยยังขาดการวิจัยและพัฒนาอย่างมีระบบ อีกทั้งยังขาดความเชื่อมโยงแบบเครือข่ายระหว่างผู้วิจัยในการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมค่อนข้างช้า  

.

ดังนั้น หากสามารถจัดระเบียบการบริหารจัดการเทคโนโลยี สนับสนุนการร่วมวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชน จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไทยยังไม่มีการสนับสนุนงานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกระบวนการออกแบบและการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง

.

จากผลการศึกษาครั้งนี้ได้มีแนวทางเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฎิบัติโดยผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกขั้นสูง การออกแบบเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ โดยการประสานความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและหน่วยงานต่างๆ เพื่อแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

.

• ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการตลาด เป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีสู่ความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องของการส่งเสริมการตลาด ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีการพัฒนาได้ดีเพียงใด แต่ถ้ายังขาดปัจจัยด้านการตลาดย่อมเสียโอกาสในการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าการนำเข้าก็เติบโตในอัตราที่สูงเช่นกัน  

.

เนื่องจากประเทศไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบขั้นต้นเพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงทำให้ขาดดุลการค้าในการผลิตพลาสติกตลอดมา ประกอบกับมูลค่าต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไทยนำเข้ายังสูงกว่ามูลค่าต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์พลาสติกส่งออกอยู่มาก 

.

สิ่งนี้นับว่าเป็นปัญหาแต่ก็เป็นโอกาสของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ายังมีผลิตภัณฑ์พลาสติกอยู่อีกมากที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตขึ้นมาใช้ทดแทนการนำเข้าได้ในอนาคต

.

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตเพื่อการทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากไทยมีการผลิตเม็ดพลาสติกที่หลากหลายทั้งเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปและเกรดพิเศษ มีวัตถุดิบพร้อม อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศที่มีศักยภาพและมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรกนิกส์

.

นอกจากนี้ไทยยังมีก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มีความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก  และการส่งออกของประเทศ

.

• ยุทธศาสตร์การประสานความร่วมมือในคลัสเตอร์ ในเรื่องของคลัสเตอร์นั้นสำคัญยิ่งเนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนของอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันตัวอุตสาหกรรมพลาสติกเองก็ต้องอาศัยวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และต้องการการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอื่นๆ

.

ดังนั้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกจำเป็นต้องพัฒนาพร้อมกันหมดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กันและกันโดยกลยุทธ์ที่นำมาสนับสนุนยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่การประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก

.

รวมทั้งผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมปลายทางเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกร่วมกับการพัฒนาคุณสมบัติของเม็ดพลาสติก เพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมผู้ใช้ปลายทาง รวมถึงการคิดค้นและพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชนิดใหม่ๆ ได้

..

• ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานศึกษาและบุคลากร การพัฒนาบุคลากรเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน แม้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณแรงงานโดยรวมมากแต่แรงงานที่เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติกยังมีไม่เพียงพอ อีกทั้งคุณภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะและความสามารถของบุคลากรระดับช่างเทคนิคยังอยู่ในระดับปานกลาง  

.

ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ รวมถึงทักษะด้านภาษาของแรงงานไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการย้ายฐานการผลิตมาจากต่างประเทศด้วย จึงต้องมีการพัฒนาทักษะช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกในเรื่องเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น

.

ดังนั้นกลยุทธ์ที่นำมาสนับสนุนยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่ การพัฒนาโรงเรียน โรงงานและสถานศึกษา เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและการศึกษาในการเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรระดับช่างปฏิบัติงาน และระดับช่างเทคนิค ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรสำหรับพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมพลาสติก รวมถึงดำเนินการอบรมช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างเป็นระบบ มีการให้ประกาศนียบัตรในแต่ละระดับที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในอุตสาหกรรม

.

• ยุทธศาสตร์การทดสอบ รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เนื่องจากหน่วยงานทดสอบมาตรฐานของภาครัฐที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว อีกทั้งค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ   

.

ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการทดสอบและการรับรองมาตรฐานของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล กลยุทธ์ที่นำมาสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนาการทดสอบและรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยมีหน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกของตลาดโลก

.

• ยุทธศาสตร์การสร้างฐานข้อมูลอุตสาหกรรมพลาสติก การประกอบธุรกิจแนวใหม่ในโลกปัจจุบันนั้น ฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีฐานข้อมูลที่ให้ภาพรวมอุตสาหกรรมที่ทันสถานการณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดทิศทางการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน และการวางนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งการสร้างฐานข้อมูลอุตสาหกรรมพลาสติกจะมีส่วนช่วยเสริมยุทธศาสตร์อื่นๆ ด้วย

.

ดังนั้นกลยุทธ์ที่นำมาสนับสนุน ได้แก่ โครงการพัฒนาศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมพลาสติก (Business Intelligence Unit) ประกอบด้วย ข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรม ข้อมูลการค้า และทิศทางตลาด ทิศทางการพัฒนาและโอกาสของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

.

อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศจะดำเนินไปในทิศทางใดนั้น หน่วยงานของภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจ และหน่วยงานทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในอันที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

.

ทั้งนี้สศอ.จะเร่งผลักดันการพัฒนาและยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยในตลาดโลกได้ในระยะยาวต่อไป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม