เนื้อหาวันที่ : 2009-11-17 17:38:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2910 views

เปิดประสบการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝรั่งเศส

เหตุผลที่ว่า น้ำมันแพงขึ้น ปริมาณน้ำมันที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ประเทศจึงต้องลดการพึ่งพาน้ำมัน แล้วหันมาใช้นิวเคลียร์ผลิตในการไฟฟ้าแทน แท้จริงเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลหรือไม่ นิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่ใช่ จริงหรือ? ติดตามประสบการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศส กับ "ไมเคิล ชไนเดอร์"

ไมเคิล ชไนเดอร์: เปิดประสบการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝรั่งเศส (2)

.

มุทิตา เชื้อชั่ง

.

.

หลังจากคุยภาพรวมแนวโน้มของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปแล้ว คราวนี้ "ไมเคิล ชไนเดอร์" ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากฝรั่งได้บอกเล่าเรื่องราวของฝรั่งเศส ประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 80% 

.

ชไนเดอร์เล่าถึงที่มาที่ไปในฝรั่งเศส ก่อนจะเข้าสู่ยุคโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2480 ประเทศฝรั่งเศสได้อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการพึ่งพิงน้ำมันซึ่งราคาถีบตัวสูงขึ้นมากในช่วงนั้น แล้วหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าแทน นี่คือคำกล่าวอ้างจากรัฐบาล แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้น้ำมันแล้ว ภาคการผลิตไฟฟ้าไม่ได้ใช้น้ำมันมากเลย แต่เป็นภาคขนส่งของฝรั่งเศสต่างหากที่บริโภคน้ำมันอย่างมหาศาล แต่รัฐก็ไม่ได้คิดจะปรับลดในส่วนนั้น 

.

หลังจากนั้นมา 20 ปี เมื่อหันดูตัวเลขการบริโภคน้ำมันอีกครั้ง พบว่า ภาคไฟฟ้าลดการใช้น้ำมันไปได้ 1% ขณะที่การขนส่งเพิ่มการบริโภคน้ำมันขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

.

นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นด้วย การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้านี้เองเป็นต้นเหตุให้มีการเพิ่มการใช้ไฟในฝรั่งเศสออย่างมาก คือ เพิ่มขึ้นประมาณ 40% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990 ขณะเดียวกันก็มีการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 20 %  ด้วยเช่นกัน คำถามคือ แล้วจะอ้างเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร 

.

อย่างไรก็ตาม ชไนเดอร์ยอมรับว่า วาทกรรมที่นิวเคลียร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงก็เป็นความจริงระดับหนึ่ง แต่เมื่อดูเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ในอียูแล้ว ฝรั่งเศสซึ่งใช้นิวเคลียร์ถึง 80% ก็ไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซ co2 ไปกว่าประเทศอื่นมากนัก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอียูอยู่ที่ 10 ตันต่อปีต่อหัว ฝรั่งเศสอยู่ที่ 9 ตันต่อปีต่อหัว  

.

ดังนั้น การใช้พลังานนิวเคลียร์ไม่ได้มีนัยสำคัญนักสำหรับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้เรายังจะพบว่าเงินที่ลงทุนไปกับนิวเคลรียร์ถ้านำไปใช้กับพลังงานประเภทอื่นๆ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าด้วย 

.

ที่ว่าฝรั่งเศสมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น หากดูที่  Peak Load (ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี) ก็พบว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า กฟผ.ของฝรั่งเศสแก้ปัญหานี้โดยการเอาโรงไฟฟ้าเก่า 30-40 ปีซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้มีไฟฟ้าสำรองเพิ่มอีกราว 2,600 MW

.
ทำไม Peak Load จึงเพิ่มขึ้น ?

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีความชัดเจนว่ากำลังไฟฟ้าสำรองของฝรั่งเศสมีเกิน 15% ค่อนข้างมาก เราเรียกมันว่า “ไฟฟ้าส่วนเกิน” และโรงไฟฟ้าก็จำเป็นต้องขายมัน ไม่สามารถจะเก็บสะสมเหมือนการสะสมเงินได้ ฝรั่งเศสจึงต้องทำสัญญาขายไฟกับเพื่อนบ้านในระยะยาว และในราคาถูกมาก ส่วนในประเทศ ก็ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบทำความร้อนในอาคารโดยใช้ไฟฟ้า แทนที่จะเป็นการใช้ก๊าซ 

.

การส่งเสริมเช่นนี้ ทำให้ 3 ใน 4 ของอาคารสร้างใหม่ในฝรั่งเศสใช้ไฟฟ้าในการทำความร้อนทั้งสิ้น ซึ่งชไนเดอร์ มีความเห็นว่า มันคือ "อาชญากรรมทางนโยบาย" อย่างหนึ่ง เพราะการผลิตไฟฟ้า เราต้องสูญเสียพลังงานไประหว่างการผลิตถึง 2/3 และสูญเสียระหว่างการส่งอีกราว 10% แต่ถ้าใช้แก๊สในระบบทำความร้อนจะสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุแค่เพียง 5% อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสเลือกใช้ไฟฟ้าผลิตความร้อนซึ่งจะสูญเสียพลังงาน 75% 

.

นโยบายเช่นนี้จึงทำให้ Peak Load สูงขึ้นมากในฤดูหนาว และมีผลต่อการปล่อย CO2 ให้สูงขึ้นด้วย 

.

แม้ว่าค่าไฟในสหภาพยุโรปจะค่อนข้างถูกเพราะรัฐอุดหนุนสูง แต่คนยุโรปล้วนแล้วแต่ต้องจ่ายค่าไฟแพงทั้งสิ้น เพราะการใช้ไฟที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ มีข้อมูลของการเคหะแห่งชาติฝรั่งเศสระบุว่า ประชากรฝรั่งเศสราว 3 ล้านคน ต้องทนหนาวในช่วงฤดูหนาว เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟสำหรับระบบทำความร้อนด้วยไฟฟ้า  เช่นนี้ทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนเงินค่าไฟเพิ่มขึ้นอีก แทนที่จะนำไปพัฒนาสวัสดิการส่วนอื่น 

.
กากของเสีย

บริษัทผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักทำชาร์จอย่างสวยงามเพื่อบอกว่าแท่งยูเรเนียมนั้นนำมารีไซเคิลได้ แต่จริงๆ แล้วกระบวนการ reprocessing นั้นถึงที่สุดเมื่อหมดอายุการใช้งานก็กลายเป็นขยะนิวเคลียร์อยู่ดี แทนที่จะเป็นขั้นตอนง่ายๆ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กลับทำให้มันซับซ้อน แล้วอ้างว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการสร้างกากนิวเคลียร์ในรูปแบบต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นมาอีก แม้มันจะมีกัมมันตรังสีน้อยลงบ้างก็ตาม 

.

ที่ฝรั่งเศสมีโรงงาน reprocessing กากนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มีคนงานกว่า 6,000 คน 

.

อย่างไรก็ตาม แม้จะเต็มไปด้วยคำโฆษณาที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ แต่มันก็สวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานทีวีของฝรั่งเศสได้ทำข่าวสืบสวนที่สร้างความฮือฮาอย่างยิ่ง จนทำให้มีการตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลกันในรัฐสภาเลยทีเดียว นั่นก็คือ การค้นพบว่าฝรั่งเศสแอบขนกากของเสีย ยูเรเนียม ไปทิ้งในรัสเซียนั่นเอง 

.
ความเสี่ยง

จริงๆ แล้วพลูโตเนียม เป็นวัตถุดิบในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย ปริมาณแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้ทำระเบิดได้ หรือปริมาณไม่กี่ 10 ไมโครกรัม สูดดมเข้าไปก็เกิดมะเร็งได้ แต่โรงงานที่ผลิตแท่งเชื้อเพลิงที่เมืองมาโด ต้องนำพลูโตเนียมใส่รถบรรทุกเพื่อขนส่งมายังโรงไฟฟ้า ระยะทางนับพันกิโลเมตร โดยจะขนทีละ 100 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก 

.
ความปลอดภัย 

พบเหตุขัดข้องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฝรั่งเศส 10,000-12,000 ครั้งต่อปี ในจำนวนครั้งมี 700-800 ครั้งที่เป็นอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรง 

.

ยกตัวอย่างเหตุขัดข้องสำคัญในปี 2542 เกิดน้ำท่วใหญ่ที่เมืองชายฝั่งของฝรั่งเศส อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องเอาแผนฉุกเฉินภายในมาใช้เป็นครั้งแรก นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ข้อมูล่าวสารเรื่องนี้ถูกปกปิดต่อสาธารณชน

.
ความต่อเนื่องเรื่องนโยบายนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเริ่มมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ 35 ปีที่แล้ว ผ่านนายกฯ มา 14 คน ประธาธิบดี 5 คน นโยบายเรื่องอื่นๆ ของผู้นำแต่ละคน แต่ละพรรคอาจต่างกันบ้าง แต่นโยบายหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ นิวเคลียร์ 

.

เหตุผลก็เพราะการตัดสินใจเรื่องนี้ทำโดยขุนนางนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารเสียด้วย คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่จบจาก The Corps des Mines ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวิทยาการด้านนิวเคลียร์โดยเฉพาะ คนที่อยู่ที่นี่เป็นหัวกระทิที่คั้นแล้วคั้นอีก เพราะมีคนจบการศึกษาเพียงปีละ 15-19 คน ขณะที่ MIT มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีชื่อดังของอเมริกา มีคนจบปีละ 2,100 คน

.

โครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งกับกระทรวงพลังงานของฝรั่งเศส และถูกปกปิด พวกศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ล้วนเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของโครงสร้างการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน รวมไปถึงบริษัทเชื้อเพลิงต่างๆ ที่เป็นเอกชนยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสด้วย

.

นอกจากนี้ยังดูทุกกระบวนการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ โดยเป็นทั้งผู้ดูแลความปลอดภัย และเป็นผู้ดำเนินการเดินเครื่องเองด้วย 

.
หมายเหตุ
เรียบเรียงข้อมูลจากการบรรยายที่สมาคมนักข่าวฯ และที่วุฒิสภา เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคมที่ผ่านมา
.

Mycle Schneider

.

ทำงานเป็นที่ปรึกษาอิสระระดับสากลด้านพลังงานและนโยบายนิวเคลียร์ ระหว่างปี 2526 - เมษายน 2546 ไมเคิล ชไนเดอร์ เป็นผู้อำนวยการบริหารแผนกข้อมูลด้านพลังงานขององค์กร WISE ปารีส และเป็นบรรณาธิการใหญ่ของเว็บไซต์ Plutonium Investigation ตั้งแต่ปี 2543 

.

เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงสิ่งแวดล้อม เยอรมนี ตั้งแต่ปี 2547 เขายังรับผิดชอบต่อโครงการบรรยายด้านยุทธศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสาขาวิชามหาบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อการบริหารโครงการเพื่อวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่มหาวิทยาลัย Ecole des Mines ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศส  

.

ในปี 2550 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสากลด้านวัสดุฟิสไซล์ (International Panel on Fissile Materials - IPFM) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยพริ้นสตัน สหรัฐอเมริกา(www.fissilematerials.org) และยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อิสระ (Independent Group of Scientific Experts - IGSE)  ซึ่งทำหน้าที่สืบค้นโครงการการผลิตวัสดุที่สามารถใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำแบบปกปิด (www.igse.org) เป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮัมบรูก ประเทศเยอรมันนี 

.

ในระหว่างปี 2549-2550 เขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาซึ่งทำการประเมินการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปัญหาด้านเงินทุนของการจัดการของเสีย ในนามของคณะกรรมาธิการยุโรป ในปี 2548 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการจัดการกากกัมมันตรังสีแห่งสหราชอาณาจักร (UK Committee on Radioactive Waste Management - CoRWM) ทั้งยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารกองทุนทาคากิ เพื่อวิทยาศาสตร์ของประชาชนที่กรุงโตเกียวระหว่างปี 2544-2548 

.

ระหว่างปี 2541-2546 เขาเป็นที่ปรึกษาสำนักงานกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศฝรั่งเศส และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเบลเยียม 

.

ไมเคิล ชไนเดอร์ เคยให้ปากคำต่อรัฐสภาที่ประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและรัฐสภายุโรป เขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายทั้งสี่ทวีปรวมทั้งที่มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน กรุงออตตาวา (แคนาดา) มหาวิทยาลัยชิงหัว (จีน) มหาวิทยาลัย Ecole de Commerce, Rouen (ฝรั่งเศส), มหาวิทยาลัย Freie Universität กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) และมหาวิทยาลัย Ritsumeikan University กรุงเกียวโต (ญี่ปุ่น)

.

ไมเคิล ชไนเดอร์ ยังให้บริการข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ใช้บริการหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นทบวงการพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency - IAEA) Greenpeace International, International Physicians for the Prevention of Nuclear War (IPPNW), UNESCO, Worldwide Fund for Nature (WWF), the European Commission, European Parliament’s General Directorate for Research, the Oxford Research Group, the French National Scientific Research Council (CNRS) และ French Institute for Radiation Protection and Nuclear Safety (IRSN)

.

ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกเคยสัมภาษณ์ขอข้อมูล ขอคำปรึกษา และมีการถ่ายทำบทสัมภาษณ์ทั้งที่ออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุ สื่ออิเลคทรอนิกส์และสื่อสิ่งพิมพ์

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท